การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต
การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ การบุกครองโปแลนด์ ในสงครามโลกครั้งที่สอง | |||||||
กองทัพโซเวียตเคลื่อนทัพผ่านแนวชายแดนโปแลนด์-โซเวียต | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
โปแลนด์ | สหภาพโซเวียต | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
แอดวาร์ด รึดซ์-ชมิกวือ |
มิคาอิล โควัลยอฟ (แนวรบเบลารุส) แซมยอน ติโมเชนโก (แนวรบยูเครน) | ||||||
กำลัง | |||||||
มากกว่า 20,000 นาย กองกำลังป้องกันชายแดนประมาณ 20 กองพัน[1] และบางส่วนของกองทัพโปแลนด์[2] |
ประมาณการตั้งแต่ 466,516 นาย[3] ไปจนถึงมากกว่า 800,000 นาย[2] 33+ กองพลทหารราบ 11+ กองพลน้อยทหารราบ | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ประมาณการจำนวนเสียชีวิต 3,000 นาย และได้รับบาดเจ็บ 20,000 นาย[4] ไปจนถึงเสียชีวิตหรือสูญหาย 7,000 นาย[1] |
ประมาณการตั้งแต่ผู้เสียชีวิต 737 นาย และประสบความสูญเสียทั้งหมดไม่เกิน 1,862 นาย (ประมาณการโดยฝ่ายโซเวียต)[4][5] |
การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต เป็นปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งเริ่มขึ้นโดยปราศจากการประกาศสงคราม เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1939 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สิบหกวันหลังจากการเริ่มต้นบุกครองโปแลนด์โดยนาซีเยอรมนี การบุกครองดังกล่าวจบลงด้วยชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพแดง เมื่อต้นปี ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตพยายามที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านนาซีเยอรมนี โดยเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส โปแลนด์ และโรมาเนีย แต่ประสบกับอุปสรรคหลายประการ รวมถึงการปฏิเสธที่จะยอมให้มีการเคลื่อนกำลังกองทัพโซเวียตผ่านดินแดนของประเทศเหล่านั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงร่วมกัน[7] เมื่อการเจรจากับประเทศเหล่านี้ประสบความล้มเหลว สหภาพโซเวียตจึงเปลี่ยนสถานะต่อต้านเยอรมนีของตน และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1939 ได้มีการร่วมลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพกับนาซีเยอรมนี ซึ่งนำไปสู่การบุกครองโปแลนด์ ทั้งโดยนาซีเยอรมนีและโดยสหภาพโซเวียต[8] รัฐบาลโซเวียตประกาศว่า การกระทำของตนเป็นการปกป้องชาวยูเครนและชาวเบลารุส ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันออกของโปแลนด์ เนื่องจากรัฐโปแลนด์ได้ล่มสลายลงในการเผชิญหน้ากับการโจมตีจากเยอรมนี และไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้[9][10]
กองทัพแดงได้บรรลุเป้าหมายของตนได้อย่างรวดเร็ว และมีกำลังพลเหนือกว่าการต้านทานของฝ่ายโปแลนด์อย่างมาก[1] ทหารโปแลนด์กว่า 230,000 นายหรือกว่านั้น[11] ถูกจับเป็นเชลยศึก[12] รัฐบาลโซเวียตได้ผนวกเอาดินแดนที่ได้รับมาใหม่ภายใต้การปกครองของตน และในเดือนพฤศจิกายน ได้ประกาศว่าพลเมืองชาวโปแลนด์ 13.5 ล้านคน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตยึดครองดังกล่าว กลายเป็นพลเมืองโซเวียตแล้ว รัฐบาลโซเวียตได้ปราบปรามการต่อต้านโดยการประหารและจับกุมประชาชนนับพัน[13] และได้ส่งพลเมืองจำนวนมากไปยังไซบีเรีย หรือส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลของสหภาพโซเวียต ระหว่างการเนรเทศครั้งใหญ่สี่ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 1939 ถึง 1941
การบุกครองของโซเวียต ซึ่งโปลิตบูโร เรียกว่าเป็น “การทัพเพื่อการปลดปล่อย” นำมาซึ่งการต่อต้านจากชาวโปลนับล้าน ชาวยูเครนตะวันตก และชาวบาเลรุสเซียน นำไปสู่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต[14] ระหว่างการคงอยู่ของสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ การบุกครองดังกล่าวถือเป็นข้อห้ามกล่าวถึง และเกือบจะถูกลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของ "มิตรภาพนิรันดร" ระหว่างสมาชิกของค่ายตะวันออก[15]
เบื้องหลัง
[แก้]ปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 สหภาพโซเวียตพยายามที่จะสร้างพันธมิตรต่อต้านเยอรมนีกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม การเจรจาต่าง ๆ ประสบกับความยากลำบาก สหภาพโซเวียตยืนยันในเขตอิทธิพลของตนลากจากฟินแลนด์ไปจนถึงโรมาเนีย และต้องการความช่วยเหลือทางทหารนอกจากประเทศที่ถูกโจมตีโดยตรงแล้ว แต่ยังรวมถึงทุกประเทศที่โจมตีประเทศในเขตอิทธิพลนี้ด้วย[16] นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเจรจากับฝรั่งเศสและอังกฤษ ความต้องการของสหภาพโซเวียตในการยึดครองรัฐบอลติก (ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย) ก็ได้ปรากฏให้เห็นออกมาอย่างชัดเจนแล้ว[17] นอกจากนี้ ฟินแลนด์ ยังถูกรวมไปอยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียตเช่นเดียวกัน[18] และท้ายที่สุด สหภาพโซเวียตยังได้ต้องการสิทธิที่จะส่งกองทัพเข้าไปยังโปแลนด์ โรมาเนีย และรัฐบอลติก เมื่อสหภาพโซเวียตรู้สึกว่าความมั่นคงของตนถูกคุกคาม ทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ปฏิเสธข้อเสนอนั้น ดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ โจเซฟ เบค ได้ชี้แจงว่า เมื่อสหภาพโซเวียตส่งทหารเข้ามาในดินแดนของตนแล้ว ทหารเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกเรียกกลับประเทศของตนอีกเลยก็เป็นได้[7] สหภาพโซเวียตไม่ไว้วางใจในความมั่นคงร่วมกันอย่างมีเกียรติของอังกฤษและฝรั่งเศส นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศประสบความล้มเหลวที่จะป้องกันชัยชนะของฟาสซิสต์ ใน สงครามกลางเมืองสเปน หรือป้องกันเชโกสโลวาเกียจากนาซีเยอรมนีนอกจากนี้ สหภาพโซเวียตยังสงสัยว่าฝ่ายพันธมิตรตะวันตกอาจต้องการให้สหภาพโซเวียตรบกับเยอรมนีอย่างโดดเดี่ยว ขณะที่พวกตนคอยเฝ้ามองอยู่โดยไม่ช่วยเหลืออะไร[19] และด้วยความกังวลดังกล่าว สหภาพโซเวียตจึงหันไปเจรจากับเยอรมนีแทน
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 สหภาพโซเวียตได้ลงนามในกติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ กับนาซีเยอรมนี ซึ่งทำให้ฝ่ายพันธมิตรประหลาดใจมาก รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ประกาศว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างกัน แต่ในข้อตกลงลับของสนธิสัญญานั้น เป็นการตกลงแบ่งโปแลนด์ และยุโรปตะวันออกให้อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียต กติกาสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ซึ่งกล่าวว่าเป็นใบเบิกทางสำหรับการทำสงคราม และเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจของฮิตเลอร์ในการบุกครองโปแลนด์[7][20]
สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเพิ่มพื้นที่ป้องกันเพิ่มเติมทางด้านตะวันตก[21] นอกจากนั้น ยังได้เป็นการเพิ่มเติมดินแดน ซึ่งเคยถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์เมื่อยี่สิบปีก่อนคืน และเป็นการรวมประชากรชาวยูเครนตะวันตก ชาวยูเครนตะวันออกและชาวเบลารุสเข้าด้วยกันภายใต้รัฐบาลโซเวียต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประชากรดังกล่าวนี้อาศัยอยู่ภายในรัฐเดียวกัน[22] ผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน มองเห็นประโยชน์จากการทำสงครามในยุโรปตะวันตก ซึ่งอาจเป็นการบั่นทอนกำลังของศัตรูทางอุดมการณ์ของเขา และเป็นการขยายดินแดนใหม่ต่อการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์[23]
ไม่นานหลังจากการบุกครองโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ผู้นำนาซีได้กระตุ้นให้สหภาพโซเวียตได้ปฏิบัติตามข้อตกลง และโจมตีโปแลนด์จากทางตะวันออก เอกอัครทูตเยอรมนีแห่งกรุงมอสโก เฟรดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ได้แลกเปลี่ยนการเจรจาทางการทูตในประเด็นดังกล่าว[9]
เมื่อนั้นโมโลตอฟได้ใช้สถานการณ์ทางการเมืองกับสถานการณ์ดังกล่าว และกล่าวว่า รัฐบาลโซเวียตได้มีความตั้งใจที่จะถือเอาโอกาสที่กองทัพเยอรมันรุกเข้าไปมากขึ้น เพื่อที่จะประกาศว่าโปแลนด์กำลังล่มสลาย และเป็นความจำเป็นของสหภาพโซเวียตที่จะให้ความช่วยเหลือชาวยูเครนและชาวรัสเซียขาว ซึ่งถูกคุกคามโดยเยอรมนี การอ้างเหตุผลนี้เป็นการเข้าแทรกแซงของสหภาพโซเวียต ซึ่งสามารถแก้ตัวต่อหน้ามวลชนจำวนมาก และเป็นการล้างภาพลักษณ์ของผู้บุกครองอีกด้วย
— เฟรดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก เอกอัครทูตเยอรมันแห่งกรุงมอสโก ส่งโทรเลขมายังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี 10 กันยายน 1939 [24]
สาเหตุที่สหภาพโซเวียตชะลอการเข้าสู่สงครามของตนมีหลายเหตุผลด้วยกัน ทั้งเนื่องจากกองทัพของตนกำลังอยู่ระหว่างข้อพิพาทตามแนวชายแดนกับญี่ปุ่น ทำให้สหภาพโซเวียตต้องใช้เวลาระดมพลเข้าสู่กองทัพแดง และเห็นข้อได้เปรียบทางการทูตในการรอจนกว่าโปแลนด์จะพ่ายแพ้ ก่อนที่กองทัพของตนจะเคลื่อนทัพ[25][26] เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1939 โมโลตอฟประกาศทางวิทยุว่า สนธิสัญญาทุกฉบับระหว่างสหภาพโซเวียตกับโปแลนด์ทั้งหมดเป็นโมฆะ เนื่องจากถือว่ารัฐบาลโปแลนด์ได้ละทิ้งประชาชนของตน และนับเป็นความสิ้นสุดของความเป็นรัฐ นอกเหนือจากนั้น ฝ่ายโซเวียตอาจประเมินว่าฝรั่งเศสและอังกฤษได้ให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ตามสัญญา และส่งกองกำลังโพ้นทะเลภายในสองสัปดาห์ผ่านทางโรมาเนีย วันที่แน่นอนของการบุกครองจะต้องคำนวณโดยวันที่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรประกาศสงครามกับเยอรมนี บวกด้วย 14 วัน ซึ่งเป็นวันที่ 17 กันยายน 1939 และเมื่อตนยังไม่เห็นการเข้าช่วยเหลือของกองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษมาถึงโรมาเนียเลย สหภาพโซเวียตจึงตัดสินใจที่จะโจมตี
สตาลินไม่ปรารถนาที่จะช่วยเหลือนาซีเยอรมนีในการทำสงครามของตน ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นสถานการณ์ ดังที่ยุทธศาสตร์ของเขาตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าควรจะปล่อยให้รัฐทุนนิยมตะวันตกและนาซีเยอรมนีทำสงครามระหว่างกัน ก่อนที่เขาจะสามารถสู้กับทั้งสองฝ่ายได้ ทางด้านฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรล้มเหลวที่จะช่วยเหลือโดยการส่งกองกำลังโพ้นทะเล หรือการเริ่มต้นการรุกเต็มรูปแบบทางด้านตะวันตกของเยอรมนี หรือแม้กระทั่งการทิ้งระเบิดในเขตอุตสาหกรรมทางภาคตะวันตกของเยอรมนี ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับสตาลิน จากปรารถนาของเขาที่ต้องการให้เกิดการหลั่งเลือดระหว่างศัตรูของคอมมิวนิสต์ทั้งสองฝ่าย และในวันเดียวกัน กองทัพแดงได้ข้ามแนวชายแดนเข้าสู่โปแลนด์[4][25]
การทัพ
[แก้]กองทัพแดงเข้าสู่ภาคตะวันออกของโปแลนด์ ประกอบด้วย 7 กองทัพสนาม มีกำลังพลระหว่าง 450,000 – 1,000,000 นาย[4] ถูกจัดวางกำลังเป็นสองแนวรบ: แนวรบเบลารุส ภายใต้การบังคับบัญชาของมิคาอิล โควัลยอฟ และแนวรบยูเครน ภายใต้การบังคับบัญชาของเซมิออน ตีโมเชนโค[4] เมื่อถึงเวลานี้ กองทัพโปแลนด์ประสบความล้มเหลวที่จะป้องกันแนวชายแดนทางด้านตะวันตกของตน และในการตอบสนองต่อการโจมตีโต้กลับในยุทธการแห่งบซูรา ซึ่งแต่เดิมแล้ว กองทัพโปแลนด์ได้จัดเตรียมแผนการรับมือกับภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตไว้เรียบร้อยแล้ว แต่พวกเขาไม่พร้อมที่จะรับมือกับการโจมตีจากทั้งสองด้านพร้อมกัน และนักยุทธศาสตร์ทางทหารของโปแลนด์ยังเชื่ออีกด้วยว่าไม่มีหนทางที่จะต้านทานการบุกครองจากเยอรมนีและสหภาพโซเวียตพร้อมกันได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อเช่นนั้น แต่กองทัพโปแลนด์ก็ยังไม่ได้พัฒนาแผนการอพยพในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น[27] ในช่วงเวลาที่กองทัพโซเวียตบุกครอง ผู้บัญชาการระดับสูงของโปแลนด์ส่งกองกำลังของตนส่วนใหญ่ไปป้องกันแนวชายแดนทางด้านตะวันตก และเหลือกองกำลังป้องกันแนวชายแดนทางด้านตะวันออกเพียง 20 กองพัน ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังป้องกันชายแดนราว 20,000 นาย (Korpus Ochrony Pogranicza) ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพล วิลเฮล์ม ออร์ลิค เร็คเคมันน์[1][4]
ในตอนแรก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของโปแลนด์ จอมพลแอดวาร์ด รึดซ์-ชมิกวือ สั่งให้กองกำลังชายแดนต้านทานกองทัพโซเวียต แต่ในภายหลัง เขาเปลี่ยนใจหลังจากที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี เฟลิคแจน สลาวอจ สคลาวคอฟสกี และสั่งการให้กองกำลังเหล่านั้นล่าถอยและจู่โจมกองทัพโซเวียตในการป้องกันตัวเองเท่านั้น[1][5]
พวกโซเวียตได้มาถึงเราแล้ว ผมได้ออกคำสั่งให้มีการล่าถอยไปยังโรมาเนียและฮังการีด้วยเส้นทางที่สั้นที่สุด อย่าสู้กับพวกบอลเชวิค นอกเหนือจากว่ากองกำลังเหล่านั้นโจมตีคุณหรือพยายามปลดอาวุธกองกำลังของคุณ ภารกิจเพื่อกรุงวอร์ซอและเมืองอื่น ๆ จะยังคงเป็นการป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายเยอรมัน - ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เมืองที่ถูกยึดครองโดยพวกบอลเชวิคควรจะเจรจาในการถอนทหารประจำการไปยังฮังการีหรือโรมาเนียด้วย
— แอดวาร์ด รึดซ์-ชมิกวือ ผู้บัญชาการสูงสุดกองกำลังติดอาวุธโปแลนด์ 17 กันยายน 1939[28]
ชุดคำสั่งที่ขัดแย้งกันสองชุดทำให้เกิดความสับสนในกองทัพโปแลนด์[4] และเมื่อกองทัพแดงโจมตีกองกำลังโปแลนด์ ก็นำไปสู่การกระทบกระทั่งและยุทธการขนาดเล็กขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[1] การตอบสนองของผู้ที่ไม่ใช่เชื้อสายโปลได้ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ในบางกรณี อย่างเช่น ชาวยูเครน ชาวเบลารุส[29] และชาวยิว[30] ซึ่งให้การต้อนรับกองกำลังฝ่ายบุกครองเยี่ยงผู้ปลดปล่อย องค์การชาตินิยมชาวยูเครน ได้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อต่อสู้กับชาวโปล และภารดรคอมมิวนิสต์ได้ก่อการปฏิวัติในท้องถิ่น อย่างเช่นที่ Skidel[4]
แผนการเริ่มต้นในการล่าถอยของกองทัพโปแลนด์ คือ การล่าถอยและรวมกำลังใหม่ในเขตหัวสะพานโรมาเนีย ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของโปแลนด์ใกล้กับแนวชายแดนที่ติดกับโรมาเนีย โดยมีแนวคิด คือ การปรับใช้ตำแหน่งป้องกันที่นั่นและรอคอยการโจมตีของอังกฤษและฝรั่งเศสจากทางตะวันตกตามที่สัญญาเอาไว้ แผนการนี้คาดว่าเยอรมนีจะลดการปฏิบัติการในโปแลนด์ เพื่อที่จะนำกำลังของตนไปสู้ในแนวรบที่สอง[4] ฝ่ายสัมพันธมิตรคาดหวังว่ากองทัพโปแลนด์จะยื้อเวลาได้หลายเดือน แต่การโจมตีของสหภาพโซเวียตทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
ผู้นำทางการเมืองและทางทหารของโปแลนด์รู้ดีว่าตนกำลังพ่ายแพ้สงครามกับเยอรมนี และการโจมตีจากสหภาพโซเวียตยิ่งเป็นการตอกย้ำในประเด็นนี้[4] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโปแลนด์ปฏิเสธที่จะยอมจำนนหรือเจรจาสันติภาพกับเยอรมนี แต่กลับสั่งการให้กองทหารทั้งหมดอพยพจากโปแลนด์ และรวมกำลังใหม่ในฝรั่งเศส[4] ส่วนรัฐบาลโปแลนด์ได้หลบหนีข้ามพรมแดนไปยังโรมาเนีย เมื่อราวเที่ยงคืนของวันที่ 17 กันยายน 1939 ผ่านจุดผ่านแดนที่ Zaleszczyki กองทัพโปแลนด์ยังคงดำเนินการเคลื่อนทัพมุ่งหน้าไปยังเขตหัวสะพานโรมาเนีย โดยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการโจมตีของกองทัพเยอรมันทางด้านหนึ่ง และการปะทะกับกองทัพโซเวียตจากอีกด้านหนึ่ง หลายวันหลังจากคำสั่งอพยพได้ประกาศออกมา กองทัพเยอรมันสามารถทำลายกองทัพคราคอฟ (Army Kraków) และกองทัพลูบลิน (Army Lublin) ได้ที่ยุทธการแห่งโทมาสซอฟ ลูเบลสกี ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กันยายน[31]
กองทัพโซเวียตมักจะพบกับกองกำลังเยอรมัน ซึ่งกำลังมุ่งหน้ามาจากทิศทางตรงกันข้าม และมีตัวอย่างของการร่วมมือกันหลายครั้งระหว่างทั้งสองกองทัพในการรบ เช่น เมื่อกองทัพเยอรมันเคลื่อนผ่านป้อมปราการเบรสต์ ซึ่งถูกทำลายลง หลังจากยุทธการแห่ง Brześć Litewski ไปยังกองพลน้อยรถถังที่ 29 แห่งสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 17 กันยายน[32] นายพลเยอรมัน ไฮนซ์ กูเดเรียน และนายพลจัตวาโซเวียต แซมยอน คริโวเชย์น ได้มีการจัดขบวนฉลองชัยชนะร่วมกันในเมืองนั้น[32] ลวีฟยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 กันยายน ไม่กี่วันหลังจากที่กองทัพเยอรมันยุติปฏิบัติการปิดล้อม และกองทัพโซเวียตได้มาดำเนินการต่อ[33][34] กองทัพโซเวียตได้ยึดเมืองวิลโน เมื่อวันที่ 19 กันยายน หลังจากการสู้รบเป็นเวลาสองวัน และยึดเมืงกรอดโนได้เมื่อวันที่ 24 กันยายน หลังจากการรบเป็นเวลาสี่วัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน กองทัพแดงได้มาถึงแนวแม่น้ำนารอว์ บี๊กตะวันตก วิสตูล่าและซาน - ซึ่งเป็นแนวชายแดนซึ่งได้ตกลงไว้ในการบุกครองร่วมกับกองทัพเยอรมัน และการต้านทานของโปแลด์ ซึ่งถูกปิดล้อมในเขตป้องกันซาร์นี โวลฮีเนีย ใกล้กับแนวชายแดนโปแลนด์-โซเวียตเดิม ได้ทำการรบไปจนถึงวันที่ 25 กันยายน
ถึงแม้ว่ากองทัพโปแลนด์จะได้รับชัยชนะทางยุทธวิธีได้ในยุทธการแห่ง Szack เมื่อวันที่ 28 กันยายนก็ตาม แต่ผลของการรบที่ใหญ่กว่าไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด[35] อาสาสมัครพลเรือน ทหารชาวบ้านและทหารที่ล่าถอยกลับมาได้ทำการรบต้านทานในกรุงวอร์ซอ ไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน ปราการมอดลิน ทางตอนเหนือของกรุงวอร์ซอ ยอมจำนนเมื่อวันที่ 29 กันยายน ในวันที่ 1 ตุลาคม กองทัพโซเวียตขับไล่กองทัพโปแลนด์ให้ล่าถอยไปจนถึงเขตป่าในยุทธการแห่ง Wytyczno ซึ่งเป็นหนึ่งในการเผชิญหน้าโดยตรงครั้งสุดท้ายของการทัพดังกล่าว[36]
ทหารประจำการบางแห่งได้ป้องกันที่มั่นของตนหลังจากที่ส่วนอื่น ๆ ได้ยอมจำนนไปแล้ว แต่กองกำลังสุดท้ายของโปแลนด์ที่ยอมจำนน คือ กลุ่มปฏิบัติการอิสระโปลิเซ่ นายพลฟรานซิสเซ็ค คลีเบิร์ก (Samodzielna Grupa Operacyjna "Polesie") ในวันที่ 6 ตุลาคม หลังจากยุทธการแห่งค็อก ใกล้กับเมืองลูบลิน เป็นเวลาสี่วัน และเป็นจุดสิ้นสุดของการบุกครอง
กองทัพโซเวียตได้รับชัยชนะ ในวันที่ 31 ตุลาคม วียาเชสลาฟ โมโลตอฟได้รายงานต่อรัฐสภาสูงสุดของโซเวียต ว่า: "หลังจากการโจมตีสั้น ๆ ของกองทัพเยอรมัน และตามด้วยการรุกของกองทัพแดง เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำลายสิ่งมีชีวิตอันอัปลักษณ์ซึ่งหลงเหลืออยู่จากสนธิสัญญาแวร์ซาย"[37]
ปฏิกิริยาของฝ่ายสัมพันธมิตร
[แก้]ปฏิกิริยาของฝรั่งเศสและอังกฤษยังคงเงียบกริบ นับตั้งแต่ไม่มีประเทศใดที่ต้องการเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตในสถานการณ์เช่นนี้[38] ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างโปแลนด์-อังกฤษ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1939 อังกฤษได้ให้สัญญาจะช่วยเหลือโปแลนด์หากถูกโจมตีจากอำนาจในทวีปยุโรป แต่เมื่อเอกอัครราชทูตโปแลนด์ เอ็ดเวิร์ด เบอร์นาร์ด แรคซินสกี ได้เตือนความจำของเลขาธิการแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและเครือจักรภพ อี. เอฟ. แอล. วูด เอร์ลที่หนึ่งแห่งฮาลิแฟกซ์ เขากลับตอบอย่างทื่อ ๆ ว่า เป็นธุระของอังกฤษหรือที่จะประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียต[38] นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ พิจารณาให้มีการพิจารณาสาธารณะในการฟื้นฟูสถานภาพรัฐของโปแลนด์ แต่ในตอนท้าย ก็กลายเป็นเพียงการแถลงการตำหนิเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[38]
ฝรั่งเศสเองก็ได้ให้สัญญากับโปแลนด์ รวมไปถึงการมอบความช่วยเหลือทางอากาศ แต่กลับไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ครั้นเมื่อกองทัพโซเวียตเคลื่อนทัพเข้าสู่โปแลนด์ ฝรั่งเศสและอังกฤษได้ตัดสินว่าตนไม่อาจให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ได้ในระยะเวลาอันสั้น และเริ่มต้นวางแผนสำหรับชัยชนะในระยะยาวแทน ฝรั่งเศสได้ดำเนินการรุกในแคว้นซาร์เพียงเล็กน้อย เมื่อต้นเดือนกันยายน แต่หลังจากความพ่ายแพ้ของโปแลนด์ กองทัพฝรั่งเศสก็ล่าถอยกลับไปยังแนวมากิโนต์ ในวันที่ 4 ตุลาคม[39] ชาวโปลจำนวนมากไม่พอใจกับการให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยจากฝ่ายพันธมิตรตะวันตก ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการทรยศโดยชาติตะวันตก
ผลจากการรบ
[แก้]ในเดือนตุลาคม 1939 โมโลตอฟได้รายงานสภาสูงของโซเวียต ว่ากองทัพโซเวียตเสียชีวิตทหารไป 737 นาย และได้รับความสูญเสีย 1,862 นายระหว่างการทัพ แต่ผู้เชี่ยวชายชาวโปแลนด์อ้างว่ามีทหารเสียชีวิตสูงถึง 3,000 นาย และบาดเจ็บราว 8,000-10,000 นาย ส่วนทางฝ่ายโปแลนด์ มีทหารเสียชีวิตในการรบกับสหภาพโซเวียตราว 6,000-7,000 นาย และถูกจับเป็นเชลยศึกราว 230,000-450,000 นาย[1][40] ทหารโซเวียตมักจะไม่ให้เกียรติในเงื่อนไขการยอมจำนน พวกเขาให้สัญญาทหารโปแลนด์ว่าจะมอบอิสรภาพให้ แต่กลับเข้าจับกุมในทันทีที่วางปืนลง[4]
สหภาพโซเวียตล้มเลิกการรับรองรัฐโปแลนด์นับตั้งแต่เริ่มต้นการบุกครองแล้ว[9][10] ผลที่ตามมา คือ รัฐบาลของทั้งสองไม่เคยประกาศสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างกัน ฝ่ายโซเวียตไม่ได้จัดเชลยศึกที่เป็นทหารโปแลนด์ว่าเป็นเชลยศึก แต่จัดว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาลใหม่อันชอบธรรมของยูเครนตะวันตกและเบโลรุสเซียตะวันตก ฝ่ายโซเวียตสังหารเชลยศึกชาวโปแลนด์นับหมื่นนาย บางคนอย่างเช่น นายพลโจเซฟ ออลซีนา วิลซินสกี ผู้ซึ่งถูกจับกุมตัว สืบสวน และถูกยิงเมื่อวันที่ 22 กันยายน นับเป็นการประหารระหว่างการทัพเลยทีเดียว[41][42] ในวันที่ 24 กันยายน ทหารโซเวียตสังหารเจ้าหน้าที่ 42 คนและคนไข้ของโรงพยาบาลทหารโปแลนด์ในหมู่บ้านกราโบวิค ใกล้กับ Zamość[43] ฝ่ายโซเวียตยังได้ประหารนายทหารทุกนายที่สามารถจับกุมตัวได้ภายหลังยุทธการแห่ง Szack นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 1939[35] ทหารโปแลนด์และพลเรือนมากกว่า 20,000 นายเสียชีวิตในการสังหารหมู่คาทิน[4][32]
ในการควบคุมตัวในเรือนจำของโซเวียต ได้มีการทรมานผู้ต้องขังกกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองขนาดเล็ก ในเมือง Bobrka ผู้ต้องขังถูกราดด้วยน้ำต้มเดือด ใน Przemyslany ผู้ต้องขังถูกตัดจมูก หูและนิ้ว รวมไปถึงควักลูกตาออก ในเมือง Czortkow สตรีในเมืองถูกตัดเต้านมออกจากร่าง และในเมือง Drohobycz ได้มีการพบเหยื่อถูกมัดติดกันด้วยลวดหนาม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Sambor, Stanislawow, Stryj และ Zloczow[44] รวมไปถึงเมื่อในเมือง Czortków และระหว่างการลุกฮือขึ้นโดยชาวโปแลนด์ท้องถิ่น เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1940 ได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยฝ่ายโซเวียต
นักประวัติศาสตร์อย่างเช่น แจน ที. กรอส ได้บันทึกไว้ว่า:
"เราไม่สามารถหลีกหนีข้อสรุปที่ว่า: ระบบความปลอดภัยของรัฐโซเวียตทรมานผู้ต้องขังในเรือนจำของตนไม่เพียงแต่ต้องการบีบคั้นให้มีการสารภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงทำให้พวกเขาเหล่านั้นเสียชีวิตลงด้วย ไม่ใช่ว่าหน่วยเอ็นเควีดีจะมีความซาดิสต์ แต่ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว การทรมานนี้เป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและมีระเบียบ" [45]
ฝ่ายโปแลนด์และสหภาพโซเวียตได้สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1941 หลังจากข้อตกลงซิคอร์สกี-เมย์สกี แต่สหภาพโซเวียตได้ยุติความสัมพันธ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1943 หลังจากที่รัฐบาลโปแลนด์และทหารนาซีเยอรมันที่สโมเลนสค์ที่ตรวจการอยู่ได้ตรวจสอบ เมื่อได้ค้นพบหลุมมรณะที่ Katyn[46] หลังจากนั้น ฝ่ายโซเวียตได้พยายามวิ่งเต้นฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกให้ยอมรับรัฐบาลนิยมโซเวียตของ วานดา วาซิลลีว์สกา ในกรุงมอสโก[47]
ในวันที่ 28 กันยายน 1939 สหภาพโซเวียตและเยอรมนีได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขลับของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ โดยยกลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียต และเลื่อนแนวชายแดนในโปแลนด์มาทางด้านตะวันออก โดยยกให้เป็นดินแดนของเยอรมนีมากขึ้น[2] จากการจัดการดังกล่าว มักจะถูกพิจารณาว่าเป็นการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์[4] สหภาพโซเวียตได้ครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกเกือบทั้งหมดของแม่น้ำพิซา นาโรว์ บั๊กตะวันตกและซาน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางกิโลเมตร มีพลเมืองชาวโปแลนด์อาศัยอยู่ 13.5 ล้านคน[5]
กองทัพแดงได้หว่านความสับสนให้กับชาวบ้านท้องถิ่น โดยกล่าวอ้างว่าพวกเขามายังโปแลนด์ เพื่อช่วยป้องกันภัยจากนาซี[48] การบุกครองของพวกเขาสร้างความประหลาดใจให้กับประชาคมโปแลนด์และผู้นำ ซึ่งยังไม่ได้แนะนำวิธีการรับมือกับภัยการบุกครองของสหภาพโซเวียตเลย พลเมืองชาวโปแลนด์และชาวยิวอาจเลือกที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตมากกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี[49] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโซเวียตได้พยายามสอดแทรกแนวคิดของตนลงไปในวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว และยังได้เริ่มการริบทรัพย์ การยึดในเป็นของรัฐบาล และกระจายทรัพย์สินของเอกชนและของรัฐโปแลนด์ทั้งหมดเสียใหม่[50] ระหว่างการยึดครองเป็นระยะเวลานานสองปี ฝ่ายโซเวียตได้จับกุมพลเมืองชาวโปแลนด์กว่า 100,000 คน[51] และเนรเทศชาวโปแลนด์เป็นจำนวนระหว่าง 350,000–1,500,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 250,000–1,000,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมือง[52]
ดินแดนซึ่งถูกผนวกโดยสหภาพโซเวียต
[แก้]จากจำนวนประชากร 13.5 ล้านคนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตยึดครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต เชื้อชาติโปลเป็นเชื้อชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ชาวเบลารุสและชาวยูเครนเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนคิดเป็น 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด การผนวกดินแดนในครั้งนี้ไม่ได้รวมเอาเชื้อชาติเบลารุสหรือชาวยูเครนทั้งหมด มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตยึดครองของเยอรมนีทางตะวันตก แม้กระนั้น ก็สามารถทำให้เกิดการรวมตัวกันของชนส่วนใหญ่ของประชากรทั้งสองเชื้อชาติ และเกิดเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบลารุส และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน ซึ่งขยายเพิ่มขึ้นมา
ในวันที่ 26 ตุลาคม 1939 การเลือกตั้งสภาเบลารุสและสภายูเครนถูกจัดขึ้น ในการรับรองการผนวกดินแดนดังกล่าวให้เป็นการสมเหตุสมผล ชาวเบลารุสและชาวยูเครนในโปแลนด์มักจะถูกเบียดขับให้เกิดความเป็นต่างด้าวมากขึ้น โดยนโยบายของรัฐบาลโปแลนด์ และการสลายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความจงรักภักดีน้อยมากต่อรัฐโปแลนด์[53][54] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ชาวเบลารุสเซียนและชาวยูเครนทั้งหมดที่เชื่อในความรับผิดชอบจากการปกครองของโซเวียต หลังจากทุพภิกขภัยชาวยูเครนแห่งปี 1932-1933[48] ในทางปฏิบัติแล้ว คนจนมักจะให้การต้อนรับพวกโซเวียต และพวกผู้ดีชั้นสูงจะเข้าร่วมกับการต่อต้าน ถึงแม้ว่าจะสนับสนุนให้มีการรวมชาติใหม่ก็ตาม[53][55]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Edukacja Humanistyczna w wojsku เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 1/2005. Dom wydawniczy Wojska Polskiego. (Humanist Education in the Army.) 1/2005. Publishing House of the Polish Army. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Kampania wrześniowa 1939 (September Campaign 1939) from PWN Encyklopedia. Internet Archive, mid-2006. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
- ↑ Colonel-General Grigory Fedot Krivosheev, Soviet casualties and combat losses in the twentieth century.
- ↑ 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 George Sanford, p. 20–24.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Gross, p. 17.
- ↑ Piotrowski, p. 199.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Anna M. Cienciala (2004). The Coming of the War and Eastern Europe in World War II เก็บถาวร 2012-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (University of Kansas). Retrieved 15 March 2006.
- ↑ ทูตเยอรมนีได้กระตุ้นให้สหภาพโซเวียตเข้าตีโปแลนด์จากทางตะวันออกนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น. Roberts, Geoffrey (1992). การตัดสินใจของสหภาพโซเวียตในการลงนามสนธิสัญญากับนาซีเยอรมนี. Soviet Studies 44 (1), 57–78; The Reich Foreign Minister to the German Ambassador in the Soviet Union (Schulenburg) เก็บถาวร 2007-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน @ โครงการเอวาลอน และเอกสารบางส่วน สหภาพโซเวียตไม่เต็มใจที่จะเข้าแทรกเหตุการณ์เมื่อกรุงวอร์ซอยังไม่ถูกตีแตก การตัดสินใจของโซเวียตในการบุกครองนภาคตะวันออกของโปแลนด์ได้รับการรับรองให้อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียต หลังจากที่ได้เจรจากับเอกอัครทูตเยอรมนี ฟรีดริช เวอร์เนอร์ ฟอน เดอร์ ชูเลนบูร์ก เมื่อวันที่ 9 กันยายน แต่การบุกครองถูกเลื่อนออกไปเป็นเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์. Roberts, Geoffrey (1992). The Soviet Decision for a Pact with Nazi Germany. Soviet Studies 44 (1), 57–78; The German Ambassador in the Soviet Union (Schulenburg) to the German Foreign Office เก็บถาวร 2007-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน @ โครงการเอวาลอน. หน่วยข่าวกรองโปแลนด์เริ่มจับตามองแผนการของโซเวียต เมื่อวันที่ 12 กันยายน.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 โทรเลขส่งโดยชูเลนบูร์ก เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำสหภาพโซเวียต จากมอสโกถึงกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี: No. 317 เก็บถาวร 2009-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 10 กันยายน 1939, No. 371 เก็บถาวร 2007-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 16 กันยายน 1939, No. 372 เก็บถาวร 2007-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 17 กันยายน 1939. โครงการเอวาลอน สถาบันกฎหมายเยล. Retrieved 14 November 2006.
- ↑ 10.0 10.1 1939 wrzesień 17, Moskwa Nota rządu sowieckiego nie przyjęta przez ambasadora Wacława Grzybowskiego เก็บถาวร 2017-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (จดหมายจากรัฐบาลโซเวียตถึงรัฐบลโปแลนด์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 1939 ปฏิเสธโดยเอกอัครทูตโปแลนด์ Wacław Grzybowski). Retrieved 15 November 2006; Degras, pp. 37–45. (โปแลนด์)
- ↑ M.I.Mel'tyuhov. Stalin's lost chance. The Soviet Union and the struggle for Europe 1939–1941, p.132. Мельтюхов М.И. Упущенный шанс Сталина. Советский Союз и борьба за Европу: 1939–1941 (Документы, факты, суждения). — М.: Вече, 2000.
- ↑ obozy jenieckie żołnierzy polskich เก็บถาวร 2013-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ค่ายกักกันทหารโปแลนด์). Encyklopedia PWN. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
- ↑ Rummel, p.130; Rieber, p. 30.
- ↑ Rieber, p 29.
- ↑ Ferro, Marc (2003). The Use and Abuse of History: Or How the Past Is Taught to Children. London, New York: Routledge. ISBN 978-0-415-28592-6.
- ↑ Shaw, p 119; Neilson, p 298.
- ↑ "Natural Enemies: The United States and the Soviet Union in the Cold War 1917-1991" by Robert C. Grogin 2001 Lexington Books page 28
- ↑ Kenez, pp. 129–31.
- ↑ Davies, Europe: A History, p. 997.
- ↑ James F. Dunnigan, p. 132.
- ↑ Sanford, pp. 20–25; Timothy Snyder, p. 77.
- ↑ Michael Gelven, p.236.
- ↑ "The Avalon Project at Yale Law School; The German Ambassador in the Soviet Union, (Schulenburg) to the German Foreign Office, Telegram VERY URGENT Moscow, September 10, 1939-9:40 p. m. STRICTLY SECRET". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-07. สืบค้นเมื่อ 2009-07-12.
- ↑ 25.0 25.1 Steven J. Zaloga, p 80.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Weinberg, p. 55.
- ↑ Szubański, Plan operacyjny "Wschód".
- ↑ Sowiety wkroczyły. Nakazuję ogólne wycofanie na Rumunię i Węgry najkrótszymi drogami. Z bolszewikami nie walczyć, chyba w razie natarcia z ich strony albo próby rozbrojenia oddziałów. Zadania Warszawy i miast które miały się bronić przed Niemcami - bez zmian. Miasta do których podejdą bolszewicy powinny z nimi pertraktować w sprawie wyjścia garnizonów do Węgier lub Rumunii. Andrzej M. Kobos, "Agresja albo nóż w plecy" เก็บถาวร 2016-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โปแลนด์)
- ↑ Piotrowski, p 199.
- ↑ Gross, pp. 32–33.
- ↑ Taylor, p. 38.
- ↑ 32.0 32.1 32.2 Benjamin B. Fischer, ""The Katyn Controversy: Stalin's Killing Field เก็บถาวร 2010-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Studies in Intelligence, Winter 1999–2000. Retrieved 16 July 2007.
- ↑ Artur Leinwand (1991). "Obrona Lwowa we wrześniu 1939 roku". Instytut Lwowski. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
- ↑ Ryś, p 50. [1] เก็บถาวร 2008-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 35.0 35.1 Szack. Encyklopedia Interia. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
- ↑ Orlik-Rückemann, p. 20.
- ↑ Moynihan, p. 93; Tucker, p. 612.
- ↑ 38.0 38.1 38.2 Prazmowska, pp. 44–45.
- ↑ Jackson, p. 75.
- ↑ Отчёт Украинского и Белорусского фронтов Красной Армии Мельтюхов, с. 367. [2] เก็บถาวร 2022-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 17 July 2007. (รัสเซีย)
- ↑ Sanford, p. 23; (โปแลนด์) Olszyna-Wilczyński Józef Konstanty เก็บถาวร 2008-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Encyklopedia PWN. Retrieved 14 November 2006.
- ↑ Śledztwo w sprawie zabójstwa w dniu 22 września 1939 r. w okolicach miejscowości Sopoćkinie generała brygady Wojska Polskiego Józefa Olszyny-Wilczyńskiego i jego adiutanta kapitana Mieczysława Strzemskiego przez żołnierzy b. Związku Radzieckiego. (S 6/02/Zk) Polish Institute of National Remembrance. Internet Archive, 16.10.03. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
- ↑ Rozstrzelany Szpital เก็บถาวร 2009-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Executed Hospital). Tygodnik Zamojski, 15 September 2004. Retrieved 28 November 2006. (โปแลนด์)
- ↑ Gross, p. 181
- ↑ Gross, p. 182
- ↑ บันทึกของฝ่ายโซเวียต unilaterally severing Soviet-Polish diplomatic relations, 25 April 1943. English translation of Polish document. เก็บถาวร 2008-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved 19 December 2005; Sanford, p. 129.
- ↑ Sanford, p. 127; Martin Dean Collaboration in the Holocaust. Retrieved 15 July 2007.
- ↑ 48.0 48.1 Davies, Europe: A History, pp. 1001–1003.
- ↑ Gross, pp. 24, 32–33.
- ↑ Piotrowski, p.11
- ↑ Represje 1939-41 Aresztowani na Kresach Wschodnich เก็บถาวร 2006-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Repressions 1939–41. Arrested on the Eastern Borderlands.) Ośrodek Karta. Retrieved 15 November 2006. (โปแลนด์)
- ↑ Rieber, pp. 14, 32–37.
- ↑ 53.0 53.1 Marek Wierzbicki, Stosunki polsko-białoruskie pod okupacją sowiecką (1939–1941) เก็บถาวร 2008-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "Białoruskie Zeszyty Historyczne", Biełaruski histaryczny zbornik, 20 (2003), p. 186–188. Retrieved 16 July 2007. (โปแลนด์)
- ↑ Norman Davies, Boże Igrzysko (God's Playground), vol 2, pp. 512–513.
- ↑ Andrzej Nowak, The Russo-Polish Historical Confrontation, Sarmatian Review, January 1997, Volume XVII, Number 1. Retrieved 16 July 2007.