สนามเป้า
สนามเป้า เป็นย่านหนึ่งในกรุงเทพมหานครบริเวณถนนพหลโยธิน
ในอดีตบริเวณสนามเป้ามีสภาพเป็นที่ลุ่ม พื้นที่ตรงปลายสุดของถนนพญาไท ยังเป็นที่เปลี่ยว จึงใช้เป็นสนามยิงปืน เรียกกันว่า สนามเป้า[1] เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของกองทัพไทย จึงเลือกพื้นที่ทางทิศเหนือชานพระนคร ที่มีสภาพเป็นที่ดอน เป็นที่ตั้งสนามบินแห่งแรกของไทย คือท่าอากาศยานดอนเมือง ด้วยเหตุนี้จึงมีการตัดถนนไปยังดอนเมือง เริ่มจากปลายถนนพญาไท ตรงจุดตัดถนนราชวิถี บริเวณสนามเป้า ไปจนถึงสนามบินดอนเมือง มีความยาว 22 กิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2479 เรียกชื่อถนนว่า ถนนประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น ถนนพหลโยธิน
ขอบเขตสนามยิงปืนนั้นกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ตรงปลายสุดของถนนพญาไท จากแผนที่กรุงเทพฯ ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ตัดถนนพหลโยธิน พบว่ามีสนามยิงปืน หรือเรียกสนามเป้าอยู่อย่างน้อย 2 จุดในที่ทหาร อีกจุดหนึ่งหากเทียบกับสถานที่ในปัจจุบันคือตึกเพริล์แบงค็อก บริเวณย่านอารีย์[2] ต่อมาพัฒนาเป็นย่านพักของข้าราชการทหาร นักการเมือง และกลุ่มตระกูลเก่าแก่
ปัจจุบันพื้นที่บริเวณสนามเป้ามีจุดเด่นคือ สถานที่ราชการอย่าง กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ และสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) (วางศิลาฤกษ์เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500) บนพื้นที่ 900 ไร่ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กองทัพบก ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536[3] มีโรงพยาบาลพญาไท 2 ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีสถานีสนามเป้าตั้งอยู่บริเวณย่านนี้ ต่อมามีการเปิดเดอะซีซันส์ มีลักษณะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ปริญญา ตรีน้อยใส. "มองบ้านมองเมือง/ ปริญญา ตรีน้อยใส/ถนนพหลโยธิน". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ "สนามเป้า". หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม.
- ↑ "ย่านวัฒนธรรมเก่าจากรุ่นสู่รุ่น "ย่านสนามเป้า"".
- ↑ "เจ้าของที่ดินตระกูลดังผุดคอมมูนิตี้มอลล์ย่านสนามเป้า".