กิเลส
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
กิเลส (บาลี: กิเลส; สันสกฤต: क्लेश เกฺลศ) แปลว่า มลทิน รอยเปื้อน รอยด่าง ความสกปรก ความเศร้าหมอง หมายถึง สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง[1]
กิเลสมี 3 ระดับ คือได้แก่
- อนุสัยกิเลส (Latent Defilements) กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน
- ปริยุฏฐานกิเลส (Internally Active Defilements) กิเลสอย่างกลางคือกิเลสที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งทางความคิด ได้แก่ กิเลสประเภทนิวรณ์ 5
- วีติกกมกิเลส (Externally Active Defilements) กิเลสอย่างหยาบคือกิเลสที่ทะลักออกมาทำให้สัตว์สร้างกรรมขึ้นมาทางกายและวาจา
กิเลสอย่างละเอียด สงบได้ด้วยปัญญา, กิเลสอย่างกลาง สงบได้ด้วยสมาธิ และ กิเลสอย่างหยาบ สงบได้ด้วยศีล
กิเลสนั้นต่างก็มีอาหารของตน การจะดับกิเลสนั้นท่านให้ดับที่ไม่ให้อาหาร โดยเฉพาะกิเลสต่าง ๆ นั้น มักจะมีกิเลสด้วยกันเองนั้นแหล่ะเป็นอาหารของกันและกัน เรียกว่าอุปกิเลส ดังนั้น การจะกำจัดกิเลสบางอย่าง จำเป็นต้องกำจัดกิเลสที่เป็นอาหารของมันก่อน มีอุปมาว่าการจะโจมตีเมืองหลวง จะโจมตีเมืองหลวงโดยตรงเลยไม่ได้ ไม่งั้นเมืองรองต่าง ๆ จะเข้ามาช่วยจากรอบทิศทาง ทำให้เราพ่ายแพ้ ดังนั้นจึงต้องโจมตีค่ายเล็ก ๆ และเมืองเล็ก ๆ ที่เป็นบริวาร แล้วจึงตีเมืองรองให้หมดก่อน จึงค่อยบุกเมืองหลวงในตอนท้ายสุด จึงจะสำเร็จลงได้ ดังนั้น การจะกำจัดอวิชชาที่ดุจเป็นเมืองหลวง ก็ต้องกำจัดอนุสัยสังโยชน์ที่เปรียบเสมือนเมืองรองลงเสียก่อน เเละการจะกำจัดอนุสัยสังโยชน์ก็ต้องกำจัดอุปกิเลสที่เป็นอาหารของอนุสัยสังโยชน์ลงเสียก่อน เปรียบเสมือนการตีเมืองเล็ก ๆ ที่เป็นบริวารของเมืองรอง เป็นต้น การจะบรรลุธรรมจึงขาดนามรูปปัจจยปริคหญาณไม่ได้เลย
วจนัตถะ
[แก้]กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ = กิเลสา แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อน เศร้าหมอง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กิเลส
กิลิสฺสติ เอเตหีติ = กิเลสา แปลว่า สัมปยุตธรรม คือ จิต เจตสิก ย่อมเศร้าหมอง เร่าร้อน ด้วยธรรมชาติใด ฉะนั้นธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองเร่าร้อนของสัมปยุตนั้น จึงชื่อว่า กิเลส
กิเลสวัตถุ
[แก้]ในวิภังคปกรณ์ระบุว่า กิเลสวัตถุ 10 ได้แก่[2]
- โลภะ ความอยากได้ในสิ่งของ เงินทอง ทรัพย์สิน ที่ดินหรือลาภอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของของตน
- โทสะ ความคิดประทุษร้าย ทำลาย
- โมหะ ความหลง มัวเมา
- มานะ ความถือตัว
- ทิฏฐิ ความเห็นผิด
- วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
- ถีนะ ความหดหู่
- อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
- อหิริกะ ความไม่ละอายบาป
- อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวบาป
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด
- แนบ มหานีรานนท์ "อภิธรรมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค"