ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

พิกัด: 16°44′01″N 101°33′47″E / 16.73361°N 101.56306°E / 16.73361; 101.56306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
ที่ตั้งในประเทศไทย
ที่ตั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย
พิกัด16°44′01″N 101°33′47″E / 16.73361°N 101.56306°E / 16.73361; 101.56306
พื้นที่966 km2 (373 sq mi)[1]
จัดตั้ง4 พฤษภาคม พ.ศ. 2515[2]
ผู้เยี่ยมชม31,840[3] (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร

ประวัติ

[แก้]

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้กำหนดป่าน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2511 กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่บริเวณป่าน้ำหนาว ปรากฏว่า มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 1/2513 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2513 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 กำหนดบริเวณป่าน้ำหนาวในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89 ตอนที่ 71 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 5 ของประเทศ 

ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือที่ กส 0708/2214 ลงวันที่ 1 เมษายน 2523 ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ตรวจสอบพิจารณาชื่อตำบลที่ตกหล่นในอุทยานแห่งชาติที่รับผิดชอบ ซึ่งอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้มีหนังสือที่ กส 0708(นน)/223 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2525 รายงานว่า ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 142 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2515 ได้กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงท้องที่ตำบลปากช่อง และตำบลท่าอิบุญ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ด้วย แต่มิได้ระบุชื่อตำบลทั้ง 2 ไว้ 

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2523 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 เห็นชอบให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขยายเขตอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมตำบลที่ตกหล่นได้ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในท้องที่ตำบลท่าอิบุญ และตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2525 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 ลงวันที่ 26 กันยายน 2525

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตกั้นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะเป็นเนินยอดป้านที่เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกบริเวณนี้ในอดีต มีความสูงอยู่ระหว่าง 650-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วย ภูกุ่มข้าว ภูผาจิตหรืออีกชื่อหนึ่ง "ภูด่านอีป้อง" ซึ่งเป็นจุดสูงสุด ที่มีความสูง 1,271 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเชิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

โดยทั่วไปอากาศหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้งน้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า

[แก้]

ป่าน้ำหนาวเป็นป่าไม้ผืนใหญ่ติดต่อกัน ประกอบด้วยป่าหลายชนิด ป่าดิบชื้น พบบริเวณหุบเขาและริมลำห้วย ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียนทอง มะหาด ยมหอม ฯลฯ พืชพื้นล่างเป็นหวาย และปาล์ม เป็นต้น ป่าดิบเขา พบขึ้นบริเวณยอดเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นก่อสกุลต่างๆ เช่น ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมูน้อย ก่อตาหมูหลวง เป็นต้น ป่าเบญจพรรณ พบขึ้นตามไหล่เขาต่อจากป่าดงดิบทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ และกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ทางด้านตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก งิ้วป่า ยอป่า ชิงชัน ซ้อ เป็นต้น ป่าสนเขา พบในที่ประมาณ 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีสนสามใบขึ้นปะปนอยู่กับป่าเต็งรัง พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา พบบริเวณสวนสนภูกุ่มข้าว ดงแปก และที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ป่าเต็งรัง เป็นป่าโปร่งขึ้นอยู่บริเวณที่แห้งแล้ง ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ หน้าดินตื้น เป็นกรวดหรือลูกรัง ทำให้ต้นไม้แคระแกร็น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง กราด รกฟ้า ฯลฯ พืชพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นหญ้าเพ็ก และทุ่งหญ้า ประกอบไปด้วยหญ้าคา หญ้าเพ็ก มีพันธุ์ไม้ใหญ่ปะปนอยู่บ้าง เช่น ติ้ว กระโดน และแต้ว เป็นต้น 

เนื่องจากป่าส่วนหนึ่งเป็นป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้าและป่าดิบ มีดินโปร่งและน้ำไหลผ่านตลอดปี จึงทำให้ป่านี้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง เสือโคร่ง เสือดาว ค่าง หมีควาย หมีคน เลียงผา หมาป่า กระจง เม่น หมูป่า กระต่ายป่า ค้างคาวมงกุฎหูโตมาร์แชล ค้างคาวไอ้แหว่งน้อย เต่าปูลู และเต่าเดือย สำหรับช้างป่านั้นมีอยู่ทั่วไป ซึ่งเราจะเห็นกองมูลช้างที่ถ่ายไว้ริมทางหลวงอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีนกชนิดต่างๆ มากว่า 200 ชนิด ตามทางเดินในป่าจะพบนกสีสวยๆ อยู่เสมอ เช่น นกแก้ว นกขุนแผน นกหก นกพญาปากกว้าง นกเดินดง นกแต้วแร้ว นกโพระดก นกหัวขวาน นกเหงือก นกกระจ้อย นกกินแมลงชนิดต่างๆ ไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ป่า เป็นต้น และยังมีความหลากหลายของผีเสื้อมากกว่า 340 ชนิด 

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]

สวนสนภูกุ่มข้าว

[แก้]

สวนสนภูกุ่มข้าวเป็นเนินเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง สูงประมาณ 880 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นเนินเขาที่เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งท่ามกลางสวนสน เมื่อขึ้นไปยืนบนเนินเขาภูกุ่มข้าว จะเห็นแนวยอดสนอยู่ในระดับสายตา สามารถมองเห็นแนวยอดสนเป็นแนวติดต่อกันพืดทั้งสี่ด้านของภูกุ่มข้าว ดูแล้วจะเห็นคล้ายๆ ท้องทะเลของยอดสน เมื่อมองไปทางทิศใต้จะเห็นอ่างน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ (น้ำพรม) ที่กว้างใหญ่ การเดินทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายหล่มสัก-ชุมแพ) ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 409 มีทางลูกรังถึงสวนสนภูกุ่มข้าว ระยะทาง 15 กิโลเมตร เป็นป่าสนสามใบ มีต้นสนขนาดใหญ่มีความสูง 30-40 เมตร ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ในฤดูแล้ง ทุ่งหญ้าใต้ต้นสนจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลแก่ พอถึงฤดูฝนใหม่ทุ่งหญ้าเหล่านี้ก็จะกลับเขียวอีกครั้งหนึ่ง เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไป โดยเฉพาะฤดูฝนตามทุ่งหญ้าจะมีพันธุ์ไม้หลากสีนานาพรรณขึ้นอยู่อย่างสวยงามมาก

สวนสนบ้านแปก  

[แก้]

สวนสนบ้านแปก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ดงแปก" มีลักษณะเป็นป่าสนสองใบขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่เพียงชนิดเดียวตามธรรมชาติ เส้นทางเดินเข้าสวนสนบ้านแปกได้ผ่านป่าที่หลากหลายทั้งป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ระหว่างทางจะมีโอกาสพบสัตว์ป่าและนกนานาชนิด และในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ระหว่างทางจะมีกล้วยไม้ป่าและพันธุ์ไม้หลายชนิดออกดอกสวยงาม

ภูผาจิต

[แก้]

ภูผาจิต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภูด่านอีป้อง ลักษณะเด่นตั้งโดดเดี่ยวบนที่ราบสูง ลักษณะสัณฐานคล้ายภูกระดึงแต่เล็กกว่า เป็นภูเขาที่มียอดราบแบบโต๊ะ มีไม้สนขึ้นอยู่ประกอบด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้มีค่าหลายชนิด ภูเขานี้มียอดสูงสุดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สูง 1,271 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าสวยงามมาก แต่การเดินทางค่อนข้างลำบาก โดยทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 427 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายหล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง

ผาล้อมผากอง

[แก้]

ลักษณะเป็นภูเขาหินปูน สูงประมาณ 1,134 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบๆ บริเวณได้ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยพรรณไม้ที่มีค่ามาก บริเวณใกล้เคียงยังมีผากลางโหล่น มีความสูงประมาณ 850 เมตร ผาต้นฮอม มีความสูงประมาณ 900 เมตร ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามมากเช่นเดียวกัน โดยทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 40 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ นน.2 (ภูผากลางดง) ระยะทางเดินเท้าประมาณ 5-7 กิโลเมตร

น้ำตกเหวทราย

[แก้]

น้ำตกเหวทราย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความสูงประมาณ 25 เมตร บริเวณด้านใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำลึกสามารถลงเล่นน้ำและใต้น้ำตกมีชะง่อนหินขนาดใหญ่เป็นเพิงสามารถพักแรมหลบฝนได้ บรรยากาศบริเวณลำห้วยน่าเดินเล่น มีต้นไม้ปกคลุมตลอด ในฤดูฝนน้ำตกมีประมาณน้ำมากและสวยงามมาก เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยสนามทรายซึ่งมีต้นน้ำที่ป่าดงดิบชื่อดงแหน่งไหลผ่านป่าซำผักคาว ลำห้วยสนามทรายนี้เป็นแนวธรรมชาติที่แบ่งเขตแดนระหว่างอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ กับอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ น้ำตกเหวทราย ทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 423 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายหล่มสัก-ชุมแพ) ระยะทางเดินเท้า 1 กิโลเมตร

น้ำตกทรายทอง

[แก้]

เป็นน้ำตกหินทรายอยู่ห่างจากน้ำตกเหวทรายประมาณ 1,300 เมตร มีความกว้างที่สุดประมาณ 30 เมตร สูง 4 เมตร มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะในฤดูฝนสายน้ำที่ไหลผ่านผาหินก่อเกิดเป็นม่านน้ำที่สวยงามและสามารถสร้างความประทับใจได้ไม่น้อย

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว

[แก้]

ถ้ำใหญ่น้ำหนาว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าภูน้ำริน มีทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 60 ทางหลวงสายบ้านห้วยสนามทราย-อำเภอหล่มเก่า บ้านหินลาด มีทางรถยนต์เข้าถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ นน.6 (ถ้ำใหญ่น้ำหนาว) ประมาณ 3 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูงประมาณ 955 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถ้ำใหญ่น้ำหนาวเป็นถ้ำใหญ่มีความงามวิจิตรพิศดารโดยธรรมชาติ มีหินงอกหินย้อยและที่แปลกที่สุดคือ มีน้ำไหลหรือน้ำรินออกจากปากถ้ำ ภายในถ้ำยังเป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากอีกด้วย โดยมีชนิดที่เป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์คือ ค้างคาวมงกุฎมาร์แชล ค้างคาวหูหนูยักษ์ และค้างคาวท้องน้ำตาลใหญ่ ภายในถ้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกระยะทางประมาณ 400 เมตร มีทางเดินเท้าไปตามคูหาต่างๆ ซึ่งมีหินงอกหินย้อยและเสาถ้ำ ทางเดินจะไปสุดที่คูหาซึ่งมีม่านหินงดงาม ช่วงที่ 2 จากระยะทาง 400-1,000 เมตร จะมีทางลัดเลาะ บางครั้งต้องมุดและปีป่ายเข้าไป ช่วงที่ 3 ระยะทางจาก 1,000 เมตร เข้าไป จะมีลำธารน้ำรินไหล ถ้ำมีความลึกประมาณ 4.5 กิโลเมตร

ภูค้อ

[แก้]

เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์และจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณ กม. 401 ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายหล่มสัก-ชุมแพ) โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ในยามเช้า สามารถมองเห็นผืนป่าอีสานตะวันตก เช่น ภูหลวง ภูกระดึง ภูเขียว และภูผาจิตซึ่งเป็นภูที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

ถ้ำผาหงษ์

[แก้]

จุดชมทิวทัศน์และชมพระอาทิตย์ตกในตอนเย็น โดยทางเข้าอยู่ตรงกิโลเมตรที่ 395 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายหล่มสัก-ชุมแพ) บริเวณนี้จะมีเส้นทางเดินเท้าระยะทางประมาณ 300 เมตร เพื่อขึ้นสู่ยอดเขาซึ่งมีลักษณะเป็นเขาสูง ถ้ำผาหงษ์เป็นถ้ำขนาดเล็ก ภายในมีช่องหลืบแคบๆ ซับซ้อน มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวหลายชนิด โดยเฉพาะค้างคาวมงกุฎมาร์แชล ซึ่งเป็นสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์

การเดินทาง

[แก้]

การเดินทางด้วยรถยนต์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 147 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 55 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 406 (กิโลเมตรที่ 50 เดิม จากสี่แยกพ่อขุนผาเมือง) มีป้ายชี้ทางเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (ไปจากหล่มสักป้ายจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ไปจากขอนแก่นป้ายจะอยู่ทางด้านขวามือ) จากถนนใหญ่เดินทางต่อทางประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ท่านสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดแหล่งท่องเที่ยว บ้านพัก เต็นท์ รับกุญแจบ้านพัก และอื่นๆ ได้ที่ศูนย์บริการฯ ถ้าไปโดยรถประจำทางสามารถขึ้นรถโดยสายจากขอนแก่นหรือหล่มสัก ซึ่งผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุกวัน 

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "น้ำหนาว" [Nam Nao]. Department National Parks, Wildlife and Plant Conservation. สืบค้นเมื่อ 20 July 2021.
  2. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที ๑๔๒ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำหนาว ในท้องที่ตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลบ้านกลาง ตำบลบ้านติ้ว ตำบลห้วยไร่ อำเภอหล่มสัก ตำบลน้ำหนาว อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอคอนสาม จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๕" [Revolutionary Council No. 132: Determine the Nam Nao forest area in the area of Ban Khok Subdistrict, Mueang Phetchabun District, Ban Klang Subdistrict, Ban Tio Subdistrict, Huai Rai Subdistrict, Lom Sak District, Nam Nao Subdistrict, Nam Nao District, Phetchabun Province and Huai Yai Subdistrict, Khon San District, Chaiyaphum Province to be a national park. B.E.2515 (1972)] (PDF). Royal Thai Government Gazette. 89 (71): 1–2. 4 May 1972. สืบค้นเมื่อ 20 July 2021.
  3. "สถิตินักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562" [Statistics of tourists visiting National Parks fiscal year 2019]. Department of National parks, Wildlife and Plant Conservation. 2019. สืบค้นเมื่อ 16 February 2021, no.93 Nam Nao N.P.{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  4. "Protected areas". UNEP-WCMC. 2020. สืบค้นเมื่อ 4 October 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]