ข้ามไปเนื้อหา

Aspergillus flavus

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Aspergillus flavus
โคนิดิโอสปอร์ของ A. flavus
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: เห็ดรา
Fungi
หมวด: แอสโกไมโคตา
Ascomycota
ชั้น: Eurotiomycetes
Eurotiomycetes
อันดับ: Eurotiales
Eurotiales
วงศ์: Aspergillaceae
Aspergillaceae
สกุล: Aspergillus
Aspergillus
Link (1809)
สปีชีส์: Aspergillus flavus
ชื่อทวินาม
Aspergillus flavus
Link (1809)
เชื้อรา Aspergillus flavus ในจานเพาะเชื้อ

เชื้อรา Aspergillus flavus เป็นจุลชีพที่อาศัยซากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วหรือเกิดตามผิวดินที่มีอาหารและก่อโรคได้[1] ซึ่งมีการกระจายพันธุ์ทั่วโลก[2] เป็นที่รู้จักกันดีในการปลูกพืชจำพวกธัญพืช พืชตระกูลถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง ซึ่งอาการเน่าหลังการเก็บเกี่ยวโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในระหว่างการเก็บเกี่ยว การจัดเก็บ และหรือการขนส่ง โดยชื่อเฉพาะของรานี้คือ flavus ซึ่งมาจากคำภาษาละตินที่แปลว่าสีเหลือง ซึ่งอ้างอิงถึงสีของสปอร์ที่พบเห็นได้ทั่วไป การติดเชื้อ A. flavus อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่พืชยังคงอยู่ในแปลงเพาะปลูก (ก่อนการเก็บเกี่ยว) แต่บ่อยครั้งที่ไม่แสดงอาการ (ระยะพักตัว) จนกว่าจะเก็บหรือขนส่งหลังการเก็บเกี่ยว[3]

นอกจากจะทำให้เกิดการติดเชื้อก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว ในหลายชนิดยังสร้างสารพิษจำนวนมากที่เรียกว่า ไมโคทอกซิน ซึ่งเมื่อบริโภคเข้าไปจะเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม[3] A. flavus ยังเป็นจุลชีพก่อโรคแบบเชื้อฉวยโอกาสในมนุษย์และสัตว์ ทำให้เกิดโรคแอสเปอร์จิลโลซิส ในบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง[4]

เชื้อราและสิ่งมีชีวิตที่ถูกเบียน

[แก้]

พบเชื้อรา Aspergillus flavus ทั่วโลกในรูปของแซโพรทรอฟิก ในดินและทำให้เกิดโรคในพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด แหล่งอาศัยทั่วไปของจุลชีพก่อโรคนี้ ได้แก่ ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อ A. flavus ทำให้เกิดโรคเน่าในข้าวโพดและโรคราสีเหลืองในถั่วลิสงก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยว[4]

การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้ในแปลงเพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยว, หลังการเก็บเกี่ยว, ระหว่างการจัดเก็บ และระหว่างการขนส่ง เป็นปกติที่เชื้อราจะเริ่มเกิดขึ้นในขณะที่พืชยังคงอยู่ในไร่ อย่างไรก็ตาม อาการและสัญญาณของเชื้อราก่อโรคมักไม่ปรากฏให้เห็น A. flavus มีความสามารถที่จะติดเชื้อต้นกล้าโดยการสร้างสปอร์บนเมล็ดที่ได้รับความเสียหาย[3]

ในเมล็ดพืช เชื้อราสามารถบุกรุกเข้าไปในต้นอ่อนของเมล็ดพืชและทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้การอัตราการงอกลดลง และอาจทำให้เมล็ดพืชที่ปลูกในแปลงเพาะปลูก ได้รับเชื้อได้ เชื้อรายังสามารถทำให้ต้นอ่อนเปลี่ยนสี สร้างความเสียหายต่อต้นกล้า และฆ่าต้นกล้าได้ ส่งผลให้เกรดและราคาของเมล็ดพืชลดลง การติดเชื้อ Aspergillus flavus มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อมีแมลงและความเครียดใด ๆ ต่อพืชในแปลงเพาะปลูก อันเป็นผลมาจากความเสียหาย ซึ่งความเครียดนี้ ได้แก่ ลำต้นเน่า ภัยแล้ง ใบเสียหายอย่างรุนแรง และหรือสภาวะการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม[3]

โดยทั่วไปแล้ว สภาพความชื้นที่มากเกินไปและอุณหภูมิสูงในระหว่างการเก็บรักษาธัญพืชและพืชตระกูลถั่วจะเพิ่มโอกาสในการเกิดการผลิตอะฟลาทอกซินของ A. flavus[4] ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อราสามารถก่อให้เกิดมะเร็งตับได้ผ่านการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนหรือโรคแอสเปอร์จิลโลสิสจากการเจริญเติบโตแบบรุกล้ำ[4]

สัณฐานวิทยาและพยาธิวิทยา

[แก้]

โดยทั่วไปแล้ว โคโลนีของเชื้อรา Aspergillus flavus เป็นกลุ่มสปอร์สีเหลืองอมเขียวที่มีลักษณะเป็นผงบนพื้นผิวด้านบนและมีสีทองอมแดงบนพื้นผิวด้านล่าง ในทั้งธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว การติดเชื้อจะถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ และมักจะพบการเปลี่ยนสีและความหมองคล้ำในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและมีเนื้อสัมผัสคล้ายแป้ง[5]

การเจริญเติบโตของไฮฟา (เส้นใย) โดยปกติเกิดขึ้นโดยการแตกแขนงคล้ายเส้นด้ายและสร้างไมซีเลียม (กลุ่มของเส้นใย) เส้นใยจะมีผนังกั้นและมีลักษณะใส และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ไมซีเลียมจะหลั่งเอนไซม์หรือโปรตีนที่สามารถย่อยสลายสารอาหารที่ซับซ้อนได้ โดยทั่วไปไม่สามารถมองเห็นเส้นใยแต่ละเส้นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม มักพบเห็นเส้นใยโคนิเดีย ซึ่งสร้างแผ่นไมซีเลียมหนาได้บ่อย โคนิดิโอสปอร์ เป็นสปอร์แบบไม่อาศัยเพศ ที่สร้างโดย A. flavus ในระหว่างการสืบพันธุ์[5][6][7]

โคนิดิโอฟอร์ของ A. flavus มีลักษณะขรุขระและไม่มีสี ไฟอะลายด์มีทั้งรูปแบบยูนิซิริเอต (เรียงเป็นแถวเดียวกัน) และไบซิรีเอต (จัดเรียงสองแถว)[5]

เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า Petromyces เป็นระยะการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของ Aspergillus flavus โดยแอสโคสปอร์ จะพัฒนาภายในสเคอโรเดีย[4] สภาวะทางเพศของเชื้อราที่มีการผสมข้ามชนิดนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อสายพันธุ์ที่มีชนิดการผสมตรงข้ามถูกเพาะเลี้ยงร่วมกัน[8] ซึ่งการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดขึ้นระหว่างสายพันธุ์ที่เข้ากันทางเพศได้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มความเข้ากันได้ทางพืชที่แตกต่างกัน

เชื้อรา Aspergillus flavus มีสัณฐานวิทยาที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มตามขนาดของสเคลอโรเทียที่สร้างขึ้น กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยสายพันธุ์ L ที่มีสเคลอโรเทียที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 400 μm กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยสายพันธุ์ S ที่มีสเคลอโรเทียที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางต่ำกว่า 400 μm ทั้งสายพันธุ์ L และ S สามารถผลิตอะฟลาทอกซินสองชนิดที่พบบ่อยที่สุด (B1 และ B2) ได้ สายพันธุ์ S มีการผลิตอะฟลาทอกซิน G1 และ G2 ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว A. flavus ไม่สามารถผลิตได้[4] สายพันธุ์ L มีความก้าวร้าวมากกว่าสายพันธุ์ S แต่ผลิตแอฟลาทอกซินน้อยกว่าภายในสภาพแวดล้อมที่เพาะเลี้ยง สายพันธุ์ L ยังมีจุดภาวะธำรงดุลทางกรด ที่เป็นกรดมากกว่าและผลิตสเคลอโรเทียได้น้อยกว่าสายพันธุ์ S ภายในสภาพแวดล้อมที่เพาะเลี้ยง[9]

วงจรโรค

[แก้]

เชื้อรา Aspergillus flavus จะข้ามฤดูหนาวในดินและปรากฏในรูปของหน่อพันธุ์บนวัตถุที่กำลังเน่าเปื่อย โดยปรากฏได้ทั้งในรูปแบบของไมซีเลียมหรือสเคลอโรเทีย สเคลอโรเทียงอกเพื่อสร้างไฮฟา (เส้นใย) เพิ่มเติมและสปอร์แบบไม่อาศัยเพศที่เรียกว่าโคนิเดีย กล่าวกันว่าเหล่านี้ถือเป็นเชื้อตั้งต้นหลักสำหรับ A. flavus ส่วนของหน่อพันธุ์ในดินซึ่งปัจจุบันคือโคนิเดีย ถูกแพร่กระจายโดยลมและแมลง เช่น มวนง่ามหรือมวนพิฆาต โคนิเดียสามารถเกาะและแพร่ไปยังเมล็ดพืชหรือพืชตระกูลถั่วได้[10][11]

ซึ่งสปอร์จะเข้าไปในข้าวโพดผ่านไหมข้าวโพดและทำให้เมล็ดข้าวโพดติดเชื้อ โคนิดิโอฟอร์และโคนิเดียเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิจากพื้นผิวของสเคลอโรเทีย และมีเชื้อต้นต้นรองของ A. flavus ซึ่งคือโคนิเดียที่พบบนส่วนต่าง ๆ ของใบและใบไม้ A. flavus เติบโตบนใบหลังจากที่ใบได้รับความเสียหายจากแมลงกินใบ แมลงถือเป็นแหล่งของการเพาะเชื้อตั้งต้นและส่งเสริมการสร้างเชื้อตั้งต้น[10][11]

ในสิ่งแวดล้อม

[แก้]

เชื้อรา Aspergillus flavus มีความพิเศษเฉพาะตัว ตรงที่เป็นเชื้อราที่ทนต่อความร้อนได้ จึงสามารถอยู่รอดได้ในอุณหภูมิที่เชื้อราชนิดอื่นไม่สามารถอยู่รอดได้[12][13] A. flavus อาจทำให้เกิดการเน่าเสียจากการจัดเก็บ โดยเฉพาะเมื่อวัตถุดิบทางการเกษตรถูกเก็บไว้ที่มีความชื้นสูง A. flavus เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนและชื้น[10]

อุณหภูมิ: A. flavus มีอุณหภูมิการเจริญเติบโตอย่างต่ำที่ 12 องศาเซลเซียส (54 องศาฟาเรนไฮต์) และอุณหภูมิการเจริญเติบโตได้สูงสุดที่ 48 องศาเซลเซียส (118 องศาฟาเรนไฮต์) แม้ว่าอุณหภูมิการเจริญเติบโตสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 48 องศาเซลเซียส (118 องศาฟาเรนไฮต์) อุณหภูมิในการเจริญเติบโตที่เหมาะสมคือ 37 องศาเซลเซียส (99 องศาฟาเรนไฮต์) A. flavus จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงอุณหภูมิ 30–55 องศาเซลเซียส (86–131 องศาฟาเรนไฮต์) จะเจริญเติบโตช้าที่อุณหภูมิ 12–15 องศาเซลเซียส (54–59 องศาฟาเรนไฮต์) และเกือบที่จะหยุดการเจริญเติบโตที่อุณหภูมิ 5–8 องศาเซลเซียส (41–46 องศาฟาเรนไฮต์)[3][14]

ความชื้น: การเจริญเติบโต ของ A. flavus เกิดขึ้นที่ระดับความชื้นที่แตกต่างกันในพืชแต่ละชนิด สำหรับธัญพืชที่มีแป้ง อัตราการเจริญเติบโตจะเกิดขึ้นที่ความชื้นร้อยละ 13.0–13.2 สำหรับถั่วเหลือง อัตราการเจริญเติบโตเกิดขึ้นที่ความชื้นร้อยละ 11.5–11.8 สำหรับพืชอื่น ๆ การเจริญเติบโตเกิดขึ้นที่ความชื้นร้อยละ 14[3] การเจริญเติบโตของ A. flavus นั้นแพร่กระจายในประเทศเขตร้อน[4] ค่าต่ำสุดของ aw (ค่าแอคติวิตีของน้ำ) ที่ต้องการสำหรับการเจริญเติบโตมีความสัมพันธ์ผกผันกับอุณหภูมิ–ในอีกนัยหนึ่ง อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ aw ต่ำลง เป็นที่ทราบว่ามีช่วงของ aw ตั้งแต่ 0.78 ที่ 33 องศาเซลเซียส (91 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 0.84 ที่ 25 องศาเซลเซียส (77 องศาฟาเรนไฮต์) Gibson และคณะ ในปี ค.ศ. 1994 ที่นำเสนอแบบจำลองซึ่งเชื่อมโยงอัตราการเจริญเติบโตที่คาดหวังของรากับพารามิเตอร์ของ aw และอุณหภูมิ[15]

การจัดการ

[แก้]

เพื่อให้มั่นใจว่าเมล็ดพืชและพืชตระกูลถั่วปราศจากการติดเชื้อ A. flavus จำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไขบางประการก่อน ในช่วงระหว่างและหลังการเก็บเกี่ยว โดยระดับความชื้นควรอยู่ไม่เกินร้อยละ 11.5 และอุณหภูมิในช่วงการจัดเก็บควรทำให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เนื่องจากเชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียสได้ อุณหภูมิที่ต่ำช่วยทำให้กระบวนการหายใจช้าลงและป้องกันความชื้นที่เพิ่มขึ้น สารรม (Fumigant) ถูกใช้เพื่อลดการเกิดและการคงอยู่ของแมลงและไร ซึ่งช่วยลดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อรา แนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัย เช่น การกำจัดเมล็ดที่เก่าและเมล็ดที่ยังไม่สุก การแยกเมล็ดที่เสียหายหรือแตกออก และความสะอาดโดยรวม จะช่วยในการลดการตั้งถิ่นฐานและการแพร่กระจายของเชื้อรา[3]

การจัดการเมล็ดพืชและพืชตระกูลถั่วที่พบบ่อยที่สุดก็คือการใช้ระบบระบายอากาศ อากาศจะถูกแรงดันผ่านถังเก็บของด้วยอัตราการไหลต่ำซึ่งจะขจัดความชื้นและความร้อนส่วนเกินออกไป การควบคุมการไหลเวียนของอากาศช่วยให้ความชื้นในผลิตภัณฑ์ที่เก็บเกี่ยวได้คงอยู่ในระดับคงที่และลดอุณหภูมิภายใน ระดับอุณหภูมิอาจลดลงเพียงพอที่จะทำให้แมลงและไรเข้าสู่ภาวะจำศีล ซึ่งจะลดการเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อโรค[3]

มีการสำรวจแนวทางการควบคุมสิ่งแวดล้อมบางประการเพื่อช่วยลดการติดเชื้อของ A. flavus สายพันธุ์พืชที่ต้านทานได้แสดงให้เห็นว่ามีการป้องกันน้อยหรือไม่มีเลยต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติด้านการชลประทานที่ดีช่วยลดความเครียดของพืชจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งในทางกลับกัน จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อของเชื้อโรคได้ มีการวิจัยบางส่วนที่ระบุโปรตีนจากพืชบางชนิด ทั้งโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อก่อโรคและโปรตีนที่ทนต่อภาวะแล้ง ซึ่งป้องกันการเข้ามาของ A. flavus[4]

เพื่อปกป้องต้นถั่วและข้าวโพดที่ได้รับผลกระทบจาก Aspergillus flavus นักวิทยาศาสตร์จาหน่วยงานวิจัยการเกษตรสหรัฐ พบว่าการใช้ยีสต์ Pichia anomala กับพืชเหล่านี้สามารถลดการเติบโตของ A. flavus ได้ และจากการศึกษาพบว่าการรักษาต้นพิสตาชีโอด้วยยีสต์ Pichia anomala สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของ Aspergillus flavus ได้ถึงร้อยละ 97 เมื่อเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับการรักษา[16] ซึ่งยีสต์สามารถแข่งขันกับ A. flavus ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการแย่งชิงพื้นที่และสารอาหาร ซึ่งส่งผลให้การเจริญเติบโตถูกจำกัดลง[17]

น้ำมันหอมระเหยจาก Glycyrrhiza glabra (ชะเอมเทศ) ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของ A. flavus[18]

Aspergillus flavus AF36

[แก้]

เชื้อรา Aspergillus flavus สายพันธุ์ AF36 ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งและไม่สร้างอะฟลาทอกซิน และใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาฆ่าแมลง สายพันธุ์ AF36 ใช้เป็นสารต้านเชื้อราและถูกนำมาใช้เป็นสารควบคุมทางชีวภาพเชิงพาณิชย์สำหรับฝ้ายและข้าวโพดเพื่อลดการสัมผัสกับอะฟลาทอกซิน และสายพันธุ์ AF36 ถูกแยกออกครั้งแรกในรัฐแอริโซนาและเกิดขึ้นในรัฐเท็กซัส ซึ่งถูกเพาะเลี้ยงบนเมล็ดที่ปราศจากเชื้อ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งของสารอาหาร หลังจากการใช้และการตั้งถิ่นฐานของสายพันธุ์ AF36 และในสภาวะที่มีความชื้นสูง เมล็ดที่มีการเจริญเติบโตของสายพันธุ์ AF36 จะสามารถแข่งขันกับสายพันธุ์ของ A. flavus ที่ผลิตแอฟลาทอกซินได้ การแพร่กระจายสปอร์ที่ไม่ใช่อะฟลาทอกซินได้รับความช่วยเหลือจากลมและแมลง[19][20]

ความสำคัญ

[แก้]

การติดเชื้อรา Aspergillus flavus จะไม่ทำให้ผลผลิตพืชผลลดลงเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่อย่างไรก็ตาม โรคหลังการเก็บเกี่ยวสามารถลดผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดลงได้ตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึง 30 และในประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตพืชผลที่เน่าเสียง่าย การสูญเสียทั้งหมดอาจสูงกว่าร้อยละ 30 ซึ่งในธัญพืชและพืชตระกูลถั่ว โรคหลังการเก็บเกี่ยวส่งผลให้เกิดการผลิตไมโคทอกซิน[3] ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดจากจุลชีพนี้เป็นผลมาจากการผลิตสารอะฟลาทอกซิน และในสหรัฐอเมริกา การประเมินการสูญเสียทางเศรษฐกิจประจำปีของถั่วลิสง ข้าวโพด เมล็ดฝ้าย วอลนัท และอัลมอนด์มีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเอเชียและแอฟริกา[4]

หลังจากเชื้อ Aspergillus fumigatus แล้ว A. flavus เป็นสาเหตุอันดับสองของการเกิดโรคแอสเปอร์จิลโลซิส การติดเชื้อขั้นต้นเกิดจากการสูดดมสปอร์ สปอร์ที่มีขนาดใหญ่จะมีโอกาสเกาะอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบนได้มากกว่า การสะสมของสปอร์ที่มีขนาดบางขนาดอาจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ A. flavus เป็นสาเหตุของโรคทั่วไปของโรคไซนัสอักเสบจากเชื้อราและการติดเชื้อทางผิวหนังและโรคปอดบวมจากเชื้อราที่ไม่รุกราน ประเทศที่มีอากาศแห้งแล้ง เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย และประเทศส่วนใหญ่ของแอฟริกา มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคแอสเปอร์จิลโลซิสมากกว่า[10]

มีการระบุลักษณะสารก่อภูมิแพ้สองชนิดใน A. flavus คือ Asp fl 13 และ Asp fl 18 ซึ่งในเขตร้อนและภูมิอากาศแบบอบอุ่น พบว่าเชื้อรา A. flavus ทำให้กระจกตาอักเสบได้ประมาณร้อยละ 80 ของการติดเชื้อ โดยทั่วไปการติดเชื้อ A. flavus จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา เช่น แอมโฟเทอริซิน บี, ไอทราโคนาโซล, โวริโคนาโซล, โพซาโคนาโซล และแคสโปฟังกิน อย่างไรก็ตาม มีการแสดงให้เห็นถึงการดื้อยาต้านเชื้อราในยาหลายชนิด เช่น แอมโฟเทอริซิน บี, ไอทราโคนาโซล และโวริโคนาโซล[10]

อะฟลาทอกซิน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1960 ในฟาร์มแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษพบไก่งวงตายประมาณ 100,000 ตัว จากการตรวจสอบสาเหตุการตายพบว่า มีแหล่งอาหารหลัก คือ กากถั่วลิสง มีเชื้อรา A. flavus อยู่ ได้ทำการแยกเชื้อออกมาเพาะเลี้ยงในที่เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ และไก่งวงที่มีสุขภาพแข็งแรงบางส่วนก็ได้รับเชื้อดังกล่าว การแยกเชื้อบริสุทธิ์ทำให้ไก่งวงที่มีสุขภาพดีตาย จากการตรวจสอบทางเคมีเพื่อหาสาเหตุการตายพบว่ามีการผลิตสารเคมีพิษ 4 ชนิด ซึ่งตั้งชื่อว่า อะฟลาทอกซิน ตามชื่อที่ค้นพบใน A. flavus ผลการชันสูตรในไก่งวงแสดงให้เห็นว่าอะฟลาทอกซินโจมตีตับและฆ่าเซลล์เนื้อเยื่อจนหมดหรือทำให้เกิดเนื้องอก การค้นพบอะฟลาทอกซินทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวทางการปฏิบัติและข้อบังคับทางการเกษตรเกี่ยวกับการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาเมล็ดพืชและพืชตระกูลถั่ว[21]

ปริมาณอะฟลาทอกซินที่ผลิตโดยเชื้อ A. flavus นั้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หากมีเชื้อราแข่งขันชนิดอื่นอยู่บนพืชเจ้าบ้าน การผลิตอะฟลาทอกซินจะต่ำลง อย่างไรก็ตาม หากมีเชื้อราที่ไม่สามารถแข่งขันได้อยู่บนพืชเจ้าบ้าน การผลิตอะฟลาทอกซินอาจค่อนข้างสูง ลักษณะธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ถูกเบียนก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลิตอะฟลาทอกซินเช่นกัน การเจริญเติบโตของเชื้อรา A. flavus ในปริมาณมากในถั่วเหลืองจะก่อให้เกิดอะฟลาทอกซินเพียงเล็กน้อย การเจริญเติบโตของเชื้อ A. flavus ที่เพิ่มขึ้นซึ่งได้รับการส่งเสริมจากความชื้นที่สูงขึ้นและอุณหภูมิที่อบอุ่นในถั่วลิสง จันทน์เทศ และพริก ส่งผลให้มีการผลิตอะฟลาทอกซินในปริมาณสูง การเจริญเติบโตของ A. flavus ในเครื่องเทศทำให้มีปริมาณอะฟลาทอกซินต่ำตราบใดที่เครื่องเทศยังคงแห้ง[21]

ความไวต่ออะฟลาทอกซินในแต่ละชนิดพันธุ์มีความแตกต่างกันอย่างมาก ในปลาเรนโบว์เทราต์มีความไวสูงต่ออะฟลาทอกซินที่ระดับ 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งทำให้เกิดเนื้องอกในตับในครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด หนูขาวเกิดมะเร็งตับเมื่อได้รับอะฟลาทอกซินในระดับ 15 ส่วนในพันล้านส่วน[21] ในลูกหมู, ลูกเป็ด และลูกไก่งวงที่สัมผัสกับอะฟลาทอกซินในปริมาณสูงจะป่วยและตาย ในวัวที่ตั้งท้อง หมูโตเต็มวัย วัว และแกะที่สัมผัสกับอะฟลาทอกซินในปริมาณต่ำเป็นเวลานาน จะมีอาการอ่อนแอ มีเลือดออกในลำไส้ อ่อนแรง เจริญเติบโตช้า คลื่นไส้ เบื่ออาหาร และมีแนวโน้มที่จะติดเชื้ออื่น ๆ ตามมา[3]

อะฟลาทอกซินหลักสี่ชนิดที่ผลิตได้คือ B1, B2, G1 และ G2 การผลิตสารพิษที่สำคัญเป็นผลมาจากสายพันธุ์เฉพาะของ A. flavus อะฟลาทอกซินบี 1 เป็นสารประกอบธรรมชาติที่ก่อมะเร็งตับที่มีพิษและรุนแรงที่สุด A. flavus ยังผลิตสารพิษอื่น ๆ อีก ได้แก่ สเตอริกมาโตซีสติน, กรดไซโคลเปียโซนิก, กรดโคจิก, กรดเบต้าไนโตรโพรพิโอนิก, แอสเปอร์ทอกซิน, อะฟลาตเทรม, กลิโอทอกซิน และกรดแอสเปอร์จิลลิก[10]

ในมนุษย์ การผลิตอะฟลาทอกซินของ A. flavus อาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลัน, ภูมิคุ้มกันบกพร่อง, มะเร็งเซลล์ตับ และภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลในเลือดต่ำ การขาดการควบคุมการคัดกรองเชื้อรานี้ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงของไวรัสตับอักเสบ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเฮปาโตเซลลูลาร์ คาร์ซิโนมา (มะเร็งเซลล์ตับ) อย่างมาก การเสียชีวิตของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 10 รายหลังการเปิดหลุมศพสมัยศตวรรษที่ 15 ในเมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ ในช่วงทศวรรษปี 1970 เป็นผลมาจากอะฟลาทอกซินที่มาจาก A. flavus ที่พบในหลุมศพ[22][23]

ความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตหลังการเปิดหลุมศพ

[แก้]

หลังจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของนักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์หลายคนภายหลังการเปิดหลุมฝังพระศพของกษัตริย์โปแลนด์ในศตวรรษที่ 15 (และแกรนด์ดยุกแห่งลิทัวเนีย) พระนามว่า พระเจ้ากาชีมีแยชที่ 4 แห่งโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1973 นักจุลชีววิทยาชื่อ บอแลสวัฟ ซมึก (Bolesław Smyk) ซึ่งได้ระบุถึงการมีอยู่ของเชื้อรา Aspergillus flavus ในตัวอย่างที่เก็บมาจากหลุมฝังพระศพ และรายงานของสื่อได้ระบุว่าสาเหตุที่เป็นไปได้ของการเสียชีวิตเหล่านี้คือ สารอะฟลาทอกซินที่ผลิตโดยเชื้อราชนิดนี้[24]

นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีการเสนอว่าเชื้อรา Aspergillus flavus อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตบางกรณีหลังจากการค้นพบและเปิดสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนแห่งอียิปต์ ในปี ค.ศ. 1922 โดยเฉพาะการเสียชีวิตของลอร์ดคาร์นาร์วอน, จอร์จ เจย์ กูลด์ และอาร์เธอร์ เมซ[24][25] แม้ว่าจะมีการโต้แย้งถึงความเชื่อมโยงนี้ (อย่างน้อยในกรณีของคาร์นาร์วอน)[25]

เชิงอรรถและรายการอ้างอิง

[แก้]
  1. Masayuki Machida; Katsuyai Gomi (2010). Aspergillus: Molecular Biology and Genomics. Horizon Scientific Press. p. 157. ISBN 978-1-904455-53-0.
  2. Ramírez-Camejo, L. A.; Zuluaga-Montero, A.; Lázaro-Escudero, M. A.; Hernández-Kendall, V. N.; Bayman, P. (2012). "Phylogeography of the cosmopolitan fungus Aspergillus flavus: Is everything everywhere?". Fungal Biology. 116 (3): 452–463. doi:10.1016/j.funbio.2012.01.006. PMID 22385627.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 Agrios, George N. (2005). Plant Pathology: Fifth Edition. Elsevier Academic Press. p. 922. ISBN 978-0-12-044565-3.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 4.8 Amaike, Saori; Nancy P. Keller (2011). "Aspergillus flavus". Annual Review of Phytopathology. 49: 107–133. doi:10.1146/annurev-phyto-072910-095221. PMID 21513456.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Aspergillus Species". The Fungi: Descriptions. doctorfungus. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 October 2012.
  6. "Aspergillus". Microbe Wiki. Microbewiki. สืบค้นเมื่อ 23 October 2012.
  7. Alexopoulos, C.J. (1996). Introductory Mycology. John Wiley & Sons, Inc. p. 869. ISBN 978-0-471-52229-4.
  8. Horn BW, Moore GG, Carbone I (2009). "Sexual reproduction in Aspergillus flavus". Mycologia. 101 (3): 423–9. doi:10.3852/09-011. PMID 19537215.
  9. "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-06-25.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Hedayati, M.T.; A.C. Pasqualotto; P.A. Warn; P. Bowyer; D.W. Denning (2007). "Aspergillus flavus: human pathogen, allergen, and mycotoxin producer". Microbiology. 153 (6): 1677–1692. doi:10.1099/mic.0.2007/007641-0. PMID 17526826.
  11. 11.0 11.1 Diener, U.L.; R.J. Cole; T.H. Sanders; G.A. Payne; L.S. Lee; M.A. Klich (1987). "Epidemiology of aflatoxin formation by Aspergillus flavus". Annual Review of Phytopathology. 25: 249–270. doi:10.1146/annurev.phyto.25.1.249.
  12. Mahata, Pranab Kumar; Dass, Regina Sharmila; Pan, Archana; Muthusamy, Babylakshmi (2022-02-18). "Substantive Morphological Descriptions, Phylogenetic Analysis and Single Nucleotide Polymorphisms of Aspergillus Species From Foeniculum vulgare". Frontiers in Microbiology (ภาษาEnglish). 13. doi:10.3389/fmicb.2022.832320. ISSN 1664-302X. PMC 8894770.{{cite journal}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  13. Akpomie, Olubunmi O.; Okonkwo, Kosisochukwu E.; Gbemre, Aghogho C.; Akpomie, Kovo G.; Ghosh, Soumya; Ahmadi, Shahin; Banach, Artur M. (2021-07-01). "Thermotolerance and Cellulolytic Activity of Fungi Isolated from Soils/Waste Materials in the Industrial Region of Nigeria". Current Microbiology (ภาษาอังกฤษ). 78 (7): 2660–2671. doi:10.1007/s00284-021-02528-3. ISSN 1432-0991. PMID 34002268.
  14. "Aspergillus flavus". Center for Integrated Fungal Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-09. สืบค้นเมื่อ 2012-12-05.
  15. Pitt, John (2009). Fungi and food spoilage. New York City: Springer-Verlag. ISBN 978-0-387-92206-5. OCLC 437346680. ISBN 978-1-4899-8409-8. ISBN 978-0-387-92207-2.
  16. "Helpful Yeast Battles Food-Contaminating Aflatoxin : USDA ARS". www.ars.usda.gov.
  17. "Helpful Yeast Battles Food-Contaminating Aflatoxin". USDA Agricultural Research Service. January 27, 2010.
  18. Mamedov, Nazim A.; Egamberdieva, Dilfuza (2019). "Phytochemical Constituents and Pharmacological Effects of Licorice: A Review". Plant and Human Health, Volume 3. Cham: Springer Publishing. pp. 1–21. doi:10.1007/978-3-030-04408-4_1. ISBN 978-3-030-04407-7.
  19. "Aspergillus flavus strain AF36 (006456) Fact Sheet" (PDF). Environmental Protection Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-07-15.
  20. "Aspergillus flavus AF36" (PDF). Arizona Experimental Pesticides. Ag.Arizona.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-05-13.
  21. 21.0 21.1 21.2 Hudler, George W. (1998). Magical mushrooms, Mischievous Molds. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. pp. 86–89. ISBN 978-0-691-02873-6.
  22. Nungovitch, Petro Andreas (2018). Here All Is Poland: A Pantheonic History of Wawel, 1787–2010. Lexington Books. p. 214. ISBN 978-1-4985-6913-2.
  23. Jones, Barry (2018). Dictionary of World Biography. Australian National University Press. p. 154. ISBN 978-1-76046-218-5.
  24. 24.0 24.1 Al-Shamahi, Ella (2022). "Tutankhamun: Secrets of the Tomb". Channel 4. สืบค้นเมื่อ 1 June 2023.
  25. 25.0 25.1 Cox, Ann M. (7 June 2003). "The death of Lord Carnarvon". Correspondence. The Lancet. Elsevier Ltd. 361 (9373): 1994. doi:10.1016/S0140-6736(03)13576-3. PMID 12801779. สืบค้นเมื่อ 18 September 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]