ข้ามไปเนื้อหา

เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (เกมชุด)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา
ประเภทแอ็คชันผจญภัย
ผู้พัฒนา
ผู้จัดจำหน่ายนินเท็นโด
ผู้จัดสร้าง
  • ชิเงะรุ มิยะโมะโตะ
  • ทะกะชิ เทะซุกะ
แต่งเพลงโคจิ คนโด
ระบบปฏิบัติการ
ลงครั้งแรกบนแฟมิคอมดิสก์ซิสเต็ม
วางจำหน่ายครั้งแรกเดอะเลเจนด์ออฟเซลดา
21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986
จำหน่ายครั้งล่าสุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดา: ลิงส์อะเวกเคนนิง
20 กันยายน ค.ศ. 2019

เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (ญี่ปุ่น: ゼルダの伝説โรมาจิZeruda no Densetsuทับศัพท์: เซะรุดะ โนะ เด็นเซ็ตสึ; The Legend of Zelda ตำนานแห่งเซลดา) เป็นเกมชุดประเภทแอ็กชันผจญภัยที่กล่าวถึงวีรบุรุษในตำนาน ริเริ่มโดยนักออกแบบเกมชาวญี่ปุ่น ชิเงะรุ มิยะโมะโตะ (宮本 茂) พัฒนาและวางจำหน่ายโดยนินเท็นโด (Nintendo) เกมชุดนี้เป็นการผสมผสานระหว่างเกมแอ็กชัน เกมผจญภัย เกมปริศนา เกมเล่นตามบทบาท (RPG) ในบางโอกาสก็มีการใช้เกมมุมมองด้านข้าง (platform) เกมสายลับ (stealth) หรือเกมแข่งขัน (racing) ประกอบอยู่ด้วย

ตัวเอกที่สามารถเล่นได้เพียงคนเดียวคือเด็กหนุ่มชื่อ ลิงก์ (Link) เขามักได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือ เจ้าหญิงเซลดา (Zelda) แห่ง อาณาจักรไฮรัล (Hyrule) รวมทั้งตัวประกอบอื่นๆ ซึ่งถูกจับตัวไปโดย กาน่อน (Ganon) ศัตรูตัวหลักของเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามตัวละครบางตัวอาจปรากฏหรือไม่ปรากฏในภาคอื่นๆ ก็ได้ หรืออาจมีตัวละครตัวอื่นที่จะต้องช่วยเหลือหรือต้องต่อสู้ด้วยแทน เนื้อเรื่องโดยปกติมักจะเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ที่เรียกว่า ไทรฟอร์ซ (Triforce) มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสีทองสามอัน ซึ่งเป็นตัวแทนของพลังอันไม่สิ้นสุดของพระเจ้า 3 องค์

เกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดาได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นหนึ่งในวิดีโอเกมที่มีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับ มาริโอ โปเกมอน และเมทรอยด์ เกมชุดนี้ประกอบไปด้วยเกมอย่างเป็นทางการ 14 ภาค เกมย่อยอีกหลายภาค บนเครื่องเล่นวิดีโอเกมชนิดต่างๆ เกมหลายภาคได้รับความชื่นชมจากผู้เล่นเป็นอย่างมากและประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 เกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดาทั้งหมดมียอดขายไปแล้วกว่า 47 ล้านสำเนา (รวมตลับเกมและแผ่นซีดี) [1] เกมชุดนี้ยังได้ขยายการส่งเสริมการขายด้วยตุ๊กตาและของเล่น นอกจากนี้ยังมีการนำไปดัดแปลงเป็นมังงะ หนังสือการ์ตูน และภาพยนตร์การ์ตูน

ข้อมูลพอสังเขป

[แก้]

การเล่น

[แก้]

เกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดาเป็นเกมที่รวมปริศนาหลายชนิด การต่อสู้อย่างมีกลยุทธ์ และการสำรวจ ซึ่งทั้งหมดเป็นสาระหลักของเกมทั้งชุด แต่มีการปรับแต่งและเพิ่มคุณลักษณะใหม่ในแต่ละภาค ผู้เล่นจะได้รับรางวัลเมื่อได้สำรวจพื้นที่หรือแก้ปัญหาได้สำเร็จ เกมชุดนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการค้นหาตำแหน่งและการสำรวจไปตามด่านต่างๆ ที่เรียกว่า ดันเจี้ยน (dungeon) ผู้เล่นต้องแก้ปริศนาในดันเจี้ยน กำจัดศัตรูระหว่างทาง แล้วไปต่อสู้กับหัวหน้าดันเจี้ยน ดันเจี้ยนแต่ละแห่งจะมีไอเท็มสำคัญหนึ่งอย่างที่จำเป็นสำหรับการเข้าถึงหรือใช้ประมือกับหัวหน้า ไอเท็มบางชนิดปรากฏซ้ำในภาคอื่นๆ เป็นส่วนมาก (เช่นบูมเมอแรง) ในขณะที่ไอเท็มบางอย่างก็มีใช้เฉพาะภาคเดียว

ลำดับเวลา

[แก้]

ลำดับเวลาที่แน่นอนของเนื้อเรื่องเดอะเลเจนด์ออฟเซลดา ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบ เพราะบางคนรู้สึกว่าเกมในแต่ละภาคมีเนื้อเรื่องที่ไม่ค่อยต่อเนื่องกัน ซึ่งเมื่อเกมภาคใหม่ออกสู่สาธารณชน จะทำให้ลำดับเหตุการณ์บนเส้นเวลาทั้งหมดเกิดความซับซ้อนและเป็นที่โต้เถียงอย่างหนัก

คู่มือประกอบในภาค อะลิงก์ทูเดอะแพสต์ (A Link to the Past) บนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมได้เปิดเผยว่า ลิงก์ (ตัวเอก) ในภาคนี้เป็นบรรพบุรุษของลิงก์จากเครื่องแฟมิคอม เช่นเดียวกับภาค ออคารินาออฟไทม์ (Ocarina of Time) ในเครื่องนินเท็นโด 64 ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์แบบเดียวกันกับลิงก์ในเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม ส่วนภาค เดอะวินด์เวกเกอร์ (The Wind Waker) กล่าวไว้ว่า อาณาจักรไฮรัลที่น้ำท่วมเป็นผลมาจาก "วีรบุรุษ" ที่ผจญภัยต่อไปในอาณาจักรอื่น ซึ่งข้อความนี้อาจพูดเป็นนัยว่า หมายถึงลิงก์จากออคารินาออฟไทม์ที่ผจญภัยต่อใน อาณาจักรเทอร์มินา (Termina) ของภาค เมเยอราส์มาสก์ (Majora's Mask) ซึ่งทั้งหมดไม่มีข้อมูลระบุว่าช่วงเวลาของอาณาจักรไฮรัลของแต่ละภาคอยู่ห่างกันเท่าไร

ในการสัมภาษณ์ เอจิ อะโอะนุมะ (青沼 英二) นักออกแบบและผู้กำกับการสร้างเกมของนินเท็นโด ซึ่งจัดโดยนิตยสาร นินเท็นโดดรีม (Nintendo Dream) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 เขากล่าวว่าเส้นเวลาของเกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดามีสองทาง โดยจุดแบ่งแยกเกิดขึ้นในภาค ออคารินาออฟไทม์ ซึ่งเมื่อตอนจบเกม ลิงก์ถูกส่งจากอนาคตกลับมายังปัจจุบันโดยเจ้าหญิงเซลดา ครั้นเมื่อเขากลับมาแล้วจึงไปพบเจ้าหญิงอีก ส่งผลให้อนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลง กานอนดอร์ฟ (Ganondorf; ร่างมนุษย์ของกาน่อน) ถูกจับกุมและสอบสวนโดยเหล่านักปราชญ์ กระทั่งถูกเนรเทศไปยัง ดินแดนทไวไลต์ (Twilight Realm) แทนที่จะได้ครอบครองอาณาจักรไฮรัล เกมในภาค ทไวไลต์พรินเซสส์ (Twilight Princess) จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากยุคของลิงก์ปัจจุบันในออคารินาออฟไทม์ไปร้อยปี ในขณะเดียวกัน เดอะวินด์เวกเกอร์ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเส้นเวลาของลิงก์ในอนาคต แต่หลังจากร้อยปีข้างหน้าเหมือนกัน เป็นโลกคู่ขนาน[2]

แรงบันดาลใจ

[แก้]

ผู้ริเริ่มสร้างเกมเดอะเลเจนด์ออฟเซลดา ชิเงะรุ มิยะโมะโตะ (宮本 茂) ได้รับแรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตในวัยเด็กของเขา เขาเคยอาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาในเกียวโต[3] ซึ่งเขาสามารถเดินสำรวจป่าไม้ ทะเลสาบ ถ้ำ และหมู่บ้านในชนบทด้วยตัวเองอยู่บ่อยๆ ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่เขาระลึกได้คือการค้นพบปากถ้ำในใจกลางของป่า หลังจากที่ลังเลอยู่นานเขาก็ได้เข้าไปในถ้ำและสำรวจถ้ำด้วยแสงสว่างจากตะเกียง ความทรงจำนี้เป็นสิ่งจูงใจให้กับผลงานของมิยะโมะโตะ ซึ่งการสำรวจถ้ำเป็นสาระหลักที่มักปรากฏในเกมชุดเป็นส่วนมาก (โดยแสงสว่างจากตะเกียงหรือคบเพลิง) นอกเหนือจากประสบการณ์ในวัยเด็กแล้ว ตำนานเทพเจ้าสแกนดิเนเวียและปุราณวิทยาของญี่ปุ่นก็ยังเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญในการสร้างโครงเรื่องหรือการออกแบบสัตว์ประหลาด มิยะโมะโตะอ้างถึงการสร้างสรรค์ของเกมชุดนี้ว่าเป็นความเพียรพยายามที่จะทำ "สวนขนาดย่อม" ของเขาให้มีชีวิตชีวาเพื่อให้ผู้เล่นเกมได้เล่นในแต่ละภาค[4]

มิยะโมะโตะยังกล่าวอีกว่า เมื่อเขาได้ยินชื่อภรรยาของสกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) ที่ชื่อว่าเซลดา (Zelda) เขาคิดว่าชื่อดังกล่าวฟังแล้ว "เป็นมิตรและสื่อความหมาย"[5] เขาจึงเลือกชื่อนั้นมาเป็นชื่อเจ้าหญิง และในที่สุดก็ตั้งชื่อเกมชุดว่า เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (The Legend of Zelda)

ประวัติการสร้าง

[แก้]
Release timeline
1986เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา
1987ดิแอดเวนเจอร์ออฟลิงก์
1988
1989
1990
1991อะลิงก์ทูเดอะแพสต์
1992
1993ลิงส์อะเวกเคนนิง
1994
1995
1996
1997
1998ออคารินาออฟไทม์
ลิงกส์อะเวกเคนนิงดีเอ็กซ์
1999
2000เมเยอราส์แมสก์
2001ออราเคิลออฟซีซันส์ และ ออราเคิลออฟเอจเจส
2002โฟร์ซอดส์
เดอะวินด์เวกเกอร์
2003เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา: คอลเลคเตอร์ อิดิชัน
2004โฟร์ซอดส์แอดเวนเจอส์
เดอะมินิชแคป
2005
2006ทไวไลต์พรินเซสส์
2007แฟนทัมเอาเออร์แกลสส์
2008
2009สปิริตแทร็กส์
2010
2011ออคารินาออฟไทม์ 3D
สกายวอร์ดซอร์ด
2012
2013เดอะวินด์เวกเกอร์เอชดี
อะลิงก์บีทวีนเวิร์ลส์
2014
2015เมเยอราส์แมสก์ 3D
ไทรฟอร์ซฮีโรส์
2016ทไวไลต์พรินเซสส์เอชดี
2017บรีทออฟเดอะไวลด์
2018
2019ลิงส์อะเวกเคนนิงรีเมค
2020
2021
2022
2023เทียร์ออฟเดอะคิงดอม
เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (ภาคแรก) บนเครื่องแฟมิคอม

เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (The Legend of Zelda) ซึ่งเป็นภาคแรกของเกมชุดนี้ วางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) ในเครื่องแฟมิคอม ส่วนสหรัฐอเมริกาและยุโรปวางจำหน่ายในปีถัดไป ตลับเกมภาคนี้มีความสามารถในการบันทึกการดำเนินของเกมโดยใช้หน่วยความจำที่มีแบตเตอรี เกมนี้สามารถเล่นรอบสองได้โดยการเล่นให้จบผ่านรอบแรก แล้วดันเจี้ยนและไอเท็มต่างๆ ในรอบสองจะเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม รวมทั้งศัตรูก็เก่งขึ้นด้วย[6] ในช่วง พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) ระหว่างที่เครื่องแฟมิคอมลดความนิยมลง เกมภาคนี้ได้ถูกจัดทำใหม่อีกครั้ง[7] เกมที่จัดทำใหม่เวอร์ชันหนึ่งรู้จักกันในชื่อ บีเอส เซลดา โนะ เด็นเซ็ตสึ (BS Zelda no Densetsu) โดยใช้ส่วนขยายของแซเทลลาวิว (Satellaview) ที่สามารถเล่นหรือชมภาพจากเกมผ่านดาวเทียม ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 โดยประเทศญี่ปุ่น และหนึ่งปีให้หลัง บีเอส เซลดา (BS Zelda) ก็ออกมาอีกเกมหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแผนที่และดันเจี้ยนทั้งหมดในเกม

ภาคที่สอง เซลดา II ดิแอดเวนเจอร์ออฟลิงก์ (Zelda II: The Adventure of Link) ได้วางจำหน่ายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) สำหรับเครื่องแฟมิคอมดิสก์ซิสเต็ม (FDS) ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระยะเวลาหกเดือนเต็มก่อนเกมภาคแรกจะได้เผยแพร่ในอเมริกา นินเท็นโดจึงต้องรอเวลาเกือบสองปีจนกว่าจะได้จำหน่ายเกมภาคสองในอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) เกมภาคนี้ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบมากนักเนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้มุมมองด้านข้างเป็นหลัก (ถึงแม้ว่ามุมมองด้านบนยังคงมีอยู่เมื่อลิงก์เดินในแผนที่ก็ตาม) และได้นำเสนอคุณลักษณะอย่างเกมเล่นตามบทบาท (RPG) อาทิค่าประสบการณ์เป็นต้น ซึ่งไม่ปรากฏในเกมภาคอื่นๆ และมีเพียงเกมภาคนี้กับ โฟร์ซอดส์แอดเวนเจอร์ส (Four Swords Adventures) เท่านั้นที่ไม่มีการเก็บสะสมเงิน รูปี (Rupee) ในเกมเลย ทั้งภาคนี้และภาคก่อนหน้าเคยมีการจำหน่ายตลับเกมและแผ่นดิสก์สีทองเป็นคอลเล็กชันพิเศษ นอกเหนือจากตลับเกมและแผ่นดิสก์สีเทาทั่วไป

สี่ปีต่อมา นินเท็นโดได้ออกเกมภาคใหม่ อะลิงก์ทูเดอะแพสต์ (A Link to the Past) โดยกลับมาใช้ระบบมุมมองด้านบน (ในตำแหน่งกึ่งด้านหน้าและด้านบน) ในภาคนี้ได้เพิ่มแนวคิดของโลกคู่ขนานลงไปในเกม ซึ่งเป็นดินแดนที่เรียกว่า โลกแห่งความมืด (Dark World) เกมภาคนี้วางจำหน่ายในญี่ปุ่นบนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) และจัดทำใหม่อีกครั้งบนเกมบอยแอ็ดวานซ์เมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งบรรจุไปพร้อมกับตลับเกมของภาค โฟร์ซอดส์ (Four Swords) หลังจากนั้นก็ยังมีการจัดทำใหม่อีกบนเครื่องวี เมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ซึ่งทั้งหมดไม่มีรายละเอียดอื่นใดเปลี่ยนแปลงมากนักนอกจากจะทำให้สามารถเล่นบนเครื่องเล่นดังกล่าวได้ นอกจากนี้ก็ยังมีภาคพิเศษบนแซเทลลาวิวเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ชื่อว่า บีเอส เซลดา โนะ เด็นเซ็ตสึ โคะได โนะ เซะกิบัง (BS Zelda no Densetsu Kodai no Sekiban) ซึ่งมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างออกไป แต่ยังใช้กราฟิกและแผนที่ของเดิม

ฉากเปิดตัวของลิงก์ใน ลิงกส์อะเวกเคนนิง ดีเอกซ์

ภาคถัดไปคือ ลิงกส์อะเวกเคนนิง (Link's Awakening) ซึ่งเป็นภาคแรกบนเครื่องเกมบอย วางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) เป็นครั้งแรกที่เกมชุดนี้ดำเนินเรื่องนอกอาณาจักรไฮรัล และไม่ปรากฏเจ้าหญิงเซลดาในเกม เกมภาคนี้ได้จัดทำใหม่อีกครั้งบนเกมบอยคัลเลอร์เมื่อ พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ในชื่อ ลิงกส์อะเวกเคนนิง ดีเอกซ์ (Link's Awakening DX) โดยเพิ่มคุณลักษณะใหม่ลงไปด้วย เช่น ดันเจี้ยนที่ใช้สีสันเป็นกุญแจสำคัญในการผ่านด่าน และการเชื่อมต่อกับเครื่องพิมพ์เกมบอยเพื่อพิมพ์รูปภาพจากร้านถ่ายภาพในเกม เป็นต้น

หลังจากเว้นระยะไปนานหลายปี ออคารินาออฟไทม์ (Ocarina of Time) จึงได้เผยแพร่สู่สาธารณชนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ซึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบไปใช้การแสดงผลสามมิติบนเครื่องนินเท็นโด 64 ทำให้ภาคนี้มักเรียกโดยย่อว่า เซลดา 64 (Zelda 64) แต่ยังคงลักษณะการเล่นแบบดั้งเดิมเอาไว้เหมือนภาคก่อนๆ เกมภาคนี้เป็นเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของนินเท็นโด ทั้งในด้านเชิงพาณิชย์และกระแสตอบรับจากผู้เล่น โดยได้รับคะแนนเต็มจากการวิจารณ์ของสิ่งตีพิมพ์และเว็บไซต์เกี่ยวกับวิดีโอเกมจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนิตยสารเกม Famitsu ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นรายแรกที่ให้คะแนนเต็ม 40/40 สำหรับเกมนี้[8] และในปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Nintendo Power ของอเมริกาว่าเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยสร้างบนเครื่องเล่นเกมของนินเท็นโด[9]

คุณลักษณะใหม่ที่ใช้ใน ออคารินาออฟไทม์ คือการล็อกเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกของการเปลี่ยนมุมกล้องให้โฟกัสไปยังเป้าหมายที่อยู่ใกล้ และเปลี่ยนการกระทำของผู้เล่นให้สัมพันธ์กับเป้าหมายนั้น กลไกดังกล่าวสามารถทำให้การต่อสู้ด้วยดาบเกิดความแม่นยำในโลกสามมิติ และเป็นการปฏิวัติแนวทางการพัฒนาเกมในช่วงเวลานั้น ตลับเกมของภาคนี้มีการผลิตเป็นสีทองสำหรับเก็บเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษเหมือนเช่นเครื่องเกมรุ่นก่อนๆ เกมภาคนี้ได้รับการจัดทำใหม่อีกครั้งบนเกมคิวบ์ใน พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ซึ่งบรรจุควบคู่ไปกับการสั่งจองล่วงหน้าของเกมภาค เดอะวินด์เวกเกอร์ (The Wind Waker) ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น[10] ส่วนในยุโรปได้ภาคนี้แถมได้เปล่าไปกับเดอะวินด์เวกเกอร์เมื่อซื้อ ยกเว้นเวอร์ชันลดราคาของ Player's Choice เกมที่จัดทำใหม่นี้มีการเพิ่มเกมส่วนขยายพิเศษบนเครื่องนินเท็นโด 64ดีดี ที่วางจำหน่าย ในชื่อ อุระ เซลดา (Ura Zelda) ในญี่ปุ่นหรือ ออคารินาออฟไทม์ มาสเตอร์เควสต์ (Ocarina of Time Master Quest) ในอเมริกาเหนือ[10] นอกจากนั้นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ คอลเล็กเตอร์ส อีดิชัน (Collector's Edition) บนเครื่องเดียวกันซึ่งวางจำหน่ายในปีถัดไป[11] และสามารถเล่นได้บน Virtual Console ของเครื่องวีอีกด้วย[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Analysts: "Zelda" Demand Driving Nintendo Wii Sales". Fox News. สืบค้นเมื่อ 2007-02-07.
  2. Nintendo Dream (2007). "Interview with Eiji Aonuma (English translation)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-23. สืบค้นเมื่อ 2007-03-12.
  3. Johnson, Carl. "Biography". Miyamoto Shrine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-03. สืบค้นเมื่อ February 12, 2006.
  4. Andrew Vestal (2000-09-14). "The History of Zelda". GameSpot.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-31. สืบค้นเมื่อ 2006-09-25.
  5. Todd Mowatt. "In the Game: Nintendo's Shigeru Miyamoto". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 2006-09-25.
  6. ZELDA: The Second Quest Begins (1988) , p. 27-28
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-05. สืบค้นเมื่อ 2007-12-24.
  8. Famitsu Magazine (2006). "The Best Video Games in the History of Humanity". filibustercartoons.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-21. สืบค้นเมื่อ 2007-12-28.
  9. "NP Top 200", Nintendo Power 200: 66, February 2006.
  10. 10.0 10.1 "Zelda Bonus Disc Coming to US". IGN. 2002-12-04. สืบค้นเมื่อ 2006-01-22.
  11. "The Legend of Zelda Collector's Edition". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-16. สืบค้นเมื่อ 2007-03-19.
  12. Hatfield, Daemon (2007-02-23). "VC Getting (Arguably) Greatest Game Ever". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-06. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.