ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
ประวัติศาสตร์ไทย |
---|
ตัวเลขในวงเล็บ หมายถึง ปีพุทธศักราช |
ราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยส่งกำลังพลไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลางที่แนวรบด้านตะวันตกในประเทศฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงแม้จะไม่มีผลกระทบต่อภายในสยามมากนัก แต่การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จของสยามที่ทำให้นานาประเทศในยุโรปยอมรับสยามมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการเสียดินแดนให้กับประเทศยุโรปในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสียดินแดน, ลัทธิชาตินิยม และแสนยนิยมของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นก็เป็นปัจจัยหลักผลักดันทำให้สยามเข้าร่วมสงคราม
สยามเริ่มมีบทบาทในสงครามหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี สยามส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่แนวหน้าตะวันตกโดยทั้งหมดประจำการอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส กองทัพสยามที่ถูกส่งไปมีจำนวนทหารประจำการอยู่ทั้งหมด 1,248 นาย สยามเข้าร่วมสงครามในวันที่ 22 กรกฎาคม 1917 และส่งทหารไปร่วมรบในกลางเดือนกันยายนของปีเดียวกัน กองทัพสยามที่ถูกส่งไปได้ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พวกเขามีความสามารถในด้านการซุ่มโจมตีเนื่องจากมีกำลังพลที่ค่อนข้างน้อยแต่ก็เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงตามความเห็นของทหารสัมพันธมิตรชาติอื่น ๆ [1] หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมันลงนามสงบศึกกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 กองทัพสยามก็เข้าร่วมการยึดครองดินแดนไรน์ สยามทำการเข้ายึดครองเมืองนอยสตัท อัน เดอ ไวน์สตาเซอ (Neustadt an der Weinstraße)
ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งฝ่ายเยอรมันและฝ่ายสัมพันธมิตร ธุรกิจของเยอรมันในสยามเฟื่องฟูทำปริมาณต่อปีได้ 22 ล้านมาร์คทองในช่วงก่อนสงคราม นอกจากนี้ยังมีชาวเยอรมันรับราชการในรัฐบาลสยาม แต่ในขณะเดียวกันพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงโปรดฝ่ายไตรภาคี[2] อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดความเห็นต่างกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ สยามดำรงนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดมาตลอด 3 ปีของสงคราม ก่อนจะเริ่มโอนเอนเมื่อทราบรายงานว่าฝ่ายเยอรมันมีส่วนในการปลุกปั่นชาวอินเดียในสยามให้กระด้างกระเดื่องต่อจักรวรรดิอังกฤษ บวกกับการดำเนินการสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตของฝ่ายเยอรมันที่โจมตีเรือโดยไม่ประกาศล่วงหน้า ส่งผลให้เรือ อาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย อับปาง เป็นสาเหตุให้สหรัฐเข้าร่วมสงคราม รวมถึงความประสงค์ของสยามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับชาติอื่น[3] วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง สั่งจับกุมพลเมืองชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีในราชอาณาจักร และยึดทรัพย์สินและเรือที่เทียบท่า[4] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1917มีการจัดตั้งกองทหารอาสาสยามที่ประกอบด้วยหน่วยขนส่งยานยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ และกองบิน จำนวน 1,284 นาย[5] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1918 กองทหารอาสาสยามเดินทางถึงมาร์แซย์ โดยกองบินถูกส่งไปฝึกที่เมืองอิสตร์ ส่วนหน่วยขนส่งยานยนต์ถูกส่งไปฝึกที่เมืองลียง[6] หน่วยขนส่งยานยนต์มีส่วนในการส่งกำลังพล ยุทธภัณฑ์และเสบียงในการรุกเมิซ–อาร์กงทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และภายหลังได้รับเหรียญครัวซ์เดอแกร์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีจากความชอบนี้[7] ขณะที่กองบินยังอยู่ในช่วงฝึกซ้อมเมื่อมีการลงนามสงบศึกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918
หลังสงคราม สยามเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 และเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสันนิบาตชาติ มีโอกาสแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ ด้านกองทหารอาสาสยามเสียกำลังพล 19 นาย ซึ่งอัฐิถูกบรรจุที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้สร้างวงเวียน 22 กรกฎาคม เพื่อระลึกถึงการเข้าร่วมสงคราม[8]
ภูมิหลัง
[แก้]ในช่วงต้นศตวรรษ 20 จักรวรรดิอังกฤษ, ฝรั่งเศส และ ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้มีอิทธิพลเหนือทวีปเอเชีย อาณานิคมเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประเทศยุโรปเหล่านั้น เพราะถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรที่ทำให้การค้าขายของพวกเขาดำเนินไปได้ด้วยดีและมั่นคง อาณานิคมในเอเชียก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งเนื่องจากเป็นแหล่งที่ทำให้ประเทศแม่อย่างเช่นอังกฤษ สามารถมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้ ลัทธิจักรวรรดินิยมเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สยามในสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสียดินแดนลาวและกัมพูชาให้กับประเทศยุโรป การที่สยามไม่ถูกยึดครองเป็นอาณานิคมเลยแต่รอบด้านของประเทศกลับกลายเป็นอาณานิคมจนหมด ก็ย่อมทำให้สยามกลายเป็นรัฐที่ต้องการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของชาติยุโรปแล้วก็ทำการบูรณะประเทศชาติให้มีการพัฒนามากขึ้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจของสยามในตอนนั้นยังคงพึ่งพาได้เพียงแค่การส่งออกข้าวและพืชพันธุ์ เนื่องจากการอุตสหกรรมยังไม่ได้ก้าวหน้ามากนัก[9][10] เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับบรมราชาภิเษก พระองค์ก็ทรงปกครองสยามตามแบบอังกฤษ เนื่องจากช่วงที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์นั้นพระองค์ได้ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารที่นั้นและเข้ารับราชการทหารในกรมทหารราบอังกฤษ วัฒนธรรม, ประเพณี และ สังคมที่ประเทศอังกฤษหล่อหลอมให้พระองค์ทรงมีความมั่นใจและยืนหยัดที่จะใช้การปกครองในแบบอังกฤษ[9]
บุคคลที่สนับสนุนอังกฤษ และ ฝรั่งเศส
[แก้]เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระอนุชาของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทบาทสำคัญที่นำพาสยามเข้าสู่สงคราม ช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงเสด็จไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นก็ทรงเสด็จไปศึกษาต่อที่จักรวรรดิรัสเซียจากการเชิญชวนของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่เป็นพระสหายคนสำคัญของพระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน ค.ศ. 1902 และทรงได้รับเข้าประจำการในกรมทหารม้าฮุสซาร์ของกองทัพจักรวรรดิรัสเซีย เช่นเดียวกันกับพระเชษฐาของพระองค์ พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลของอังกฤษและรัสเซีย ก็เลยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวพระองค์ทรงมีความเห็นที่จะเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีทหารบกในช่วงสงครามและทรงช่วยเหลือกองทัพสยามในฝรั่งเศสในด้านต่าง ๆ ทั้งยังทรงก่อตั้งกองกำลังอากาศขึ้นมาโดยเป็นกองย่อยของกองทัพบก ทำให้สยามกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางทหารในทวีปเอเชีย[9]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระปิตุลาของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 1885 พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่ดำเนินการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมมาตั้งแต่สมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีนโยบายที่เข้มงวดต่อชาวต่างชาติ และ ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ พระองค์ทรงเป็นพระสหายคนสำคัญของ เซอร์ เดริ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงดำริว่าอังกฤษมีอิทธิพลเหนือแผ่นดินสยามมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรป[11]
บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงคราม
[แก้]สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ และ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม ทั้งสามพระองค์เป็นพระอนุชาของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสำเร็จการศึกษาที่จักรววรดิเยอรมันและได้รับการฝึกฝนในแบบทหารเยอรมัน พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ทรงเสกสมรสกับหม่อมเอลิซาเบท รังสิต ณ อยุธยา สตรีชาวเยอรมัน เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ทรงมีตำแหน่งเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพปรัสเซีย การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจักรวรรดิเยอรมันไม่ได้หยุดถึงแม้สยามจะเป็นคู่สงครามกับเยอรมันก็ตาม เนื่องจากพระอนุชาทั้งสามพระองค์ยึดมั่นและมีแรงบันดาลใจในการปกครองบ้านเมืองมาจากจักรวรรดิเยอรมัน ทั้งสามพระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่ไม่เห็นด้วยกับพระเชษฐา[12]
ความสัมพันธ์กับประเทศยุโรป
[แก้]การขยายอิทธิพลของประเทศยุโรปเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันทำให้สยามต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกในคริสต์ศตวรรษ 20 นี่ก็หมายความว่าแรงผลักดันที่จะทำให้สยามเข้าร่วมสงครามส่วนหนึ่งก็มาจากความสัมพันธ์ระหว่างสยามและประเทศคู่สงครามในยุโรป ด้านล่างคือรายละเอียดบุคคลจากชาติในสงครามที่พำนักอยู่ในสยาม
- เซอร์ เฮอร์เบิร์ต เดริ่ง (Sir Herbert Dering) อัครราชทูตจากประเทศอังกฤษที่ได้รับมอบหมายมาประจำอยู่ที่สยามตั้งแต่ ค.ศ. 1915 จนถึง 1919 เดริ่งได้สร้างอิทธิพลที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของสยาม เขาเป็นบุคคลชาวต่างชาติที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่อองค์พระมหากษัตริย์มากที่สุด
- ปีแยร์ เลอแฟร์-เวปองเตลิส (Pierre Lefèvre-Pontalis) ผู้ปกครองอินโดจีนของฝรั่งเศส ได้รับหน้าที่เป็นอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยามในปี 1912 ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามได้ตกต่ำลงหลังจากการเสียดินแดนของสยาม ฝรั่งเศสก็ยังเป็นชาติยุโรปอีกชาติหนึ่งที่ยังคงมีอิทธิพลต่อราชวงศ์จักรีและสยามประเทศ ปีแยร์เป็นพระสหายคนสำคัญของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เพราะว่าทั้งสองมีประวัติสำเร็จการศึกษาที่จักรวรรดิรัสเซีย
ถึงแม้ว่าสยามจะได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสและอังกฤษมามากก็ตาม แต่ด้านการค้าจักรวรรดิเยอรมันก็ถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสยาม เยอรมันไม่ได้มีอิทธิพลในทวีปเอเชียมากนักถ้าเทียบกับฝรั่งเศสและอังกฤษที่มีอิทธิพลจากการขยายอาณานิคมเกือบทุกภูมิภาคของเอเชีย เยอรมันเองก็ต้องการที่จะขยายอิทธิพลมาทางเอเชียตะวันออกบ้างหลังจากที่ได้เห็นการขยายอิทธิพลอำนาจของฝรั่งเศสและอังกฤษ สยามที่ได้เซ็นต์สัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับฝรั่งเศสและอังกฤษก็กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเยอรมัน เยอรมันมองว่าสยามเป็นอีกประเทศ ๆ หนึ่งที่พวกเขาสามารถเข้ามาค้าขายด้วยได้โดยไม่มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งใด ๆ ต่อฝรั่งเศสและอังกฤษ นักลงทุนเยอรมันหันมาสนใจสยามและทำการลงทุน มูลค่ากาารค้าขายและการลงทุนระหว่างสยามและเยอรมันมีมากถึง 22 ล้านไรชส์มาร์ค ($5.2 ล้าน) ต่อปี โดยเงินส่วนมากมาจากโรงแรม, ร้านตัดผม, ร้านอาหาร, ร้านขายยา และ บริษัทประกัน ที่นักลงทุนชาวเยอรมันเข้ามาลงทุนในสยาม ชาวเยอรมันเข้ามาพำนักในสยามมากขึ้นเรื่อย ๆ และ จังหวัดพระนครก็กลายเป็นท่าเรือสำคัญท่าเรือหนึ่งของเยอรมัน นอกจากนั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำเข้ามาในประเทศ อย่างเช่นรางรถไฟ และ เครื่องโทรเลข ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีของเยอรมัน[9]
การวางตัวเป็นกลาง
[แก้]สยามได้ผลกระทบปานกลางจากสงครามที่กำลังปะทุ และ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การค้าขายจากประเทศยุโรปหยุดชะงักการค้าขายทันทีในช่วงเดือนแรกของสงคราม ทำให้เกิดผลเสียขึ้นมากมาย โดยเฉพาะราคาของนำเข้าที่พุ่งขึ้นสูงกว่าราคาปกติถึง 30-40% การสร้างรางรถไฟหยุดชะงักลง เนื่องจากการนำเข้าปูนซีเมนต์ และ เหล็ก ได้หยุดลง[13] ชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ที่อยู่ในสยามก็ถูกเรียกตัวกลับไปประเทศของตนเพื่อให้ไปเกณฑ์ทหาร แต่ชาวเยอรมันส่วนมากก็ทำการหลบหนี เพราะว่าพวกเขาถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเรือโดยสารเดียวกันกับชาวยุโรปอื่น ๆ จากข่าวคราวที่รายงานเกี่ยวกับสงครามในแต่ละวันก็กลายเป็นตัวบีบบังคับให้สยามจำเป็นต้องเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เดริ่ง อัครราชทูตอังกฤษในสยามก็ทำการโน้มน้าวใจพระมงกุฎเกล้าให้เข้าร่วมสงคราม มีการโฆษณาจากฝ่ายสัมพันธมิตรเกิดขึ้นในสยาม ด้วยการช่วยเหลือของเดริ่งที่ทำงานให้กับอังกฤษเลยมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่เนื้อหาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร หนังสือพิมพ์เหล่านั้นถูกตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย ออตโต เชฟาร์ (Otto Schaefer) นักลงทุนชาวเยอรมัน ที่หลบหนีมาจากอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม ได้ทำการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเอียงข้างหาฝ่ายมหาอำนาจกลางในชื่อ Umschau หรือ ในภาษาไทยที่เรียกกันว่า ข่าวเยอรมัน เชฟาร์หวังว่าการกระทำของเขาจะเป็นการโน้มน้าวให้สยามเข้าร่วมฝ่ายมหาอำนาจกลาง อัครราชทูตอังกฤษเมื่อเห็นดังนั้นจึงประท้วงทางการสยามที่ให้มีการตีพิมพ์สื่อที่เอียงข้างไปหาเยอรมันออกมา พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงกล่าวกับอัครราชทูตอังกฤษว่าการสั่งให้ ข่าวเยอรมัน หยุดตีพิมพ์นั้นจะทำให้ต่างชาติมองว่าสยามไม่ได้เป็นกลาง และ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ทางการอังกฤษก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันในสยาม เพราะพวกเขารู้ว่าทางการสยามก็เอียงข้างเข้าหาฝ่ายสัมพันธมิตร เห็นได้จากสำนักพิมพ์ทั่วทั้งจังหวัดพระนคร ที่มักจะเขียนข่าวเอียงข้างไปหาฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เสมอ[14]
ภายในสยามก็ได้มีการสร้างความเอกภาพขึ้นมาให้เกิดในสังคมของทุก ๆ ชนชั้น พระมงกุฎเกล้าทรงมองเห็นว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นตัวผลักดันความชาตินิยมในหมู่ผู้คนให้เพิ่มมากขึ้น "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" พระราชดำรัสของพระองค์ ที่เคยตรัสไว้ใน ค.ศ. 1911 ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยบทบาทของพระราชดำรัสคือ ชูจุดยืนของประเทศสยาม, ความเป็นผู้นำขององค์พระมหากษัตริย์, ให้ปวงชนยึดมั่นในความเอกภาพของประเทศสยาม, เพิ่มความสนใจต่อการปกป้องประเทศ และ ชูความแสนยนิยมของสยาม[15] ความเป็นกลางของสยามค่อย ๆ ลดลงในปี 1915 เมื่อทางการสยามได้สั่งการให้กองทัพเรือซื้อเรือพิฆาตเพิ่มจากอังกฤษ[9]
กองทัพสยาม
[แก้]เมื่อสงครามประทุขึ้นในเดือนสิงหาคม 1914 กองทัพสยามมีทหารประจำอยู่ทั้งหมด 30,000 นาย กระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านทางการทหารอย่างกระทรวงกลาโหมถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1892 รัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยเดียวกันนั้น ได้มีการยกเลิกทาส แต่ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลสยามก็ต้องการคนเพิ่มในกองทัพจึงได้มีการเกณฑ์ทหาร ชายชาวสยามจะต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพ 2 ปี และ เป็นกำลังพลสำรอง 15 ปี ส่วนในด้านผู้นำของกองทัพ กษัตริย์เป็นผู้บัญชาการสูงสุดที่ได้รับการแนะนำจากเสนาบดีของกระทรวงกลาโหม สงครามนั้นทำให้กระทรวลกลาโหมได้งบประมาณมากที่สุด เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นผู้บัญชาการของกรมเสนาธิการทหารบก พระองค์ทรงทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม และ ทรงมีหน้าที่ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสยามกับกองทัพต่างชาติ กองทัพบกของสยามในช่วงของพระองค์ได้พัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากพระองค์ได้ทำการบูรณะกองทัพสยามให้เหมือนกับกองทัพชาติตะวันตก[16][17]
ใน ค.ศ. 1911 กองทัพบกได้ถูกแบ่งเป็น 3 กองทัพน้อย โดยแต่ละกองทัพน้อยประกอบไปด้วย 3 กองพล และ 1 กองพลอิสระ กองทัพบกในช่วงประทุของสงครามไม่ได้มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากนัก กองทัพใช้ปืนใหญ่สนามที่ล้าสมัยของจักรวรรดิเยอรมัน ไม่มีพาหนะเคลื่อนที่เป็นหลักเป็นเป็นแหล่ง แต่จะจ้างเกวียนของพลเรือนแทน ในบางครั้งที่ฝนตกพื้นแฉะ จะมีการขี่หลังควายเพื่อการเคลื่อนพล หลังจากที่สยามประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางแล้ว ก็เห็นได้ว่าในปี 1918 กองทัพสยามที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้ใช้รถบรรทุกในการเคลื่อนพล และ ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ ส่วนในด้านของกองทัพเรือก็ล้าสมัยไม่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะมีการบูรณะ และ สรรหาจัดซื้อเรือรบเข้ามา การป้องกันตามชายฝั่งของประเทศไม่ได้แข็งแรงมากนัก ในด้านของกองทัพอากาศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ผู้ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมทรงมีพระประสงค์ที่จะนำอากาศยานมาเป็นกำลังสนับสนุนของกองทัพบกหลังจากที่พระองค์ได้ศึกษาดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส ได้มีการสร้างสนามบินดอนเมืองขึ้นมาในปี 1914 ใช้เป็นสนามบินการทหาร ในปี 1916 กองอากาศยานสยามประกอบไปด้วยนักบิน 5 คน, นักบินระหว่างการฝึก 6 คน และ อีกประมาณ 60 คน เป็นผู้ช่วยภาคพื้นดิน และ ช่างซ่อม มีการฝึกตามแบบมาตราฐานของนักบินฝรั่งเศส เครื่องยนต์นำเข้าจากฝรั่งเศสแต่เครื่องบินสร้างขึ้นภายในสยาม[18][19]
ความขัดแย้งระหว่างกองเสือป่ากับกองทัพสยาม
[แก้]จากการที่พระมงกุฏเกล้าได้ทรงสถาปนากองกำลังกึ่งทหารที่มีชื่อว่ากองเสือป่าขึ้นในปี 1911 ก็ทำให้มีความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับฝ่ายพระมหากษัตริย์ กล่าวก็คือนายทหารส่วนมากของกองทัพคิดว่าพระมงกุฏเกล้าจะใช้อำนาจที่มีต่อกองเสือป่าในการลดอิทธิพลของกองทัพ และ ทำให้กองทัพหมดอำนาจลงอย่างสิ้นเชิง นายทหารบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการกระทำของพระมงกุฏเกล้าได้รวบรวมกลุ่มปัญญาชนกลุ่มหนึ่งให้เข้ามาร่วมการกบฏด้วย ซึ่งพวกเขามีจุดประสงค์ก็คือการปฏิวัติรัฐบาลของพระมงกุฏเกล้า และ ทำการบีบบังคับให้พระมงกุฏเกล้ามอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการปฏิวัติครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ กบฏ ร.ศ. 130 แต่แผนการแตกเสียก่อน และ ผู้ก่อการถูกจับกุมตัว ในภายหลังนั้นพระมงกุฏเกล้าทรงพยายามที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ และ กองเสือป่าดีขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจให้ทั้งสองเท่า ๆ กัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือกองทัพคงเป็นกองกำลังหลักของสยามเช่นเดิม แต่ในทางกลับกันนั้นกองเสือป่าถูกลดอิทธิพลลงอย่างสิ้นเชิง[20]
ดูเพิ่ม
[แก้]- กองทหารอาสาสยาม
- การยึดครองเยอรมนีของสยาม
- ธงชัยกองทหารอาสาสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hart, Keith (1982): "A NOTE ON THE MILITARY PARTICIPATION OF SIAM IN WWI" เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Stefan Hell (2017). Siam and World War I: An International History. River Books. ISBN 978-616-7339-92-4.
- ↑ Heather Streets-Salter (13 April 2017). World War One in Southeast Asia: Colonialism and Anticolonialism in an Era of Global Conflict. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-13519-2.
- ↑ Stefan Hell (26 June 2019). "Siam on the world stage". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 26 June 2020.
- ↑ Keith Hart (1982). "A Note on the Military Participation of Siam in WWI" (PDF). Journal of the Siam Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
- ↑ Duncan Stearn (22 August 2009). "Thailand and the First World War". First World War.com. สืบค้นเมื่อ 19 July 2015.
- ↑ เผด็จ ขำเลิศสกุล (22 กรกฎาคม 2560). "ครบรอบ 100 ปี สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1: ย้อนรอยการเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ทวี แจ่มจำรัส (24 พฤศจิกายน 2560). "100 ปีสยาม กับผลประโยชน์ของชาติ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยวีรกรรมของทหารไทย". มติชน. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Hell, Stephen: SIAM IN WORLD WAR 1, River Books, 2017, ISBN 978-6167339924
- ↑ Brown, Ian: The Élite and the Economy in Siam, East Asian Historical Monographs, 1988, ISBN 978-0195888775
- ↑ Dering to Balfour, 25 June 1918, NA UK, FO 371/3364, 154726
- ↑ Soontravanich, Chalong: Siam and the First World War: The Last Phase of Her Neutrality, 1973
- ↑ Straits Times, 12 August 1914
- ↑ Siam and the War, 5 May 1917, AMAE, CPCOM Siam, vol. 13, Vella, page 102
- ↑ Thep Boontanondha, 'Prabath Somdej Phra Mongkut Klao Chao Yu Hua Kab Kan Sang Pab Lak Thang Kan Thahan', M.A. thesis (History), Chulalongkorn University, 2013
- ↑ Major Collardet: The Siamese Army (Confidential Memoranda), NA UK, 31 January 1914, FO 371/2101
- ↑ Peel to Grey, 16 February 1914, NA UK, FO 371/2102, F 13674
- ↑ Remy to Bethmann-Hollweg, 20 June 1916, PA AA, R 19254
- ↑ Edward M. Young: A History of Aviation in Thailand, Smithsonian Institution Press, 1995, page 24 and 29
- ↑ von der Goltz to Bethmann-Hollweg, 12 March 1912 and 9 March 1912, PA AA, R 19253