วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมโยธา (อังกฤษ: civil engineering) เป็นศาสตร์ของสาขาหนึ่งในทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ครอบคลุมการก่อสร้างตึก ตึกระฟ้า อาคาร สะพาน ถนน และระบบขนส่งอื่น ๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น เขื่อน คลอง ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ และการบริหารจัดการการก่อสร้าง งานในทางด้านวิศวกรรมจะเน้นทางด้านการใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ที่ประกอบวิชาชีพในสาขานี้เรียกว่า วิศวกรโยธา หรือเรียกกันว่า นายช่าง ในการทำงานในประเทศไทย ผู้ที่ประกอบวิชาชีพจะขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรเพื่อรับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.) โดยมีการจัดสอบระบบใหม่เริ่มต้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 ด้วยระบบสุ่มข้อสอบทั้งหมดผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (เฉพาะระดับ "ภาคีวิศวกร")
การศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธานั้นนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนี่องจากการ พัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นมีความก้าวหน้าสามารถเรียกได้ว่าเป็น การพัฒนาแบบก้าวกระโดดซึ่งมีผลโดยตรงกับการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธาเช่นกัน ดังนั้นสถาบันการศึกษาหลาย ๆ สถาบันจึงได้มีการปรับปรุงแผนการเรียนการสอนทาง ด้านวิศวกรรมโยธาให้มีความทันสมัยเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านวิศวกรรมโยธา หรือที่เรียกกันว่า “วิศวกรโยธา” ที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น
วิศวกรรมโยธาเป็นสาขาวิศวกรรมที่เก่าแก่ที่สุด โดยตอบสนองความต้องการของสังคม[1]
สาขาย่อย
[แก้]- วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณ สิ่งก่อสร้าง การศึกษาในสาขานี้จะเน้นในทางด้านงานคำนวณวิเคราะห์ ออกแบบโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง และแรงต้านทานของวัสดุ เพื่อหาวัสดุและขนาดของวัสดุที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ งานที่เกี่ยวข้องได้แก่ การก่อสร้างอาคาร เขื่อนหรือสะพาน เป็นต้น
- วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ (Construction Engineering and Management)
- ศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเป็นหลัก โดยเน้นศึกษาทางด้านระบบการสร้างอาคาร การวางแผนงาน การประเมินราคาค่าก่อสร้าง นอกจากนี้ ในบางสถาบันจะมีการสอนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร
- วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering)
- ศึกษาแยกเป็น 2 สาขาหลักคือระบบและวัสดุ โดยงานทางด้านระบบจะเน้นทางด้านการวางผัง การจราจร และการจัดการทางด้านงานจราจร โดยทำการศึกษาถึงประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบถนน สำหรับงานทางด้านวัสดุจะเน้นในการศึกษาวัสดุในการทำถนน ได้แก่ คอนกรีตและยางมะตอย เป็นหลัก โดยศึกษาถึงกรรมวิธีในการสร้างถนนและปรับปรุงถนน
- วิศวกรรมเทคนิคธรณี (Geotechnical engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมของดิน เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธา
- ธรณีวิศวกรรม (Geological engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์ วิศวกรรมของหิน และธรณีวิทยาประยุกต์ เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธาและเหมืองแร่
- วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในน้ำและในอากาศ การปรับปรุงคุณภาพของของเสีย
- วิศวกรรมชลศาสตร์ (hydraulic engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับงานทางด้านแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำฝน และระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างคู คลอง และแม่น้ำ
- วิศวกรรมสำรวจ (Survey Engineering)
- ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำรังวัดและงานทางด้านสำรวจ สำหรับใช้ในทางด้านแผนที่ รวมถึงการศึกษาทางด้าน จีพีเอส (GPS) และ ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics หรือ Geographic information system;GIS)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-12. สืบค้นเมื่อ 2010-03-29.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.)
- ตั้มซีวิล เก็บถาวร 2006-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา และซอฟต์แวร์
- วิศวกรรมธรณี งานสำรวจทดสอบด้านวิศวกรรมธรณีและวิศวกรรมโยธา
- วิศวกรโยธา Civil Engineer เก็บถาวร 2011-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- cu-tep เก็บถาวร 2014-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยศรีปทุม http://www.spu.ac.th/fac/engineer/th/program.php?bid=6[ลิงก์เสีย]