ข้ามไปเนื้อหา

เด็กแดง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เด็กแดงกำลังหลอกล่อคณะจาริกของพระถังซัมจั๋งอยู่บนต้นไม้

หงไหเอ๋อร์ ตามสำเนียงมาตรฐาน หรือ อั้งฮั้ยยี้ ตามสำเนียงฮกเกี้ยน[1] (จีนตัวย่อ: 红孩儿; จีนตัวเต็ม: 紅孩兒; พินอิน: Hóng Hái-ér; เวด-ไจลส์: Hung Hai-Erh) แปลว่า เด็กแดง เป็นตัวละครจากนวนิยายคลาสสิกของจีนเรื่อง ไซอิ๋ว เป็นบุตรขององค์หญิงพัดเหล็กกับราชาปีศาจกระทิง เนื่องจากบำเพ็ญพรตมากว่าสามร้อยปี จึงมีพละกำลังวิเศษ บิดาจึงให้ไปคอยรักษาภูเขาเพลิงไว้ เด็กแดงจึงมี "เพลิงสมาธิ" (จีน: 三昧眞火; พินอิน: Sānmèi-zhēnhuǒ) ซึ่งทำให้เขาสามารถปล่อยกระแสไฟจากดวงตา รูจมูก และปาก ซึ่งเป็นไฟที่มิอาจดับด้วยน้ำได้[2]

เด็กแดงมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น "เชิ่งอิงต้าหวัง" ตามสำเนียงมาตรฐาน หรือ "เซี้ยเองไต้อ๋อง" ตามสำเนียงฮกเกี้ยน[3] (聖嬰大王; "มหาราชปราชญ์ผู้เยาว์") ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสุธนกุมาร อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระโพธิสัตว์กวนอิม

ในไซอิ๋ว

[แก้]
เด็กแดงซึ่งภายหลังเป็นสุธนกุมาร พระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระกวนอิม สังเกตได้ทางขวามือของภาพ

เห้งเจียรบกับเด็กแดงเพื่อนำพระถังซัมจั๋ง อาจารย์ของเขากลับมา เด็กแดงไม่เชื่อที่ซุนหงอคงกล่าวว่า เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับราชาปีศาจกระทิง บิดาของเด็กแดง เด็กแดงพยายามสังหารเห้งเจียโดยวิธีควบคุมธาตุทั้งห้าด้วยกระแสเพลิงอันมหาศาล มีอานุภาพถึงขนาดจะผลาญสวรรค์ก็ได้ แต่เห้งเจียอาศัยมนตร์กันไฟ แล้วไล่ล่าเด็กแดงไปถึงถ้ำที่อาศัย เบื้องต้น เห้งเจียขอฝนจากนาคราชแห่งทะเลตะวันออกเพื่อต่อต้านเพลิงสมาธิของเด็กแดง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะฝนของนาคราชสามารถดับได้แต่เพลิงทั่วไปเท่านั้น เพลิงสมาธิที่เด็กแดงปล่อยมา เมื่อได้ฝนของนาคราช ก็ยิ่งทวีกำลังขึ้นอีก เกือบเผาเห้งเจียถึงแก่ความตาย ท่ามกลางเปลวเพลิงนั้นเห้งเจียจึงร้องขอความช่วยเหลือจากพระกวนอิม

พระกวนอิมเนรมิตบัลลังก์บัวไว้ในป่า เด็กแดงเห็นก็จู่เข้าไปนั่งแล้วทำท่าทางอย่างพระกวนอิม ทันใด บัลลังก์บัวเปลี่ยนรูปเป็นดาบเข้าทิ่มแทงเด็กแดง เด็กแดงพยายามดึงดาบเหล่านั้นออก ดาบก็แปรรูปเป็นง้าวโถมเข้าฟันเด็กแดง ได้รับความเจ็บปวดเป็นอันมาก เด็กแดงจึงร้องขอให้พระโพธิสัตว์ปล่อยตน โดยจะยอมเป็นสาวกเป็นการแลกเปลี่ยน พระโพธิสัตว์จึงถอนง้าวออกจากเด็กแดงและรักษาให้ แต่เด็กแดงกลับพยายามโจมตีพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงโยนมงคลทองขึ้น เป็นมงคลลักษณะเดียวกับที่เห้งเจียสวม มงคลนั้นแยกตัวออกเป็นห้าห่วงแล้วเข้ารึงรัดศีรษะของเด็กแดง แขนทั้งสอง และขาทั้งสอง และบีบรัดเข้าเรื่อย ๆ หลังจากที่โพธิสัตว์สังวัธยายมนตร์ชื่อ "โอมมณิปัทเมหูม" (โอมฺ มณิ ปทฺเม หูมฺ) สร้างทุกขเวทนาให้เด็กแดงเป็นอันมาก เด็กแดงจึงยอมแพ้[4]

เด็กแดงพบว่า ตนไม่อาจถอนมงคลเหล่านี้จากร่างกายไปได้ เห้งเจียเห็นแล้วก็ร้องเยาะ เด็กแดงได้ฟังแล้วก็โกรธ จะเข้าทำร้าย พระโพธิสัตว์จึงสังวัธยายมนตร์นั้นอีก เป็นผลให้มือทั้งสองข้างของเด็กประกบเข้าด้วยกันในท่าประนมอยู่บนอก และไม่อาจแยกออกจากกันได้เลย บัดนี้ เด็กแดงจึงไม่อาจเคลื่อนไหวร่างกายไปในกิริยาใดได้อีก นอกจากผงกศีรษะลงเป็นการวันทา[5] โพธิสัตว์ให้ฉายาเด็กแดงเมื่อออกบวชแล้วว่า "สุทธนะ" (Sudhana) ภาษาจีนสำเนียงมาตรฐานว่า "ช่านไฉ" (善財)[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ). (2547). ไซอิ๋ว. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. ISBN 9749207769. หน้า 432.
  2. พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ). (2547). ไซอิ๋ว. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. ISBN 9749207769. หน้า 391.
  3. พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ). (2547). ไซอิ๋ว. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา. ISBN 9749207769. หน้า 389.
  4. Journey to the West - Chapter 42 เก็บถาวร 2009-04-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (accessed 12-10-2008)
  5. Journey to the West - Chapter 43 เก็บถาวร 2009-05-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (accessed 12-10-2008)
  6. Journey to the West - Chapter 41 เก็บถาวร 2011-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (accessed 12-10-2008)