Academia.eduAcademia.edu

2022 (2565) Mappa website about Hist education in Thai schools

How to teach history in grade schools. The interview took place after Thammasat Secondary School invited me to discuss how to improve Hist curriculum in grade 9-12. I suggested to focus on a set of particular skills. The visit became a small controversy as the right-wing media accused the school of brainwashing young children. The school responded very well, explaining what the school has done as an alternative education to the state's education. This interview is, in a way, my response to the r-w media.

https://mappalearning.co/interview-thongchai-winichakul/ ธงชัย วินิจจะกูล: วิชาประวัติศาสตร์ยังต้องอยู่ในห้องเรียน…ล้านเปอร์เซ็นต์ ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ อนุชิต นิ่มตลุง ณขวัญ ศรีอรุโณทัย 17 ก.พ. 2022 “ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ท่องไม่เก่ง แค่จำคนยังจำไม่ได้ ถามว่ารัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ปีไหน เปิดหนังสือดู ง่ายกว่า”  แต่ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าวิชาประวัติศาสตร์ควรยังอยู่ในห้องเรียน และครูคือผู้มีบทบาทสำคัญ เพราะประวัติศาสตร์ not just the past มันคือ change  ประวัติศาสตร์คือหนึ่งในวิชาที่ถูกเด็กๆ โหวตว่าควรถอดออกจากตารางสอน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ถูกตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไม ท่อง จำ สอบไปก็ลืม  mappa สนทนากับ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ที่บินกลับมาเมืองไทยช่วงสั้นๆ เพื่อเข้าห้องสมุดและเก็บข้อมูลอย่างเงียบๆ แต่กลับเป็นข่าวเมื่อเข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้คำปรึกษาโครงการพัฒนากรอบเนื้อหาและแนวทางการจัดการเรียนการสอน วิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  พร้อมกับคำว่า ‘ล้างสมอง’  “ด้วยความสัตย์จริง นี่คือความพยายามปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ที่เราทุกฝ่ายพยายามทำอยู่ ผมเชื่อว่าเรามีความซื่อตรงทางวิชาชีพ มี professional integrity พอ เราไม่ได้คิดเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะทำให้เด็กมาเชียร์ใคร เราคิดถึงการปรับปรุงการศึกษาที่มันน่าเบื่อให้ดีขึ้น”  แต่อดีตเป็นเด็กที่ไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ และเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่ทุกวันนี้ก็ยังจำ พ.ศ. ไม่ได้หมด  “ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ท่องไม่เก่ง แค่จำคนยังจำไม่ได้ ถามว่ารัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ปีไหน เปิดหนังสือดู ง่ายกว่า”  อาจารย์ธงชัยยืนยันว่า วิชาประวัติศาสตร์ยังต้องอยู่ในห้องเรียนล้านเปอร์เซ็นต์ และครูคือบุคคลสำคัญของวิชานี้ ย้อนถามถึงตอนเด็ก อาจารย์สนใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตอนไหนคะ ไม่สนใจ ผมเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ น่าเบื่อ (หัวเราะ) เรียนซ้ำไปซ้ำมา แต่สุดท้ายผมต้องมาเอาประวัติศาสตร์ช่วย เพราะตอน ม.ศ.4-5 ผมคือเด็กวิทย์ที่ไม่เข้าห้องเรียน  ถ้าผมสอบวิทย์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็ไม่มีทางสอบเข้าได้ ผมเลยเลือกไปสอบสายศิลป์-คำนวณแล้วก็ให้คนติว พอเข้าธรรมศาสตร์ก็ยังไม่สนใจประวัติศาสตร์ รู้แต่ว่าเป็นวิชาหนึ่งที่เราช่วยกันเรียนได้ คือมีเพื่อนที่สนใจจริง ช่วยเทรนช่วยติวได้  ความสนใจแรกของผมคือคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ผมไม่มีทางสอบเข้าได้ เพราะเขา require ผ่าน math (หัวเราะ) ความรู้ math ผมหยุดแค่ ม.ศ.3 มั้ง เพราะผมไม่ได้เข้าห้องเรียน ผมจึงหันมาหาประวัติศาสตร์ที่พอเอาตัวรอดได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือพอจะมีวิชาพื้นฐานจริยธรรมไทยซึ่งมันรวมประวัติศาสตร์ด้วย ผมเผอิญเหมือนเด็กคนอื่นคือทำเกรดวิชานี้ได้ดีเพราะผมอ่าน จิตร ภูมิศักดิ์ โฉมหน้าศักดินาไทย ในขณะที่เด็กรุ่นโน้นอาจจะไม่ค่อยได้อ่าน ไม่ใช่แค่อ่าน ผมติวคนเป็นร้อยๆ ได้เลยนะ (หัวเราะ) คะแนนก็ออกมาดี นี่อาจจะทำให้ติดใจประวัติศาสตร์นิดหน่อย แต่สุดท้ายผมยังไม่ทันได้เข้าคณะ ไม่ทันเข้าสาขา ก็เข้าคุกเสียก่อน ช่วงสำคัญ ตอนอยู่ในคุกมีหนังสือชุดหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ส่งเข้าไปให้พวกเรา มาจาก  อาจารย์กาญจนี ละอองศรี ที่ธรรมศาสตร์ ท่านเกษียณไปนานแล้ว ไม่ใช่ชอบประวัติศาสตร์เพราะผมอ่านนะ ผมก็ยังไม่ค่อยอ่านอยู่ดี (หัวเราะ) แต่มันมีความรู้สึก…. จะบอกบุญคุณก็ฟังดูแรงไป ทำนองว่าเราเป็นหนี้อาจารย์ที่อุตส่าห์ส่งหนังสือให้ ก็นั่งเรียนไป ผมเรียนได้เกรดก็ใช้ได้จนจบนะเพราะตอนนั้นการไปอยู่ในคุกทำให้คุณโตกว่าคนอื่น ผมออกมาเรียนก็ทยอยเก็บกวาดเกรดใหญ่เลย เพราะมันง่าย ไม่ใช่แค่วิชานี้นะ  เอาเข้าจริงที่ผม take ประวัติศาสตร์ seriously ค่อนข้างจริงจังกับมันมากๆ เมื่อผมไปเรียนต่อปริญญาเอก เพราะมันเป็นช่องทางการเข้าใจโลก ช่องทางการเข้าใจตัวเอง ช่องทางที่จะพอเห็นว่าเราอยากทำอะไรพวกนี้ อยากถามตรงรอยต่อด้วยว่ามันมีอะไรไหมคะที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจเรียนต่อด้านนี้ อย่างที่เล่า ผมลงเรียนประวัติศาสตร์ไว้แต่แรกก็เพราะว่าเป็นวิชาที่เพื่อนช่วยเรียนได้โดยที่เราไม่ต้องเข้าห้อง พอเรียนจบได้เกรดดีก็เป็นเส้นทางปกติ ผมจำไม่ได้ว่าผมท็อปของคลาสหรือเปล่า แต่เรียนดีแล้วชีวิตก็หาทางให้เรียนต่อ เราก็ไปตามทางนั้น  ตอนไปเรียนต่อผมไม่ปฏิเสธว่ามีปมบางอย่างในใจที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยู่ แต่มันไม่กลั่นตัว ไม่ฟอร์มจนชัด จนกระทั่งไปอยู่ตรงนั้น แล้วทำให้เราคิดเกี่ยวกับมันมากขึ้น เรียนต่อสักพักก็ไปเห็นช่องหรือโอกาสที่จะเป็นอาจารย์ แต่ทุกวันนี้ผมไม่ได้คิดว่าผมจะ take ประวัติศาสตร์แค่การเป็นอาจารย์นะ ผมเห็นมากกว่านั้น แต่ที่มากกว่านั้นทั้งหลายมันมาตอนเรียนปริญญาเอก ที่อาจารย์บอกว่าไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยเด็กๆ มันน่าเบื่อหรือว่ามีวิชาอื่นที่สนุกกว่า สำหรับนักเรียนจำนวนไม่น้อย ความน่าสนใจมันไม่ใช่เรียนแล้วได้เกรดนะ แต่มันอยู่ที่ challenge หรือความท้าทายแล้วเราเอาชนะมันได้   เวลาคุณเป็นครูอยู่โรงเรียน จะเจอว่านักเรียนที่ดีๆ อันนี้เคลมว่าตัวเองเป็นนักเรียนดี (หัวเราะ) นักเรียนที่ดีๆ เนี่ยต้องการ challenge แล้วสามารถเอาชนะหรือจัดการกับ challenge นี้ได้ แล้วเขาจะโชว์จะฉายศักยภาพทั้งหลายไม่ว่าจะ field ไหน  เราใช้คำว่าน่าเบื่อเนี่ย ถูก แต่คำที่ผมคิดว่าถูกยิ่งกว่าคือ ไม่ท้าทาย และผมคิดว่านักเรียนวัยมัธยม ปริญญาตรีต้องการความท้าทาย ท้าทายในแง่ positive นะ ท้าทายในแง่ให้เขาต้อง strive for it ต้องพยายาม และอยู่ในวิสัยที่เราจะเอาได้   ความง่ายมันทำให้ไม่ challenge? ท่องมันเข้าไป ท่องเข้าไปอีกดิ มันไม่ต้องคิด ผมยังนึกไม่ออกเลยตอนเจอคำถามคุณว่า เฮ้ย เราเริ่มคิดกับประวัติศาสตร์เมื่อไหร่ ผมตอบไม่ได้นะ (หัวเราะ) ผมตอบได้เลยว่าสมัยก่อนผมไม่เคย ‘คิด’ กับมันเลย เพราะไม่เห็นมีอะไรจะต้องคิดหนิ  ถ้าหากคนอ่านหรือฟังอยู่ อยากให้ทุกคนลองถามตัวเองหน่อย ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเป็นอย่างนั้น แต่ผมอยากจะเดาว่าสำหรับคนจำนวนไม่น้อย ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาน่าเกลียดน่ากลัว เราเคารพได้ ยิ่งสมัยเราเด็กๆ ความคิดเราสมัยนั้น เราไม่ critical ต่อราชาชาตินิยม เราเคารพประวัติศาสตร์แห่งชาติ เราเคารพบรรพบุรุษ วีรบุรุษ เรายินดีที่จะได้ยินเรื่องลือเลื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ว่ามีวีรกรรมยังไง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะรู้สึกปฏิเสธนะ มันไม่เป็นเรื่องผิดด้วยซ้ำไป ไม่มีอะไรต้อง critical ด้วย แต่มันไม่เห็นมีอะไร challenge เลย ผมเชื่อว่านักเรียนบางคนอาจจะไม่เป็นอย่างนี้ แต่นักเรียนจำนวนไม่น้อย need challenge และ educator ทั้งโลกรู้ดีด้วยว่าอุดมศึกษาหรือมัธยม เราต้อง challenge ผู้เรียน ประถมต้น ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคม เราสามารถ challenge เด็กได้ตั้งแต่วัยนั้นเลยไหมคะ  อันนี้จะไปโยงกับที่ผมเสนอรายงานเรื่องศึกษาหลักสูตรต่างๆ ให้สาธิตธรรมศาสตร์ วิชาระดับประถมในประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ คือยังไม่แยกออกมาเป็นวิชาประวัติศาสตร์ไปเลย ซึ่งถูกต้องแล้ว   ในระดับมัธยม ถ้าดูจากเท่าที่สำรวจ ถามไถ่ และดูหลักสูตร การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากสังคมศึกษาชัดๆ มีในทุกประเทศเกือบทั้งโลก ปัญหาอยู่ที่ว่า skill หรือทักษะอันจำเป็นสำหรับการเรียนสังคม ประวัติศาสตร์ มัน overlap กัน หรือพูดง่ายๆ ว่ามันเป็นทักษะเดียวกัน  เพราะฉะนั้นสำหรับชั้นประถม specialization (ความเฉพาะทาง) มันยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น ซึ่งผมมองว่าถูกแล้ว และอย่าลืมว่าไม่ใช่มีแค่วิชาประวัติศาสตร์ ยังมีวิชาอื่นๆ อยู่ในสังคมศึกษาด้วยแต่ไม่แยกออกมาชัดๆ  อธิบายทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า ทักษะและความเข้าใจในการเรียนประวัติศาสตร์ มันอาศัยทักษะและการเรียนรู้ เช่น การอ่าน การเขียน การอธิบาย การสร้าง argument การวิพากษ์วิจารณ์ การ debate (ถกเถียง) มันคือทักษะเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะของวิชาประวัติศาสตร์ แต่เป็นของทุกวิชา เพราะฉะนั้นทักษะที่เราเอามาใช้ในวิชาประวัติศาสตร์ มันสร้างขึ้นมาจากทักษะร่วมกับสังคมศึกษาและวิชาอื่นๆ โดยเฉพาะวิชาการใช้ภาษา นี่คือการเรียนของเด็กๆ ประถมทั่วโลก ฉะนั้นระดับประถมเรียนจึงเป็นเรื่องวิชาการใช้ภาษา ภาษาไทยเป็นเรื่องหลัก แต่จะเรียนยังไง ผมว่าค่อยไปตั้งคำถามอีกทีนะ  พอผมค้น ศึกษา จึงรู้ว่าทักษะหลายอย่างสำหรับระดับมัธยม มันเริ่มสร้างตั้งแต่ประถม และไม่มาในวิชาประวัติศาสตร์ แต่มาในวิชาการใช้ภาษา การอ่านนิทานเด็ก การอ่านวรรณกรรมเยาวชน มัน build up หรือสร้างทักษะเหล่านั้นมาเรื่อยๆ และมันเป็นทักษะร่วม  ในโครงการฯ ที่เสนอสาธิตธรรมศาสตร์ ผมเสนอไปว่าแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ มีทักษะด้วยกันจำนวน 5-6 กลุ่ม  หนึ่งในกลุ่มนั้น คือ ต้องเข้าใจ point of view หรือจุดยืน มุมมองที่ต่างกัน เพราะประวัติศาสตร์มี truth หรือความจริง ได้หลายแบบ ไม่ใช่อะไรก็ถูกหมด ต่อให้เถียงกันไปถึงจุดหนึ่ง คนสองคนมองเหตุการณ์เดียวกันแต่ยืนอยู่คนละที่ เถียงอย่างไรก็ไม่มีทางตกฟาก  ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ (ยกหนังสือขึ้นมา 1 เล่ม) หน้าปกเล่มนี้สีอะไร ผมบอกสีขาว คุณบอกสีแดง เราทั้งคู่ถูก แล้วถ้าใครบอกสีน้ำเงิน ผิด มันไม่ใช่อะไรถูกหมด แต่ผมถูกและคุณก็ถูก ประวัติศาสตร์มันคืออย่างนี้แหละ มันไม่มีทาง solve ได้ หลักสูตรหลายรัฐในอเมริกาและในสิงคโปร์ เริ่มสอนเรื่อง point of view ตั้งแต่ชั้นประถม ในการเรียนวรรณคดี วรรณกรรมเด็ก สอนให้รู้จักการมองคาแรคเตอร์ต่างกัน นี่แหละคือทักษะสำคัญของการคิดต่อประวัติศาสตร์เมื่อเราโตขึ้น ต้องให้คนเข้าใจว่าไม่ได้มีประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นเดียว  ถึงที่สุด คุณก็ต้องมีอย่างน้อยที่สุดให้ได้ 2 เวอร์ชั่น (หัวเราะ) แต่ปกติมีมากกว่า 2 นะ (หัวเราะ) มันไม่มีทางที่จะเหลือ 1 เว้นเสียแต่ว่าอีกอันมันหายไป หาร่องรอยหาหลักฐานไม่เจอ แต่ท้ายที่สุดแล้วจะต้องมีมุมอื่นที่มองเหตุการณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นการสอนเรื่อง point of view มันมากับการสอนวรรณกรรมเด็ก ส่วนเรื่องอื่น เช่น บริบท เด็กๆ เริ่มเรียนเรื่องบริบท ในสมัยประถม ผ่านวิชาการใช้ภาษาต่างๆ แต่มันอยู่ที่ว่าคุณจะเรียนวรรณคดีอย่างไร อาจจะมีการเขียนการอ่าน ฝึกให้คนเห็นต้นไม้หรือเห็นป่า คือเห็นภาพรวมหรือเห็นภาพเล็ก อันนี้เป็นทักษะที่ทุกศาสตร์โดยเฉพาะทางสังคมศาสตร์เริ่มเทรนกันตั้งแต่ประถม ยังไม่แยกวิชาเลย  เพราะฉะนั้นทักษะจำนวนมากเหล่านี้เป็นทักษะร่วมๆ ของความเข้าใจสังคม ทั้งการอ่านและการเขียน แต่การอ่าน ไม่อยากจะบอกว่าปีหลังๆ นักเรียนไทยเรียนภาษาอังกฤษโดยทั่วไปดีขึ้น แต่ความสามารถ reading comprehension คือคุณต้องเห็นทั้งป่าและต้นไม้…แย่ลง คือการอ่านเพื่อจับประเด็นสำคัญ?  และจับรายละเอียดบางอย่างที่ซัพพอร์ต ประเด็นสำคัญ คือ บางอย่างทิ้งได้ บางอย่างเก็บไว้ค่อยค้นเอา นี่คือการรู้จักอ่าน ซึ่งในหลักสูตรประเทศพัฒนาทั้งหลาย นี่เป็นพื้นฐานที่ต้องเรียนในระดับประถมมัธยม แต่ของนักเรียนไทยบางคนจนปัจจุบันจบปริญญาตรีปริญญาโทก็ยังเหนื่อยกับการ reading comprehension  กลับมาที่เรื่องของการเขียน นักประวัติศาสตร์ที่นั่น (วิสคอนซิน-แมดิสัน) เราพูดกันบ่อยมากเวลาเทรนนักศึกษาว่า Writing is a thinking process. คำขวัญเลย เพราะงานประวัติศาสตร์ต้องอ่านต้องรู้นะ ถึงจะมี fact หรือข้อเท็จจริงมานั่งวิเคราะห์ได้ และสุดท้ายคือต้องเขียน (เน้นเสียง) คำถามคุณข้อหนึ่งที่ถามว่า การวัดผลจำเป็นไหม จำเป็น ถามว่าวัดผลยังไง ก็เขียน research ในความหมายของฝรั่งนะ อาจดูเป็นคำที่ fancy ฟังดูเยอะ… แต่ research ที่แปลว่า research เนี่ย ป.2 ป.3 ก็ research ได้ research ไม่ได้แปลว่าต้องทำให้มัน fancy นะ Research and write a story based on research. That’s it. นั่นคือการวัดผลของวิชาประวัติศาสตร์ (หัวเราะ) แล้วเขียน research อย่างไร การเทรนเด็กตั้งแต่ชั้นประถมของฝรั่งหรือสิงคโปร์ เขาก็ให้เบสิคเหมือนที่ประเทศเราสอนการเขียน แต่ดีพอไหมผมไม่วิจารณ์ คือรู้จักพรรณนา บรรยาย เล่าเรื่อง ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีแต่เพียง narrative ไม่ได้มีเพียงการเล่า story แต่อาจจะใช้มากหน่อย เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นการอธิบายสิ่งต่างๆ ด้วยความเปลี่ยนแปลง มันเลยใช้การเล่าเรื่องเป็นรูปแบบที่สำคัญ และทุกคนควรจะทำมันให้ได้   แต่นักประวัติศาสตร์จะใช้การเล่าเชิง argumentative หรือโต้แย้งกันได้ เช่น เรื่องนี้อธิบายได้ 3 ประการ ถึงประวัติศาสตร์จะใช้ narrative เยอะ แต่เราก็ต้องรู้แบบอื่นด้วย เพราะการเขียนคือการประมวลทักษะเหล่านั้นที่เราเรียนมา การเขียนไม่ใช่แค่ writing skill หรือรู้จักใช้คำ ตัวสะกด หรือจะเขียนยังไงต่อด้วยอะไร จะหา supporting argument อะไร จะใช้หลักฐานอะไร หลักฐานนั้นฟังขึ้นไหม จะวิเคราะห์ จะตีความหลักฐานนั้นยังไงถึงจะ support argument นั้นได้ จะ critical ก็ต้องอธิบาย critical knowledge เหล่านั้นให้ได้ เป็นต้น การเขียนหนังสือเป็นการประมวลการคิดออกมา ซึ่งถ้าการเขียนอย่างเล่านิทานก็อาจจะไม่เป็นการประมวลหรือคิดวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ แต่พอคุณคิดว่าจะต้องอธิบาย ต้องเล่าเรื่องทางประวัติศาสตร์ การเขียนเรื่องทางประวัติศาสตร์นั่นแหละคือการประมวลทักษะทั้งหลายที่มันจำเป็นในการคิดเชิงประวัติศาสตร์เข้ามา ในเมื่อมันไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เราเรียนท่องจำมาตลอด มันจึงมีคำถามจากเด็กๆ ว่าจะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไปทำไม ผมหาคำอธิบายง่ายๆ ไม่ได้นะ คือผมหาคำอธิบายสั้นๆ ได้ แต่คำอธิบายสั้นๆ ที่ผมคิดอยู่ คนอาจจะไม่เข้าใจ เราไม่มีทางเข้าใจปัจจุบันถ้าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ สำหรับนักประวัติศาสตร์  ประวัติศาสตร์ไม่ได้แปลว่าอดีตเท่านั้น ประวัติศาสตร์คือการเปลี่ยนแปลง ถ้าใครถามผม ผมก็จะพูดอย่างนี้ History 101 ผมต้องย้ำนักเรียนผมว่า ประวัติศาสตร์ is not just the past. มันหมายถึง change เพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องการเข้าใจปรากฏการณ์หนึ่งทางสังคม วิธีการศึกษาหรือเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์ คือ เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่จุดนั้น  มันก็ไม่ง่ายนะที่จะเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแต่ประวัติศาสตร์เท่านั้นที่จะเข้าใจปัจจุบันได้ ผมพูดในแง่ที่ว่าการคิดแบบประวัติศาสตร์มันจำเป็นต่อปัจจุบันยังไง เราจะเข้าใจปัจจุบันไม่ได้เลยถ้าไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขเฉพาะของสังคม ของเวลา ของการกระทำ ของบุคคลต่างๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเฉพาะแบบหนึ่ง คำตอบที่ 2 ของคำถามนี้ สำหรับผม เราไม่มีทางสร้างอนาคตที่ดีกว่าถ้าเราไม่เข้าใจปัจจุบัน  อันนี้ผม twist จาก จอร์จ ออร์เวลล์ แต่ผมใช้ในเชิง positive ออร์เวลล์บอกว่า เราคอนโทรลอดีตเพื่อคอนโทรลปัจจุบัน และคอนโทรลปัจจุบันเพื่อคอนโทรลอนาคต  คอนโทรลมันเป็นเรื่องที่พวก dictator หรือเผด็จการใช้ แต่สำหรับผม ไม่ได้เน้นที่การคอนโทรล ไม่มีทางที่เราจะเข้าใจปัจจุบันถ้าเราไม่เข้าใจความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้ และการสร้างอนาคตที่ดีกว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจปัจจุบัน  หลายปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้มีความรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนมากมาย อาจารย์คิดว่ามันเป็นเพราะความไม่ท้าทายต่างๆ ในหลักสูตรหรือเปล่าที่ทำให้มาถึงจุดที่เด็กๆ ต้องออกไปขวนขวายหาความรู้ทางประวัติศาสตร์เอาเองเพราะมันท้าทายกว่า ผมเชื่อว่าความรู้นอกห้องเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรกระทรวงฯ มีมากนะ และมีไม่น้อยกว่าในห้องเรียน เพราะคุณเห็นจากเทศกาล จากพิธีกรรม จากข่าว หนังสือพิมพ์ โฆษณา จากการท่องเที่ยว เต็มไปหมดเลย ความรู้ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนมันมีมาตลอดเวลา ไม่ใช่เพิ่งมี ผมกลับคิดว่าเวลาเด็กๆ เขาได้รับรู้ประวัติศาสตร์มาก่อนเข้าห้องเรียนแล้ว ห้องเรียนเป็นที่ที่ช่วยประมวลความรู้ให้มันแจ่มชัดขึ้นแล้วยืนยันกับเด็กๆ ว่าที่รู้เนี่ย มาถูกแล้ว  สำหรับสังคมไทยซึ่งผมเห็นว่าเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบ indoctrination คือปลูกฝังกันให้เชื่อแบบนี้ แต่เราอย่าคิดว่าทั้งหมดมาจากโรงเรียนนะ สิ่งที่ผมพูดเมื่อกี๊เพราะผมอยากให้คิดว่า คุณไม่คิดเหรอว่าโรงเรียนเป็นฟังก์ชั่นที่ตอบสนอง ต่อยอด หรือช่วยให้ความรู้ที่รับรู้มาในสังคมมันตกผลึกแจ่มชัดและมั่นใจมากขึ้นว่าที่เรารู้มาคร่าวๆ ถูกแล้ว แถมช่วย reproduce หรือผลิตซ้ำ แต่อย่ามองแค่โรงเรียนเป็นต้นเหตุ เป็นผลลัพธ์ เป็นทุกอย่าง การจะเปลี่ยนหลักสูตรมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก คุณเปลี่ยนหลักสูตรแต่คุณไม่เปลี่ยนอะไรทั้งหลาย มันจึงยาก  ในการต่อสู้ มันก็หนีไม่พ้นจะต้องพูดเรื่องเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เพราะสักวันหนึ่งโลกภายนอกอาจจะรับรู้ ยกตัวอย่าง ความเข้าใจเรื่อง LGBTQ+ ผมไม่รู้ว่าความรู้ในห้องเรียนกี่ส่วน ความรู้จากข้างนอกกี่ส่วน แต่มันเปลี่ยนไปเยอะและเปลี่ยนเร็วมากในแค่ 1-2 เจเนอเรชั่น เพราะฉะนั้นคุณจะบอกว่าห้องเรียนหรือหลักสูตรเป็นต้นเหตุ ไม่มีทาง มันมาจากข้างนอกนะครับ แต่ประวัติศาสตร์ ผมไม่กล้าบอกในทำนองเดียวกัน ผมยังรู้สึกอยากมองด้านเดียวเพื่อจะนำไปสู่ประเด็นต่อไปว่าทำไมเด็กถึงตื่นตัว สนใจความรู้ที่มีอยู่ข้างนอกซึ่งโรงเรียนให้ไม่ได้ นั่นเพราะเขาเจอสิ่งที่มันท้าทาย ทำให้เขาต้องคิด  แล้วไม่ต้องห่วงนะผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ตกใจกลัว คนทุกคนโตขึ้น เด็กทุกคนโตขึ้น ทุกคนเปลี่ยนมากเปลี่ยนน้อย แล้วเด็กเขาจะค่อยๆ เรียนรู้เอง ถ้าสังคมแบบไทยๆ ความเป็นไทยมันดีจริง เขาจะค่อยๆ ปรับ แล้วก็อยู่ในกรอบของความเป็นไทย ถ้าหากทหาร ลัทธิอำนาจนิยม มันวิเศษสุดยอดแบบที่โฆษณาจริง คุณไม่ต้องห่วงหรอก เด็กๆ เขาจะโตขึ้นแล้วปรับตัว conservative ลง แล้วก็ conform (เป็นไปตามสังคมที่เป็น)  ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ตรงที่เขาเรียนรู้อะไร  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าความจริงทางสังคม มันเข้าท่าเข้าทางหรือเปล่า ถ้าหากมัน challenge แล้วทำให้เด็กคิดว่าอนาคตควรจะดีกว่านี้ ความผิดไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาไปแสวงหาความรู้ที่มัน challenge แต่ความผิดอยู่ตรงที่สังคมไทยไม่ยอมเปลี่ยนในขณะที่มันถึงเวลาจะเปลี่ยน มัวแต่กักขังอยากให้เป็นอย่างเดิม  เพราะความเป็นจริงมันมีปัญหาแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จะให้เขาเปลี่ยนทำไมล่ะ เขาก็ไม่จำเป็นต้อง conform เขากลับยิ่งต้องหาทางออก หาทางเข้าใจในความเป็นมัน เพื่อจะเปลี่ยนมันให้ได้และปรับปรุงมันให้ได้  จนถึงทุกวันนี้ ผมยังคิดว่าความรู้ประวัติศาสตร์นอกขนบทั้งหลายเป็นเสียงข้างน้อย แต่เหตุที่มันอาจจะดังหรือฟังดูแล้วมันน่าตื่นเต้นสำหรับคนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เพราะมันท้าทายให้เขาต้องคิด ขณะที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักในปริมาณมหาศาลกว่าอย่างที่ผมเคยกล่าวมา มันเป็นยากดประสาท ไม่มีอะไร Challenge  ดังนั้นวิชาประวัติศาสตร์มันควรอยู่ในห้องเรียนใช่ไหม แล้วครูหรืออาจารย์ ควรอยู่ตรงไหน หรือทำหน้าที่อะไรในวิชาประวัติศาสตร์ ควรอยู่ไหม ต้องอยู่ (เน้นเสียง) แน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะการฝึกฝนให้เขารู้จักประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจปัจจุบันเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าคุณจะคิดจากฝ่ายอนุรักษนิยมก็จำเป็น หรือคุณคิดจากฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็จำเป็น เพราะคุณต้องเข้าใจปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นคุณจะคิดไม่ออกว่าการเปลี่ยนแปลงควรไปทางไหน ผมอยากจะเพิ่มด้วยซ้ำว่า ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับทุกวิชา คือมันมีนัย มีคุณสมบัติที่ย้อนแย้งกันอยู่ในคนละแง่คนละมุม บางวิชาก็นามธรรมเหลือเกินเลย เราไม่สามารถจะหาประโยชน์ได้โดยตรง หรือเจอประโยชน์ได้นิดๆ หน่อยๆ  แต่ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้มากกว่าประโยชน์ที่เราเรียนเฉพาะได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ คุณเรียนไปทำไม ประโยชน์มันมีตรงบวกลบคูณหารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พอแล้วนะ ผมมีความรู้แค่ ม.ศ.3 ผมก็มีชีวิตจนถึงปัจจุบันได้ ผมไม่ต้องรู้แคลคูลัส (หัวเราะ) แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่ามันมีประโยชน์ในการฝึกฝน การคิดเชิง logic (ตรรกะ) แล้วการฝึกความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น แม้กระทั่งผมเองก็ต้องการคณิตศาสตร์ ทั้งๆ ที่ผมเกลียดคณิตศาสตร์ แต่ผมเห็นประโยชน์ของคณิตศาสตร์ในระดับที่เกินกว่าบวกลบคูณหาร ย้อนแย้งใช่ไหมครับ ประวัติศาสตร์ก็มีนัยย้อนแย้ง คือ คุณไม่สามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้โดยปราศจากความรู้และข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าเรียนผิดวิธี สุดยอดจะน่ากลัว แต่ว่าการเข้าใจทักษะการคิดเชิงประวัติศาสตร์มันไม่สามารถฝึกฝน มันเป็น skill นะ ไม่ใช่ manual skill แต่เป็น intellectual skills มันเป็นการฝึกฝนการคิด แต่มันสามารถได้มาด้วยการทำแล้วทำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก ฝึกให้คิด  ขอบอกอีกที ผมไม่ได้ว่านี่เป็นคุณสมบัติหรือทักษะของฝ่ายไหน นี่เป็นทักษะปกติของคนที่คิดเชิงประวัติศาสตร์เป็น และในฐานะคนทำงานอยู่กับองค์การประวัติศาสตร์ ผมขอมีอคติหรือมีความลำเอียงหน่อยนึงคือผมคิดว่าจำเป็น ในความคิดเห็นของผม ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่สุโขทัย อยุธยา กรุงเทพฯ ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณสอนยังไง คุณเทรนทักษะยังไง ถ้าผมสอนเด็กมัธยม ผมอาจหนีไม่พ้นข้อมูลข้อเท็จจริงตรงนี้  ยกตัวอย่าง ถ้าคุณต้องสอนเรื่องปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 แต่คุณไม่มีความรู้เรื่องนั้น คุณมีแต่ความรู้เรื่องอยุธยา แต่คุณต้องสอน คุณจึงต้องปรับ ส่วนจะปรับยังไงผมไม่สามารถบอกได้ แต่สิ่งที่บอกได้ร่วมกันคือการสอนประวัติศาสตร์มันต้องมีเนื้อหา แต่มีทางไหมที่เรียนเรื่องเนื้อหาโดยที่ไม่ต้องท่อง ผมอยากจะเชื่อว่ามี แล้วผมได้เสนอไปแล้วว่าให้เรียนประวัติศาสตร์ที่เป็นระยะยาวหรือเรียนสิ่งที่เป็นกระบวนการ  ถ้าคุณเคยเรียน เรื่อง mind map คนเราจะรู้จักการแขวน fact เทเข้ากับ story อันนี้เป็นวิธีที่ผมเรียน เพราะผมเป็นคนความจำไม่ดี ผมจำหน้าคนไม่ค่อยได้ จำชื่อคนไม่ค่อยได้ แต่ผมคิดว่าทุกวันนี้ผมเอาดีทางประวัติศาสตร์พอใช้ได้นะ เพราะผมไม่ได้จำมา แต่ผมเห็นเค้าโครงของ story เค้าโครงความเปลี่ยนแปลง ผมจับตรงนี้ให้ได้ fact มันก็เริ่มจะลงตัวเอง มันลอยขึ้นไปแขวนอยู่ตรงโน้นตรงนี้  บ่อยครั้งถ้าผมจะเขียน ผมจะหยิบหนังสือเพราะผมจำไม่ได้หรอก อย่างน้อยคือผมมีความรู้อยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่เพราะการท่องแต่เพราะผมรู้ story แล้ว fact ต่างๆ มันก็เริ่มแขวน หรือ hang the fact ในจุดต่างๆ ผมไม่เคยเรียนรู้เรื่อง mind map แค่ผ่านตาคร่าวๆ แต่มันคือวิธีการคิดที่เป็นบ้านหลังใหญ่ๆ ไอ้นั่นอยู่ห้องนั้น ไอ้นี่อยู่ห้องนี้ มันต้องใช้ fact เพื่อจะบรรจุเข้าไปในหลักหรือห้องบางอย่าง สำหรับประวัติศาสตร์และประสบการณ์ส่วนตัว ผมจะสอนให้เขารู้ story ที่กว้างแล้วเขาจะเลือกจำ fact ซึ่งบางคนอาจจะเลือกจำคนละจุด เช่น เลือกจำกษัตริย์องค์นั้น องค์นี้ไม่ผิด ความสนใจของคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งหมด ครูเองก็ไม่มีทางจำได้หมด  ถ้าเค้าโครงหลักของ story อันนั้นจะทำให้ความจริงบางอย่างมันโดดเด่น ชนิดที่เรียกว่าคุณไม่อยากจะจำมันก็ต้องเข้ามาในหัว เช่น เอะอะก็สนธิสัญญาเบาว์ริง โอ้ย มันมาทันทีเลย 2398 1855 อะไรอย่างนี้โดยที่เราไม่ได้ต้องการจะจำมัน แต่ถามว่ารัชกาลที่ 4 เริ่มครองราชย์ปีไหน ขอคิดก่อนนะ เปิดหนังสือดูดีกว่า ง่ายกว่า  เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่ผิดพลาดคือให้คนเรียนรู้ประวัติศาสตร์แบบไหน แล้วจำจาก fact ขึ้นไปโดยที่ story ใหญ่มันไม่ชัด มันไม่ challenge พอไม่ challenge คุณก็ไม่รู้ว่าจะจำไปทำไม ต่อให้จำได้ก็เท่านั้น ผมก็จบมาด้วยการท่องแหลก แต่ปัญหาของการท่องจำ คือพ้นเทอมนั้นเราลืม (หัวเราะ) การเข้าใจ story เนี่ยพ้นเทอมนั้นเราไม่ลืม ผมท้าเลย อาจจะไม่ forever แต่อย่างน้อยเราพอรู้เค้าโครง story จะประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เราไม่มีทางรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่สุดท้ายคือคนเราจะเลือกจำที่มันมีความหมายหรือที่ประทับใจ  ประสบการณ์ผม ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ท่องไม่เก่ง แค่จำคนยังจำไม่ได้ แต่ผมจะอยู่กับหนังสือตลอด ไว้เป็นอ้างอิง แล้วพัฒนาทักษะในการรู้จักเก็บหนังสือ หนังสือไหนไว้อ้างอิงได้ หนังสือไหนไว้อ่านความเห็น หนังสือไหนไว้อ่าน argument  แต่ว่าการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่มี story ระยะยาว สอนที่เรื่องกระบวนการ จะช่วยให้เข้าใจความจริง ผมคิดว่าการเข้าใจ story ของความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่จุดหนึ่งที่เราต้องการจะวิเคราะห์ ต้องการจะเข้าใจ สำคัญกว่า  สำหรับผม เด็กมัธยมเนี่ย เรื่องสังคมเรื่องประเทศชาติมันไม่ไกลแล้ว หลักสูตรหลายประเทศ เขาเรียนกันตอนประถม โดยที่ไม่ได้บอกว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ แต่มาในวิชาภูมิศาสตร์ เพราะการเข้าใจเรื่องใกล้บ้านเรื่องหมู่บ้านหรือท้องถิ่นตนเอง มันไม่ใช่การเข้าใจในแง่ประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ ภูมิศาสตร์เป็นพื้นฐานกว่าประวัติศาสตร์ มันจะช่วยให้เข้าใจเศรษฐกิจ เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่  ฉะนั้นการศึกษาเรื่องท้องถิ่นใกล้ตัวใกล้บ้านมันเป็นเรื่องของเด็กประถม พอถึงมัธยม เด็กวัยนั้นเขาต้องการอิสระมากขึ้นแล้ว อยากออกห่างพ่อแม่ด้วยซ้ำไป เขาสนใจเรื่องประเทศ เรื่องสังคม เพราะฉะนั้นการสอนเรื่องสุโขทัย อยุธยา หรือประวัติศาสตร์ของชาติ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ปัญหาอยู่ที่ว่าสอนยังไง สอนไปเพื่ออะไร สอนให้รักชาติก็พูดเรื่องชาติๆๆๆ ให้รักชาติอยู่นั่นแหละ แล้วใช้วิธีนี้ปลูกฝัง แม้แต่บทเรียนก็เป็นบทเรียนสำเร็จรูป แพ็คเกจมาเสร็จเลยว่าเพื่อความสามัคคี เด็กไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย ท่องเข้าไป อันนี้ต่างหากที่ผิด ถ้าคุณทำให้มันท้าทาย ปล่อยเขาคิดบ้างสิ ค่อยๆ build up story ให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลง เขาอาจจะเก็บบทเรียนมา 3-4 อย่าง อย่างที่เราถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ในเมื่อมันมาจากความคิดเขา มัน-จะ-อยู่ (เน้นเสียง) เพราะเขาคิดออกมาเอง ไม่จำเป็นต้องทิ้งสิ่งที่กระทรวงฯ สอน อยู่ที่ว่าคุณจะสอนยังไง ถ้าคุณไม่ต้องการ แพทเทิร์นขนาดสุโขทัย อยุธยา กรุงธนฯ กรุงเทพฯ เพราะล้าสมัยแล้วสำหรับหนังสือประวัติศาสตร์ ก็ไม่ต้องเก็บแพทเทิร์นนั้น แต่หนีไม่พ้นที่คุณจะต้องพูดเรื่องการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 การก่อตั้งกรุงเทพฯ  ถ้าคุณไม่พูดคุณจะเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมไทยไหม ไม่มีทาง คุณอาจจะเพิ่มอีกหลายเรื่องซึ่งหลักสูตรกระทรวงฯ ไม่ได้ให้ไว้ เช่น ความหลากหลายของชาติพันธุ์ในกรุงเทพฯ แต่มันหนีไม่พ้นจริงๆ ที่ต้องพูดเรื่องที่กระทรวงฯ ให้เป็นหลัก และเรื่องเหล่านั้นไม่ผิด ไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันอยู่ที่ว่าเราจะสอนยังไง  ผมจึงนำเสนอนะ long term and process เพื่อให้มี story ให้คนเห็นภาพใหญ่ว่าสามารถจะแขวนข้อเท็จจริงเข้าไปได้ แล้วในเรื่องนี้ครูเป็นอนุรักษนิยมก็จะสอนแบบหนึ่ง ครูไม่อนุรักษนิยมก็จะสอนอีกแบบหนึ่ง ผมไม่ได้ขายทักษะเหล่านี้เพื่อจะบอกว่าให้เฉพาะฝ่ายไหน ผมต้องการให้พ้นจากยากล่อมประสาทที่มันน่าเบื่อ  เพราะทุกวันนี้ ใช้วิธีกล่าวหา ป้ายสี กุเรื่อง ปั้นน้ำเป็นตัว อันนี้ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับสังคม ถ้าหากความคิดต่างกันมาถกเถียงกันผมว่าดีกับทุกฝ่าย คุณเปลี่ยนความคิดผมไม่ได้ อย่างน้อยอย่าจับเข้าคุก เถียงกันต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้น่าจะเห็นตรงกันได้  ชาวอนุรักษนิยมหลายคนไม่ใช่คนโหดเหี้ยม ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่หลายคนก็รับไม่ได้เหมือนกัน เถียงกันสิ ความรู้ที่มันหลากหลาย เด็กเขาก็เรียนของเขาไป แม้จะไม่มีทางเปลี่ยนความคิดของผม-นายธงชัย ก็ปล่อยผมสิ แล้วก็ถกเถียงกัน กล้าที่จะให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ให้ทักษะแก่เขาในการที่จะรู้จักคิด แล้วเขาจะตัดสินใจเองว่าจะเชื่ออะไรมากหรือน้อย จะผสมซ้ายผสมขวายังไงให้เขาทำไป เป็นเรื่องของคนรุ่นต่อๆ ไป ไม่รู้จบ  นี่คือคำตอบจากคำถามคุณว่า แล้วครูควรทำหน้าที่อะไร ครูที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์และรวมทั้งผู้บริหารเขาเสียสละมากนะ สิ่งหนึ่งที่ผมรับทำงาน เพราะเห็นความช่างคิด พยายาม เริ่มสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ผมพอจะใช้ประสบการณ์ ใช้ความรู้ผมไปช่วยได้ อย่างน้อยการเสนอทักษะ ผมพยายามให้หลักที่ใครใช้ก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนที่คิดแบบผม ถ้าต้องการประวัติศาสตร์ที่ช่วยในการคิด ช่วยในการรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ สร้างความคิดเป็นของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ผมพยายามเสนอให้เขา แต่ที่มันน่าเสียใจมากกว่าคือการกล่าวหาเรื่องล้างสมอง ถ้าหากมันอยู่ในจุดที่ว่าต้องมีสูตรความคิดเดียว อันนี้ผมก็ยืนยันจะเถียงด้วย แต่ผมเชื่อว่าโลกมันไปไกลแล้วนะ ไม่มีใครเชื่อความจริงเพียงชุดเดียวอีกแล้ว คุณจะบอกว่าเหตุการณ์หนึ่งสามารถมองได้อย่างเดียวเท่านั้น อันนี้แย่นะ  ผมพูดเรื่อง point of view ไม่ได้พูดเรื่องทฤษฎีหรืออุดมการณ์สักคำเดียว ถึงตอนนั้นจะมีการปรุงแต่งเรื่องทฤษฎีหรืออุดมการณ์ ก็ยิ่งมีความเห็นเข้าไปอีก อันนี้มันคือความแตกต่าง แต่อย่างน้อยเพียงแค่ยืนอยู่คนละจุด มองจากคนละมุม ก็ทำให้เหตุการณ์และกระบวนการหนึ่งๆ สามารถมองหรือสร้าง story ได้มากกว่านั้น   นักประวัติศาสตร์บ้านเราจำนวนไม่น้อยยังพูดว่าต้องเรียนรู้เพื่อที่จะมาต่อภาพจิ๊กซอว์ แต่จิ๊กซอว์มันมีภาพเดียวไหม มันเป็นการเปรียบเทียบว่าความจริงมีอยู่ชุดเดียว ขณะที่ผมบอกว่ามันมีจิ๊กซอว์เกิน 1 เฟรม คุณจะเลือกต่อเฟรมไหน มันไม่มีทางเติมให้เต็มสมบูรณ์หรอก เพราะมันมีเกิน 1 เฟรม มันมีพาราเรล (parallel) จิ๊กซอว์อยู่ ถ้าจะให้มันทันกับความรู้ความเข้าใจที่ทั้งโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป วงการประวัติศาสตร์เขาไม่ยึดมั่นกับความจริงที่มันมีหนึ่งเดียวแล้ว นี่คือความพยายามปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ด้วยความสัตย์จริง ที่เราทุกฝ่ายพยายามทำอยู่ ผมเชื่อว่าเรามีความซื่อตรงทางวิชาชีพ มี professional integrity พอ เราไม่ได้คิดเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะทำให้เด็กมาเชียร์ใคร เราคิดถึงการปรับปรุงการศึกษาที่มันน่าเบื่อให้ดีขึ้น  ถ้าหากใครยังไม่มีความซื่อตรงทางวิชาชีพมันก็เรื่องของคุณ แต่สิ่งที่เราทำอยู่ คนที่ลงแรงทั้งหมดผมว่าผมเห็น ยิ่งเห็นอาจารย์ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน เขามี professional integrity ในแบบของเขา สำหรับอาจารย์ คำว่าล้างสมองเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ หรือเป็นคำปกติ มันลบอยู่แล้วล่ะ มันมีไว้ด่าคนอื่น อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะใช้ด่าใคร การล้างสมองจริงๆ เป็นไปได้ไหมผมก็ไม่รู้นะ แต่มันใช้ในความหมายเป็นเชิงเปรียบเปรยซะมากกว่า เช่น เมื่อกี๊ผมยังใช้คำว่ายากล่อมประสาทที่เป็นคำเปรียบเปรยใช่ไหม ผมว่ามันสามารถพอทำกันได้ในความหมายที่มันแน่ชัด  ทั้งหมดมันเป็นการอุปมาที่อาจจะเกินไปหน่อย ผมว่าล้างสมองมีนัยอย่างนี้ ผมติดใจอยู่สองสามเรื่อง หนึ่งคือ คุณคิดว่าพวกเราไม่มี professional integrity หรือคนที่กล่าวหา ไม่มี  professional integrity ไม่คิดแม้กระทั่งจะหาข้อมูลหาข้อเท็จจริง กล่าวหาอย่างจับแพะชนแกะเลย ไม่มีมูลเลย อันที่สองเขาทำราวกับว่าชื่อผมเนี่ย เป็นนักล้างสมอง ผมเชื่อว่าผมทำงานมา 30 ปีจนเกษียณในมหาวิทยาลัยที่ผมเชื่อว่าอันดับดีกว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยนะ ผมอาจจะไม่ใช่คนที่เด่นดังอะไร แต่ผมสังกัด American Academy นะ แล้ว honor เหล่านี้มันไม่ได้มาเพราะเราไปล้างสมอง honor เหล่านี้ได้มาเพราะเขารู้ว่าเรามีความซื่อตรงทางวิชาชีพ ไม่ว่าเราจะคิดอย่างไรในทางการเมือง  ไม่ว่าจะคิดอย่างไร เรามีความเคารพในวิชาชีพ เราจะนำเสนออะไรและปรับปรุงหลักสูตรอย่างไรต้องไม่ใช่เอาแต่ใจตัวเอง ต้องเคารพสิ่งที่เป็นอยู่ และเราต้องพยายามหาทางทำให้มันดีขึ้น  อาจารย์เคยคิดอยากสอนเด็กมัธยมไหมคะ  ยาก ยากเกินไปมันเป็นทักษะคนละชุด เคยได้ยินไหมครับ นักวิชาการเก่งแต่สอนหนังสือห่วยเยอะแยะไป มันเป็นทักษะคนละชุดที่มันเกี่ยวพันไปด้วยกันในระดับหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่ใช่ชุดเดียวกัน คนสอนหนังสือที่เก่งจำเป็นต้องเป็นศาสตราจารย์หรือเป็นแค่นักเรียนแก่ บ่อยครั้งนักเรียนแก่สอนดีกว่าอีก (หัวเราะ) ใช่ไหม คนที่ผ่านการเรียนปริญญาเอกมันก็มักจะมีประสบการณ์ พวกนี้พอเรียนรู้จากคลาสต่างๆ อาจารย์หลายคนที่พอจะคิดถึงสกิลของตนเอง ศิลปะในการสอนของตัวเองได้มากขึ้น มันก็ผ่านมาเยอะหน่อยแต่ก็ยังเป็นสกิลคนละชุดกัน ซึ่งแต่ละคนจะพัฒนาได้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมไม่บังอาจสอนเด็กมัธยมเพราะมันยากเกินไป การศึกษา ธงชัย วินิจจะกูล ประวัติศาสตร์ Writer ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa Writer อนุชิต นิ่มตลุง ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) Illustrator ณขวัญ ศรีอรุโณทัย ทำงานกราฟิกหลากหลาย นิยมการพูด-เขียนสั้นๆ วาดรูปน้อยๆ เพราะสมาทานแนวคิดประหยัดพลังงาน มองว่าเด็กคือมนุษย์ตัวเล็กย่อส่วน ไม่ได้รักหรือเกลียดเป็นพิเศษ 13