ข้ามไปเนื้อหา

วัฒนธรรมลาแตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัฒนธรรมลาแตน
ภูมิภาคยุโรปตะวันตกและยุโรปกลาง
สมัยยุคเหล็ก
ช่วงเวลาประมาณ 450 ก่อน ค.ศ. — ประมาณ 1 ก่อน ค.ศ.
แหล่งโบราณคดีต้นแบบลาแตน เนอชาแตล
ก่อนหน้าวัฒนธรรมฮัลชตัท
ถัดไปสาธารณรัฐโรมัน, จักรวรรดิโรมัน, โรมันกอล, บริเตนสมัยโรมัน, ฮิสปานิอา, แกร์มานิอา, เรเทีย, นอริคัม
แผนที่แสดงบริเวณวัฒนธรรมฮัลชตัทและวัฒนธรรมลาแตน ศูนย์กลางของดินแดนฮัลล์ชตัทท์ (ปี 800 ก่อนคริสต์ศักราช) สีเหลือเข้ม, ดินแดนที่ได้รับอิทธิพลในปี 500 ก่อนคริสต์ศักราช สีเหลืองอ่อน ศูนย์กลางของวัฒนธรรมลาแตน (ปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช) สีเขียวเข้ม และดินแดนที่วัฒนธรรมลาแตนมามีอิทธิพลต่อเมื่อมาถึง ปี 50 ก่อนคริสต์ศักราชสีเขียวอ่อน ดินแดนของกลุ่มชนเคลต์ที่สำคัญมีชื่อระบุ

วัฒนธรรมลาแตน (อังกฤษ: La Tène culture) เป็นวัฒนธรรมยุคเหล็กของยุโรปที่ตั้งชื่อตามแหล่งโบราณคดีที่ลาแตนบนฝั่งเหนือของทะเลสาบเนอชาแตลในสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นที่พบสิ่งของมีค่าทางโบราณคดีจำนวนมากมายโดยฮันสลี ค็อพพ์ ในปี ค.ศ. 1857 วัฒนธรรมลาแตนเคลตสเครุ่งเรืองระหว่างปลายยุคเหล็ก (ตั้งแต่ปี 450 ก่อนคริสต์ศักราชมาจนถึงการพิชิตของโรมันใน ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช) ในบริเวณตะวันออกของฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และฮังการี ทางตอนเหนือไปจรดกับวัฒนธรรมยาสตอร์ฟของเยอรมนีตอนเหนือ[1] วัฒนธรรมลาแตนเจริญขึ้นมาจากวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ของยุคเหล็กตอนต้น โดยไม่มีการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัด และเป็นวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลพอประมาณจากเมดิเตอร์เรเนียนจากกรีกในภูมิภาคกอลก่อนสมัยโรมันและต่อมาอารยธรรมอีทรัสคัน[2] การโยกย้ายศูนย์กลางของที่ตั้งถิ่นฐานเริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 4

โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมลาแตนพบในบริเวณอันกว้างไกลที่รวมไปถึงบางส่วนของไอร์แลนด์และบริเตนใหญ่ (หมู่บ้านริมทะเลสาบกลาสตันบรีในอังกฤษเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับวัฒนธรรมลาแตน), ทางตอนเหนือของสเปน ภูมิภาคเบอร์กันดี และ ออสเตรีย สถานที่ฝังศพอันหรูหราก็เป็นเครื่องแสดงเครือข่ายของการค้าอันกว้างไกล เช่นเนินบรรจุศพวีซ์ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่ฝังศพของสตรีสูงศักดิ์จากศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราชที่ถูกฝังพร้อมด้วยไหคอลดรอนสำริดที่ทำในกรีซ สินค้าออกของจากบริเวณวัฒนธรรมลาแตนไปยังบริเวณวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียนก็จะมีเกลือ ดีบุก ทองแดง อำพัน ขนแกะ หนัง ขนสัตว์ และทองคำ


ข้อขัดแย้งเรื่องที่ตั้งของแหล่งวัฒนธรรมลาแตน

[แก้]
กระจกจากศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราชที่พบที่เดสบะระ, นอร์ทแทมป์ตันเชอร์ที่เป็นลวดลายขมวดก้นหอยและทรัมเป็ต

แม้ว่ายังไม่อาจจะตกลงกันได้ถึงจุดเริ่มต้นที่แน่นอนของแหล่งวัฒนธรรมลาแตน แต่โดยทั่วไปแล้วก็เห็นพ้องกันว่าศูนย์กลางของวัฒนธรรมตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือสุดของดินแดนของวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์, ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์, ภายในบริเวณภูมิภาคระหว่างลุ่มแม่น้ำมาร์นและมอแซลทางตะวันตก และในบริเวณที่ปัจจุบันคือบาวาเรียและออสเตรียทางตะวันออก แต่ในปี ค.ศ. 1994 ก็ได้มีการพบที่ฝังศพของชนชั้นสูงของต้นศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราชที่เกลาแบร์กในรัฐเฮ็สเซิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแฟรงก์เฟิร์ต ในบริเวณที่เดิมเห็นกันว่าบริเวณที่เป็นปริมณฑลของอิทธิพลของวัฒนธรรมลาแตน[3]

ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชลาแตนขยายตัวจากบริเวณที่ตั้งถิ่นฐานออกไปยังฮิสปาเนีย, ลุ่มแม่น้ำโป, คาบสมุทรบอลข่าน และออกไปไกลถึงอานาโตเลีย ในช่วงเวลาที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่เป็นระยะ ๆ ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราชกองทัพกอลที่นำโดยเบรนนัสก็รุกรานเข้าไปยังกรุงโรมและยึดตัวเมือง กลุ่มทหารกอลรณรงค์ไปจนถึงกรีซและมีท่าทีที่จะเป็นอันตรายต่อประกาศกแห่งเดลฟี ขณะกลุ่มอื่นขยายอำนาจและเข้าไปยังตั้งถิ่นฐานในกาเลเชียในอานาโตเลีย

บริบทของสมัยวัฒนธรรม

[แก้]

ความสัมพันธ์กับบริเวณอื่นของวัฒนธรรมลาแตนจะเห็นได้จากโบราณวัตถุจากต่างแดนที่ฝังไว้ในหลุมศพของชนชั้นสูง อิทธิพลที่มีต่อลักษณะของงานศิลปะของวัฒนธรรมลาแตนก็ได้แก่จากอารยธรรมอีทรัสคัน, กลุ่มชนอิตาลิคโบราณ, ศิลปะยุคกรีก และซิทเธีย เครื่องปั้นดินเผาของกรีกที่สามารถบ่งเวลาที่สร้างได้ที่พบในแหล่งโบราณคดีลาแตน และการวิจัยด้วยการฉายความร้อน (thermoluminescence) และ กาลานุกรมต้นไม้ ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาของลำดับงานของแหล่งโบราณคดีลาแตนบางแหล่ง

ประวัติของวัฒนธรรม ลาแตนเดิมแบ่งออกเป็น “ตอนต้น” (ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช), “ตอนกลาง” (ราว 450-100 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และ “ตอนปลาย” (ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราช) จนเมื่อมาถูกรุกรานโดยโรมันที่เป็นการสิ้นสุดของวัฒนธรรม แต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวัฒนธรรมมิได้สะท้อนออกมาในรูปของโครงสร้างทางสังคม-การเมือง และความเกี่ยวโยงของโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมทางด้านภาษาศาสตร์ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่

ชาติพันธุ์

[แก้]

ความรู้ที่เราทราบเกี่ยวกับบริเวณวัฒนธรรมลาแตนมาจากแหล่งข้อมูลสามแหล่ง: จากหลักฐานทางโบราณคดี, จากวรรณกรรมกรีกและละติน และ จากหลักฐานที่ออกจะเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันนั่นคือหลักฐานจากการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ ที่กล่าวว่าลักษณะของศิลปะและวัฒนธรรมของลาแตนปรากฏในบริเวณที่ตามปกติแล้วเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของบริเวณของเคลต์ของทางตะวันตกสุดของยุโรป ประชาคมที่ระบุทางโบราณคดีว่าเป็นของโบราณวัตถุทางโบราณคดีของลาแตน ก็ได้รับการกล่าวถึงโดยนักเขียนกรีกและโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมาว่าเป็น “keltoi” (เคลต์) และ “galli” (กอล) นักประวัติศาสตร์เฮโรโดทัสบันทึกว่า “keltoi” อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบที่เป็นใจกลางของโบราณวัตถุทางโบราณคดีของลาแตน แต่ที่ว่าวัฒนธรรมลาแตนทั้งหมดอาจจะระบุว่าเป็นอารยธรรมของกลุ่มชนเคลต์ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก นักโบราณคดีพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะสรุปว่าภาษา, โบราณวัตถุทางโบราณคดี, วัฒนธรรม และ ความสัมพันธ์ทางการเมืองไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นด้วยกันในเวลาเดียวกัน เฟรย์ (เฟรย์ ค.ศ. 2004) ตั้งข้อสังเกตว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 5 “ประเพณีการฝังศพของกลุ่มเคลต์ไม่มีความเป็นแบบแผนเดียวกันในแต่ละภูมิภาค แต่จะเป็นธรรมเนียมนิยมของท้องถิ่นที่มีความเชื่อของตนเองที่ต่างจากกลุ่มอื่น ซึ่งเป็นผลทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป” และในบางกรณีแหล่งโบราณคดีของลาแตนก็ผสมผสานกับวัฒนธรรมสลาฟ

โบราณวัตถุทางโบราณคดี

[แก้]

งานโลหะของลาแตนที่ทำด้วยสำริด, เหล็ก และ ทองคำวิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ ลักษณะงานจะเป็นงานสลักและฝังประดับอย่างละเอียดเป็นก้นหอยและลายสอดประสาน บนภาชนะสำริด, หมวกเกราะและโล่ และ เครื่องประดับอัญมณี โดยเฉพาะสร้อยคอที่เรียกว่า แหวนคอ (torc) และเข็มกลัดประดับที่เรียกว่า “เข็มกลัดตรึง” ที่มีทรงที่มีรูปแบบเป็นสัตว์ที่โก่งตัวหรือพืช ที่สัมพันธ์กับธรรมนิยมในการสร้างลวดลายเรขาคณิตของวัฒนธรรมฮัลล์ชตัทท์ ลักษณะงานสมัยแรกของศิลปะลาแตนส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งของที่มีลักษณะแบบสถิตย์และมีลวดลายเรขาคณิต แต่ต่อมางานก็วิวัฒนาการไปเป็นแบบที่ประกอบด้วยลักษณะที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวได้ ลักษณะย่อยบางอย่างก็เป็นลักษณะที่มาสร้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นลายงูยักษ์แห่งวอลดาลเจสไฮม์[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. The Jastorf culture is the southern part of the Pre-Roman Iron Age of the north.
  2. European prehistory: a survey Sarunas Milisauskas p.354
  3. Mystery of the Celts.
  4. Harding, D.W. The Archaeology of Celtic Art. New York: Routledge, 2007. Print.

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Cunliffe, Barry. The Ancient Celts. Oxford: Oxford University Press. 1997
  • Collis, John. The Celts: Origins, Myths, Invention. London: Tempus, 2003.
  • James, Simon. The Atlantic Celts. London: British Museum Press, 1999.
  • James, Simon, and Valery Rigby. Britain and the Celtic Iron Age. London: British Museum Press, 1997.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัฒนธรรมลาแตน