ข้ามไปเนื้อหา

งออี้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งออี้ (อู๋ อี้ / อู๋ อี)
吳懿 / 吳壹[a]
ขุนพลทหารม้าและรถรบ
(車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. 237 (237)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้าหลวงมณฑลหยงจิ๋ว
(雍州刺史 ยงโจวฉื่อชื่อ)
(ในนาม)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. 237 (237)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
แม่ทัพภาคฮันต๋ง
(漢中都督 ฮั่นจงตูตู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. 237 (237)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ถัดไปอองเป๋ง
ขุนพลทัพซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 230 (230) – ค.ศ. 234 (234)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
แม่ทัพภาคกวนต๋ง (關中都督 กวานจงตูตู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 230 (230)
กษัตริย์เล่าปี่ / เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครไคเฟิง มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิต237
นครฮั่นจง มณฑลฉ่านซี
ญาติ
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจื๋อยฺเหวี่ยน (子遠)
บรรดาศักดิ์จี้หยางโหว (濟陽侯)

งออี้ (เสียชีวิต ค.ศ. 237)[1] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า อู๋ อี้ (จีน: 吳懿; พินอิน: Wú Yì) ชื่อรอง จื๋อยฺเหวี่ยน (จีน: 子遠; พินอิน: Zǐyuǎn) เป็นขุนพลชาวจีนของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน น้องสาวของงออี้คืองอซีเป็นจักรพรรดินีในเล่าปี่จักรพรรดิผู้ก่อตั้งจ๊กก๊ก ญาติผู้น้องของงออี้ชื่องอปั้นก็รับราชการเป็นขุนพลของจ๊กก๊ก

ประวัติ

[แก้]

ตันซิ่ว (เฉิน โช่ว) ไม่ได้เขียนชีวประวัติของงออี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ) ในศตวรรษที่ 5 เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของงออี้สูญหายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา[2] แต่ตันซิ่วก็ยังคงแทรกข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับชีวประวัติของงออี้ในส่วนวิจารณ์ของ จี้ฮั่นฝู่เฉินจ้าน (季漢輔臣贊; pub. 241) โดยหยาง ซี่ (楊戲) ที่พบในจดหมายเหตุสามก๊ํกเล่มที่ 45

งออี้เป็นชาวเมืองตันลิว (陳留郡 เฉินหลิวจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณนครไคเฟิง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน งออี้สูญเสียบิดาขณะอายุยังเยาว์ บิดาของงออี้นั้นเป็นสหายของเล่าเอี๋ยน งออี้จึงพาทั้งครอบครัวติดตามเล่าเอี๋ยนไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) เมื่อราวปี ค.ศ. 188 เมื่อเล่าเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ามณฑลของมณฑลเอ๊กจิ๋วโดยราชสำนักของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[3][4] น้องสาวของงออี้แต่งงานกับเล่ามอ (劉瑁 หลิว เม่า) บุตรชายของเล่าเอี๋ยน งออี้จึงมีฐานะเป็นญาติฝ่ายลูกสะใภ้ของเล่าเอี๋ยนด้วย[5]

หลังการเสียชีวิตในปี ค.ศ. 194 งออี้รับคงรับใช้ต่อมากับเล่าเจี้ยงบุตรชายของเล่าเอี๋ยนผู้สืบทอดตำแหน่งเจ้ามณฑลเอ๊กจิ๋ว[6] เล่าเจี้ยงแต่งตั้งให้งออี้เป็นขุนพลองครักษ์ (中郎將 จงหลางเจี้ยง) ระหว่างปี ค.ศ. 212 ถึง ค.ศ. 214 เมื่อขุนศึกเล่าปี่โจมตีเล่าเจี้ยงเพื่อจะเข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว งออี้ร่วมรบในฝ่ายเล่าเจี้ยงและนำกองกำลังไปรบกับทัพเล่าปี่ในอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; อยู่ในนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) แต่งออี้ยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่หลังจากพ่ายแพ้[7][8]

หลังจากเล่าปี่เข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋วได้โดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 214 เล่าปี่แต่งตั้งให้งออี้เป็นขุนพลพิทักษ์ทัพและโจมตีกบฏ (護軍討逆將軍 ฮู่จฺวินเถ่านี่เจียงจฺวิน) ตัวเล่าปี่ได้สมรสกับงอซี (อดีตภรรยาของเล่ามอที่เวลานั้นเสียชีวิตไปแล้ว) น้องสาวของงออี้ ในปี ค.ศ. 221 ในยุคสามก๊ก หลังเล่าปี่สถาปนาตนเปนจักรพรรดิและก่อตั้งรัฐจ๊กก๊ก ได้แต่งตั้งให้งออี้เป็นแม่ทัพภาคกวนต๋ง (關中都督 กวานจงตูตู)[9]

หลังจากเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 งออี้ยังคงรับราชการกับเล่าเสี้ยนโอรสของเล่าปี่ผู้สิบราชบัลลังก์ถัดจากเล่าปี่ ในปี ค.ศ. 230 งออี้ติดตามอุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กไปโจมตีเมืองลำอั๋น (南安郡 หนานอานจฺวิ้น; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอหล่งซี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ในอาณาเขตของรัฐวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก งออี้และอุยเอี๋ยนเอาชนะทัพวุยก๊กที่นำโดยปีเอียวในยุทธการ จากความดีความชอบของงออี้ เล่าเสี้ยนจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ระดับถิงโหว (亭侯) หรือโหวระดับหมู่บ้านให้งออี้ ภายหลังเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นโหวระดับตำบลในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "เกาหยางเซียงโหว" (高陽鄉侯) และยังแต่งตั้งให้งออี้มียศเป็นขุนพลทัพซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน)[10]

ในปี ค.ศ. 234 เมื่อจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กเสียชีวิต เล่าเสี้ยนแต่งตั้งงออี้เป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) พระราชทานอาญาสิทธิ์และมีรับสั่งให้ดูแลกิจการทหารในเมืองฮันต๋งในฐานะแม่ทัพภาคฮันต๋ง (漢中都督 ฮั่นจงตูตู) เล่าเสี่้ยนยังแต่งตั้งให้งออี้เป็นเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) แต่ในนามของมณฑลหยงจิ๋วหยงจิ๋ว (เพราะมณฑลหยงจิ๋วไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของจ๊กก๊ก) และเลื่อนบรรดาศักดิ์เพิ่มเติ่มเป็นโหวระดับอำเภอในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "จี้หยางโหว" (濟陽侯) งออี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 237[11]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกชื่อของงออี้เป็น 吴 แทนที่จะเป็น 吴 เพื่อเป็นการเลี่ยงคำต้องห้าม (ชื่อตัวของสุมาอี้เขียนว่า 懿)

อ้างอิง

[แก้]
  1. de Crespigny, Rafe (2007). A biographical dictionary of Later Han to the Three Kingdoms (23–220 AD). Brill. p. 875. ISBN 978-90-04-15605-0.
  2. (失其行事,故不為傳。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  3. (以[劉]焉為益州牧, ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 59.
  4. (子遠名壹,陳留人也。隨劉焉入蜀。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  5. (焉時將子瑁自隨,遂為瑁納后。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 34.
  6. (興平元年,癕疽發背而卒。州大吏趙韙等貪璋溫仁,共上璋為益州刺史, ... 璋,字季玉,旣襲焉位, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 31.
  7. (璋遣其將劉璝、冷苞、張任、鄧賢、吳懿等拒備,皆敗,退保緜竹;懿詣軍降。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 66.
  8. (劉璋時,為中郎將,將兵拒先主於涪,詣降。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  9. (先主定益州,以壹為護軍討逆將軍,納壹妹為夫人。章武元年,為關中都督。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  10. (建興八年,與魏延入南安界,破魏將費瑤,徙亭侯,進封高陽鄉侯,遷左將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  11. ([建興]十二年,丞相亮卒,以壹督漢中,車騎將軍,假節,領雍州刺史,進封濟陽侯。十五年卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.

บรรณานุกรม

[แก้]