ข้ามไปเนื้อหา

อวตาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"ทศาวตาร" หรือ "นารายณ์สิบปาง" หรือ อวตารทั้งสิบของพระวิษณุ ตามความเชื่อของลัทธิไวษณพ (นับเวียนทวนเข็มนาฬิกา) มัตสยะ, กูรมะ, พระวราหะ, นรสิงห์, วามนะ, ปรศุราม, พระราม, พระกฤษณะ, พระโคตมพุทธเจ้า, กัลกิ

อวตาร (สันสกฤต: अवतार, avatāra) คือการที่เทพเจ้าฮินดูแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์ โดยเทพแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในลัทธิไวษณพถือว่าเมื่อศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมลง จนเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว พระวิษณุจะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ[1][2]

การอวตารส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับพระวิษณุ แต่ก็ยังมีที่เชื่อมโยงกับเทวดาอื่น ๆ[3] รายชื่อของพระนารายณ์อวตารปรากฏในคัมภีร์ฮินดูจำนวนมากรวมทั้งอวตารทั้งสิบในครุฑ ปุราณะ และอวตาร 22 ปางในภควัตปุราณะ รวมทั้งที่เพิ่มอีกภายหลังจนนับไม่ถ้วน[4] พระวิษณุอวตารเป็นความเชื่อหลักของลัทธิไวษณพ หลักฐานเกี่ยวกับอวตารยุคแรก ๆ อยู่ในภควัทคีตา[5]

มีเรื่องราวเกี่ยวกับอวตารของพระศิวะและพระพิฆเนศ และเทพีต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่ผู้นับถือลัทธิศักติ[5][6] อย่างไรก็ตาม อวตารของพระนารายณ์เป็นที่รู้จักมากที่สุด

อวตารในศาสนาฮินดู

[แก้]

นารายณ์สิบปาง

[แก้]
มัตสยาวตาร - พระนารายณ์อวตารเป็นปลา
วราหาวตาร - พระนารายณ์อวตารเป็นหมูป่าเพื่อปราบยักษ์

อวตารของพระวิษณุมีมากมายหลายปาง แต่อวตารซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคืออวตารชุด "ทศาวตาร" (เป็นการสมาสคำว่า "ทศ" (สิบ) เข้ากับคำว่า "อวตาร" จึงหมายถึง "อวตารทั้งสิบ") ซึ่งในประเทศไทยมักเรียกชื่อว่า "นารายณ์สิบปาง" รายชื่ออวตารทั้งสิบปางนั้นปรากฏอยู่ในครุฑปุราณะ (1.86.10"11)[7]

ทั้งนี้ ตามการแบ่งเวลาเป็นยุคของศาสนาฮินดูนั้น อวตารสี่ปางแรกของพระองค์เกิดขึ้นในสัตยยุค สามปางต่อมาเกิดขึ้นในไตรดายุค อวตารปางที่แปดเกิดขึ้นในทวาปรยุค ปางที่เก้าเกิดในกลียุค และปางที่สิบซึ่งเป็นปางสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อถึงปลายกลียุค[8]

อวตารทั้งสิบปางของพระวิษณุประกอบด้วย

  1. มัตสยาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นปลาชื่อ "ศผริ" เพื่อช่วยเหลือพระมนูให้รอดจากโลกาวินาศในช่วงพรหมราตรีจนกระทั่งไว้ตั้งวงศ์มนุษย์ขึ้นมาใหม่ และสังหารอสูรหัยครีวะซึ่งลักเอาพระเวทไปจากพระพรหม เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์มัตสยปุราณะ
  2. กูรมาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นเต่าเพื่อรองรับเขามันทระในพิธีกวนเกษียรสมุทร(สมุทระมันทระ) เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์กูรมปุราณะ
  3. วราหาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระวราหะ เพื่อประหารยักษ์หิรัณยากษะ ซึ่งได้ลักเอาแผ่นดินโลกไปจากพื้นสมุทร เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์วราหปุราณะ
  4. นรสิงหาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์) เพื่อประหารพญายักษ์หิรัณยกศิปุ ผู้ซึ่งกระทำทารุณกรรมต่อประหลาทกุมารซึ่งภักดีต่อพระวิษณุ
  5. วามนาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพราหมณ์หลังค่อมชื่อวามนะ เพื่อปราบความอหังการของราชาอสูรพลี ที่กระทำพิธีอัศวเมธ(ปล่อยม้าอุปการ)เพื่อให้ตนเป็นเจ้าทั้งสามพิภพ โดยขอพื้นที่ 3 ก้าวย่าง เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์วามนปุราณะ
  6. ปรศุรามาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพราหมณ์ชื่อปรศุราม ("รามผู้ถือขวาน") เพื่อปราบกษัตริย์ผู้มีพันกรชื่อกรรตวิรยะอรชุน ซึ่งกระทำการเบียดเบียนข่มเหงแก่คนวรรณะพราหมณ์อย่างหนัก และกวาดล้างเชื้อวงศ์วรรณะกษัตริย์ที่เป็นบุรุษจนหมดสิ้นทั้งโลก ถึง 21 ครั้ง
  7. รามาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระราม พระมหากษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เป็นวีรบุรุษในมหากาพย์เรื่องรามายณะ (หรือรามเกียรติ์)
  8. กฤษณาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระกฤษณะ กษัตริย์แห่งกรุงทวารกาในคัมภีร์ภควตปุราณะ มหากาพย์มหาภารตะ และอนุศาสนภควัทคีตา อย่างไรก็ตาม ในทศวาตารฉบับดั้งเดิมนั้นกล่าวไว้ว่าพระพลรามพี่ชายของรามกฤษณะคืออวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ ส่วนพระกฤษณะนั้นคือต้นธารแห่งอวตารทุกปางที่ปรากฏขึ้นในโลก[9]
  9. พุทธาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระโคตมพุทธเจ้า[10] ศาสดาของศาสนาพุทธองค์ปัจจุบัน มาจากคัมภีร์ภาควตปุราณะ (ปัจจุบันคือ พระไตรปิฎก) เรียบเรียงขึ้นหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๙[11]
  10. กัลกิยาวตาร - ในอนาคตกาลเมื่อถึงปลายกลียุค พระวิษณุจะอวตารมาเป็นบุรุษขี่ม้าขาวชื่อกัลกิ ("นิรันดร", "กาลเวลา", หรือ "ผู้กำราบความเขลา") เพื่อปราบยุคเข็ญ มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในกัลกิปุราณะ

นอกจากนั้นยังมีอวตารอื่นๆ ของพระวิษณุ ที่มีปรากฏในคัมภีร์ภาควตปุราณะ รวมกับทศาวตารแล้วจะได้ 24 ปาง ดังนี้

  1. โมหิณีอวตาร (หญิงงาม) - เป็นปางที่กำเนิดขึ้นหลังจากพิธีกวนเกษียรสมุทร และเหล่าเทพกับอสูรแย่งน้ำอมฤตกัน ทรงแปลงเป็นหญิงงามนาม โมหิณี("เจ้าแห่งโมหะ") มาช่วยเหล่าเทพ และกันอสูรไม่ให้ดื่มน้ำอมฤตนั่นเอง (และมีอีกครั้งที่ทรงอวตารเป็นโมหิณี คือตอนช่วยพระศิวะปราบภัสมาสูรโดยการให้ร่ายรำตามตน จนเอามือวางบนศีรษะตนและไหม้เป็นจุณตามพรที่ภัสมาสูรขอจากพระศิวะนั่นเอง)
  2. ฤๅษีนระ ฤๅษีนารายณ์ - เป็นปางที่อวตารในช่วงสมัยสัตยยุค ซึ่งเดิมเป็นเจ้าชาย แต่ด้วยความเบื่อหน่ายในราชสมบัติ จึงออกบวชเป็นฤๅษี และบำเพ็ญตบะจนร้อนถึงพระอินทร์ซึ่งเกรงว่าทั้งสองจะมาแย่งสวรรค์ไปจากตน จึงส่งอัปสรนามรัมภาและเมนกา มาทำลายตบะ แต่ทั้งสองไม่ได้กลัว แถมฤๅษีนารายณ์ยังสร้างอัปสรนาม "อุรวศี" ขึ้นจากต้นขนของตน และแข่งร่ายรำจนอัปสรของสวรรค์พ่ายไป (ในภาวควตปุราณะกล่าวว่า อวตารนี้เป็นการตั้งต้นในอวตารชาติต่อไป คือ ฤๅษีนระ มาเกิดเป็น อรชุน หนึ่งในพี่น้องปาณฑพ และฤๅษีนารายณ์ เกิดเป็น พระกฤษณะ อวตารปางที่ 8 นั่นเอง)
  3. หัยครีวาวตาร (มนุษย์ศีรษะม้า) - เป็นปางที่อวตารมาปราบอสูรหัยครีวะที่มีศีรษะเป็นม้า โดยอสูรนั่นขอพรจากพระมหามายา(พระแม่อธิศักติ) ให้ไม่มีใครสังหารตนได้ นอกจากผู้ที่มีลักษณะเหมือนตน คือมีศีรษะเป็นม้า พระวิษณุจึงอวตารมาในรูปนี้ และสังหารอสูรไป(ในตำนานระบุเพิ่มเติม ว่าอสูรหัยครีวะไปขโมยพระเวทของพระพรหมไปด้วย ซึ่งจะไปทับซ้อนกับมัสยาวตารนั่นเอง)
  4. ฤๅษีกบิล - เป็นปางอวตารที่มีบทบาทในตำนานเชิญพระแม่คงคามายังโลก สมัยสัตยยุค ซึ่งเป็นผู้ที่พระอินทร์นำม้าในพิธีอัศวเมธของท้าวสัคระ ไปซ่อนในอาศรมของฤๅษีกบิล(อาศรมนี้อยู่ใต้บาดาล) และเหล่าโอรสของท้าวสัคระทั้ง 6 หมื่นองค์ ช่วยกันขุดลงไปใต้โลก จนถึงอาศรมฤๅษีกบิล และกล่าวโทษหาว่าฤๅษีกบิลขโมยม้ามา ทำให้ฤๅษีกบิลโกรธ และลืมตาเป็นเพลิงกรดเผาโอรสทั้ง 6 หมื่นของท้าวสัคระกลายเป็นเถ้าธุลี และเป็นที่มาของการเชิญพระคงคามาชำระบาปบนโลกนั่นเอง
  5. พระพลราม หรือพระพลเทพ - อวตารเป็นพี่ชายของพระกฤษณะนั่นเอง(เป็นตำนานดั้งเดิมในปุราณะ แต่พอพุทธศาสนากำเนิด ก็เอาพุทธาวตารมาแทนที่ และเปลี่ยนให้พระพลราม เป็นอวตารของเศษะนาคราช บังลังก์ของพระวิษณุในเกษียรสมุทรแทน)
  6. ฤๅษีวยาส - ในภาควตปุราณะ กล่าวว่า ฤๅษีวยาสผู้รจนามหาภารตะนั่น เป็นอวตารของพระวิษณุด้วยเช่นกัน
  7. ฤๅษีศุกกะเทพ - ในภาควตปุราณะ กล่าวว่า อวตารเป็นบุตรของฤๅษีวยาส ซึ่งมีบทบาทตอนปลายเรื่องมหาภารตะ และเป็นผู้รจนาภาควตปุราณะอีกด้วย
  8. ฤๅษีกุมารทั้ง 4 - ในภาควตปุราณะ กล่าวถึงที่มาของอวตารในทศาวตารไว้ตอนหนึ่งว่า ฤๅษีกุมารทั้งสี่ ซึ่งประกอบด้วย "ฤๅษีสนาธนะ" "ฤๅษีสนาตนะ" "ฤๅษีสนกะ" และ"ฤๅษีสนัตกุมาร" บุตรของพระพรหมนั้น เป็นอวตารของพระวิษณุด้วยเช่นกัน กำลังเดินทางมาเฝ้าพระวิษณุที่ไวกูณฐ์โลก(โลกของพระวิษณุ) แต่โดนทวารบาลนามว่า "ชัย" และ "วิชัย" ขวางไม่ให้เข้าไปเฝ้า ฤๅษีทั้งสี่จึงสาปให้ชัยและวิชัยไปเกิดเป็นอสูรบนโลก ทั้งสองจึงไปเฝ้าพระวิษณุให้ทรงช่วย พระวิษณุทรงกล่าวเป็นสองทางเลือกว่า จะกำเนิดเป็นอสูร 3 ชาติ และพระองค์อวตารลงไปสังหารให้สิ้น หรือจะกำเนิดเป็นสาวกพระองค์ 14 ชาติ โดยเมื่อครบทั้งสองทางแล้ว จะกลับยังมาไวกูณฐ์ตามเดิม ทั้งสองจึงเลือกกำเนิดเป็นอสูร 3 ชาติ และเป็นที่มาของอวตารทั้ง 4 ปาง คือ - ชาติแรก ชัย เป็น หิรัณยากษะ (โดนพระวราหาวตารสังหาร) วิชัย เป็น หิรัณยกศิปุ (โดนพระนรสิงหาวตารสังหาร) - ชาติที่สอง ชัย เป็น ราวณะหรือทศกัณฐ์ และวิชัย เป็น กุมภกรรณะ (ทั้งคู่โดนพระรามาวตารสังหาร ในรามายณะ หรือรามเกียรติ์ นั่นเอง) - ชาติสุดท้าย ชัย เป็น กังสะ(พี่ชายของเทวกี มารดาของพระกฤษณะ) กับทันตวะ และวิชัย เป็น ศิศุปาละ (ลูกพี่ลูกน้องของพระกฤษณะ) โดยทั้งคู่โดนพระกฤษณะสังหาร และทั้งสองก็กลับไปเป็นทวารบาลเฝ้าประตูวิมานไวกูณฐ์ตามเดิม
  9. เทวฤๅษีนารทะ - ในภาควตปุราณะ ก็กล่าวเพิ่มว่า เทวฤๅษีนารทะนั้น ก็เป็นอวตารของพระวิษณุด้วยเช่นกัน โดยเป็นมานัสบุตร(บุตรที่เกิดจากหัวใจ)ของพระพรหม และเป็นบรมสาวกของพระวิษณุ และเป็นเจ้าของเสียง "นารายณะ นารายณะ" อีกด้วย
  10. พระธันวันตริ - อวตารที่เป็นผู้ทูนน้ำอมฤตขึ้นมาจากพิธีกวนเกษียรสมุทร และเป็นเจ้าแห่งตำราอายุรเวทและแพทย์ทั้งปวงด้วย
  11. ปฤตุ - อวตารเป็นราชาในสมัยสัตยยุค โดยเป็นผู้ริเริ่มการเกษตรกรรม และทำให้โลกเกิดความอุดมสมบูรณ์จากน้ำนมของโคสุรภี และเป็นที่มาของนามพระแม่ธรณีว่า ปฤตวี ตามราชาปฤตุ นั่นเอง
  12. ฤษภะ - อวตารเป็นนักบวชบิดาของ จักรวรรติน และพหุพาลี ต้นกำเนิดของศาสนาเชน นั่นเอง
  13. พระทัตตาเตรยะ - อวตารเป็นบุตรของมหาฤๅษีอัตริ และเทวีอนสูยา และเป็นคนให้พรกับสหัสะพาหุอรชุน ที่โดนพระปรศุรามาวตารสังหารนั่นเอง
  14. ยัชญเทพ - เทพแห่งพิธียัชญกรรมทั้งปวง และเป็นรูปปรากฏพระอินทร์ในยุคก่อน

คเณศาวตาร

[แก้]

ในลิงคะปุราณะกล่าวถึงอวตารของพระคเณศเพื่อปราบปีศาจและช่วยเหลือผู้ใจบุญ[12] อุปปุราณะ 2 ฉบับ คือ คเณศปุราณะและมุทคละปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักของผู้นับถือลัทธิบูชาพระคเณศได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอวตารของพระคเณศไว้ โดยในคเณศปุราณะมี 4 ปาง ส่วนในมุทคละปุราณะมี 8 ปาง [13] ทุกปางมักมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปฆ่าปีศาจ[14] ทั้ง 8 ปางของพระคเณศได้แก่

  1. วักรตุณฑะ - มีราชสีห์เป็นพาหนะ
  2. เอกทันตะ ("งาเดียว") - มีหนูเป็นพาหนะ
  3. มโหทร ("ท้องใหญ่") - มีหนูเป็นพาหนะ
  4. คชวักตระ หรือ คชานนะ ("หน้าช้าง") - มีหนูเป็นพาหนะ
  5. ลัมโภทร ("ท้องใหญ่") - มีหนูเป็นพาหนะ
  6. วิกฎะ - มีนกยูงเป็นพาหนะ
  7. วิฆนราช ("ราชาแห่งอุปสรรค") - มีพญาเศษะนาคราชเป็นพาหนะ
  8. ธูมราวรรณ ("สีเทา") - มีม้าเป็นพาหนะ

อวตารของพระศิวะ

[แก้]
พระสทาศิวะ อวตารหนึ่งของพระศิวะ ศิลปะขอมโบราณ

แม้ว่าจะมีการอ้างอิงคัมภีร์ปุราณะต่างๆว่าพระศิวะมีการอวตารแต่ไม่เป็นที่เชื่อถือแพร่หลายนักในไศวนิกาย [5][15] ลิงกะปุราณะกล่าวว่าอวตารของพระศิวะมี 28 ปาง[16] ในศิวะปุราณะ กล่าวถึงอวตารสำคัญๆคร่าวๆ ดังนี้

  1. พระสทาศิวะ เป็นอวตารที่กำเนิดขึ้นเมื่อแรกเริ่มสร้างจักรวาล ปรากฏเป็นบุรุษรูปงาม มี 5 เศียร 10 กร
  2. พระไภรวาวตาร(ไภรวะ) เป็นอวตารที่เกิดขึ้นตอนปฐมกัลป์ หลังจากพระพรหมกับพระวิษณุทรงแข่งกันหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเสาไฟชโยติลึงค์แล้ว พระพรหมทรงโกงพระวิษณุโดยบอกว่าเจอยอดชโยติลึงค์ทั้งที่ไม่เจอจริงๆ โดยอ้างดอกเกตุที่ร่วงหล่นจากยอดชโยติลึงค์เป็นพยาน ทำให้พระศิวะทรงพิโรธ และแบ่งภาคเป็นพระไภรวะ ออกมาดึงเศียรที่ 5 ของพระพรหมขาดติดมือไป ปางนี้จะมีเศียรของพระพรหมเป็นลักษณะกะโหลก ถือในมือด้วยเสมอ
  3. พระอรรธนารีศวร เป็นรูปครึ่งพระศิวะครึ่งพระศักติ(อุมาเทวี) เป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมกันและความแยกจากกันไม่ได้ของชายและหญิง
  4. พระวีระภัทราวตาร (วีระภัทร) เป็นอวตารที่เกิดขึ้นหลังจากที่พระแม่สตี(ชายาองค์แรกของพระศิวะ)ทรงเผาตัวเองในงานยัชญะของพระทักษะประชาบดีไปนั้น ทำให้พระศิวะทรงพิโรธมาก จึงดึงปอยผมออกมาแล้วโยนลงพื้น บังเกิดเป็นบุรุษร่างกำยำ ดุดันน่าเกรงขาม นาม วีระภัทร โดยพระศิวะทรงให้นำคณะศิวะสาวกไปทำลายพิธียัชญะให้พินาศ และวีระภัทรยังตัดศีรษะของพระทักษะประชาบดีโยนลงในกองไฟพิธีอีกด้วย จากนั้นก็กลับคืนรวมกับพระศิวะตามเดิม (แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในยามที่พระศิวะทรงเรียกใช้บ้างบางคราว)
  5. พระศารภาวตาร (ศารภะ) เป็นอวตารมาเพื่อกำราบพระนรสิงหาวตาร(พระวิษณุอวตารปางครึ่งคนครึ่งสิงห์)ที่สังหารอสูรหิรัณยกศิปุไปแล้ว แต่ความพิโรธของพระนรสิงห์ยังไม่หมดสิ้น ทำให้บ้าคลั่งขึ้นมา พระศิวะเห็นดังนั้น จึงอวตารเป็นสัตว์ประหลาด กายท่อนล่างและศีรษะเป็นสิงโต ท่อนบนเป็นมนุษย์ มี 4 แขน มีปากและปีกเป็นนก นาม ศารภะ กำราบพระนรสิงห์จนสงบลงในที่สุด[17]
  6. รุทราวตารหนุมาน เป็นอวตารที่ในบางท้องที่ถือว่าเป็นอวตารปางที่สิบเอ็ดของพระศิวะ ลงมาช่วยเหลือพระรามในการทำศึกกับราวณะ โดยมีชีวิตเป็นอมตะ และยังมีชีวิตอยู่จนถึงโลกปัจจุบัน[18][19][20][21]

อวตารของเทพี/ศักติ

[แก้]
หนุมานกับพระรามและนางสีดา

ในลัทธิศักติมีอวตารเช่นกัน ในเทวีภาควัตปุราณะอธิบายถึงอวตารของเทวีไว้โดยละเอียด และแบ่งตาม พระเทวีคือ

พระอุมาเทวี (ปารวตีเทวี) ชายาพระศิวะ มีอวตารดังนี้

  1. พระแม่เคารี (Gauri[22]) - อวตารเป็นเทวีที่มีกายสีดังทองคำ และเป็นเทวีแห่งความรักในครอบครัว และการวิวาห์มงคล มี 2-8 กร ทรงสิงโตเป็นพาหนะ
  2. พระแม่กาลี (Kali) - อวตารเป็นเทวีผู้ดุร้าย คอยกำราบอสูรชั่ว และพิทักษ์รักษาสาวกที่ภักดี มี 4-10 กร ทรงอาวุธครบมือ ขี่ลา หรือสิงโตเป็นพาหนะ
  3. พระแม่ทุรคา (Durga) - อวตารเป็นเทวีผู้รูปงาม และดุดัน มาปราบมหิษาสูร(อสูรควาย) และทุรกัมมาสูร มี 8-18 กร ทรงอาวุธครบมือ ขี่สิงโตเป็นพาหนะ
  4. เทวีนวทุรคา(Navdurga)[23] ทั้ง 9 ปาง ในเทศกาลนวราตรี ประกอบด้วย
    1. ไศลปุตรี (Shailaputri) = ธิดาแห่งเขาหิมาลัย
    2. พรหมจาริณี (Brahmacharini) = ผู้ครองพรหมจรรย์
    3. จันทรฆัณฏา (Chadraghanta) = ผู้งดงามดังจันทรา
    4. กุษมาณฑาเทวี (Kushmanda) = ผู้บันดาลให้เกิดชีวิต
    5. สกันทมาตา (Skandamata) = มารดาของพระสกันทะ(พระขันธกุมาร)
    6. กาตยายณี (Katyayani) = บุตรีของฤๅษีกาตยายณะ
    7. กาลราตรี (Kaalratri) = เจ้าแห่งความมืด และปราบอสูรชั่ว
    8. สิทธิธาตรี (Siddhidhatri)= เจ้าแห่งเทพ อสูร รากษส และมนุษย์ทั้งปวง
    9. มหาเคารี (Mahagauri) = เทวีผู้เป็นศักติของพระศิวะเจ้า
  5. เทวีทศมหาวิทยา (Dasha Mahavidya)[24] ทั้ง 10 ปางในนิกายตันตระ ประกอบด้วย
    1. เทวีกาลี (Kali)
    2. เทวีตารา (Tara)
      ทศมหาวิทยา ทั้ง 10 ปาง
    3. เทวีโสฑศี (ลลิตา , ตรีปุระสุนทรี) (Shodashi / Lalita / Tripurasundari)
    4. เทวีไภรวี (Bhairavi)
    5. เทวีภูวเนศวรี (Bhuvaneshwari)
    6. เทวีฉินมัสตา (Chinnamasta)
    7. เทวีธูมาวตี (Dhumavati)
    8. เทวีภคลามุขี (Bagalamukhi)
    9. เทวีมาตังคี (Matangi)
    10. เทวีกมลา (Kamala)

พระลักษมีเทวี ชายาพระวิษณุ มีอวตารดังต่อไปนี้

  1. อวตารร่วมกับพระวิษณุในปางต่างๆ เช่น ในรามาวตาร ก็ทรงอวตารเป็นเทวีสีดา และในกฤษณาวตาร ก็ทรงอวตารเป็นเทวีรุกมิณี และเทวีราธา
  2. อัษฏลักษมี[25] (พระลักษมี 8 ปาง) ประกอบด้วย
    อัษฏลักษมี ทั้ง 8 ปางของพระลักษมี
    1. อาทิลักษมี = เทวีแห่งการเริ่มต้น
    2. ธัญญะลักษมี/ไทรยะลักษมี = เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ (โพสพในคติไทย)
    3. คชลักษมี = เทวีผู้มีช้างเป็นบริวาร
    4. ธนลักษมี= เทวีแห่งเงินทอง
    5. วีระลักษมี/วิชัยลักษมี = เทวีแห่งนักรบและชัยชนะ
    6. สันธานลักษมี = เทวีแห่งการคุ้มครองเด็ก
    7. วิทยาลักษมี = เทวีแห่งวิทยาการ
    8. ไอศวรรยาลักษมี/เสาวภาคยลักษมี = เทวีแห่งโภคสมบัติและความมั่งคั่ง

พระสรัสวดีเทวี ชายาของพระพรหม ไม่ค่อยมีรูปอวตารมากนัก ดังต่อไปนี้

  1. พระแม่คายตรี (กายาตรี) เทวีแห่งพระเวทและมนตรา มี 5 เศียร 10 กร
  2. พระแม่สาวิตรี เทวีผู้ทรงปัญญา และความรอบรู้ มี 4 กร

พระศักติเทวี เป็นอาทิเทวี(ร่างตั้งต้น)ของพระมหาเทวีทั้ง 3 องค์ข้างต้น มีอวตารมากมาย แต่จะยกมาบางส่วน คือ

  1. พระแม่สตีเทวี = ชายาองค์แรกของพระศิวะ ทรงทำลายร่างด้วยไฟตบะกลางพิธียัชญะของพระทักษะประชาบดี บิดาของพระนาง เนื่องจากโดนบิดาลบหลู่พระศิวะอย่างรุนแรง และไม่อาจกลับไปหาพระศิวะผู้สวามีได้อีก และจากนั้นร่างของพระแม่สตีก็กระจายหล่นไปทั่วชมพูทวีป เป็นศักติปีฐ(ที่สถิตแห่งพลังพระศักติ)ทั้ง 51 แห่ง ทั่วอินเดียในปัจจุบัน
  2. สัปตมาตริกา[26] (พลังทั้ง 7 ของเทพ) จะเป็นอวตารจากเทพ 7 องค์ ประกอบด้วย
    สัปตมาตริกาทั้ง 7 ปาง
    1. พระแม่พรหมาณี (ศักติของพระพรหม) มี 4 เศียร 4 กร ทรงหงส์เป็นพาหนะ
    2. พระแม่ไวษณวี (ศักติของพระวิษณุ) มี 4 กร ทรงครุฑเป็นพาหนะ
    3. พระแม่มเหศวรี (ศักติของพระศิวะ) มี 4 กร ทรงโคเป็นพาหนะ
    4. พระแม่เกามารี (ศักติของพระสกันทะ หรือพระขันธกุมาร) มี 4 กร ทรงนกยูงเป็นพาหนะ
    5. พระแม่อินทราณี / เอนทรี (ศักติของพระอินทร์) มี 4 กร ทรงช้างเป็นพาหนะ
    6. พระแม่วราหิ (ศักติของพระวราหาวตาร) มี 4 กร ทรงกระบือเป็นพาหนะ
    7. พระแม่นรสิงหิณี / สิงหิกาเทวี (ศักติของพระนรสิงหาวตาร) มี 4 กร ไม่ทรงพาหนะ
  3. พระเทวีเกาศิกี = ปางอวตารมาปราบอสูร ศุมภะ และ นิศุมภะ มี 8 กร ถืออาวุธครบมือ ทรงสิงโตเป็นพาหนะ
  4. พระเทวีศากัมภารี[27] = ปางอวตารมาทำให้โลกเกิดความสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร และแหล่งน้ำ มีดวงตารอบกาย มี 4 กร
  5. พระเทวีภามรี[28] = เทวีแห่งแมลงภู่(ผึ้ง) มี 4 กร
  6. โยคมหามายาเทวี = เทวีแห่งภาพมายาทั้งปวง สถิตในทุกอนูแห่งจักรวาล เคยแบ่งภาคเป็นเด็กทารกหญิงของนันทโคบาล และนางยโสธา ก่อนที่วาสุเทพบิดาของพระกฤษณะจะมาสลับกับพระกฤษณะไปให้พญากังสะประหาร แต่ตอนประหาร เด็กทารกหญิงก็กลับคืนร่างเป็นพระโยคมหามายาเทวีตามเดิม และไปเกิดเป็นสุภัทรา น้องสาวคนเล็กของพระกฤษณะ และเป็นชายาของอรชุน(พี่น้องปาณฑพ)ในมหาภารตะ นั่นเอง
เทวีศักติในรูปอวตารปางต่างๆ
พระแม่ศากัมภรีเทวี
พระแม่เกาศิกี (กำเนิดจากกายสีดำของพระเทวีปารวตี เพื่อปราบอสูรศุมภะ และนิศุมภะ)
พระแม่ภามรีเทวี เทวีแห่งแมลงภู่(ผึ้ง)

อวตารในศาสนาพุทธ

[แก้]

อวตารกับวัชรยาน

[แก้]

ความเชื่อของชาวพุทธที่นับถือนิกายวัชรยาน ถือว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อวตารหรือแบ่งภาคได้เช่นเดียวกันเช่น พระอาทิพุทธะอวตารมาเป็นพระธยานิพุทธะ พระโพธิสัตว์อวตารเป็นยิดัม นอกจากนี้ชาวพุทธในทิเบตเชื่อว่า ทะไลลามะเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และปันเชนลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภพุทธะ เป็นต้น[29]

อวตารกับเถรวาท

[แก้]

ในความเชื่อของชาวพุทธนิกายเถรวาท จะไม่เชื่อว่าการอวตารมีจริง เพราะจิตนั้นมีดวงเดียว (ตามบทที่ว่า เอกะ จะรัง จิตตัง...) เพียงแต่เกิดดับตลอดเวลา เมื่อจิตนั้นเกิดเป็นเทพเจ้าไม่ว่าชั้นใดๆ หากแปลงกายเป็นมนุษย์ (เนรมิตขึ้นมาชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เช่น พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์แก่) โดยจิตเดิมยังอยู่เป็นเทพเจ้าบนสวรรค์นั้น มีจริง แต่การที่จิตนั้นลงมาเกิดอวตารเป็นมนุษย์ โดยการอยู่ในครรภ์ คลอดออกมา เจริญเติบโตเล่าเรียนรู้เลยทั้ง ๆ ที่ยังมีจิต (เหมือนกัน ดวงเดียวกัน) อีกดวง ยังเป็นเทพเจ้าบนสวรรค์นั้นเป็นไปตามความจริงไม่ได้ ตามหลักที่ปรากฏในพระอภิธรรม[29]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Matchett, Freda (2001). Krishna, Lord or Avatara?: the relationship between Krishna and Vishnu. 9780700712816. p. 4. ISBN 9780700712816.
  2. Introduction to World Religions, by Christopher Hugh Partridge, pg. 148, at Books.Google.com
  3. Kinsley, David (2005). Lindsay Jones (บ.ก.). Gale's Encyclopedia of Religion. Vol. 2 (Second ed.). Thomson Gale. pp. 707–708. ISBN 0-02-865735-7.
  4. Bryant, Edwin Francis (2007). Krishna: A Sourcebook. Oxford University Press US. p. 18. ISBN 9780195148916.
  5. 5.0 5.1 5.2 Sheth, Noel (Jan. 2002). "Hindu Avatāra and Christian Incarnation: A Comparison". Philosophy East and West. University of Hawai'i Press. 52 (1 (Jan. 2002)): 98–125. doi:10.1353/pew.2002.0005. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. Hawley, John Stratton (2006). The life of Hinduism. University of California Press. p. 174. ISBN 9780520249141. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  7. Garuda Purana (1.86.10-11)
  8. Matchett, p. 86.
  9. O Keshava! O Lord of the universe! O Lord Hari, who have assumed the form of Balarama, the yielder of the prowl All glories to You! On Your brilliant white body You wear garments the color of a fresh blue rain cloud. These garments are colored like the beautiful dark hue of the River Yamuna, who feels great fear due to the striking of Your plowshare] Dasavatara stotra
  10. List of Hindu scripture that declares Gautama Buddha as 9th Avatar of Vishnu as follows [Harivamsha (1.41) Vishnu Purana (3.18) Bhagavata Purana (1.3.24, 2.7.37, 11.4.23 name="Bhagavata Purana 1.3.24">Bhagavata Purana 1.3.24 เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. Estimated dates given by some notable scholars include: R. C. Hazra – 6th c., Radhakamal Mukherjee – 9th–10th c., Farquhar – 10th c., Nilakanta Sastri – 10th c., S. N. Dasgupta – 10th c.Kumar Das 2006, pp. 172–173
  12. Grimes, John A. (1995). Gaṇapati: song of the self. SUNY Press. p. 105. ISBN 9780791424391.
  13. Phyllis Granoff, "Gaṇeśa as Metaphor," in Robert L. Brown (ed.) Ganesh: Studies of an Asian God, pp. 94-5, note 2. ISBN 0-7914-0657-1
  14. Grimes, pp. 100-105.
  15. Parrinder, Edward Geoffrey (1982). Avatar and incarnation. Oxford: Oxford University Press. p. 88. ISBN 0-19-520361-5.
  16. Winternitz, Moriz (1981). A History of Indian Literature, Volume 1. Motilal Banarsidass. pp. 543–544. ISBN 9788120802643. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  17. Soifer, pp. 91-92.
  18. Lutgendorf, Philip (2007). Hanuman's tale: the messages of a divine monkey. Oxford University Press US. p. 44. ISBN 9780195309218.
  19. Catherine Ludvík (1994). Hanumān in the Rāmāyaṇa of Vālmīki and the Rāmacaritamānasa of Tulasī Dāsa. Motilal Banarsidass Publ. pp. 10–11. ISBN 9788120811225.
  20. Sontheimer, Gunther-Dietz (1990). "God as King for All: The Sanskrit Malhari Mahatmya and it's context". ใน Hans Bakker (บ.ก.). The History of Sacred Places in India as Reflected in Traditional Literature. BRILL. ISBN 9004093184. p.118
  21. Sontheimer, Gunther-Dietz (1989). "Between Ghost and God: Folk Deity of the Deccan". ใน Alf Hiltebeitel (บ.ก.). Criminal Gods and Demon Devotees: Essays on the Guardians of Popular Hinduism. SUNY Press. ISBN 0887069819. p.332
  22. "Parvati", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-03, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  23. "Navadurga", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-14, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  24. "Mahavidya", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-14, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  25. "Ashta Lakshmi", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-08-25, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  26. "Matrikas", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-22, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  27. "Shakambhari", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-19, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  28. "Bhramari", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-08-03, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
  29. 29.0 29.1 พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2548. หน้า 78-79.