ข้ามไปเนื้อหา

ฟาโรห์อาโมสที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อามาซิสที่ 2 (กรีกโบราณ: Ἄμασις Ámasis; ฟินิเชีย: 𐤇𐤌𐤎 ḤMS)[2] หรืออาโมสที่ 2 เป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณจากราชวงศ์ที่ยี่สิบหก พระองค์ทรงครองราชย์ระหว่าง 570 – 526 ปีก่อนคริสตกาล และทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากฟาโรห์เอพริส โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองซาอิส และพระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่พระองค์สุดท้ายของอียิปต์ก่อนการพิชิตของเปอร์เซีย[3]

พระราชประวัติ

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับฟาโรห์อามาซิสที่ 2 มาจากเฮโรโดตัส (2.161ff) และสามารถตรวจสอบได้อย่างไม่สมบูรณ์ด้วยหลักฐานถาวรวัตถุเท่านั้น ตามคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก พระองค์ทรงมีต้นกำเนิดจากสามัญชน[4] เดิมทีแล้วพระองค์ทรงเป็นนายทหารในกองทัพอียิปต์ บ้านเกิดของเขาคือซิอุฟที่เมืองซาอิส เขามีส่วนร่วมในการดำเนินการทางทหารทั่วไปของฟาโรห์ซามาเจิกที่ 2 ในช่วง 592 ปีก่อนคริสตกาลในนิวเบีย[5]

พระองค์ทรงมีโอกาสในการยึดพระราชบัลลังก์ เนื่องจากมีการก่อกบฎที่เกิดขึ้นในหมู่ทหารอียิปต์พื้นเมือง กองทหารเหล่านี้ที่เดินทางกลับบ้านจากการเดินทางไปซิเรเนในลิเบีย และสันนิษฐานว่าพวกเขาถูกหักหลังเพื่อให้ฟาโรห์เอพริส ซึ่งครองราชย์ในช่วงเวลานั้น ให้สามารถปกครองโดยทหารรับจ้างชาวกรีกได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ชาวอียิปต์หลายคนเห็นใจพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยนายพลอามาซิสที่ถูกส่งไปพบพวกเขาและปราบปรามการจลาจล แต่ได้รับการยอมรับให้ขึ้นเป็นฟาโรห์โดยพวกกบฏแทน และทำให้ฟาโรห์เอพริส ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาทหารรับจ้างของพระองค์ทั้งหมด พ่ายแพ้[6] จากนั้นพระองค์ทรงลี้ภัยไปยังดินแดนบาบิโลเนีย ต่อมาทรงถูกจับและสังหารหลังจากการกลับเข้ามายังดินแดนอียิปต์อีกในช่วง 567 ปีก่อนคริสตศักราชด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพบาบิโลน[7] คำจารึกยืนยันการต่อสู้ระหว่างชาวอียิปต์พื้นเมืองกับทหารต่างชาติ และพิสูจน์ว่าฟาโรห์เอพริสทรงถูกสังหารและถูกฝังอย่างสมพระเกียรติในปีที่สามแห่งการครองราชย์ของฟาโรห์อามาซิสที่ 2 (ราว 567 ปีก่อนคริสตศักราช)[6] จากนั้นพระองค์ก็ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเชเดบนิทเจอร์โบเนที่ 2 ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์หนึ่งของฟาโรห์เอพริส ผู้ซึ่งเป็นผู้ปกครองก่อนหน้าของพระองค์ เพื่อทำให้ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ถูกต้องและชอบธรรม[8]

มีการค้นพบข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดพระองค์จากรูปสลักพระราชมารดาของพระองค์ ซึ่งมีพระนามว่า ตาเชเรนอิเซท ปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์บริติช[9] บล็อกหินจากเมฮัลเลต อัล-กุบรา ยังระบุพระนามของพระอัยยิกาฝ่ายพระราชมารดา หรือ พระราชมารดาของพระนางตาเชเรนอิเซท ซึ่งมีพระนามว่า ทเจนมูเททจ์[10]

เป็นทราบยังดีเกี่ยวกับภายในราชสำนักในรัชสมัยของพระองค์ โดยในอนุสาวรีย์หลายแห่งปรากฎชื่อของหัวหน้าฝ่ายเฝ้ายามพระทวารนามว่า อาโมส-ซา-นิธ รวมทั้งที่ตั้งของโลงศพของเขา เขายังถูกกล่าวถึงในอนุเสาวรีย์จากสมัยราชวงศ์ที่สามสิบ และเห็นได้ชัดว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษในสมัยของเขา วาอิบเร ผู้ซึ่งรั้งตำแหน่งเป็น 'ผู้นำของชาวต่างชาติทางใต้' และ 'หัวหน้าประตูของชาวต่างชาติ' ดังนั้นเขาจึงเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดในการรักษาความปลอดภัยชายแดน อูดจาฮอร์เรสเนต ผู้มีความเกี่ยวของทางด้านการแพทย์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นภายใต้รัชสมัยฟาโรห์อามาซิส ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อชาวเปอร์เซีย อีกทั้งยังทราบเกี่ยวกับ "หัวหน้ากองเรือ" ซึ่งมีจำนวนหลายคน ส่วนราชมนตรีในรัชสมัยของพระองค์ที่เป็นที่ทราบ คือ ซามาเจิก เมรินิท และปาเชริเอนตาอิเฮต หรือ ปาดินิธ

พอลิคราเตส ทรราชแห่งซามอส กับฟาโรห์อามาซิสที่ 2

เฮโรโดตัสยังอธิบายว่าในท้ายที่สุดแล้วฟาโรห์อามาซิสที่ 2 จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากับกองทัพเปอร์เซียได้อย่างไร โดยอ้างอิงจากเฮราโดตัส กษัตริย์แคมไบซีสที่ 2 หรือ ไซรัส มหาราช ได้ทรงขอจักษุแพทย์ชาวอียิปต์จากพระองค์ แต่ดูเหมือนว่าฟาโรห์อามาซิสจะปฏิบัติตามด้วยการบังคับให้แพทย์ชาวอียิปต์ไปตามคำขอดังกล่าว ทำให้เขาต้องทิ้งครอบครัวไว้ที่อียิปต์และย้ายไปเปอร์เซียโดยถูกบังคับให้ลี้ภัย ในความพยายามที่จะล้างแค้นในเรื่องนี้ แพทย์ได้ใกล้ชิดกับกษัตริย์แคมไบซีสอย่างมากและแนะนำว่าให้กษัตริย์แคมไบซีสควรไปขอพระราชธิดาจากฟาโรห์อามาซิสมาอภิเษกสมรส เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ของพระองค์กับอียิปต์ และกษัตริย์แคมไบซีสก็ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำและทรงขอพระราชธิดาของฟาโรห์อามาซิสมาอภิเษกสมรส[11]

ฟาโรห์อามาซิสทรงกังวลว่าพระราชธิดาของพระองค์จะกลายเป็นนางสนมของกษัตริย์เปอร์เซีย พระองค์จึงทรงปฏิเสธคำขอจากกษัตริย์แคมไบซีส แต่ฟาโรห์อามาซิสทรงไม่ไม่ปรารถนาที่จะเป็นปรปักษ์กับจักรววรดิเปอร์เซีย ดังนั้น พระองค์จึงสร้างแผนหลอกลวง โดยพระองค์จะทรงบังคับพระราชธิดาของฟาโรห์เอพริสให้ไปเปอร์เซียแทนที่จะเป็นพระราชธิดาของพระองค์เอง[11][12][13]

พระราชธิดาของฟาโรห์เอพริสพระองค์นี้ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระนางนิเตติส ตามการบันทึกของเฮโรโดตัสได้กล่าวว่า "ทรงมีส่วนสูงที่สูงและสิริโฉมงดงาม" โดยพระนางนิเตติสได้ทรงทรยศฟาโรห์อามาซิส และเมื่อได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์เปอร์เซียแล้ว พระองค์ก็ทรงอธิบายแผนลวงของฟาโรห์อามาซิส และต้นกำเนิดที่แท้จริงของพระองค์ ทำให้กษัตริย์แคมไบซีสทรงพิโรธอย่างยิ่ง และพระองค์ทรงสาบานว่าจะแก้แค้นในเรื่องนี้ แต่ฟาโรห์อามาซิสเสด็จสวรรคตไปเสียก่อนที่กษัตริย์แคมไบซีสจะยกทัพมาถึง โดนฟาโรห์ซามาเจิกที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรส ทรงต้องมารับศึกแทนและพ่ายแพ้ในเวลาต่อมา[11][13]

เฮโรโดตัสยังอธิบายอีกด้วยว่า ฟาโรห์อามาซิสทรงอาศัยทหารรับจ้างและสมาชิกขุนนางชาวกรีกเฉกเช่นเดียวกันผู้ปกครองก่อนหน้าพระองค์ หนึ่งในบุคคลดังกล่าวคือ ฟาเนสแห่งฮาลิคาร์นาสซัส ซึ่งภายหลังจะหายไปในรัชสมัยฟาโรห์อามาซิส ด้วยเหตุผลที่เฮโรโดตัสไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นบุคคลระหว่างบุคคลทั้งสองดังกล่าว ฟาโรห์อามาซิสทรงส่งขันทีคนหนึ่งไปจับกุมฟาเนส แต่ขันทีถูกขุนนางผู้เฉลียวฉลาดเอาชนะ และฟาเนสได้หนีไปยังเปอร์เซีย ซึ่งพบกับกษัตริย์แคมไบซีสและให้คำแนะนำในการบุกอียิปต์ ในที่สุดอียิปต์ก็พ่ายแพ้ต่อชาวเปอร์เซียในระหว่างการรบที่เมืองเปลูเซียมใน 525 ปีก่อนคริสตกาล[13]

ความมั่งคั่งของอียิปต์

รูปสลักหินของพระนางตาเชเรเนเซ ซึ่งเป็นพระราชมารดาของฟาโรห์อามาซิสที่ 2 ปกครองระหว่าง 570-526 ปีก่อนคริสตกาล จากพิพิธภัณฑ์บริติช

ฟาโรห์อามาซิสทรงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์ใกล้ชิดกับกรีซมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฮโรโดตัสเล่าว่า ภายใต้การบริหารที่รอบคอบ พระราชอาณาจักรอียิปต์มีความมั่งคั่งระดับใหม่ ฟาโรห์อามาซิสทรงโปรดให้มีการประดับประดาเหล่าวิหารในอียิปต์ล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิหารน้อยที่สวยงามและอนุสาวรีย์อื่น ๆ (กิจกรรมทางสถาปัตยกรรมของพระองค์สามารถพิสูจน์ได้จากซากที่หลงเหลืออยู่)[6] ตัวอย่างเช่น วิหารที่โปรดให้สร้างขึ้นโดยพระองค์ได้รัการขุดค้นที่เทล เนเบชา[ต้องการอ้างอิง]

พระองค์ทรงพระราชทานอาณานิคมทางการค้าในเมืองนอคราติสที่ตั้งบนแม่น้ำสาขาคาโนปัสของแม่น้ำไนล์ให้กับชาวกรีก และเมื่อวิหารแห่งเดลฟีถูกเผา พระองค์ทรงบริจาคเงิน 1,000 ตะเลนต์เพื่อสร้างวิหารใหม่ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาวกรีกพระนามว่า ลาดิซ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์บัตตุสที่ 3 และยังทรงเป็นพันธมิตรกับพอลิคราเตสแห่งซามอสและโครเอซัสแห่งลิเดีย[7] มงแตญได้อ้างอิงงานเขียนของเฮโรโดตัสที่ว่า พระนางลาดิชทรงรักษาฟาโรห์อามาซิสให้หายจากความอ่อนแอด้วยการสวดอ้อนวอนถึงเทพีวีนัสหรืออะโฟรไดที[14]

ภายใต้รัชสมัยของฟาโรห์อามาซิส เศรษฐกิจที่มีพื้นฐานทางการเกษตรของอียิปต์มาถึงจุดสูงสุด โดยเฮโรโดตัส ผู้ซึ่งไปเยือนดินแดนอียิปต์ในช่วงน้อยกว่าหนึ่งศตวรรษหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระองค์ ได้บันทึกว่า:

ว่ากันว่าในรัชสมัยของฟาโรห์อาโมสที่ 2 (อามาซิส) ที่อียิปต์มีความเจริญรุ่งเรืองในระดับสูงสุดทั้งในแง่ของสิ่งที่แม่น้ำให้แผ่นดินและในแง่ของสิ่งที่แผ่นดินให้ไว้กับผู้คนและจำนวนเมืองที่อาศัยอยู่ ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวนถึง 20,000 เมือง[15]

พระราชอาณาเขตในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตทางตอนใต้ไปจรดที่แก่งน้ำตกแรกเท่านั้น นอกจากนี้ยังอาณาเขตขึ้นไปยังเกาะไซปรัส และพระองค์ทรงแผ่อิทธิพลไปทางทิศตะวันตกบริเวณเมืองซิเรเนในลิเบีย[6] ในปีที่สี่แห่งการครองราชย์ของพระองค์ (ราว 567 ปีก่อนคริสตศักราช) ฟาโรห์อามาซิสทรงสามารถเอาชนะการรุกรานอียิปต์โดยชาวบาบิโลนภายใต้กครองของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 โดยต่อจากนี้ไป ชาวบาบิโลนได้ประสบปัญหาในการควบคุมอาณาจักรของตนจนต้องละทิ้งการโจมตีฟาโรห์อามาซิสในอนาคต[16] อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พระองค์ทรงต้องเผชิญกับศัตรูที่น่าเกรงขามกว่าด้วยการผงาดขึ้นของจักรวรรดิเปอร์เซียภายใต้การนำของกษัตริย์ไซรัสมหาราช ผู้ทรงขึ้นครองบัลลังก์ในช่วง 559 ปีก่อนคริสตกาล ปีสุดท้ายแห่งการครองราชย์ของพระองค์ พระองค์ทรงเกี่ยวพันอยู่กับการคุกคามของเปอร์เซียที่ใกล้จะโจมตีอียิปต์[17] ด้วยทักษะเชิงกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม กษัตริย์ไซรัสได้ทรงบุกทำลายลิเดียในช่วง 546 ปีก่อนคริสตกาล และในที่สุดก็ทรงเอาชนะชาวบาบิโลนใน 538 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำให้ฟาโรห์อามาซิสทรงไม่เหลือพันธมิตรหลักในดินแดนตะวันออกใกล้ที่จะตอบโต้กำลังทหารที่เพิ่มขึ้นของเปอร์เซีย[17] ฟาโรห์อามาซิสทรงตอบสนองกลับด้วยการปลูกฝังความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐกรีกเพื่อตอบโต้การรุกรานของเปอร์เซียในอียิปต์ในอนาคต แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อนในช่วง 526 ปีก่อนคริสตกาล เพียงไม่นานก่อนที่เปอร์เซียจะโจมตีอียิปต์[17] การโจมตีครั้งสุดท้ายนั้นได้เปลี่ยนเป้าหมายจากพระองค์มาเป็นฟาโรห์ซามาเจิกที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสแทน และทรงพ่ายแพ้ให้แก่จักรวรรดิเปอร์เซีย หลังจากที่พระองค์ทรงขึ้นครองพระราชบัลลังก์เพียงระยะเวลาหกเดือนในช่วง 525 ปีก่อนคริสตกาล[18]

สถานที่ฝังพระบรมศพและการทำลาย

ฟาโรห์อามาซิสที่ 2 เสด็จสวรรคตในช่วง 526 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ถูกฝังไว้ที่สุสานหลวงแห่งซาอิส และในขณะที่หลุมฝังพระบรมศพของพระองค์ยังไม่ถูกค้นพบอีกครั้ง เฮโรโดตัสได้บรรยายลักษณะหลุมฝังพระบรมศพว่า

[เป็น]อาคารหินขนาดใหญ่ที่ประดับประดาด้วยเสาแกะสลักเลียนแบบต้นปาล์ม และเครื่องประดับราคาแพงอื่นๆ ภายในวิหารคดเป็นห้องที่มีประตูสองบาน และด้านหลังประตูเป็นที่ตั้งของห้องฝังพระบรมศพ[19]

เฮโรโดตัสยังกล่าวถึงการทำลายมัมมี่ของฟาโรห์อามาซิส เมื่อกษัตริย์แคมไบซีสพิชิตอียิปต์และล่มล้างราชวงศ์ที่ยี่สิบหกที่ปกครองอยู่เมืองซาอิสได้

[กษัตริย์แคมไบซีส]เสด็จเข้าไปในพระราชวังของฟาโรห์อามาซิส ไม่ทันไรพระองค์ก็ทรงสั่งให้เอาร่างของ[ฟาโรห์มามาซิส]ออกจากหลุมฝังพระบรมศพที่ฝังอยู่ เมื่อนำออกมาแล้ว พระองค์ก็ดำเนินการดูหมิ่นพระบรมศพด้วยความอัปยศทุกอย่าง เช่น ฟาดด้วยแส้ แทงด้วยปฏัก ถอนขน ... เมื่อพระวรกายได้รับการดองและจะไม่แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กษัตริย์แคมไบซีสจึงทรงสั่งให้เผาพระบรมศพเสีย[20]

การกล่าวถึงในภายหลัง

รูปสลักส่วนพระเศียรนี้น่าจะมาจากรูปสลักของฟาโรห์อามาซิสที่ 2 จากวิหาร พระองค์สวมผ้าโพกศีรษะแบบดั้งเดิมของราชวงศ์โดยมีงูยูเรอัสป้องกันอยู่ อายุย้อนไปประมาณ 560 ปีก่อนคริสตกาล พิพิธภัณฑ์ศิลปะวอลเตอร์ส บัลติมอร์

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล มีหลักฐานของเรื่องราวเกี่ยวกับฟาโรห์อามาซิสในแหล่งข้อมูลของอียิปต์ (รวมถึงบันทึกปาปิรุสเดมอติกที่เขียนขึ้นราวศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล), เฮโรโดตัส, เฮลลานิคอส และ คอนวิวิอุม เซปเตม ซาเปียนติอุม ของพลูทาร์ก ในนิทานเหล่านั้น ฟาโรห์อามาซิสถูกนำเสนอเป็นฟาโรห์ที่ไม่ธรรมดา ประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อกษัตริย์ แต่มีพรสวรรค์ด้วยสติปัญญาและไหวพริบที่ใช้งานได้จริง นักเล่นกลบนบัลลังก์ หรือโซโลมอนแห่งอียิปต์[10]

แกลลอรี

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Peter A. Clayton (2006). Chronicle of the Pharaohs: The Reign-By-Reign Record of the Rulers and Dynasties of Ancient Egypt. p. 195. ISBN 978-0-500-28628-9.
  2. Schmitz, Philip C.. "Chapter 3. Three Phoenician “Graffiti” at Abu Simbel (CIS I 112)". The Phoenician Diaspora: Epigraphic and Historical Studies, University Park, USA: Penn State University Press, 2021, pp. 35-39. https://doi.org/10.1515/9781575066851-005
  3. Lloyd, Alan Brian (1996), "Amasis", ใน Hornblower, Simon; Spawforth, Anthony (บ.ก.), Oxford Classical Dictionary (3rd ed.), Oxford: Oxford University Press, ISBN 0-19-521693-8
  4. Mason, Charles Peter (1867). "Amasis (II)". ใน William Smith (บ.ก.). Dictionary of Greek and Roman Biography and Mythology. Vol. 1. Boston: Little, Brown and Company. pp. 136–137.
  5. Clayton, Peter A. (2006). Chronicle of the Pharaohs: The Reign-by-Reign Record of the Rulers and Dynasties of Ancient Egypt (Paperback ed.). Thames & Hudson. pp. 195–197. ISBN 0-500-28628-0.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3  ประโยคหรือส่วนของบทความก่อนหน้านี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติGriffith, Francis Llewellyn (1911). "Amasis s.v. Amasis II." . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 1 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 782. This cites:
  7. 7.0 7.1 Herodotus, The Histories, Book II, Chapter 169
  8. "Amasis". Livius. สืบค้นเมื่อ 31 March 2019.
  9. Dodson, Aidan & Hilton, Dyan (2004). The Complete Royal Families of Ancient Egypt. Thames & Hudson. pp. 245& 247. ISBN 0-500-05128-3.
  10. 10.0 10.1 Konstantakos, Ioannis M. (2004). "Trial by Riddle: The Testing of the Counsellor and the Contest of Kings in the Legend of Amasis and Bias". Classica et Mediaevalia. 55: 85–137 (p. 90).
  11. 11.0 11.1 11.2 Herodotus (1737). The History of Herodotus Volume I,Book II. D. Midwinter. pp. 246–250.
  12. Sir John Gardner Wilkinson (1837). Manners and customs of the ancient Egyptians: including their private life, government, laws, art, manufactures, religions, and early history; derived from a comparison of the paintings, sculptures, and monuments still existing, with the accounts of ancient authors. Illustrated by drawings of those subjects, Volume 1. J. Murray. p. 195.
  13. 13.0 13.1 13.2 Herodotus (Trans.) Robin Waterfield, Carolyn Dewald (1998). The Histories. Oxford University Press, US. p. 170. ISBN 978-0-19-158955-3.
  14. Montaigne, de, Michel. "20". ใน William Carew Hazlitt (บ.ก.). The Essays of Michel de Montaigne. แปลโดย Charles Cotton. The University of Adelaide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 2, 2018. สืบค้นเมื่อ November 22, 2019.
  15. Herodotus, (II, 177, 1)
  16. Lloyd, Alan B. (2002). "The Late Period". ใน Shaw, Ian (บ.ก.). The Oxford History of Ancient Egypt (Paperback ed.). Oxford Univ. Press. pp. 381–82. ISBN 0-19-280293-3.
  17. 17.0 17.1 17.2 Lloyd. (2002) p.382
  18. Griffith 1911.
  19. "Egypt: Amasis, the Last Great Egyptian Pharaoh". www.touregypt.net.
  20. Herodotus, The Histories, Book III, Chapter 16

แหล่งข้อมูลอื่น