สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345
สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า-สยาม | |||||||
ยุทธศาสตร์ยกทัพบุกเชียงใหม่ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) |
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม) นครเชียงใหม่ นครลำปาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พระเจ้าปดุง อินแซะหวุ่น เนเมียวจอดินสีหสุระ ชิดชิงโป ปไลโว มะเดมะโยงโกงดอรัด นามิแลง ตองแพกะเมียวุ่น มะยอแพกะเมียวุ่น |
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ เจ้าอนุวงศ์ พระยากลาโหมราชเสนา พระยายมราช (บุญมา) พระยากาวิละ | ||||||
กำลัง | |||||||
55,000 คน | 60,000 คน | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ไม่ทราบ | ไม่ทราบ |
สงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2345 เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และอาณาจักรพม่าในสมัยพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์โก้นบอง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเหนืออาณาจักรล้านนาระหว่างสยามและพม่า พระเจ้าปดุงแห่งพม่าส่งทัพเข้ารุกรานเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกทัพจากกรุงเทพขึ้นไปช่วยเหลือพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ในการต่อสู้กับพม่า ผลของสงครามนี้สยามได้รับชัยชนะสามารถขับทัพพม่าออกไปได้ การรุกรานเชียงใหม่ของพม่าในปี พ.ศ. 2345 นี้ เป็นการรุกรานล้านนาของพม่าครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย และนำไปสู่สงครามเชียงแสนใน พ.ศ. 2347
เหตุการณ์นำ
[แก้]ล้านนาแยกตัวจากพม่ามาขึ้นกับสยาม
[แก้]นับตั้งแต่การเสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พระเจ้าบุเรงนองในพ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลาประมาณสองร้อยปี ในพ.ศ. 2312 สะโตมังถาง (Thado Mindin သတိုးမင်းထင်)[1] หรือโป่มะยุง่วน (Po Myo Wun ဗိုလ်မြို့ဝန်) มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ สมัยการปกครองของโป่มะยุง่วนเป็นสมัยแห่งการกดขี่ พม่ามีคำสั่งให้ชายชาวล้านนาทั้งปวงสักขาดำตามแบบพม่า และหญิงล้านนาให้เจาะหูแบบพม่า เรียกว่า “สักขาถ่างหู”[2] พญาจ่าบ้าน (บุญมา) แห่งเชียงใหม่ และนายกาวิละ บุตรของเจ้าฟ้าชายแก้วเจ้าเมืองลำปาง เกิดความขัดแย้งกับโป่มะยุง่วน ในเรื่องที่โป่มะยุง่วนลิดรอนอำนาจของขุนนางล้านนาพื้นเมืองเดิม[3] พญาจ่าบ้านและนายกาวิละไปเข้าเฝ้าพระเจ้ามังระแห่งพม่าราชวงศ์โก้นบองที่กรุงอังวะ เพื่อร้องเรียนการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของโป่มะยุง่วน พระเจ้ามังระพระราชทานท้องตราให้แก่พญาจ่าบ้านมายังเมืองเชียงใหม่ มีพระราชโองการให้โป่มะยุง่วนคืนอำนาจให้แก่ขุนนางล้านนา แต่โป่มะยุง่วนไม่รับท้องตรา ยกทัพมาจับกุมตัวพญาจ่าบ้าน (บุญมา) จึงเกิดการปะทะกันระหว่างพญาจ่าบ้านและโป่มะยุง่วนขึ้นที่เมืองเชียงใหม่ พญาจ่าบ้านสู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปหาโปสุพลา (เนเมียวสีหบดี) ที่เมืองหลวงพระบาง โปสุพลาจึงนำพญาจ่าบ้านกลับคืนมาเมืองเชียงใหม่
ในพ.ศ. 2317 โปสุพลาเตรียมการยกทัพพม่าจากเชียงใหม่ลงมาโจมตีธนบุรี พญาจ่าบ้าน (บุญมา) และนายกาวิละแห่งลำปางมีความคิดที่จะเข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม พญาจ่าบ้านขออาสา[2]ต่อโปสุพลาไปขุดลอกเส้นทางแม่น้ำปิงเพื่อเตรียมการให้ทัพเรือพม่ายกลงไป เมื่อพญาจ่าบ้าน (บุญมา) เดินทางลงไปถึงเมืองฮอด ก็เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองตาก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่สองในพ.ศ. 2317 เจ้าพระยาจักรียกทัพไปถึงเมืองลำปาง นายกาวิละจึงลุกฮือขึ้นสังหารขุนนางและทหารพม่าในลำปางไปจนเกือบหมดสิ้น นายกาวิละนำทางทัพของเจ้าพระยาจักรีไปถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์สามารถเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ นับตั้งแต่นั้นหัวเมืองล้านนาได้แก่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแพร่ จึงแยกตัวจากพม่ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในขณะที่หัวเมืองล้านนาฝ่ายเหนือได้แก่เชียงแสน เชียงราย ฝาง พะเยา ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงแต่งตั้งให้พญาจ่าบ้าน (บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนายกาวิละขึ้นเป็นพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง เมืองเชียงแสนจึงกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของพม่าในดินแดนล้านนา
ในพ.ศ. 2318 พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ปรากฏว่าในเวลานั้น พระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) แห่งพม่าส่งทัพจำนวนถึง 90,000 คน[2] มาเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่มีกำลังพลไม่เพียงต่อการป้องกันเมืองเชียงใหม่ จึงละทิ้งเมืองเชียงใหม่ถอยไปอยู่ที่เมืองตาก ทัพพม่ายกไปตีเมืองลำปาง พระยากาวิละต้านทานทัพพม่าไม่ได้เช่นกัน จึงทิ้งเมืองลำปางลงใต้ไปอยู่ที่เมืองสวรรคโลก จากนั้นทัพพม่าจึงกลับไป พระยากาวิละกลับมาครองเมืองลำปางในปีต่อมาพ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการพยายามที่จะรื้อฟื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ เดินทางไปธนบุรีแล้วกลับขึ้นมาใหม่โยกย้ายไปมาหลายแห่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีท้องตราเรียกตัวพระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ลงมาสอบสวนที่ธนบุรี พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) ถูกจำคุกถึงแก่กรรมในคุกนั้น นับแต่นั้นมาเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองรกร้างปราศจากผู้คนป่าขึ้นทึบสัตว์ป่ามาอาศัยอยู่ บ้านเมืองล้านนาโดยรวมตกอยู่ในสภาพ “บ้านห่าง นาห่าง บ้านอุก เมืองรก ไพทางใต้ค็กลัวเสือไพทางเหนือค็กลัวช้าง บ้านเมืองบ่หมั่นบ่เที่ยง”[4]
สงครามกับพม่า
[แก้]พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้นายน้อยธรรมน้องชายของพระยากาวิละเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ แต่ในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองร้างยังไม่สามารถตั้งเมืองอยู่ได้ พระยากาวิละจึงมาตั้งมั่นที่เวียงป่าซาง (หรือป่าช้าง) เพื่อรวบรวมผู้คนไปตั้งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปางและเวียงป่าซางของพระยากาวิละกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของล้านนาและสยามในการต้านทานการรุกรานของพม่า ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 เจ้าชายปะกันแมงสะโดสิริมหาอุจนาพระอนุชาของพระเจ้าปดุงยกทัพหัวเมืองไทใหญ่มาที่เมืองเชียงแสน เจ้าชายสะโดสิริมหาอุจนาและธาปะระกามะนี (Abaya-Kamani အဘယကာမဏိ) (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) ยกทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนจำนวน 30,000 คน เข้าโจมตีและล้อมเมืองลำปาง นำไปสู่การล้อมเมืองลำปาง นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังยกทัพไปตีเมืองแพร่จับกุมตัวพระยาแพร่มังไชยเจ้าเมืองแพร่กลับไปเป็นเชลย พญากาวิละรักษาเมืองลำปางอยู่ได้เกือบสามเดือน[2] ทางฝ่ายกรุงเทพฯ จึงส่งทัพขึ้นมานำโดยพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา และเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ช่วยเหลือขับไล่พม่าให้พ้นไปจากเมืองลำปางได้สำเร็จใน พ.ศ. 2329 กองทัพพม่าถอยทัพกลับไป แต่ตั้งให้ธาปะระกามะนีเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน
ในพ.ศ. 2319 พระยากาวิละส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองทางเหนือต่อล้านนาต่าง ๆให้เป็นกบฏแยกตัวจากพม่า เจ้าฟ้าเมืองยอง (Mong Yawng) เจ้าเมืองฝาง และพระยาแพร่มังไชยซึ่งถูกจับกุมตัวไปไว้ที่เชียงแสนตั้งแต่สงครามเก้าทัพ จึงลุกฮือขึ้นก่อกบฏต่อพม่า ปีต่อมาในพ.ศ. 2330 พระเจ้าปดุงส่งทัพมาปราบเมืองฝางได้ และตั้งทัพที่เมืองฝางเตรียมเข้ารุกรานลำปางต่อไป ธาปะระกามะนีนำกองทัพเข้ามาสมทบก่อนกลับเมืองเชียงแสน เจ้าอัตถวรปัญโญเจ้าเมืองน่านเข้าขอสวามิภักดิ์ต่อสยาม พระยาแพร่มังไชยอยู่ที่เมืองยองร่วมมือกับเจ้าฟ้ากองเมืองยอง ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนีหลบหนีไปเมืองเชียงราย พระยาเพชรเม็ง (น้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเมืองเชียงรายจับตัวธาปะระกามะนีส่งให้แก่พระยากาวิละ พระยากาวิละจึงส่งตัวธาปะระกามะนีลงมาที่กรุงเทพฯ [5][6] ฝ่ายพม่าตีเมืองเชียงแสนคืนไปได้และยกทัพจากเชียงแสนและเมืองฝาง เข้าโจมตีเมืองลำปางและยกมาทางเมืองยวม (อำเภอแม่สะเรียง) เข้าตีเมืองป่าซาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชโองการให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองลำปาง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสามารถขับทัพพม่าออกไปจากลำปางได้สำเร็จ หลังจากที่เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองร้างเป็นเวลาประมาณสิบเอ็ดปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้ตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้งให้เรียบร้อย เพื่อเป็นเมืองสำหรับการรับศึกพม่าทางเหนือ ให้พระยากาวิละรวบรวมผู้คนจากลำปางมาตั้งเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละยังคงอยู่ที่เวียงป่าซางอยู่จนถึง พ.ศ. 2339 จึงเข้าครองเมืองเชียงใหม่
พม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340
[แก้]พระเจ้าปดุงแห่งพม่ายังคงทรงมีขัตติยมานะในการกอบกู้หัวเมืองล้านนาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำคงให้กลับไปคืนแก่พม่า พระเจ้าปดุงทรงแต่งทัพเข้ารุกรานเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2340 แม่ทัพพม่าคืออินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ (Einshe Wun Nemyo Kyawdin Thihathu) แม่ทัพพม่าผู้ซึ่งได้เอาชนะทัพฝ่ายไทยในการรบที่เมืองทวายเมื่อพ.ศ. 2337 เนเมียวจอดินสีหสุระยกทัพจำนวน 55,000 คน[3] มาทางเมืองนายและแบ่งทัพออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองปั่น (Mong Pan) และอีกส่วนหนึ่งยกมาทางเมืองหางหรือเมืองแหง (Mong Hin)[1] ลงมาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ และส่งทัพบางส่วนไปตั้งมั่นที่เมืองลำพูนและเมืองลี้ พระยากาวิละนำญาติพี่น้องจัดทัพออกรบต่อการกับพม่า แต่ฝ่ายพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่หลายครั้งอย่างต่อเนื่อง จึงให้คนถือศุภอักษรลงไปกรุงเทพฯ ขอพระราชทานทัพมาช่วยเมืองเชียงใหม่ รายละเอียดการรบระหว่างสยามและพม่าในครั้งนี้ ปรากฏในเพลงยาวพระยาสุนทรพิทักษ์[3] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่จำนวน 20,000 คน[3] ดังนี้;
- ฝ่ายพระราชวังบวรฯ : กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ และพระยากลาโหมราชเสนา (พระไชยบูรณ์)
- ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)
นอกจากนี้ เจ้าอุปราชอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ อนุชาของพระเจ้าอินทวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ยกทัพลาวเวียงจันทน์จำนวน 20,000 คน เพื่อมาช่วยเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน จากนั้นมีพระราชบัณฑูรให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยายมราช (บุญมา) ยกทัพล่วงหน้าไปตั้งที่เมืองลำปางก่อน ให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเสด็จยกทัพไปสู้กับพม่าที่เมืองลี้[2] จากนั้นทัพฝ่ายวังหน้าและวังหลวงจากเมืองลำปางจึงแข่งขันกัน[3]เข้ายึดเมืองลำพูนจากพม่า กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชยกทัพวังหลวงไปตั้งที่ทางใต้ของเมืองลำพูน ส่วนกรมขุนสุนทรภูเบศร์และพระยากลาโหมราชเสนายกทัพวังหน้าไปตั้งทางตะวันตกเฉียงเหนือของลำปางทางเมืองป่าซาง ทั้งทัพวังหน้าและวังหลวงเข้าโจมตีเมืองลำพูน นำไปสู่การรบที่ลำพูน ฝ่ายทัพพม่าที่เมืองลี้ยกมาโจมตีทัพไทยที่ลำพูน ทัพฝ่ายไทยสามารถเข้ายึดเมืองลำพูนได้สำเร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ฝ่ายพม่าที่ลำพูนแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่
ทัพของทั้งวังหน้าและวังหลวงยกจากลำพูนขึ้นไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ นำไปสู่การรบที่เชียงใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2341 ในเวลานั้น ทัพลาวเวียงจันทน์ของเจ้าอนุวงศ์จำนวน 20,000 คนมาถึงเมืองเชียงใหม่ ทัพหลวงของกรมพระราชวังหลังฯ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นจักรเจษฎา จำนวนอีก 20,000 คน ได้ยกมาสมทบที่เชียงใหม่เช่นกัน กรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงยกทัพเข้าตีทัพพม่าทางตะวันตกของเชียงใหม่ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ยกเข้าตีทางแม่น้ำปิงทางตะวันออก เจ้าอนุวงศ์ยกเข้าตีทางห้วยแม่ข่า กรมพระราชวังหลังและกรมหลวงจักรเจษฎาทรงยกเข้าตีทางวังตาล พระยากาวิละยกทัพออกมาตีจากในเมืองเชียงใหม่ ทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินถอยร่นกลับไป แม่ทัพพม่าคนหนึ่งชื่อว่าเนเมียวจอดินสีหสุระ (Nemyo Kyawdinthihathu) ถูกสังหารในที่รบ แม่ทัพพม่าชื่อว่าอุบากอง (Upagaung) ถูกจับเป็นเชลย[1] เมื่อมีชัยชนะเหนือพม่าแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพเสด็จคืนพระนคร
เชียงใหม่ตีเมืองสาดและเชียงตุง
[แก้]อาณาจักรล้านนาเปรียบเสมือนเป็นเมืองหน้าด่านรัฐกันชนระหว่างสยามและพม่า หัวเมืองล้านนาต่าง ๆมีข้อเสียเปรียบพม่าประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนเนื่องจากสงครามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่และเจ้าเมืองล้านนาอื่น ๆ ต่างดำเนินนโยบาย”เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”[7] ยกทัพออกไปโจมตีเมืองต่าง ๆเพื่อกวาดต้อนกำลังพลเข้ามาในเมืองล้านนา ในพ.ศ. 2345 พระเจ้าปดุงทรงแต่งตั้งให้นายจอมหง ซึ่งเป็นชาวจีนจากมณฑลยูนนาน ให้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าเมืองสาด (Mong Hsat) และพระเจ้าปดุงทรงประกาศยกย่องราชาจอมหงแห่งเมืองสาดให้เป็นเจ้าเหนือหัวเมืองล้านนาทั้งปวงทั้งห้าสิบเจ็ดหัวเมือง พระยากาวิละแห่งเชียงใหม่จึงมีคำสั่งให้อุปราชน้อยธรรม ยกทัพเชียงใหม่ขึ้นไปโจมตีเมืองสาดในเดือนเมษายนพ.ศ. 2345 อุปราชน้อยธรรมสามารถเข้ายึดเมืองสาดได้อุปราชน้อยธรรมจับกุมตัวราชาจอมหง รวมทั้งจับกุมทูตพม่าซึ่งได้เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ายาล็องแห่งเวียดนาม[8] จากนั้นอุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพเลยไปโจมตีเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย ประชากรเมืองเชียงตุงเป็นชาวไทเขิน อุปราชน้อยธรรมจึงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เข้ายึดเมืองเชียงตุงได้อีกเช่นกัน เจ้าฟ้าศิริไชยเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหลบหนีไป อุปราชน้อยธรรมกวาดต้อนชาวไทเขินจากเมืองเชียงตุงจำนวน 6,000 คน และจากเมืองสาดอีก 5,000 คน[8] มาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุงถูกทำลายและว่างร้างลง[7]
พระเจ้าปดุงทรงพิโรธพระยากาวิละแห่งเชียงใหม่ที่ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงและเมืองสาดและจับทูตพม่าไป จึงมีพระราชโองการให้จัดทัพพม่าเข้าตีเมืองเชียงใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง
สงคราม
[แก้]พระเจ้าปดุงทรงจัดทัพพม่าเข้ารุกรานเชียงใหม่อีกครั้งในพ.ศ. 2345 โดยมีอินแซะหวุ่นเนเมียวจอดินสีหสุระ แม่ทัพคนเดิมซึ่งได้ยกทัพมาตีเชียงใหม่ครั้งก่อนเมื่อพ.ศ. 2340 มาเป็นโบชุกหรือแม่ทัพใหญ่อีกครั้ง ทัพพม่าประกอบด้วยทัพย่อยนำโดย;
- ชิดชิงโป
- ปไลโว
- มะเดมะโยงโกงดอรัด
- นามิแลง
- ตองแพกะเมียวุ่น
- มะยอแพกะเมียวุ่น
เนเมียวจอดินสีหสุระนำทัพพม่าเข้ายึดเมืองลำพูนแล้วล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้านจำนวนเจ็ดค่าย ทำค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่อย่างแน่นหนาวางแผนที่จะล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่เป็นเวลานาน
ในระหว่างก่อนหน้านี้ พระยากลาโหมราชเสนาคนเก่า และพระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ได้ถึงแก่กรรมลง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ขึ้นว่าที่กลาโหมราชเสนา และแต่งตั้งพระยามหาวินิจฉัยขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร[8]
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้จัดทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่อีกครั้งดังนี้;[8]
- ฝ่ายพระราชวังบวร: กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พร้อมทั้งพระโอรสคือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พร้อมทั้งกรมขุนสุนทรภูเบศร์ พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา
- ฝ่ายพระราชวังหลวงและทัพหัวเมือง: พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา)
เจ้าอนุวงศ์อุปราชแห่งเวียงจันทน์ยกทัพลาวมาเข้าร่วมการต่อสู้กับทัพพม่าในครั้งนี้อีกเช่นกัน
การยกทัพไปโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ใช้เส้นทางเดินทัพคล้ายคลึงกับเมื่อพ.ศ. 2340 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว พระอาการมากมีพิษร้อนต้องแช่อยู่ในสาคร[8] เสด็จยกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่มิได้ จึงมีพระราชบัณฑูรให้เจ้าบำเรอภูธรกรมขุนสุนธรภูเบศร์ พร้อมทั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ยกทัพฝ่ายพระราชวังบวรฯ ไปที่เมืองลี้ก่อน ในครั้งนี้ฝ่ายหลักของไทยยกทัพไปทางเมืองลี้ (เส้นทางตะวันตก) แทนที่ยกไปทางเมืองลำปาง (เส้นทางตะวันออก) เหมือนครั้งก่อน ทัพของกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชนั้นด้วยเหตุบางประการรั้งรอล่าช้า[8]ยกทัพฝ่ายวังหลวงติดตามหลังทัพฝ่ายวังหน้าไป เมื่อไปถึงเมืองลี้แล้วได้ข่าวว่าทัพพม่าจะยกทัพมาจากทางเมืองป่าซาง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชเห็นว่าทัพไม่พร้อมเพรียงจึงถอยทัพ[3]ลงไปอยู่หลังทัพของวังหน้า
ฝ่ายพระยากาวิละอยู่รักษาป้องกันเมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวว่ากรมพระราชวังบวรฯ ประชวรอยู่ที่เมืองเถิน จึงให้ท้าวมหายักษ์[8]ผู้มีร่างกายแข็งแรงนำความข้อราชการไปกราบทูลที่เมืองเถิน ท้าวมหายักษ์เดินทางผ่านวงล้อมของพม่าออกไปโดยปราศจากการต่อต้าน ไปเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีตราให้ท้าวมหายักษ์ไปมอบให้แก่พระยากาวิละว่า ฝ่ายกรุงเทพได้ยกทัพขึ้นมาช่วยเมืองเชียงใหม่แล้ว
กองทัพวังหน้าและวังหลวงยกทัพผ่านเมืองลี้ขึ้นไปถึงเมืองลำพูน พระยาเสน่หาภูธรมีใบบอกลงมากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถินว่า พระยามหาวินิจฉัยว่าที่จ่าแสนยากรนั้นอ่อนแอ ของพระราชทานตั้งพระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากรแทน กรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงแต่งตั้งให้พระไกรภพ (บุญรอด) ขึ้นว่าที่จ่าแสนยากร ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตียึดเมืองลำพูนได้สำเร็จ
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรอยู่ที่เมืองเถิน เสด็จนำทัพขึ้นไปเชียงใหม่ไม่ได้ จึงมีพระราชโองการให้กรมพระราชวังหลังฯ ยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่แทน กรมพระราชวังหลังฯ เข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรฯ ที่เมืองเถิน กรมพระราชวังบวรฯ พระราชทานพระแสงดาบให้แก่กรมพระราชวังหลังฯ เป็นอาญาสิทธิ์[8]ให้กรมพระราชวังหลังฯ ทรงมีพระอำนาจบัญชาทัพฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ได้
ทัพฝ่ายไทยยกจากลำพูนเข้าโจมตีทัพพม่าที่เชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังหลังฯ เชิญท้องตรารับสั่งให้แก่แม่ทัพนายกอง และมีพระบัญชาให้แม่ทัพนายกองเข้าหักตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ภายในวันรุ่งขึ้น ไปกินข้าวในเมืองเชียงใหม่ มิฉะนั้นจะมีโทษ ทัพทั้งฝ่ายวังหน้าวังหลวงยกเข้าตีเชียงใหม่ กรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพฝ่ายวังหลวงเข้าตีเชียงใหม่ตั้งแต่สามยาม ฝ่ายพม่ายิงปืนใส่อย่างหนัก ฝ่ายไทยหลบอยู่ตามคันนา พระยาพิชัย (โต) ร้องว่า “ไล่ฟันไล่แทงเถิดแตกดอก”[8] พระยาพิชัย (โต) นำทัพไทยฝ่ากระสุนของพม่าเข้าไป ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้แตกหนี ทัพวังหน้าวังหลวงฝ่ายไทยเข้าระดมโจมตีเมืองเชียงใหม่จากทุกทิศทาง จนสามารถตีทัพพม่าแตกถอยไปได้ เนเมียวจอดินสีหสุระจึงพ่ายแพ้ให้แก่ทัพไทยที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่สอง พระยากาวิละให้กองกำลังเมืองเชียงใหม่ออกติดตามสังหารฝ่ายพม่าที่กำลังหลบหนีได้จำนวนมาก
เมื่อขับไล่ทัพพม่าไปจากเขียงใหม่ได้แล้ว เจ้านายทุกพระองค์แม่ทัพนายกองจึงมาเข้าเฝ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เมืองเถิน ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ยกทัพลาวเวียงจันทน์มาถึงเมืองเชียงใหม่ไม่ทัน มาถึงเมืองเชียงใหม่หลังจากที่พม่าแพ้ไปแล้วเจ็ดวัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพิโรธ[3]กองทัพฝ่ายวังหลวง กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ที่ถอยทัพไปอยู่หลังทัพของวังหน้าที่เมืองลี้ และทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ที่ยกทัพมาไม่ทันการรบ จึงทรงมีพระราชบัณฑูรปรับโทษให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนจากพม่าให้ได้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทและกรมพระราชวังหลังฯ จึงเสด็จกลับพระนคร
บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง
[แก้]การรุกรานเชียงใหม่ของพม่าในพ.ศ. 2345 นี้ เป็นการรุกรานล้านนาของพม่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย ทางฝ่ายกรุงเทพสามารถจัดทัพขึ้นไปช่วยพระยากาวิละเมืองเชียงใหม่ ขับไล่ทัพฝ่ายพม่ากลับไปได้เฉกเช่นทุกครั้ง หลังจากที่ได้ชัยชนะเหนือพม่าที่เชียงใหม่ในพ.ศ. 2345 นี้ กรมหลวงเทพหริรักษ์ พร้อมทั้งพระยายมราช (บุญมา) และเจ้าอนุวงศ์ ประทับอยู่ที่เมืองล้านนาเพื่อจัดเตรียมทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน นำไปสู่สงครามเชียงแสนในพ.ศ. 2347
พระยากาวิละนำตัวราชาจอมหงเมืองสาดลงไปกรุงเทพไปเข้าเฝ้าฯ ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2345 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีพระราชโองการให้สถาปนาพระยากาวิละ ผู้ซึ่งมีความชอบป้องกันเมืองเชียงใหม่และล้านนาจากการรุกรานของพม่าไว้ได้หลายครั้ง ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระราชทานพระนามว่า พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์องค์อินทรสุริยศักดิ์สมญา มหาขัตติยราชชาติราไชยสวรรย์ เจ้าขัณฑสีมาพระนครเชียงใหม่ราชธานี[2][8] เป็นเจ้าประเทศราชเป็นอธิบดีในหัวเมืองล้านนาทั้งห้าสิบเจ็ดเมือง
เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จกลับพระนครแล้ว อาการพระประชวรทุเลาลง ทรงแต่งตั้งพระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) ว่าที่กลาโหมราชเสนา ขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2346 อาการพระประชวรกำเริบขึ้นมาอีก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2346 ต่อมาอีกสามเดือน เกิดความว่าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงร่วมมือกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) วางแผนการกบฏ[8] จึงมีพระราชโองการลงพระราชอาญาสำเร็จโทษพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตด้วยท่อนจันทน์ และให้ประหารชีวิตพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)
ในพ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช (บุญมา) ทัพฝ่ายไทย เจ้าอนุวงศ์ทัพฝ่ายลาวเจียงจันทน์ พร้อมทั้งเจ้าอุปราชน้อยธรรมเมืองเชียงใหม่ เจ้าคำโสมเมืองลำปาง ฝ่ายล้านนา และเจ้าอัตวรปัญโญเมืองน่าน ยกทัพโดยพร้อมกันเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน จนสามารถยึดเมืองเชียงแสนจากพม่าได้ หัวเมืองล้านนาทางเหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่าจึงมาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม อำนาจของพม่าในหัวเมืองล้านนาจึงหมดสิ้นไปอย่างถาวร
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2478.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธนฯ แลกรุงเทพฯ.
- ↑ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, พ.ศ. 2538.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๔.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เถ้าแก่ทองดี ปาณิกบุตร์ จ.จ.เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒.
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า . พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562
- ↑ 7.0 7.1 Grabowsky, Volker. Forced Resettlement Campaigns in Northern Thailand during the Early Bangkok Period. Journal of Siamese Society, 1999.
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.