ศาสนาพุทธในประเทศรัสเซีย
ศาสนาพุทธในประเทศรัสเซีย เป็นหนึ่งในศาสนาดั้งเดิมและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ตามกฎหมายของประเทศรัสเซีย[1] ประดิษฐานครั้งแรกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในแถบไซบีเรีย[2][3] เดิมเป็นศาสนาพื้นเมืองหลักในสาธารณรัฐคัลมืยคียา, บูเรียตียา และตูวา แต่ปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วประเทศรัสเซีย สามารถพบชาวรัสเซียเข้ารีตพุทธมากขึ้น[4]
ศาสนาพุทธในประเทศรัสเซียส่วนใหญ่เป็นนิกายเกลุกหรือนิกายหมวกเหลือง ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบทิเบต[5] ส่วนนิกายอื่น ๆ เป็นชนกลุ่มน้อย ศาสนาพุทธแบบทิเบตนี้แพร่หลายมาจากดินแดนทิเบต เข้าสู่ดินแดนมองโกเลีย ไซบีเรีย ก่อนกระจายเข้าสู่รัสเซียในเวลาต่อมา[2] ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนจำนวน 700,000–1.5 ล้านคนทั่วรัสเซีย โดยมากอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐคัลมืยคียา, บูเรียตียา และตูวา[6]
ประวัติ
[แก้]ยุคแรก
[แก้]มีหลักฐานการดำรงอยู่ของศาสนาพุทธในดินแดนรัสเซียสมัยใหม่ตั้งแต่สองปีก่อนคริสต์ศักราช บรรพบุรุษของชาวมองโกล เช่น ซฺยงหนู, เซียนเปย์ และชี่ตัน มีความคุ้นเคยกับศาสนาพุทธมาก่อน ดังปรากฏการค้นพบสายประคำแบบพุทธในสุสานชาวซฺยงหนูในนิคมอีโวลกินสค์ในสาธารณรัฐบูเรียตียา[7] และคริสต์ศตวรรษที่ 8 พบหลักฐานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของรัฐพัลแฮซึ่งครอบครองดินแดนปรีมอร์สกีและแคว้นอามูร์ในปัจจุบัน ชนพื้นเมืองแถบนั้นรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก่อนแพร่หลายไปยังบริเวณชายแดนของรัสเซียที่ติดกับมองโกเลีย หรือแหล่งอาศัยของกลุ่มชนเชื้อสายมองโกล เช่น คัลมืยคียา, บูเรียตียา, ตูวา และซาไบคัลสกี อันเกิดจากการเผยแผ่ศาสนาพุทธแบบทิเบตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา[7] ต่อมาชาวมองโกลเผ่าออยรัตที่รับศาสนาพุทธแล้ว เคลื่อนย้ายเข้าไปในแดนยุโรปและเป็นบรรพบุรุษของชาวคัลมึคในคัลมืยคียา[8]
ค.ศ. 1714 จักรพรรดินีเยลิซาเวตา เปตรอฟนา ประกาศในราชกฤษฎีกายอมรับการมีอยู่ของ "ลัทธิลามะ" พร้อมยอมรับการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือดาซัน[ก] 11 แห่ง และลามะจำนวน 150 รูป ถือว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับของทางการรัสเซียมาตั้งแต่นั้น[7] ใน ค.ศ. 1887 มีดาซัน 29 แห่ง และ ค.ศ. 1917 มีพุทธศาสนิกชนราว 200,000 คน และศาสนสถานจำนวน 175 แห่ง[9] แต่ก่อนหน้านี้ ในเอกสารของชาวรัสเซียยุคแรก พบว่าชาวรัสเซียโดยเฉพาะกลุ่มหมอสอนศาสนามีทัศนคติเชิงลบต่อศาสนาพุทธ ด้วยมองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งโชคลาง ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักเหตุผลหรือความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งยังเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นอุปสรรคในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และการทำให้เป็นรัสเซียในไซบีเรีย[10] ในช่วงที่คอสแซคเข้ายึดไซบีเรีย ก็พบกับพุทธศาสนิกชนในแถบนั้น พวกเขามองว่า ศาสนาพุทธคือพวกนอกรีตกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ขณะที่นักสำรวจและหมอสอนศาสนา อธิบายว่าศาสนาพุทธแบบทิเบตเป็น "ความเชื่อทางไสยศาสตร์" "พวกหลงผิด" "พวกบูชารูปเคารพ" เป็นอาทิ[10] สอดคล้องกับวรรณคดีรัสเซียมักเรียกพุทธศาสนสถานหรืออารามว่าเป็นศาลเจ้าของพวกนอกรีต ที่มีการร่ายคาถา การหลอกลวง และประกอบพิธีกรรมทรงเจ้าเข้าผี[10]
ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุด เกิดการค้นคว้าและตีพิมพ์ปรัชญาพุทธศาสนาออกมาจำนวนมาก[11] ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสนาพุทธขยายตัวขึ้น แต่ถูกเหล่าหมอผีและหมอสอนศาสนาคริสต์ในท้องถิ่นต่อต้าน[7] ประกอบกับนักวิชาการในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชนหรือเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ มักใช้อคติในการหาข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของศาสนาพุทธ[10] ทว่าในยุคหลังมานี้ ชาวรัสเซียเริ่มมีทัศนคติเชิงบวกต่อศาสนาพุทธแบบทิเบตมากขึ้น เพราะมีแนวทาง หลักปรัชญา และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขามองว่าศาสนาพุทธแบบทิเบตในไซบีเรียคือศาสนาของคนล้าหลัง นอกจากนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขามีการสนับสนุนให้เปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นแบบยุโรป และให้ชาวพุทธรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเป็น "อารยะ" แก่ศาสนาพุทธ[10]
ต่อมาในยุคโซเวียตเรืองอำนาจ ศาสนาต่าง ๆ รวมไปถึงศาสนาพุทธถูกมองว่าเป็น "เครื่องมือสำหรับกดขี่" และชาวพุทธที่อยู่ในอำนาจเองก็ไม่ยี่หระการที่ศาสนาของตนถูกกดขี่[12] ค.ศ. 1917 โจเซฟ สตาลินออกมาประกาศว่าไม่มีดาซันแห่งใดในประเทศที่เปิดให้บริการ[13] รัฐบาลโซเวียตพยายามที่จะลบศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ ออก เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชุมชนเมืองและการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น[14] ค.ศ. 1929 อารามพุทธหลายแห่งถูกปิด ลามะหลายรูปถูกจับ บ้างก็ถูกเนรเทศ[15] คริสต์ทศวรรษที่ 1930 เป็นช่วงที่พุทธศาสนิกชนเป็นชุมชนศาสนาได้รับความทุกข์ระทมมากที่สุดในสหภาพโซเวียต[3] ลามะหลายรูปถูกขับออกและถูกกล่าวหาว่าเป็น "สายลับญี่ปุ่น" บ้างก็ว่าเป็น "ศัตรูของประชาชนทั้งหลาย"[2] ค.ศ. 1943 ชาวคัลมืยคียาซึ่งเป็นชุมชนพุทธแห่งเดียวในยุโรปถูกรัฐบาลโซเวียตเนรเทศไปไซบีเรีย หลังถูกรัฐบาลสงสัยว่าพวกเขาให้ความร่วมมือกับพวกนาซีเยอรมนีเมื่อคราวยึดครองคัลมืยคียา[16] ทำให้ชาวชาวคัลมืยคียาร้อยละ 40 เสียชีวิตระหว่างทาง ส่วนผู้ที่รอดชีวิตไม่สามารถกลับมาตุภูมิได้จนถึง ค.ศ. 1956[17] ส่วนชาวพุทธในบูเรียตียาลี้ภัยไปเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของประเทศจีน[7]
แต่ศาสนาพุทธยังไม่หายไปจากรัสเซียเสียทีเดียว เพราะบีเดีย ดันดารอน นักคิดและนักพุทธศาสนศึกษา พยายามฟื้นฟูศาสนาพุทธในยุครัฐอเทวนิยมด้วยแนวคิดศาสนาพุทธใหม่ โดยนำคำสอนของศาสนาพุทธ ปรัชญาตะวันตก และทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกัน แต่เวลาต่อมานายดันดารอนถูกรัฐบาลจับกุมตัวในข้อหาสร้างชุมชนทางศาสนา เขาถูกส่งเข้าค่ายกักกันจนกระทั่งเสียชีวิตในนั้น อย่างไรก็ตามลูกศิษย์ของเขามีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา[18]
ยุคฟื้นฟู
[แก้]หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคีร์ซัน อิลูย์มซีนอฟของสาธารณรัฐคัลมืยคียา[19] และมีการฟื้นฟูศาสนาพุทธในบูเรียตียาและตูวา ผู้คนหวนกลับไปนับถือศาสนาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ[20] ก่อนแพร่หลายสู่ชาวรัสเซียในพื้นที่อื่น
ค.ศ. 1992 ทะไลลามะที่ 14 ประมุขของศาสนาพุทธนิกายเกลุก เสด็จเยือนสาธารณรัฐตูวาเป็นครั้งแรก[21]
ปัจจุบันมีการก่อตั้งอารามและมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือที่เรียกว่าดาซันทั่วไปในประเทศ[22] และลามะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูประเพณีและตำราทางศาสนาขึ้นใหม่[23]
ประเทศไทยมีการส่งพระธรรมทูตเพื่อเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา โดยมีศูนย์กลางที่วัดอภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก[24]
ศาสนิกชน
[แก้]ค.ศ. 2012 สาธารณรัฐตูวามีพุทธศาสนิกชนร้อยละ 62, สาธารณรัฐคัลมืยคียาร้อยละ 38 และสาธารณรัฐบูเรียตียาร้อยละ 20[25] นอกจากนี้ยังพบพุทธศาสนิกชนในดินแดนซาไบคัลสกีร้อยละ 6, แคว้นตอมสค์ร้อยละ 0.6 และสาธารณรัฐยาคูเตียร้อยละ 0.4
มีชุมชนชาวพุทธกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศรัสเซีย เช่น แคว้นซาฮาลิน, ดินแดนฮาบารอฟสค์, แคว้นอามูร์, แคว้นอีร์คุตสค์, ดินแดนอัลไต, สาธารณรัฐคาคัสเซีย, แคว้นโนโวซีบีสค์, แคว้นตูย์เมน, แคว้นโอเรนบุร์ก, แคว้นอาร์ฮันเกลสค์, แคว้นมูร์มันสค์, กรุงมอสโก, แคว้นมอสโก, นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, แคว้นเลนินกราด และแคว้นคาลินินกราด แต่ละดินแดนจะมีชาวพุทธราวร้อยละ 0.1–0.5[25]
ส่วนหัวเมืองใหญ่อย่างมอสโก, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และซามารา แต่ละเมืองมีประชากรกว่าร้อยละ 1 ระบุตัวตนว่าเป็นพุทธศาสนิกชน[26]
ดินแดน | ประชากร (ค.ศ. 2012)[25] |
ประชากร (ค.ศ. 2016)[27] |
---|---|---|
สาธารณรัฐตูวา | 61.8% | 52.2% |
สาธารณรัฐคัลมืยคียา | 37.6% | 53.4% |
สาธารณรัฐบูเรียตียา | 19.8% | 19.8% |
ดินแดนซาไบคัลสกี | 6.3% | 14.6% |
รวมทั้งประเทศ | 0.5% | 0.6% |
อ้างอิง
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]ก ดาซัน (Дацан) เป็นคำที่ใช้เรียกมหาวิทยาลัยสงฆ์ของนิกายเกลุก พบได้ทั่วไปในมองโกเลีย ทิเบต และไซบีเรียของรัสเซีย โดยทั่วไปดาซันจะมีอยู่สองคณะคือ คณะปรัชญาและคณะแพทย์ บ้างก็มีคณะปฏิบัติตันตระ ซึ่งลามะจะศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาจากคณะปรัชญาแล้ว[11]
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Bell, I (2002). Eastern Europe, Russia and Central Asia. ISBN 978-1-85743-137-7. สืบค้นเมื่อ 27 Dec 2007.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Buddhism in Russia". buddhist.ru. สืบค้นเมื่อ July 30, 2019.
- ↑ 3.0 3.1 Troyanovsky, Igor. "Buddhism in Russia". www.buddhismtoday.com. สืบค้นเมื่อ July 30, 2019.
- ↑ Research Article- Ostrovskaya - JGB Volume 5 เก็บถาวร 2007-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Holland, Edward C. (Dec 2014). "Buddhism in Russia: challenges and choices in the post-Soviet period". Religion, State and Society. 42 (4): 389–402. doi:10.1080/09637494.2014.980603. S2CID 145460994.
- ↑ "Putin Promises 100% Support for Buddhists". Ria Novosti. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2013. สืบค้นเมื่อ 15 April 2017.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Александр Берзин, Тибетский буддизм: история и перспективы развития, M., 1992 (Alexandr Berzin, Tibetan Buddhism: History and Future Prospects, Moscow 1992; Буддизм, Л. Л. Абаева, М., Республика, 1991 (Buddhism, L.L. Abaeva, Respublika, Moscow 1991)
- ↑ "Regions and territories: Kalmykia". BBC News. 2010-06-09. สืบค้นเมื่อ 2010-10-11.
- ↑ "2. Buddhist Temples for the Elites", Faith and Power in Japanese Buddhist Art, 1600–2005, University of Hawaii Press, 2017-12-31, pp. 45–72, doi:10.1515/9780824862466-006, ISBN 9780824862466
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 Tsyrempilov, Nikolay (2015-12-09). "Noble Paganism: Orientalist Discourse on Tibetan Buddhism in Nineteenth-Century Russian Polemic Literature". Inner Asia. 17 (2): 199–224. doi:10.1163/22105018-12340042. ISSN 1464-8172.
- ↑ 11.0 11.1 อัมมารินทร์ อุตรชน (2560). การนับถือศาสนาพุทธของประชาชนในสาธารณรัฐตูวา (PDF). สาขาวิชารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 32. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.
- ↑ Bernstein, Anna (2002). "Buddhist Revival in Buriatia: Recent Perspectives". Mongolian Studies. 25: 1–11. ISSN 0190-3667. JSTOR 43193334.
- ↑ Weir, Fred (2018). "Buddhism flourishes in Siberia, opening window on its pre-Soviet past.(World)". The Christian Science Monitor. ISSN 0882-7729. สืบค้นเมื่อ 2019-11-12.
- ↑ Timasheff, N. S. (1955). "Urbanization, Operation Antireligion and the Decline of Religion in the USSR". American Slavic and East European Review. 14 (2): 224–238. doi:10.2307/3000744. ISSN 1049-7544. JSTOR 3000744.
- ↑ Bräker, Hans (1981). Der Buddhismus in der Sowjetunion, Cahiers du Monde russe et soviétique 22 (2/3), p. 333
- ↑ Holland, Edward C. (2014-10-02). "Buddhism in Russia: challenges and choices in the post-Soviet period". Religion, State and Society (ภาษาอังกฤษ). 42 (4): 389–402. doi:10.1080/09637494.2014.980603. ISSN 0963-7494. S2CID 145460994.
- ↑ "Chapter 3. Tibet", The Tibetan Book of the Dead, Princeton University Press, 2011-12-31, pp. 49–70, doi:10.1515/9781400838042-005, ISBN 978-1-4008-3804-2
- ↑ "Buddhism in Russia: History and Modernity | Buddhistdoor". www.buddhistdoor.net. สืบค้นเมื่อ 2020-03-20.
- ↑ Буддизм в России[การอ้างอิงวกเวียน]
- ↑ Jim Brooke และประภัสสร อักขราสา (14 กรกฎาคม 2554). "พุทธศาสนาในรัสเซียซึ่งถูกปราบปรามในสมัยสหภาพโซเวียต กำลังกลับฟื้นคืนตัวหลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศนั้น". วีโอเอ. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "RUSSIA: When will Dalai Lama next visit Tuva? - WWRN - World-wide Religious News". wwrn.org. สืบค้นเมื่อ 12 September 2017.
- ↑ Tricycle. "lettucecomic". สืบค้นเมื่อ 12 September 2017.
- ↑ อัมมารินทร์ อุตรชน (2560). การนับถือศาสนาพุทธของประชาชนในสาธารณรัฐตูวา (PDF). สาขาวิชารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 58. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-09-20.
- ↑ "พุทธศาสนา 'บูม' ในรัสเซีย ชี้คำสอนพิสูจน์ได้จริง-เตรียมแปลพระไตรปิฎกรองรับ". ผู้จัดการออนไลน์. 7 มีนาคม 2551. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 25.0 25.1 25.2 "Арена: Атлас религий и национальностей" [Arena: Atlas of Religions and Nationalities] (PDF). Среда (Sreda). 2012. See also the results' main interactive mapping and the static mappings: "Religions in Russia by federal subject" (Map). Ogonek. 34 (5243). 27 August 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 April 2017. The Sreda Arena Atlas was realised in cooperation with the All-Russia Population Census 2010 (Всероссийской переписи населения 2010) and the Russian Ministry of Justice (Минюста РФ).
- ↑ Filatov & Lunkin 2006, p. 38.
- ↑ "ФСО доложила о межконфессиональных отношениях в РФ". ZNAK. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-16. สืบค้นเมื่อ 15 April 2017.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศาสนาพุทธในรัสเซีย