ข้ามไปเนื้อหา

โจป้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจป้า
曹豹
แห้ฝือเซี่ยง[1][2] (下邳相)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 196 (196)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตค.ศ. 196[3]
พีโจว มณฑลเจียงซู
อาชีพขุนพล

โจป้า ตามสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ เฉา เป้า ตามสำเนียงกลาง (จีน: 曹豹; พินอิน: Cáo Bào; เสียชีวิต ค.ศ. 196) เป็นขุนพลที่รับใช้โตเกี๋ยม ผู้ว่าการชีจิ๋วในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน หลังโตเกี๋ยมเสียชีวิตใน ค.ศ. 194 เขาจึงรับใช้เล่าปี่ ผู้ดำรงตำแหน่งคนถัดไป เขาถูกเตียวหุยสังหารหลังเหตุทะเลาะวิวาทใน ค.ศ. 196[3]

ในบันทึกประวัติศาสตร์

[แก้]

ข้อมูลเดียวเกี่ยวกับโจป้าเท่าที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์มาจากอรรถาธิบายของเผย์ ซงจือเกี่ยวกับสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ) ของตันซิ่วที่บันทึกประวัติศาสตร์สมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกถึงสมัยสามก๊ก

ในวรรณกรรม สามก๊ก

[แก้]

โจป้ามีตำแหน่งเป็นพ่อตาของลิโป้ รับราชการด้วยเล่าปี่ที่เมืองชีจิ๋ว อยู่มาวันหนึ่งเตียวหุยให้แต่งโต๊ะ แล้วเชิญขุนนางฝ่ายทหารและพลเรือนมาพร้อมกับแล้วว่า "เมื่อเล่าปี่จะยกกองทัพไปนั้น ได้กำชับเราว่าอย่าเสพย์สุรานัก วันนี้เราสบายใจจึงให้แต่งโต๊ะเชิญท่านทั้งปวงมากินโต๊ะ เสพย์สุราเล่นแต่วันเดียวนี้ให้สนุก สืบไปท่านทั้งปวงแลเราอย่าได้กินเลยเป็นอันขาด จะตั้งหน้าว่าราชการรักษาเมืองไว้ให้เป็นปรกติกว่าเล่าปี่จะยกกลับมา"[4] แล้วเตียวหุยก็รินสุราคำนับให้ขุนนางทั้งปวงกิน โจป้าซึ่งเป็นขุนนางฝ่ายทหารมิได้รับจอกสุราจากเตียวหุยและกล่าวแก่เตียวหุยว่า "ข้าพเจ้าได้สาบานไว้ต่อเทพดาว่ามิได้กินเลย" เตียวหุยจึงว่า "ตัวเป็นทหาร เหตุใดจึงว่าไม่เสพย์สุรา เราจะให้กินสักจอกหนึ่ง ถ้ามิกินเราไม่ฟัง"'

โจป้าหวาดกลัวเตียวหุยที่ขู่บังคับให้กินสุรา จึงคำนับรับจอกสุรามากินเข้าไป เตียวหุยเห็นโจป้ากินสุราก็รินสุรากินไปประมาณยี่สิบจอกใหญ่และรินสุราให้ขุนนางทั้งปวงกินอีก แต่โจป้าปฏิเสธว่า "ข้าพเจ้ากินไม่ได้" เตียวหุยจึงหัวเราะแล้วว่า "เมื่อกี้นั้นตัวว่ากินไม่ได้ แล้วก็กินเข้าไปได้จอกหนึ่ง ครั้นให้กินอีกว่ากินไม่ได้ ก็เห็นว่าตัวแกล้งบิดพลิ้วลวงเรา เราไม่ฟัง จะให้ตัวกินอีกจงได้" แล้วก็บังคับให้โจป้ากินสุราแต่โจป้าก็มิได้กิน ทำให้เตียวหุยโกรธจึงว่า "ตัวเป็นผู้น้อยว่าเรา บังอาจขัดไม่เสพย์สุราด้วยเรานั้น ก็เห็นว่าตัวมิได้เกรงเรา" แล้วก็สั่งให้นำตัวโจป้าไปตีร้อยที

ตันเต๋งซึ่งเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนเห็นเตียวหุยเมาสุราและทำการวุ่นวาย จึงเข้าห้ามปราม โจป้าอ้อนวอนเตียวหุยว่า "ข้าพเจ้าขอโทษเสียครั้งหนึ่งเถิด ถึงแม้ไม่เห็นแก่ข้าพเจ้า จงเห็นแก่หน้าบุตรเขยขอข้าพเจ้าบ้าง" เตียวหุยจึงถามว่าบุตรเขยโจป้าเป็นผู้ใด เมื่อรู้ว่าลิโป้เป็นบุตรเขยโจป้า เตียวหุยยิ่งโกรธจัดและให้ทหารนำตัวโจป้าไปตี แต่เหล่าขุนนางทั้งปวงช่วยกันขอ เตียวหุยจึงสั่งงดไว้

โจป้าครั้นกลับมาบ้านก็คิดแค้นเตียวหุยเป็นอันมาก จึงแต่งหนังสือให้ม้าใช้นำไปให้ลิโป้ที่เมืองเสียวพ่ายเป็นใจความว่า "บัดนี้เล่าปี่ยกกองทัพไปตีเหมืองลำหยง เตียวหุยเสพย์สุราเมาให้ตีเรา แล้วว่ากล่าวหยาบช้ากระทบมาถึงลิโป้ด้วย ขอให้คุมทหารยกมาตีเมืองชีจิ๋วให้เวลากลางคืนวันนี้เห็นจะได้โดยง่าย ด้วยเตียวหุยกำลังเมาสุราอยู่"[4] เมื่อลิโป้แจ้งในหนังสือของโจป้า จึงนำกำลังทหารยกมาตีเมืองชีจิ๋ว เมื่อทหารของโจป้าได้ยินลิโป้ร้องเรียก ก็นำเนื้อความมาบอกแก่โจป้า โจป้าจึงให้ทหารเปิดประตูเมืองรับลิโป้เข้ามา เมืองชีจิ๋วของเล่าปี่จึงตกเป็นของลิโป้อย่างง่ายดาย

ครั้นเสียเมืองชีจิ๋วแก่ลิโป้ เตียวหุยตกใจขึ้นม้าถือทวนหลบหนีไป โดยทิ้งครอบครัวของเล่าปี่ไว้ในเมือง ลิโป้เห็นเตียวหุยมีฝีมือจึงไม่ติดตาม แต่โจป้าคิดแค้นเตียวหุยเป็นอันมาก จึงคุมทหารประมาณหนึ่งร้อยติดตามไป โจป้ารบด้วยเตียวหุยสามเพลงก็ขับม้าหนี แต่ถูกเตียวหุยแทงด้วยทวนตกม้าตาย

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ณ จุดนี้ แห้ฝือก็เป็นรัฐ (国, "guo") ที่ไม่มีอ๋อง อ๋องแห่งแห้ฝือองค์ก่อนหน้าคือ Liu Ying ผู้มีพระนามหลังสวรรคตเป็น อายอ๋อง (下邳哀王刘宜) พระองค์สวรรคตหลังดำรงตำแหน่งถัดจากหลิว อี้ (รู้จักในพระนามหลังสวรรคตเป็น หมิ่นอ๋อง; 下邳愍王刘意) พระบิดาในฐานะอ๋องเพียงไม่กี่เดือน ตัวหลิว อี้ถูกบังคับให้หนีออกจากแห้ฝือในช่วงกบฏโผกผ้าเหลือง หลังกบฏถูกปราบ จึงมีการฟื้นฟูดินแดนของพระองค์ หลิวอี้สวรรคตหลังการฟื้นฟูเพียงไม่กี่เดือน รัฐนี้ถูกยุบเลิกใน ค.ศ. 206 (ปีที่ 11 ในศักราช Jian'an)
  2. (子愍王意嗣。阳嘉元年,封意弟八人为乡﹑亭侯。中平元年,意遭黄巾,□国走。贼平复国,数月薨。立五十七年,年九十。子哀王宜嗣,数月薨,无子,建安十一年国除。) โฮ่วฮั่นชู เล่มที่ 50
  3. 3.0 3.1 de Crespigny (2007), p. 34.
  4. 4.0 4.1 เล่าปี่เสียเมืองชีจิ๋วแก่ลิโป้, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 193
  • ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.
  • ล่อกวนตง (คริสต์ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้).
  • เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.