ข้ามไปเนื้อหา

หลีซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลีซิน (หลี่ เชิ่ง)
李勝
ข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว (荊州刺史 จิงโจวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 248 (248) – 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 (249)
กษัตริย์โจฮอง
เจ้าเมืองเอ๊งหยง (滎陽太守 สิงหยางไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
เจ้าเมืองโห้หล้ำ (河南尹 เหอหนานอิ่น)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
หัวหน้าเลขานุการ (長史 จ๋างฉื่อ)
(ภายใต้แฮเฮาเหียน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 244 (244) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์โจฮอง
นายอำเภอลกเอี๋ยง (洛陽令 ลั่วหยางลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 239 (239) – ค.ศ. 244 (244)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครหนานหยาง มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิต9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 249[a]
นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
บุพการี
  • หลี่ ซิว (บิดา)
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองกงเจา (公昭)

หลีซิน (เสียชีวิต 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลี่ เชิ่ง (จีน: 李勝; พินอิน: Lǐ Shèng) ชื่อรอง กงเจา (จีน: 公昭; พินอิน: Gōngzhāo) เป็นขุนนางชาวจีนของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ

[แก้]

หลีซินเป็นชาวเมืองลำหยง (南陽郡 หนานหยางจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครหนานหยาง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน บิดาของหลีซินคือหลี่ ซิว (李休) เป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของขุนศึกเตียวฬ่อ ภายหลังยุทธการที่เองเปงก๋วนในปี ค.ศ. 215 หลี่ ซิวสวามิภักดิ์ต่อขุนศึกโจโฉและในที่สุดก็ได้รับราชการในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก

หลีซินในวัยเยาว์ได้พบและผูกมิตรกับโจซอง หลีซินร่วมกับ "คนดัง" คนอื่น ๆ (ได้แก่ บุตรชายของขุนนางที่มีชื่อเสียง) มีส่วนร่วมในการแสวงชื่อเสียงโดยสร้างผลงานแต่ผิวเผินเพื่อให้พวกตนได้รับการยกย่องจากขุนนางและราษฎรในนครหลวงลกเอี๋ยง โจยอยจักรพรรดิวุยก๊ก (ครองราชย์ ค.ศ. 226–239) ทรงรู้สึกรังเกียจเมื่อทรงได้ยินเรื่องดังกล่าวและมีพระประสงค์จะกำจัดพฤติกรรมทุจริตเช่นนี้ จึงมีรับสั่งให้ไต่สวน มีบางคนทูลรายงานว่าหลีซินเป็นผู้เกี่ยวข้องคนหนึ่ง ทำให้หลีซินถูกจับกุมและขังคุก แต่ด้วยความช้วยเหลือจากเครือข่ายที่กว้างขวางทำให้หลีซินได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกขังเพียงไม่กี่ปี

ในปี ค.ศ. 239 จักรพรรดิโจยอยสวรรคต โจฮองพระโอรสบุญธรรมขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิแห่งวุยก๊กพระองค์ใหม่ เนื่องจากเวลานั้นโจฮองยังทรงพระเยาว์ โจซองจึงได้กุมอำนาจปกครองในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โจซองแต่งตั้งให้หลีซินเป็นนายอำเภอลกเอี๋ยง (洛陽令 ลั่วหยางลิ่ง)

ในปี ค.ศ. 244 หลีซินได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าเลขานุการ (長史 จ๋างฉื่อ) ของแฮเฮาเหียนที่เป็นสหายผู้ซึ่งเวลานั้นได้ดำรงตำแหน่งขุนพลโจมตีตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) ในปีเดียวกันนั้น หลีซินและเตงเหยียงแนะนำโจซองให้เปิดศึกรบกับจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กเพื่อเพิ่มชื่อเสียงและอำนาจในวุยก๊ก สุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกับโจซองคัดค้านการทำศึกกับจ๊กก๊กแต่โจซองเพิกเฉยต่อคำค้านและยกทัพไป ต่อมาทัพวุยก๊กก็พ่ายแพ้ต่อทัพจ๊กก๊กในยุทธการที่ซิงชื่อและได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ระหว่างปี ค.ศ. 244 และ ค.ศ. 248 หลีซินได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองเอ๊งหยง (滎陽郡 สิงหยางจฺวิ้น) และภายหลังได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองโห้หล้ำ (河南尹 เหอหนานอิ่น) ทั้งสองตำแหน่งนี้ทำให้หลีซินได้รับผิดชอบดูแลเมืองอันเป็นที่ตั้งของนครหลวงลกเอี๋ยง หลีซินปกครองในเขตปกครองของตนได้เป็นอย่างดีระหว่างดำรงตำแหน่ง

ในปี ค.ศ. 248 หลีซินได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวง (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) ก่อนที่จะออกจากลกเอี๋ยงไปรับตำแหน่ง หลีซินไปเยี่ยมสุมาอี้ซึ่งเวลานั้นพักอยู่ที่บ้านหลังจากอ้างว่าตนป่วยหนักเกินกว่าจะรับราชการในราชสำนัก สุมาอี้รู้ว่าโจซองส่งหลีซินมาตรวจสอบตน จึงแสร้งทำเป็นป่วยหนักมากจนล้มหมอนนอนเสื่อและถึงขั้นไม่สามารถรับประทานข้าวต้มโดยไม่ทำหกรดเปื้อนเสื้อผ้า เมื่อหลีซินบอกสุมาอี้ว่าตนกำลังจะเดินทางไปมณฑลเกงจิ๋ว สุมาอี้ก็แสร้งทำเป็นฟังผิดเป็น "เป๊งจิ๋ว" อย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อหลีซินกลับไปพบโจซองก็รายงานว่าสุมาอี้อ่อนแอลงอย่างมากและอาจจะเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นาน โจซองเห็นว่าสุมาอี้คงไม่เป็นภัยคุกคามตนอีกต่อไปจึงลดความระมัดระวังลง

ในปี ค.ศ. 249 ระหว่างที่โจซองตามเสด็จจักรพรรดิโจฮองไปยังสุสานโกเบงเหลง สุมาอี้ฉวยโอกาสนี้ก่อรัฐประหารในลกเอี๋ยงและยึดครองกำลังทหารในนครหลวง สุมาอี้ให้คำมั่นกับโจซองว่าจะไว้ชีวิตโจซองและครอบครัวหากโจซองยอมจำนน โจซองเชื่อคำของสุมาอี้และสละอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการทั้งหมด สุมาอี้จึงได้กุมอำนาจราชสำนักวุยก๊กและจักรพรรดิโจฮองแต่เพียงผู้เดียว ภายหลังสุมาอี้ผิดคำมั่นโดยให้จับกุมโจซองและพรรคพวกในข้อหากบฏและประหารชีวิตทั้งหมดพร้อมกับครอบครัว ในเวลานั้นหลีซินยังไม่ได้ออกจากลกเอี๋ยงไปยังมณฑลเกงจิ๋ว หลีซินพร้อมครอบครัวจึงถูกจับกุมมาประหารชีิวิตเช่นกัน

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 พระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่า โจซองกับผู้มีส่วนร่วม ได้แก่ เตงปิด, เตงเหยียง, โฮอั๋น, ปิดห้วน, หลีซิน และฮวนห้อม ถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัวในวันอู้ซฺวีของเดือน 1 ของศักราชเจียผิง ปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจฮอง[1] ตรงกับวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 ตามปฏิทินกริกอเรียน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([嘉平元年春正月]戊戌,有司奏収黃門張當付廷尉,考實其辭,爽與謀不軌。又尚書丁謐、鄧颺、何晏、司隷校尉畢軌、荊州刺史李勝、大司農桓範皆與爽通姦謀,夷三族。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.