วัดอโยธยา
วัดอโยธยา | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดอโยธยา, วัดเดิม |
ที่ตั้ง | ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระอธิการปัญญาพล ปญฺญาพโล |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดอโยธยา เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเจ้าอาวาส คือ พระครูสังฆรักษ์ปัญญาพล ปญฺญาพโล,ดร.
วัดอโยธยา หรือ วัดเดิม ตาม พงศาวดารเหนือ เชื่อกันว่าบริเวณวัดนี้เคยเป็นพระราชวังสมัยอโยธยามาก่อน ต่อมาเมื่อกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองได้ถวายพื้นที่พระราชวังให้สร้างเป็นวัด ให้ชื่อว่า "วัดเดิม" เป็นศูนย์กลางของเมืองอโยธยา เป็นวัดประจำพระราชวัง "เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร" ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ณ หนองโสน เดิมเป็นพระอารามหลวง โดยพระเจ้าหลวงยกวัดให้เป็นวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดในฝ่ายอรัญวาสี[1] ยังปรากฏชื่อวัดนี้ในจารึกวัดศรีชุม คือ จารึกหลักที่ 2 ในประมวลจารึกไทย ที่สันนิษฐานว่าจารึกโดยพระมหาเถรศรีศรัทธา[2] วัดนี้เป็นวัดที่มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เสด็จประทับอยู่และเป็นวัดที่สำคัญเกี่ยวกับพิชัยสงคราม
เจดีย์มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมหรือทรงลังกาแปดเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม รูประฆังเรียวปากแคบไม่ผายกว้าง องค์ระฆังกลมทำเป็นรูปปูนปั้นกลีบดอกบัวลดหลั่นแปลกตากว่าเจดีย์องค์อื่น ๆ และมีบันไดขึ้นทางด้านหน้าและด้านหลัง เป็นเจดีย์อโยธยารุ่นแรก[3] ซึ่งมีอายุกว่า 500 ปี พงศาวดารเหนือ เล่าว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์นี้ด้วย เมื่อครั้งอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เจดีย์วัดอโยธยาองค์นี้ก็ได้รับความเสียหายจากถูกน้ำขังเป็นเวลานานหลายเดือนตั้งแต่บริเวณรอบฐานรากจนถึงองค์เจดีย์[4] อุโบสถซึ่งได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์บนรากฐานอาคารเดิม ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของวัดเป็นที่ตั้งของวิหารซึ่งถูกปกคลุมด้วยเนินดิน[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดอโยธยา". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดอโยธยา (วัดเดิม)".
- ↑ "วัดอโยธยา". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
- ↑ "เจดีย์วัดอโยธยา". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
- ↑ "วัดอโยธยา (วัดเดิม)". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.