มิดเดิลเอิร์ธ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
มิดเดิ้ลเอิร์ธ (Middle-earth) หรือ มัชฌิมโลก หมายถึงสถานที่ในนิยายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน อันเป็นฉากหลังของเรื่องราวตำนานทั้งหลายในงานเขียนของโทลคีน ปกรณัมของโทลคีนมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข้าควบคุมและครอบครองโลก (ในตำนานเรียกว่า "อาร์ดา") ซึ่งมีทวีปหลักชื่อว่า "มิดเดิลเอิร์ธ" เป็นที่อยู่อาศัยของพวก 'มรรตัยชน' (คือมนุษย์ที่รู้ตาย) เป็นสถานที่ตรงข้ามกับ "อามัน" หรือ 'แดนอมตะ' อันเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกวาลาร์ กับพวกเอลฟ์ คำนี้มีรากมาจากคำภาษาอังกฤษกลางว่า middel-erde ซึ่งพัฒนามาจากคำในภาษาอังกฤษเก่าว่า middangeard
แก่นสำคัญของงานเขียนของโทลคีนคือเรื่องของการช่วงชิง ควบคุม และครอบครองอำนาจหรือของวิเศษ ทำให้เกิดสงครามขึ้นบนมิดเดิลเอิร์ธหลายครั้งหลายหน คือสงครามระหว่างเหล่าเทพวาลาร์ เอลฟ์ และพันธมิตรชาวมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง กับเทพอสูรเมลคอร์กับบริวาร ได้แก่พวกออร์ค มังกร และมนุษย์ที่เป็นทาสอีกฝ่ายหนึ่ง ในตำนานยุคหลัง เมื่อเมลคอร์สิ้นอำนาจและถูกขับไล่ออกไปจากอาร์ดาแล้ว บทบาทการช่วงชิงนี้ก็ตกไปอยู่กับเซารอน สมุนเอกของเขา เหล่าเทพวาลาร์ได้ยุติบทบาทของตนลงหลังจากที่เมลคอร์สิ้นอำนาจ เพราะการสงครามระหว่างพวกพระองค์ครั้งนั้นได้ทำให้โลกพินาศเสียหายไปมาก อย่างไรก็ดีพวกพระองค์ก็ยังส่ง อิสตาริ หรือเหล่าพ่อมด เข้ามาให้ความช่วยเหลือในการต่อต้านอำนาจของเซารอน อิสตาริที่มีบทบาทมากคือ แกนดัล์ฟพ่อมดเทา และซารูมานพ่อมดขาว แกนดัล์ฟได้ทำงานบรรลุวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี โดยได้ช่วยเหลือชาวมิดเดิลเอิร์ธอย่างถึงที่สุดเพื่อโค่นอำนาจเซารอนลงให้ได้ แต่ซารูมานกลับพ่ายแพ้ต่อความคิดฉ้อฉลแล้วตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ ช่วงชิงอำนาจบนมิดเดิลเอิร์ธแข่งกับเซารอนเสียเอง สำหรับพลเมืองชาวมิดเดิลเอิร์ธพวกอื่นๆ ได้แก่ คนแคระ เอนท์ และฮอบบิท อันเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด
ในการสร้างสรรค์งานของโทลคีน เขาได้จัดทำแผนที่ของมิดเดิลเอิร์ธขึ้นเป็นจำนวนมาก แสดงถึงดินแดนและสถานที่ต่างๆ ที่ตำนานของเขาเอ่ยถึง แผนที่บางส่วนได้รับการตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของเขา แต่ก็ยังมีแผนที่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้ตีพิมพ์เลยจนกระทั่งเขาเสียชีวิตไปแล้ว แผนที่ส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในเรื่อง เดอะฮอบบิท เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน เหตุการณ์ส่วนใหญ่ในยุคที่หนึ่งเกิดขึ้นบนดินแดนที่เรียกชื่อว่า เบเลริอันด์ ดินแดนนี้ต่อมาได้จมลงสู่ทะเลหลังสงครามครั้งใหญ่ระหว่างเทพวาลาร์กับเมลคอร์ คงเหลือแต่เทือกเขาสีน้ำเงินที่ปรากฏอยู่ทางขวาสุดของแผนที่ เป็นจุดเชื่อมต่อเดียวกันกับเทือกเขาสีน้ำเงินที่อยู่ทางด้านซ้ายสุดของแผนที่ในเรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ดินแดนทางด้านตะวันออกของเทือกเขาสีน้ำเงินเป็นที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในยุคที่สองและสาม
โทลคีนบอกว่ามิดเดิ้ลเอิร์ธนั้นคือโลกของเรา เพียงแต่เป็นช่วงเวลาในอดีต โดยประมาณว่าปลายยุคที่สามคือช่วงระยะประมาณ 6,000 ปีก่อนยุคของโทลคีน[1] เขายังบรรยายเขตแดนที่ฮอบบิทอาศัยว่าอยู่ที่ "ตะวันตกเฉียงเหนือของโลกเก่า ทางตะวันออกของทะเลใหญ่",[2] ซึ่งอ้างอิงถึงอังกฤษและเขตตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปอย่างชัดเจน
ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธของโทลคีน ถูกแบ่งออกเป็นหลายยุค เรื่องราวที่ปรากฏใน เดอะฮอบบิท และเรื่องราวใน ลอร์ดออฟเดอะริงส์ เกิดขึ้นในราวปลายยุคที่สาม และนำไปสู่ช่วงเริ่มต้นของยุคที่สี่ ในขณะที่เรื่องราวใน ซิลมาริลลิออน ซึ่งเป็นงานเขียนของโทลคีนเกี่ยวกับมิดเดิลเอิร์ธที่เก่าแก่ที่สุด เป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่ยุคสร้างโลกและยุคที่หนึ่งเป็นส่วนใหญ่
แนวคิดแรกเริ่ม
[แก้]ในตำนานเยอรมันโบราณและ นอร์ส เชื่อกันว่าเอกภพประกอบด้วย "โลก" จำนวนเก้าโลกเชื่อมต่อกัน ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่ามีการเชื่อมต่อกันอย่างไร แต่แนวคิดหนึ่งบอกว่า โลกเจ็ดแห่งวางตัวบนทะเลรายล้อม ได้แก่ ดินแดนของเอลฟ์ (Alfheim) คนแคระ (Niðavellir) พระเจ้า (Asgard กับ Vanaheim) และยักษ์ (Jotunheim กับ Muspelheim) แต่พวกนักปราชญ์นอร์สบอกว่าโลกทั้งเจ็ดนี้อยู่บนท้องฟ้า คืออยู่บนกิ่งก้านของต้นอิกดราซิล "ต้นแอชแห่งพิภพ" ทั้งสองแนวคิดกล่าวถึงโลกของมนุษย์ (ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อต่างๆ กัน เช่น มิดการ์ด, มิดเดนเอม, และมิดเดิ้ลเอิร์ธ) ว่าอยู่ที่ศูนย์กลางของจักรวาล โดยมี Bifröst สะพานสายรุ้ง เชื่อมจากมิดเดิ้ลเอิร์ธไปยังแอสการ์ด ส่วน เฮล ดินแดนแห่งความตายตั้งอยู่ใต้มิดเดิ้ลเอิร์ธ
นิรุกติศาสตร์
[แก้]คำว่า "มิดเดิลเอิร์ธ" ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยโทลคีน แต่เป็นรูปภาษาอังกฤษยุคใหม่ของคำในภาษาอังกฤษกลางว่า middel-erde ซึ่งพัฒนามาอีกทีจากคำในภาษาอังกฤษยุคเก่า middanġeard ("g" ออกเสียงเบาๆ เหมือนเสียง ย ในคำว่า "yard" (ยาร์ด)[3][4]) ในช่วงอังกฤษยุคกลางนั้นคำว่า middangeard มีการเขียนอยู่หลายแบบเช่น middellærd, midden-erde หรือ middel-erde ครั้นเวลาต่อมาจึงมีการสะกดผิดเพี้ยนไปเล็กน้อยแต่ไม่ได้เปลี่ยนความหมาย คำว่า middangeard มีความหมายจริง ๆ ว่า "เปลือกหุ้มชั้นกลาง" แทนที่จะเป็น "โลกตรงกลาง" (middle-earth)[5] อย่างไรก็ตามคำว่า middangeard มักนิยมแปลออกมาว่า "middle-earth" และโทลคีนก็ยึดถือเอาแนวคิดนี้มาใช้
Middangeard มาจากคำภาษาเยอรมันในยุคก่อนหน้าและมีรากศัพท์ในภาษาซึ่งสัมพันธ์กับภาษาอังกฤษยุคเก่า เช่น คำภาษานอร์สยุคเก่า Miðgarðr จาก ตำนานนอร์ส ซึ่งถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษว่า Midgard
มิดเดิ้ลเอิร์ธของโทลคีน
[แก้]โทลคีนพบคำว่า middangeard ในส่วนหนึ่งของบทกวีภาษาอังกฤษยุคเก่าที่เขาศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2457:
- éala éarendel engla beorhtast / ofer middangeard monnum sended.
- โอ เออาเรนเดล สว่างเหนือปวงเทวา / เหนือถิ่นหล้ามิดเดิ้ลเอิร์ธสู่มวลมนุษย์
ข้อความนี้มาจากส่วนที่สองของบทกวี Crist โดย Cynewulf ชื่อ เออาเรนเดล เป็นแรงบันดาลใจให้โทลคีนสร้างนักเดินเรือ เออาเรนดิล.[6] ตามปกรณัมของโทลคีน เออาเรนดิลล่องเรือออกจากมิดเดิ้ลเอิร์ธในยุคที่หนึ่ง เพื่อไปของความช่วยเหนือจากเหล่าเทพ หรือ วาลาร์ ในเวลาต่อมา วาลาร์ได้บันดาลให้เรือวิงกิล็อทของเออาเรนดิลล่องอยู่บนฟากฟ้า กลายเป็นดวงดาวแห่งความหวังของเอลฟ์และมนุษย์แห่งมิดเดิ้ลเอิร์ธ [7] โทลคีนเขียนบทกวีชุดแรกของเขาเกี่ยวกับเออาเรนดิลในปี ค.ศ. 1914 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เขาได้อ่านบทกวีของคริสต์ เขาได้เอ่ยถึงสถานที่แห่งหนึ่งว่า "ชายขอบของมัชฌิมโลก" (the mid-world's rim)[8]
สำหรับโทลคีนแล้ว เขาเลือกใช้แนวคิดเกี่ยวกับ middangeard ในลักษณะเดียวกับการใช้คำเฉพาะในภาษากรีกว่า οἰκουμένη - oikoumenē (เป็นที่มาของคำว่า ecumen) โดยที่โทลคีนกล่าวว่า oikoumenē คือ "ที่พักอาศัยของมนุษย์"[9] ซึ่งมีความหมายในทางกายภาพว่าเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์ต้องใช้ชีวิตอยู่และผูกพันชะตาของตนเอาไว้ ตรงกันข้ามกับโลกอื่นที่มองไม่เห็น เช่น สวรรค์ หรือ นรก
อย่างไรก็ตาม คำว่ามิดเดิ้ลเอิร์ธไม่ได้ใช้ในงานเขียนชิ้นแรกสุดของโทลคีนเกี่ยวกับโลกที่เขาสร้างขึ้น งานเขียนจากต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1920 และตีพิมพ์ต่อมาใน The Book of Lost Tales (2526-7) แม้กระทั่งใน เดอะฮอบบิท (2480).[8] โทลคีนเริ่มใช้คำว่า "มิดเดิ้ลเอิร์ธ" ในงานยุคหลังจากปีคริสต์ศักราช 1930 แทนที่คำก่อนหน้าเช่น "แผ่นดินใหญ่" (Great Lands), "แผ่นดินนอก" (Outer Lands) และ "ฮิเธอร์แลนด์" (Hither Lands) ที่เขาเคยใช้บรรยายดินแดนในเรื่องของเขา[8] คำว่า 'มิดเดิ้ลเอิร์ธ' มีปรากฏอยู่ในชุดร่างของ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมถึงในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกของเรื่อง ก็ปรากฏคำว่า 'มิดเดิ้ลเอิร์ธ' ในบทนำ : "...Hobbits had, in fact, lived quietly in Middle-earth for many long years before other folk even became aware of them."[2]
คำว่ามิดเดิลเอิร์ธยังสามารถนำมาใช้เรียกเป็นชื่อทั่วไปสำหรับผลงานการสร้างทั้งหมดของโทลคีน แทนที่คำที่มีความหมายถูกต้องแต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น อาร์ดา ซึ่งหมายถึงโลกจริงๆ ทั้งหมดของโทลคีน (รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ ในท้องฟ้า) หรือ เออา ซึ่งหมายถึงจักรวาล เราสามารถพบคำว่ามิดเดิลเอิร์ธได้ในชื่อหนังสือเช่น The Complete Guide to Middle-earth, The Road to Middle-earth, The Atlas of Middle-earth และโดยเฉพาะในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ ทั้งหมดนี้ครอบคลุมพื้นที่นอกเหนือจากนิยามทางภูมิศาสตร์ที่จำกัดในคำว่า มิดเดิลเอิร์ธอีกด้วย
คำว่า "Middle-earth" บางครั้งเขียนนำเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เป็น "Middle-Earth"[10] และบางครั้งก็ละเครื่องหมายยัติภังค์ซึ่งผิดเช่นกัน เช่น "Middle Earth", "Middle earth" และ "Middleearth"
ภูมิศาสตร์
[แก้]ในส่วนของบริบทโดยรวมในปกรณัมของเขา มิดเดิ้ลเอิร์ธของโทลคีนเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่ง อาร์ดา ที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างที่กว้างใหญ่กว่าที่เรียกว่า เออา
"มิดเดิลเอิร์ธ" ถูกใช้อย่างเจาะจงเพื่อบรรยายดินแดนทางตะวันออกของทะเลใหญ่ (เบเลกายร์) จึงไม่รวม ทวีปอามัน แต่รวม ฮารัด และดินแดนแห่งความตายอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเรื่องของโทลคีน อย่างไรก็ตามโทลคีนไม่ได้ระบุภูมิศาสตร์สำหรับโลกที่เกี่ยวข้องกับ ตีพิมพ์เป็นแผ่นพับหรือภาพประกอบใน เดอะฮอบบิท ลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน แนวคิดแรกเริ่มของแผนที่ที่ให้ไว้ใน ซิลมาริลลิออน และ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ถูกรวมในหลายเล่ม รวมทั้ง "The First Silmarillion Map" ใน The Shaping of Middle-earth, "The First Map of the Lord of the Rings" ใน ไอเซนการ์ดทรยศ, "The Second Map (West)" และ "The Second Map (East)" ใน สงครามแหวน และ "The Second Map of Middle-earth west of the Blue Mountains" (รู้จักในชื่อ "The Second Silmarillion Map") ใน สงครามแห่งอัญมณี
ในเรื่องของเขา โทลคีนแปลชื่อ "มิดเดิ้ลเอิร์ธ" เป็น เอนดอร์ (Endor) (หรือบางครั้งเป็น Endórë) และ Ennor ใน ภาษาเอลฟ์ เควนยา และ ซินดาริน ตามลำดับ Endor แต่เดิมมีลักษณะสมมาตรอย่างยิ่ง แต่ต่อมาถูกเมลคอร์ทำลายลง ความสมมาตรนิยามโดยทวีปย่อยขนาดใหญ่สองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ทางเหนือและอีกส่วนหนึ่งอยู่ทางใต้ ซึ่งแต่ละอันต่างมีเทือกเขายาวสองเทือกในเขตตะวันออกและตะวันตก เทือกเขาเหล่านั้นตั้งชื่อตามสี (เทือกเขาขาว, เทือกเขาสีน้ำเงิน, เทือกเขาสีเทา, และเทือกเขาสีแดง)
ความขัดแย้งเนื่องจากเมลคอร์ทำให้รูปร่างของแผ่นดินบิดเบี้ยวไป แต่เดิมนั้นมีผืนน้ำในแผ่นดินอันเดียว ณ ตรงกลางของสิ่งที่ถูกตั้งเป็นเกาะแห่งอัลมาเรน อันเป็นที่ที่วาลาร์อาศัยอยู่ เมื่อเมลคอร์ทำลายตะเกียงของวาลาร์ซึ่งให้แสงสว่างแก่โลก ทะเลขนาดใหญ่สองแห่งก็เกิดขึ้น แต่อัลมาเรนและทะเลสาบของมันถูกทำลาย ทะเลทางเหนือกลายเป็น ทะเลเฮลคาร์ ดินแดนทางตะวันตกของเทือกเขาสีน้ำเงินกลายเป็น เบเลริอันด์ เมลคอร์ยังสร้างเทือกเขามิสตี้ขึ้นมาเพื่อกีดขวางงานของวาลาร์โอโรเม เมื่อเขาพยายามล่าสัตว์ร้ายของเมลคอร์ในช่วงยุคแห่งความมืดก่อนการตื่นของเอลฟ์
การต่อสู้อันทารุณในช่วง สงครามแห่งความโกรธา ระหว่างพันธมิตรแห่งวาลาร์กับกองทัพของเมลคอร์ ณ ปลายยุคแรกนำมาซึ่งการล่มสลายของเบเลริอันด์ เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานั้น ทะเลในแผ่นดิน เฮลคาร์ ได้เหือดแห้งไป
โลกส่วนที่ไม่รวมเทหวัตถุที่เกี่ยวข้อง ถูกเรียกโดยโทลคีนว่า "อัมบาร์" (Ambar) ในหลายเล่ม แต่ก็ถูกเรียกเป็น "อิมบาร์" (Imbar) คือที่อยู่อาศัย ในหนังสือยุคหลัง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ จากช่วงเวลาที่ตะเกียงทั้งสองถูกทำลายจนกระทั่งเวลาการตกต่ำของนูเมนอร์ อัมบาร์ถือว่าเป็น "โลกแบนราบ" ที่ดินแดนอยู่อาศัยทั้งหลายวางตัวบนด้านเดียวกันของโลก ภาพสเกตซ์ของเขาแสดงพื้นเหมือนจานสำหรับโลกซึ่งเงยขึ้นไปยังดวงดาว ทวีปตะวันตก คือ อามัน อันเป็นบ้านของวาลาร์ (และ เอลดาร์) ดินแดนตรงกลาง คือ เอนดอร์ ถูกเรียกเป็น มิดเดิ้ลเอิร์ธ และยังเป็นที่ตั้งของเรื่องราวส่วนใหญ่ของโทลคีน ส่วนดินแดนทางตะวันออกไม่มีใครอาศัยอยู่
เมื่อเมลคอร์วางยาพิษต้นไม้แห่งวาลาร์ทั้งสองและข้ามจากอามันกลับมาสู่เอนดอร์ วาลาร์ได้สร้างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งเป็นวัตถุที่แยกออกมา (จากอัมบาร์) แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาร์ดา (ขอบเขตของ บุตรแห่งอิลูวาทาร์) หลายปีหลังจากที่ตีพิมพ์ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในบันทึกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าที่แยกออกมา "Athrabeth Finrod ah Andreth" (ซึ่งเล่าว่าเกิดขึ้นในเบเลริอันด์ ในช่วง สงครามชิงอัญมณี) โทลคีนเปรียบอาร์ดาเป็นระบบสุริยะ เพราะอาร์ดาในจุดนี้ประกอบด้วยวัตถุบนท้องฟ้ามากกว่าหนึ่งดวง
ตามเนื้อความในทั้ง ซิลมาริลลิออน และ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ เมื่อ อาร์-ฟาราโซน บุกรุกอามันเพื่อแย่งความเป็นอมตะจากวาลาร์ พวกเขาประกาศความคุ้มครองโลกและ อิลูวาทาร์ เข้าแทรก ทำลายนูเมนอร์ ย้ายอามัน "จากวงกลมของโลก" และเปลี่ยนรูปอัมบาร์เป็นโลกกลมแบบทุกวันนี้ อคัลลาเบธ กล่าวว่าชาวนูเมนอร์ผู้รอดจากการล่มสลายล่องเรือไปตะวันตกให้ไกลสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อหาบ้านในยุคโบราณของเขา แต่การเดินทางนั้นนำเขาไปรอบโลกและกลับมาที่จุดเริ่มต้น กล่าวคือ ก่อนจบยุคที่สอง การเปลี่ยนจาก "โลกแบน" เป็น "โลกกลม" ได้สมบูรณ์แล้ว
มิดเดิลเอิร์ธในยุคที่หนึ่ง
[แก้]เรื่องราวในยุคที่หนึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนดินแดนสุดตะวันตกของทวีปมิดเดิลเอิร์ธที่มีชื่อว่า แผ่นดินเบเลริอันด์ ด้านตะวันตกจรดมหาสมุทรใหญ่ (เบเลกายร์) ด้านตะวันออกมีเทือกเขาสีน้ำเงินเป็นกำแพงธรรมชาติ ด้านเหนือจรดทุ่งกว้างอาร์ด-กาเลน ซึ่งเป็นเขตรอยต่อกับอาณาจักรอังก์บันด์ของเมลคอร์ที่อยู่ทางเหนือ และด้านใต้จรดป่าใหญ่โดยมีอาร์แวนิเอนเป็นดินแดนปลายสุด ในแผ่นดินเบเลริอันด์มีแม่น้ำหลักที่สำคัญสองสายคือ แม่น้ำซิริออนเป็นแม่น้ำใหญ่ที่สุด และแม่น้ำเกลิออนที่แคบกว่าแต่ยาวที่สุด
เบเลริอันด์ในยุคที่หนึ่งเป็นดินแดนที่ตั้งอาณาจักรของเอลฟ์มากมาย ได้แก่ อาณาจักรโดริอัธของกษัตริย์ธิงโกล อาณาจักรกอนโดลินของทัวร์กอน อาณาจักรนาร์โกธรอนด์ของฟินร็อด เฟลากุนด์ เป็นต้น นอกจากนี้มีอาณาจักรเอลฟ์อื่นๆ กระจายอยู่ทั่วไป เช่นอาณาจักรฮิธลุม ดอร์โธนิออน เนฟรัสต์ ฟาลัส และเขตที่ราบเจ็ดแม่น้ำเชิงเทือกเขาสีน้ำเงินซึ่งมีชื่อว่า ออสซิริอันด์ ดินแดนแห่งพวกกรีนเอลฟ์ และเป็นที่พำนักในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเบเรนกับลูธิเอน เบเลริอันด์ยังมีชนเผ่าอื่นๆ อาศัยร่วมอยู่ด้วย เช่นเหล่ามนุษย์ผู้สวามิภักดิ์กับเอลฟ์ตระกูลต่างๆ อิสระชนแห่งป่าเบรธิล นอกจากนี้บนเทือกเขาสีน้ำเงินก็เป็นที่ตั้งนครใหญ่ของคนแคระอีกสองแห่ง คือนครเบเลกอสต์กับโนกร็อด
การสงครามครั้งใหญ่ในช่วงปลายของยุคที่หนึ่งระหว่างเหล่าเทพวาลาร์กับเทพอสูรเมลคอร์ ที่เรียกชื่อว่า "สงครามแห่งพระพิโรธ" ทำให้แผ่นดินได้รับความเสียหายมากจนแผ่นดินเบเลริอันด์จมลงสู่ใต้ทะเล คงแต่เพียงเกาะแก่งบางส่วนเช่น โทลมอร์เวน เท่านั้น
มิดเดิลเอิร์ธในยุคที่สองและสาม
[แก้]ในยุคที่สองและสาม แผ่นดินตะวันตกของทวีปมิดเดิลเอิร์ธได้แก่ แผ่นดินเอเรียดอร์ กอนดอร์ เทือกเขามิสตี้ และดินแดนปากแม่น้ำอันดูอิน เอเรียดอร์เป็นดินแดนที่อยู่ถัดจากเทือกเขาสีน้ำเงินออกมาทางตะวันออก โดยบรรจบชายทะเลที่เมืองท่าเกรย์เฮเว่นส์ ถัดออกมาทางตะวันออกเป็นอาณาจักรอาร์นอร์ หรืออาณาจักรเหนือของเหล่ามนุษย์แห่งดูเนไดน์ผู้รอดชีวิตมาจากการล่มเกาะนูเมนอร์ ส่วนหนึ่งของอาร์นอร์เป็นแว่นแคว้นไชร์ของเหล่าฮอบบิท ถัดจากแคว้นไชร์เป็นเมืองบรีซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทาง จากนั้นเป็นอิมลาดริส อาณาจักรเอลฟ์ผู้ลี้ภัยในความคุ้มครองของเอลรอนด์ ตั้งอยู่เชิงขุนเขาทางตะวันตกของเทือกเขามิสตี้ อันเป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดบนมิดเดิลเอิร์ธ
ใต้เทือกเขามิสตี้เป็นที่ตั้งมหานครของคนแคระชื่อว่า คาซัดดูม หรือ มอเรีย ทางด้านใต้ของเทือกเขาเป็นดินแดนไอเซนการ์ดของซารูมานพ่อมดขาว ติดกับอาณาจักรโรฮันซึ่งทอดตัวอยู่ในช่องแคบโรฮันระหว่างเทือกเขามิสตี้กับเทือกเขาขาว ฟากตะวันออกของเทือกเขามิสตี้เป็นแผ่นดินโรห์วานิออน มีแม่น้ำใหญ่อันดูอินไหลผ่านจากเหนือลงใต้ ฟากตะวันตกของแม่น้ำเป็นที่ตั้งของลอธลอริเอน อาณาจักรเอลฟ์ในความคุ้มครองของเลดี้กาลาเดรียล ส่วนฟากตะวันออกเป็นป่าใหญ่กรีนวู้ด หรือป่าเมิร์กวู้ด อาณาจักรเอลฟ์ของธรันดูอิล ซึ่งอยู่ใกล้กันกับอาณาจักรเอเรบอร์ของเหล่าคนแคระกับอาณาจักรเดลของชาวมนุษย์ ที่ซึ่งมังกรสม็อกมาก่อความเดือดร้อนจนเกิดเป็นสงครามห้าทัพในเรื่อง เดอะฮอบบิท
ใต้ลงไปเชิงเทือกเขามิสตี้เป็นที่ตั้งของป่าฟังกอร์น ซึ่งบรรจบกับอาณาจักรโรฮัน ถัดไปจากนั้นเป็นอาณาจักรกอนดอร์ หรืออาณาจักรใต้ของชาวดูเนไดน์ซึ่งเป็นอาณาจักรพี่น้องกับอาร์นอร์ในทางเหนือ กอนดอร์กินอาณาบริเวณครอบคลุมลงไปจนจรดปากแม่น้ำอันดูอิน มีเมืองท่าเพลาเกียร์เป็นเมืองใหญ่ ฟากตะวันออกของกอนดอร์เป็นเทือกเขาแห่งเงาและเทือกเขาเอเฟลดูอัธ ซึ่งเป็นปราการธรรมชาติที่กั้นขวางอาณาจักรมอร์ดอร์ของเซารอนเอาไว้เบื้องหลัง ใต้อาณาจักรมอร์ดอร์ลงไปเป็นดินแดนฮารัดและชนเผ่าทางใต้ ซึ่งมนุษย์ในดินแดนเหล่านี้ล้วนตกอยู่ใต้อาณัติของเซารอนสิ้น
แผนที่
[แก้]โทลคีนได้เตรียมแผนที่ของมิดเดิลเอิร์ธและดินแดนของมิดเดิลเอิร์ธที่ซึ่งเรื่องของเขาดำเนินอยู่หลายแผนที่ บางอันถูกตีพิมพ์ในช่วงชีวิตของเขา แม้ว่าแผนที่แรก ๆ หลายอันไม่ได้ตีพิมพ์หลังจากที่เขาตายแล้ว แผนที่หลัก ๆ ถูกตีพิมพ์ใน ฮอบบิท, ลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน แผนที่ของนูเมนอร์ถูกตีพิมพ์ใน Unfinished Tales
ประวัติศาสตร์
[แก้]ประวัติศาสตร์ของโลกอาร์ดาตามที่ปรากฏในเรื่อง ซิลมาริลลิออน แบ่งออกได้เป็นสี่ยุคใหญ่ ๆ รู้จักกันในนาม ไอนูลินดาเล ยุคแห่งชวาลา ยุคแห่งพฤกษา และ ยุคแห่งตะวัน แต่ประวัติศาสตร์ของมิดเดิลเอิร์ธเริ่มมีการบันทึกไว้ก็เมื่อหลังจากเหล่าเอลฟ์ได้ตื่นขึ้นที่ริมทะเลสาบคุยวิเอเนนในยุคที่หนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในระหว่างยุคแห่งพฤกษา หรือในบทประพันธ์จะเรียกว่าเป็น ยุคบรรพกาล ในระหว่างยุคที่หนึ่งนี้พวกมนุษย์ได้ตื่นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์แรกปรากฏขึ้นบนโลกอันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งตะวัน ซึ่งกินเวลาตลอดช่วงที่เหลือของยุคที่หนึ่ง และต่อเนื่องไปถึงยุคที่สอง ยุคที่สาม ยุคที่สี่ เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ยุคสร้างโลก
[แก้]เทพเจ้าสูงสุดแห่งเอกภพของโทลคีนเรียกว่า เอรู อิลูวาทาร์ ในตอนแรก อิลูวาทาร์ได้สร้างจิตวิญญาณที่มีชื่อว่า ไอนัวร์ และได้สอนวิญญาณเหล่านั้นให้สร้างบทเพลงขึ้น หลังจากที่ไอนัวร์ช่ำชองในความสามารถของแต่ละตนแล้ว อิลูวาทาร์ได้สั่งให้พวกไอนัวร์สร้างบทเพลงอันยิ่งใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บนแนวเพลงที่อิลูวาทาร์ประพันธ์ขึ้น ไอนัวร์ที่มีพลังสูงสุดคือ เมลคอร์ (ต่อมาเรียกว่า มอร์กอธ หรือ "ศัตรูมืด" โดยพวกเอลฟ์) ได้ทำให้เพลงเสียกระบวน อิลูวาทาร์จึงแก้ไขโดยสร้างแนวเพลงที่ปรับปรุงให้ดีเหนือความเข้าใจของไอนัวร์ ก้าวย่างแห่งบทเพลงของพวกเขาได้หว่านเมล็ดของประวัติศาสตร์แห่งเอกภพที่ยังไม่ได้สร้างและผู้ที่จะมาอยู่ ณ ที่นั้น
จากนั้นอิลูวาทาร์จึงหยุดเพลงและเปิดเผยความหมายของบทเพลงแก่ไอนัวร์ผ่านการมองเห็น ด้วยทัศนะเหล่านั้น ไอนูร์หลายตนสัมผัสถึงแรงกระตุ้นที่บีบบังคับให้รับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ โดยตรง อิลูวาทาร์จึงสร้าง เออา (Eä) คือเอกภพ และไอนัวร์บางองค์ก็ลงไปในเอกภพเพื่อร่วมในประสบการณ์แห่งเอกภพ แต่เมื่อเข้าไปในเออา เหล่าไอนัวร์พบว่ามันไร้รูปร่างเพราะพวกเขาเข้าไปที่จุดเริ่มต้นของเวลา ไอนัวร์จึงรับผิดชอบงานอันยิ่งใหญ่ในช่วง "ยุคแห่งดวงดาว" พวกเขาเตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อรับการมาถึงของเอลฟ์และมนุษย์ ไอนัวร์พวกนี้มีชื่อเรียกว่า วาลาร์ ในจำนวนนี้ มานเว เป็นวาลาร์ผู้เป็นหัวหน้า แต่เมลคอร์เป็นผู้ทรงพลังที่สุด
อาร์ดาในตอนแรกเป็นโลกแบน ๆ เหล่าวาลาร์สร้างแสงสว่างโดยการสร้างดวงตะเกียงขนาดใหญ่สองดวง แต่เมลคอร์ทำลายดวงตะเกียงทำให้โลกมืดมน วาลาร์จึงย้ายถิ่นไปอยู่ทางตะวันตกสุดของอาร์ดา พวกเขาสร้างทวิพฤกษาขึ้นใหม่เพื่อให้แสงสว่างแก่แผ่นดินใหม่ของตน วาลาร์ขังเมลคอร์ไว้ และป้องกันแผ่นดินเพื่อเตรียมการสำหรับการตื่นของบุตรแห่งอิลูวาทาร์ แต่เมื่อเมลคอร์พ้นจากการจองจำ เขาก็ทำลายทวิพฤกา วาลาร์จึงได้นำผลที่ยังมีชีวิตสองผลสุดท้ายของต้นไม้ทั้งสองและใช้มันสร้างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาร์ดาแต่แยกตัวออกมาจากอัมบาร์ (โลก)
ยุคแห่งชวาลาเริ่มต้นไม่นานหลังจาก วาลาร์ เสร็จสิ้นงานในการวางรูปร่างอาร์ดา วาลาร์ได้สร้างตะเกียงเพื่อให้แสงสว่างแก่โลก วาลาร์ อาวเล ได้สร้างหอคอยขนาดใหญ่ อันหนึ่งอยู่เหนือสุด อีกอันอยู่ใต้สุด และวาลาร์ได้อาศัยอยู่ตรงกลางบนเกาะแห่งอัลมาเรน การทำลายตะเกียงทั้งสองของเมลคอร์ถือเป็นจุดจบของยุคแห่งชวาลา
หลังจากนั้น ยาวันนา ได้สร้าง ทวิพฤกษา ชื่อว่า เทลเพริออน และ เลาเรลิน ในดินแดนแห่งอามัน เป็นกาลเริ่มต้นยุคแห่งพฤกษา ต้นไม้ทั้งสองส่องสว่างอามันและปล่อยให้ส่วนที่เหลือของอาร์ดาตกอยู่ในความมืด
ยุคที่หนึ่ง
[แก้]ณ จุดเริ่มต้นของยุคแรก เอลฟ์ได้ตื่น ข้างทะเลสาบ คุยวิเอเนน ในทางตะวันออกของเอนดอร์ และวาลาร์ได้ไปพบพวกเขาในไม่ช้า เอลฟ์จำนวนมากถูกชักชวนให้เข้าร่วมการเดินทางครั้งใหญ่ มุ่งสู่ตะวันตกไปยังอามัน แต่พวกเขามิได้เดินทางโดยสำเร็จถ้วนทุกคน(ดู การแบ่งประเภทของเอลฟ์) วาลาร์ได้จองจำเมลคอร์และเขาทำทีว่าสำนึกผิดและหลุดจากการจองจำ เมลคอร์หว่านความขัดแย้งในหมู่เอลฟ์และกระตุ้นให้เกิดการวิวาทระหว่างเจ้าชายเอลฟ์ เฟอานอร์ กับ ฟิงโกลฟิน จากนั้นเมลคอร์ได้สังหารบิดาของพวกเขาคือ กษัตริย์ ฟินเว และขโมย ซิลมาริล อัญมณีสามดวงที่เฟอานอร์สร้าง อันบรรจุแสงแห่งพฤกษาทั้งสอง ไปจากคลังสมบัติของเขา รวมทั้งทำลายทวิพฤกษาด้วย
เฟอานอร์ได้ชักจูงประชาชนของเขา คือชาว โนลดอร์ เพื่อออกจากอามันและไล่ตามเมลคอร์ไปยังเบเลริอันด์ รวมทั้งสาปแช่งเขาด้วยนามว่า มอร์กอธ เฟอานอร์เป็นผู้นำโนลดอร์กลุ่มแรกจากจำนวนสองกลุ่ม กลุ่มที่ใหญ่กว่านำโดยฟิงโกลฟิน เหล่าโนลดอร์หยุดที่เมืองท่าของ เทเลริ นามว่า อัลควาลอนเด แต่ชาวเทเลริไม่ยอมให้เรือแก่พวกเขาเพื่อไปยังมิดเดิลเอิร์ธ สงครามประหัตประหารญาติ ครั้งแรกจึงเกิดขึ้น เฟอานอร์และผู้ติดตามจำนวนมากได้โจมตีชาวเทเลริและขโมยเรือของพวกเขา กองทัพของเฟอานอร์ได้ล่องไปกับเรือที่ขโมยมา ปล่อยให้กองทัพของฟิงโกลฟินข้ามไปมิดเดิลเอิร์ธผ่านแดนมฤตยู เฮลคารัคเซ (หรือทุ่งน้ำแข็งหฤโหด) ซึ่งอยู่ทางเหนือไกลออกไป ต่อมาเฟอานอร์ถูกสังหาร แต่บุตรชายส่วนใหญ่ของเขารอดตายและก่อตั้งอาณาจักรของตนขึ้น เช่นเดียวกับฟิงโกลฟินและทายาทของเขา
ยุคแห่งตะวันเริ่มต้นเมื่อวาลาร์ได้สร้างดวงอาทิตย์ลอยขึ้นเหนือโลก คือ อิมบาร์ หลังจากการต่อสู้ครั้งใหญ่หลายครั้ง จึงเกิด ยุคแห่งสันติสุขอันยาวนาน เป็นเวลาสี่ร้อยปี มนุษย์กลุ่มแรกได้มาถึงแผ่นดินเบเลริอันด์ในช่วงยุคนั้น โดยข้าม เทือกเขาสีน้ำเงิน มา เมื่อมอร์กอธเอาชนะ วงล้อมแห่งอังก์บันด์ ได้ อาณาจักรของเอลฟ์ก็ล่มสลายไปทีละอาณาจักร แม้กระทั่งเมืองเร้นลับแห่ง กอนโดลิน ความสำเร็จที่สำคัญโดยเอลฟ์และมนุษย์มาถึงเพียงครั้งเดียวเมื่อเบเรนชาวเอไดน์ และลูธิเอน ธิดาของ ธิงโกล และ เมลิอัน ชิงซิลมาริลดวงหนึ่งมาจากมงกุฏของมอร์กอธได้ เบเรนและลูธิเอนตายหลังเหตุการณ์นั้น แต่ได้รับการชุบชีวิตจากวาลาร์ด้วยข้อตกลงว่า ลูธิเอนจะสูญสิ้นความเป็นอมตะ และเบเรนจะต้องไม่พบกับมนุษย์อีก
ธิงโกลทะเลาะกับคนแคระแห่งโนกร็อด และพวกเขาได้ฆ่าธิงโกลรวมทั้งขโมยซิลมาริลไป ด้วยความช่วยเหลือของเอนท์ เบเรนได้จัดการกับคนแคระและชิงซิลมาริลมาได้ซึ่งเขาให้กับลูธิเอน ไม่ช้าหลังจากนั้น ทั้งเบเรนและลูธิเอนก็ตายไป ส่วนซิลมาริลนั้นถูกส่งต่อให้ลูกชายของพวกเขา คือ ดิออร์ เอลฟ์กึ่งมนุษย์ ผู้กอบกู้อาณาจักรแห่ง โดริอัธ เหล่าลูกชายของเฟอานอร์สั่งว่า ดิออร์ต้องมอบซิลมาริลแก่พวกเขาและเขากลับปฏิเสธ ชาวเฟอานอร์จึงทำลายโดริอัธ และฆ่าดิออร์ในสงครามสังหารญาติครั้งที่สอง แต่ลูกสาวของดิออร์ที่ยังเล็กคือ เอลวิง ได้หนีไปพร้อมกับดวงมณี ลูกชายสามคนของเฟอานอร์ คือ เคเลกอร์ม, คูรูฟิน และ คารันเธียร์ ตายขณะที่พยายามนำอัญมณีคืนมา
ในตอนท้ายของยุคนี้ พวกเอลฟ์และมนุษย์อิสรชนที่เหลือในเบเลริอันด์ได้ตั้งหลักปักฐาน ณ ปากแม่น้ำซิริออน ในกลุ่มนั้นมีเออาเรนดิลซึ่งแต่งงานกับ เอลวิง รวมอยู่ด้วย แต่ชาวเฟอานอร์สั่งอีกเช่นเดิมว่าซิลมาริลต้องกลับมาเป็นของพวกเขา และหลังจากที่คำสั่งของพวกเขาถูกละเลย ชาวเฟอานอร์จึงแก้ปัญหาโดยใช้กำลัง นำไปสู่การสังหารญาติครั้งที่สาม เออาเรนดิลและเอลวิงนำซิลมาริลข้าม ทะเลใหญ่ เพื่ออ้อนวอนวาลาร์เพื่อขอขมาและขอความช่วยเหลือ วาลาร์จึงตอบรับ เมลคอร์ถูกจับ งานของเขาส่วนใหญ่ถูกทำลาย และเมลคอร์ถูกเนรเทศออกนอกขอบเขตโลกไปสู่ ประตูแห่งราตรี
ซิลมาริลถูกยึดคืนมาได้ โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนอย่างสาหัส เมื่อแผ่นดินเบเลริอันด์แตกเป็นเสี่ยงๆ และเริ่มจมลงสู่ทะเล ลูกชายที่เหลืออยู่ของเฟอานอร์ มายดรอส และ มากลอร์ ถูกสั่งให้กลับสู่ วาลินอร์ พวกเขาลงมือขโมยซิลมาริลจาก วาลาร์ ผู้มีชัย แต่ซิลมาริลแผดเผามือของพวกเขาเช่นเดียวกับที่มันทำกับเมลคอร์ พวกเขาจึงตระหนักว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของมันได้ และคำสาบานก็สูญเปล่า พี่น้องแต่ละคนจึงทำตามโชคชะตาของตน มายดรอสโจนตัวเองลงไปในหุบเหวแห่งไฟพร้อมกับซิลมาริลดวงหนึ่ง ส่วนมากลอร์ขว้างซิลมาริลของเขาลงในทะล ดังนั้นซิลมาริลทั้งสามจึงไปสู่จุดหมายบนท้องฟ้าโดยเออาเรนดิล ในพื้นพิภพ และในทะเลตามลำดับ
ยุคที่สอง
[แก้]แล้วจึงเริ่มต้น ยุคที่สอง ชาวเอไดน์ได้รับเกาะแห่ง นูเมนอร์ ทางตะวันตกของทะเลใหญ่เป็นบ้านของพวกเขา ในขณะนั้นที่เอลฟ์จำนวนมากได้รับการต้อนรับกลับสู่แดนประจิม ชาวนูเมนอร์กลายเป็นยอดนักเดินเรือ แต่ก็อิจฉาเหล่าเอลฟ์ในความเป็นอมตะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากหลายศตวรรษผ่านไป เซารอน หัวหน้าข้ารับใช้ของมอร์กอธได้เริ่มเพาะพันธุ์สัตว์ปีศาจในดินแดนทางตะวันออก เขาได้ชักจูงในเอลฟ์ช่างใน เอเรกิออน มาสร้าง แหวนแห่งอำนาจ และเริ่มหลอม แหวนเอกธำมรงค์ อย่างลับ ๆ เพื่อควบคุมแหวนวงอื่น ๆ แต่พวกเอลฟ์ล่วงรู้แผนของเซารอนเมื่อเขาสวมแหวนเอก พวกเอลฟ์จึงเอาแหวนของพวกตนออกไปก่อนที่เซารอนจะสามารถควบคุมพวกเขาได้
กษัตริย์ชาวนูเมนอร์องค์สุดท้ายคือ อาร์-ฟาราโซน มีกองทัพที่แข็งแกร่งมากจนแม้เซารอนยังต้องยอมสยบ ถูกจับมายังนูเมนอร์ในฐานะเชลย แต่ด้วยความช่วยเหลือของแหวนเอก เซารอนล่อลวงอาร์-ฟาราโซน และโน้มน้าวให้กษัตริย์โจมตีอามัน โดยเชื่อว่าความเป็นอมตะจะมีแก่ทุกคนผู้เหยียบย่างไปบน แผ่นดินอมตะ อามันดิล หัวหน้าของเหล่าผู้ศรัทธาต่อวาลาร์ รำลึกถึงการเดินทางขออภัยโทษแทนมนุษยชาติของเออาเรนดิล จึงได้ล่องเรือไปเพื่อขอความเมตตาจากวาลาร์ แต่เพื่อปิดบังวัตถุประสงค์การเดินทางของตน เมื่อแรกเขาจึงล่องเรือไปทางตะวันออกแล้วจึงวกตะวันตก แต่ไม่มีข่าวมาจากเขาอีกเลย ลูกชายของเขา เอเลนดิล กับหลานชายของเขาคือ อิซิลดูร์ และ อนาริออน กันเหล่าผู้ศรัทธาออกจากสงครามที่กำลังมาถึง และลอยเรือเตรียมตัวหลบหนี เมื่อกองทัพของกษัตริย์ไปถึงอามัน วาลาร์ได้เชิญอิลูวาทาร์เข้าทรงจัดการเอง โลกจึงได้เปลี่ยนไป และอามันถูกย้ายออกจากอิมบาร์ นับแต่นั้นมนุษย์ก็ไม่สามารถเห็นอามันได้อีก แต่เอลฟ์ผู้เดินทางด้วยเรือศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะจะได้รับพรในการใช้ เส้นทางมุ่งตรง ซึ่งทอดจากทะเลของมิดเดิลเอิร์ธสู่ทะเลแห่งอามัน นูเมนอร์ถูกทำลายสิ้นรวมทั้งร่างของเซารอน แต่ดวงวิญญาณของเขารอดมาได้และกลับสู่มิดเดิลเอิร์ธ เอเลนดิลและบุตรชายหนีมายังเอนดอร์และตั้งอาณาจักรแห่ง กอนดอร์ และ อาร์นอร์ ต่อมาไม่นานเซารอนเรืองอำนาจขึ้นอีก แต่เอลฟ์ร่วมมือกับมนุษย์ขึ้นเป็น กองทัพแห่งพันธมิตรครั้งสุดท้าย และเอาชนะเขาในที่สุด อิซิลดัวร์ยึดแหวนเอกของเขามาได้ แต่ไม่ได้ทำลาย
ยุคที่สาม
[แก้]ยุคที่สาม เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองและความตกต่ำของอาณาจักร์อาร์นอร์และกอนดอร์ ในสมัยของ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ เซารอนได้สร้างกำลังอันแข็งแกร่งขึ้น และได้ค้นหาแหวนเอก เขาพบว่าแหวนนั้นตกเป็นของฮอบบิทคนหนึ่ง จึงได้ส่ง ภูตแหวน เก้าตนเพื่อชิงแหวนคืนมา ผู้ถือแหวนคือ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ ได้เดินทางไปยัง ริเวนเดลล์ ที่ซึ่งตัดสินว่าแหวนวงนั้นต้องถูกทำลายด้วยวิธีเดียวที่เป็นไปได้ คือ โยนมันลงไปในเปลวไฟแห่ง เมาท์ดูม โฟรโดจึงเริ่มเดินทางเพื่อภารกิจดังกล่าวกับเพื่อนร่วมทางอีกแปดคน เป็น คณะพันธมิตรแห่งแหวน ในช่วงสุดท้ายเขาทำลายแหวนไม่สำเร็จ แต่ด้วยการขัดขวางของสัตว์ประหลาด กอลลัม ผู้ที่รอดตายด้วยความสงสารของโฟรโดและ บิลโบ แบ๊กกิ้นส์ แหวนจึงถูกทำลายในทีสุด โฟรโดกับเพื่อนของเขา แซม แกมจี ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ เซารอนถูกทำลายชั่วกัลป์และจิตวิญญาณของเขาก็สลายไป
จุดจบของยุคที่สามเป็นจุดจบของยุครุ่งโรจน์ของพวกเอลฟ์ และเริ่มต้นยุครุ่งเรืองของมนุษย์ มนุษย์ เมื่อยุคที่สี่เริ่มต้น เอลฟ์จำนวนมากที่ยังอยู่ในมิดเดิลเอิร์ธได้จากไปสู่วาลินอร์และไม่หวนกลับ และพวกที่เหลือก็ "ร่วงโรย" และลดจำนวนลง พวกคนแคระก็ลดจำนวนลงไปในที่สุดเช่นเดียวกัน แต่พวกเขากลับมาอยู่ในมอเรียจำนวนมากและสร้างเมืองขึ้นใหม่อีกครั้ง สันติภาพกลับมาระหว่างกอนดอร์และดินแดนทางใต้และตะวันออก ในที่สุดเรื่องราวของยุคแรก ๆ ก็กลายเป็นตำนาน และความจริงเบื้องหลังตำนานเหล่านั้นก็ถูกลืมเลือนไป
ภาษาและชาติพันธุ์ต่าง ๆ
[แก้]โทลคีนได้ประดิษฐ์ภาษาเอลฟ์ขึ้นสองภาษาหลัก ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม เควนยา ใช้พูดกันโดยชาว วันยาร์ โนลดอร์ และ เทเลริ บางส่วน กับภาษาซินดาริน ที่ใช้พูดกันในหมู่ชาวซินดาร์ คือเอลฟ์ที่อาศัยในเบเลริอันด์ (ดูด้านล่าง) ภาษาทั้งสองมีรากมาจากแหล่งเดียวกัน คือจาก คอมมอนเอลดาริน อันเป็นภาษาโบราณที่ประดิษฐ์ไว้อย่างสมจริงที่สุด โทลคีนเปรียบเทียบเควนยาเหมือนภาษา ละติน ขณะที่ซินดารินเป็นเหมือนภาษาพูดทั่วไป
ภาษาอื่น ๆ ที่ใช้ในโลก ได้แก่
- ภาษาอดูนาอิค – ของชาวนูเมนอร์
- ภาษาแบล็กสปีช – ประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดย เซารอน สำหรับทาสรับใช้ของเขาในการพูดคุย
- ภาษาคุชดุล – ของคนแคระ
- ภาษาฮอบบิติช - ของพวกฮอบบิท
- ภาษาโรเฮียร์ริค – ของชาว โรเฮียร์ริม – ในลอร์ดออฟเดอะริงส์แปลมาโดยใช้ ภาษาอังกฤษเก่า
- ภาษาเวสทรอน – 'ภาษากลาง' – แปลมาโดยใช้ ภาษาอังกฤษ
- ภาษาวาลาริน – ภาษาของเหล่าไอนัวร์
วัฒนธรรม
[แก้]มิดเดิลเอิร์ธเป็นบ้านสำหรับสายพันธุ์ที่มีภูมิปัญญาต่าง ๆ กันหลายเผ่า เผ่าแรกคือไอนัวร์ ซึ่งกำเนิดขึ้นจากมหาเทพอิลูวาทาร์ ไอนัวร์ได้ร้องเพลงถวายอิลูวาทาร์ ผู้สร้างเออา เพื่อการมีอยู่ของบทเพลงในตำนานการสร้างเอกภพที่เรียกว่า ไอนูลินดาเล หรือ "บทเพลงแห่งไอนัวร์" ไอนัวร์บางตนได้เข้าสู่เออา และพวกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรียกว่า วาลาร์ เมลคอร์ (ต่อมาเรียกว่า มอร์กอธ) หัวหน้าของปีศาจร้ายในเออา ก็เป็นหนึ่งในวาลาร์ในตอนแรก
ไอนัวร์อื่นที่เข้ามาในเออา เรียกว่า ไมอาร์ ในยุคแรกนั้น ไมอาที่ปรากฏชื่อมากที่สุดคือเมลิอัน ชายาของกษัตริย์พราย ธิงโกล ในยุคที่สามระหว่าง สงครามแหวน ไมอาร์ห้าตนถูกสร้างร่างขึ้นและส่งไปยังเอนดอร์เพื่อช่วยเหลืออิสรชนล้มล้างเซารอน ไมอาร์เหล่านั้นคืออิสทาริ (หรือ Wise Ones) (มนุษย์เรียกว่า พ่อมด) ได้แก่ แกนดัล์ฟ, ซารูมาน, ราดากัสต์, อลาทาร์ และ พัลลันโด ยังมีไมอาร์ฝ่ายร้ายหรือฝ่ายมืด เรียกว่า อูไมอาร์ เช่น บัลร็อก และจอมมารคนที่สองคือ เซารอน
ต่อมาจึงมีบุตรแห่งอิลูวาทาร์ คือ เอลฟ์และมนุษย์ อันเป็นสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่สร้างโดยอิลูวาทาร์เพียงผู้เดียว ซิลมาริลลิออน ได้เล่าถึงวิธีที่เอลฟ์และมนุษย์ตื่นและกระจายตัวไปทั่วโลก คนแคระนั้นเล่าว่าลอบสร้างโดยวาลาชื่อว่าอาวเล เมื่ออิลูวาทาร์ทราบเรื่อง เขาก็เสนอว่าจะทำลายพวกคนแคระเสีย อิลูวาทาร์ได้ให้อภัยความผิดของอาวเลและรับเผ่าคนแคระเป็นบุตรบุญธรรม ส่วนกลุ่มมนุษย์สามกลุ่มที่เป็นพันธมิตรซึ่งกันและกันรวมทั้งกับเอลฟ์แห่งเบเลริอันด์ในยุคแรกเรียกว่า ชาวเอไดน์
เพื่อตอบแทนความภักดีและความทรมานจาก สงครามแห่งเบเลริอันด์ ผู้สืบสกุลแห่งเอไดน์ จึงได้รับเกาะแห่ง นูเมนอร์ เป็นบ้านของพวกเขา แต่ดังที่ได้อธิบายในส่วนของ ประวัติศาสตร์ของมิดเดิ้ลเอิร์ธ แล้วนั้น นูเมนอร์ได้ถูกทำลายและชาวนูเมนอร์ส่วนที่เหลือได้สร้างอาณาจักรทางดินแดนตอนเหนือของเอนดอร์ พวกที่ยังคงเชื่อในวาลาร์ได้ตั้งอาณาจักรแห่งอาร์นอร์และกอนดอร์ พวกเขาเป็นที่รู้จักในนาม ดูเนไดน์ (Dúnedain) ในขณะที่ชาวนูเมนอร์ที่เหลือรอดอื่น ๆ ยังคงบูชาปีศาจแต่อยู่ไกลออกไปทางใต้ รู้จักในชื่อ ชาวนูเมนอร์ดำ
โทลคีนนับฮอบบิทว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แยกสาขาออกมาจากเผ่ามนุษย์ แม้ว่าจุดกำเนิดและประวัติศาสตร์โบราณของพวกเขาจะไม่ปรากฏ แต่โทลคีนถือว่าพวกเขาอาศัยอยู่ที่ ลุ่มแม่น้ำอันดูอิน ในตอนต้นยุคที่สาม แต่หลังจากหลายพันปีฮอบบิทเริ่มอพยพข้ามเทือกเขามิสตี้เข้าสู่ เอเรียดอร์ ท้ายที่สุดฮอบบิทจำนวนมากอาศัยอยู่ที่ แคว้นไชร์
หลังจากที่พวกคนแคระได้รับชีวิตจริง ๆ จากอิลูวาทาร์แล้ว ผู้สร้างคนแคระคือ อาวเล ได้ทำให้พวกเขาหลับใหลในแถบภูเขาที่ถูกซ่อนไว้ อิลูวาทาร์ได้ปลุกพวกคนแคระหลังจากที่พวกเอลฟ์ได้ตื่นขึ้นมาแล้ว คนแคระได้กระจายไปตามเอนดอร์ตอนเหนือและตั้งอาณาจักรทั้งสิ้นเจ็ดอาณาจักร สองอาณาจักร คือ โนกร็อด และ เบเลกอสต์ เป็นเพื่อนกับเอลฟ์แห่งเบเลริอันด์ในการต้านมอร์กอธในยุคแรก อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนแคระคือ คาซัดดูม ต่อมารู้จักในชื่อ มอเรีย
เอนท์ ผู้พิทักษ์ต้นไม้ ถูกสร้างโดยอิลูวาทาร์เนื่องจากคำขอร้องของวาลานาม ยาวันนา เพื่อปกป้องต้นไม้จากการรื้อถอนของเอลฟ์ คนแคระและมนุษย์
ออร์ค และ โทรลล์ เป็นสัตว์ปีศาจซึ่งถูกเพาะพันธุ์โดยมอร์กอธ พวกมันไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นแต่แรก แต่เป็นการเลียนแบบบุตรของอิลูวาทาร์และเอนท์ เพราะมีเพียงอิลูวาทาร์เท่านั้นที่สามารถให้กำเนิดสิ่งต่าง ๆ ได้ ต้นกำเนิดของออร์คและโทรลล์นั้นไม่ชัดเจนนัก (โทลคีนพิจารณาความเป็นไปได้หลายอย่างและมักเปลี่ยนความคิดอยู่บ่อย ๆ) ดูเหมือนว่าที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือว่าออร์คถูกเลี้ยงให้กลายเป็นสิ่งชั่วร้ายมาจากเอลฟ์หรือมนุษย์หรือทั้งคู่ ต่อมาในยุคที่สาม พวกอุรุก หรือ อุรุก-ไฮ ได้ปรากฏขึ้น โดยเป็นเผ่าพันธุ์ของออร์คที่มีขนาดใหญ่และแข็งแกร่งโดยไม่เจ็บปวดเมื่อมีแสงอาทิตย์ในขณะที่ออร์คทั่วไปเป็น (บางคนถือว่าในปลายยุคที่สาม อุรุกจะเรียกว่าเป็น อุรุก-ไฮ เฉพาะพวกที่ทำงานให้ซารูมานเท่านั้น) ซารูมานผสมพันธุ์ออร์คและมนุษย์เข้าด้วยกันเพื่อสร้าง "Men-orcs" และ "Orc-men" ต่อมาบางพวกเหล่านั้นเรียกว่า "half-orcs" หรือ "goblin-men" (ไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับว่าอุรุก-ไฮของซารูมานเป็นพวกเหล่านี้หรือไม่ หนังสือไม่ได้มีคำใบ้ของ "pod grown" ที่อุรุก-ไฮถูกพรรณาใน ภาพยนตร์ไตรภาค ของ ปีเตอร์ แจ็คสัน เมื่อไม่นานมานี้ - แม้ว่าแนวคิดของแจ็คสันจะได้รับแรงบันดาลใจจากการอ้างอิงของแกนดัล์ฟ ใน อภินิหารแหวนครองพิภพ ว่า "ออร์คทั้งหลายต่างเคย spawned" [emph. added].) โทรลล์พบเห็นน้อยมาก (โดยโทลคีนไม่ได้บรรยายรายระเอียดมากนัก) สิ่งมีชีวิตที่โง่ พูดจาหยาบคายและโหดร้าย ถ้าพวกมันสัมผัสแสงแดด มันจะกลายเป็นหิน ในเรื่อง เดอะฮอบบิท โทรลล์สามตัวได้จับบิลโบและเพื่อนคนแคระของเขา รวมทั้งวางแผนจะกินพวกเขาด้วย
ดูเหมือนว่าสัตว์ทรงปัญญาจะปรากฏในเรื่องด้วย ตัวอย่างเช่น โธรอนดอร์ นกอินทรี, ฮูอัน สุนัขไล่เนื้อขนาดใหญ่จาก วาลินอร์ และพวก วาร์ก นกอินทรีถูกสร้างขึ้นโดยอิลูวาทาร์คู่กับเอนท์ แต่จุดกำเนิดของสัตว์เหล่านี้โดยทั่วไปและธรรมชาติของพวกมันไม่ชัดเจนนัก บางตัวอาจเป็นไมอาร์ในรูปของสัตว์ หรือบางครั้งอาจเป็นแม้กระทั่งลูกหลานของไมอาร์หรือสัตว์ธรรมดาก็ได้ แมงมุมยักษ์เช่น ชีล็อบ สืบเชื้อสายมาจากแมงมุมธรรมดากับ อุงโกลิอันท์ ซึ่งน่าจะเป็นไอนูตนหนึ่ง
หนังสือ
[แก้]เดอะฮอบบิท และ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ เป็นวรรณกรรมของโทลคีนที่ถือกัน (ตามท้องเรื่อง) ว่าเป็นเหตุการณ์ที่บรรยายอยู่ใน หนังสือปกแดงแห่งเวสต์มาร์ช ซึ่งเขียนขึ้นโดยบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ และฮอบบิทคนอื่น ๆ รวมทั้งมีการแก้ไขและทำหมายเหตุประกอบโดยปราชญ์ชาวกอนดอร์คนหนึ่งหรือหลายคน โทลคีนได้เขียนขยายความถึง ภาษาศาสตร์ เทววิทยา และ ประวัติศาสตร์ ของโลก ซึ่งบรรยายเบื้องหลังสำหรับเรื่องราวต่าง ๆ ในหนังสือนั้น งานเขียนจำนวนมากเหล่านี้ได้รับการแก้ไขและตีพิมพ์หลังมรณกรรมของผู้แต่งโดยลูกชายของเขา คือ คริสโตเฟอร์ โทลคีน
งานที่โดดเด่นในบรรดาหนังสือเหล่านั้นคือ ซิลมาริลลิออน ซึ่งมีเรื่องราวการสร้างโลกเหมือนอย่างในไบเบิล และคำอธิบายถึง จักรวาลวิทยา ที่รวมมิดเดิ้ลเอิร์ธด้วย ซิลมาริลลิออน เป็นแหล่งข้อมูลแรกเกี่ยวกับ วาลินอร์ นูเมนอร์ และดินแดนอื่น ๆ งานที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ Unfinished Tales และอีกหลายเล่มในชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ ซึ่งรวมเรื่องราวที่ยังไม่สมบูรณ์และความเรียงเช่นเดียวกับเอกสารร่างเกี่ยวกับเทววิทยามิดเดิลเอิร์ธของโทลคีน จากร่างแรกสุดจนไปถึงงานเขียนสุดท้ายในชีวิตของเขา
งานเกี่ยวกับมิดเดิลเอิร์ธโดยโทลคึน
[แก้]- พ.ศ. 2480 เดอะฮอบบิท
- พ.ศ. 2497 มหันตภัยแห่งแหวน คือส่วนแรกของ ลอร์ดออฟเดอะริงส์
- หลานชายทายาทของบิลโบ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ ได้ออกเดินทางเพื่อภารกิจทำลาย แหวนเอกธำมรงค์ ไปจากมิดเดิลเอิร์ธ โดยร่วมกับ คณะพันธมิตรแห่งแหวน
- พ.ศ. 2497 หอคอยคู่พิฆาต คือส่วนที่สองของ ลอร์ดออฟเดอะริงส์
- คณะพันธมิตรได้แตกสลายโดย ขณะที่โฟรโดและผู้รับใช้ของเขา คือ แซม ได้ปฏิบัติภารกิจต่อนั้น อารากอร์น, กิมลี และ เลโกลัส ได้ต่อสู้เพื่อจะช่วยเหลือฮอบบิท เปเรกริน ตุ๊ก (ปิ๊บปิ้น) และ เมอเรียด็อค แบรนดี้บั๊ก (เมอร์รี่) จาก ออร์ค และรักษาอาณาจักร โรฮัน
- พ.ศ. 2498 กษัตริย์คืนบัลลังก์, คือส่วนที่สามของ ลอร์ดออฟเดอะริงส์
- โฟรโดและแซมได้ไปถึง มอร์ดอร์ ในขณะที่อารากอร์นไปถึงกอนดอร์และทวงบัลลังก์ของเขา
- พ.ศ. 2505 การผจญภัยของทอม บอมบาดิล และร้อยกรองจากหนังสือปกแดง
- บทกวีประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยกับ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ เท่านั้น
- พ.ศ. 2510 The Road Goes Ever On
- A song cycle โดยนักแต่งเพลง Donald Swann (ตีพิมพ์มานานแล้วแต่พิมพ์ซ้ำในปี พ.ศ. 2545)
โทลคีนเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2516 และอ่านเพิ่มเติมอื่น ๆ ถูกแก้ไขโดยคริสโตเฟอร์ โทลคีน มีเพียง ซิลมาริลลิออน เท่านั้นที่ออกมาเป็นงานที่เสร็จแล้ว — ส่วนงานอื่น ๆ เป็นการรวบรวมบันทึกและฉบับร่าง
- พ.ศ. 2520 ซิลมาริลลิออน
- ประวัติศาสตร์ของยุคเก่าก่อนลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมทั้งการล่มสลายของนูเมนอร์
- พ.ศ. 2523 Unfinished Tales ของนูเมนอร์และมิดเดิลเอิร์ธ
- เรื่องราวและความเรียงที่เกี่ยวข้องกับ ซิลมาริลลิออน และ ลอร์ดออฟเดอะริงส์ แต่หลายอันยังไม่สมบูรณ์
- ชุดหนังสือ ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ:
- พ.ศ. 2526 The Book of Lost Tales 1
- พ.ศ. 2527 The Book of Lost Tales 2
- รวมฉบับแรกสุดของเทววิทยา ตั้งแต่ฉบับแรกเริ่มถึงสุดท้าย
- พ.ศ. 2528 The Lays of Beleriand
- บทกวียาวสองบท (the Lay of Leithian เกี่ยวกับ เบเรน และ ลูธิเอน และตำนานการผจญภัยของ ทูริน ทูรัมบาร์)
- พ.ศ. 2529 The Shaping of Middle-earth
- Start of rewriting the mythology from the beginning
- พ.ศ. 2530 The Lost Road and Other Writings
- บทนำของนูเมนอร์ไปยังเทววิทยาและการดำเนินต่อของการเขียนใหม
- พ.ศ. 2531 เงาที่หวนคืน (ประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์เล่มแรก)
- พ.ศ. 2532 ไอเซนการ์ดทรยศ (ประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์เล่มสอง)
- พ.ศ. 2534 สงครามแหวน (ประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์เล่มสาม)
- พ.ศ. 2535 การพ่ายแพ้ของเซารอน (ประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์เล่มสี่)
- การพัฒนาลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ Sauron Defeated รวมทั้งฉบับอื่น ๆ ของเรื่องเกี่ยวกับนูเมนอร์
- พ.ศ. 2536 แหวนของมอร์ก็อธ (ซิลมาริลลิออนฉบับเขียนใหม่ ส่วนแรก)
- พ.ศ. 2537 สงครามแห่งอัญมณี (ซิลมาริลลิออนฉบับเขียนใหม่ ส่วนสอง)
- ความพยายามหลัง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ที่จะแก้ไขปรับปรุงแนวคิดเชิงเทววิทยาเพื่อการตีพิมพ์ รวมถึงการแก้ไขส่วนที่เป็น 'การแปรเปลี่ยนของตำนาน' ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดของโทลคีนเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิตเขา
- พ.ศ. 2539 The Peoples of Middle-earth
- แหล่งข้อมูลสำหรับภาคผนวกใน ลอร์ดออฟเดอะริงส์ และงานเขียนต่อมาซึ่งเกี่ยวข้องกับ ซิลมาริลลิออน และ ลอร์ดออฟเดอะริงส์.
- พ.ศ. 2545 ดัชนีประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ
- หนังสือเล่มนี้ได้รวมดัชนีทั้งหมดจากสิบสองเล่มก่อนเป็นดัชนีใหญ่หนึ่งเล่ม
- พ.ศ. 2533 Bilbo's Last Song
- บทกวี
- พ.ศ. 2550 ตำนานบุตรแห่งฮูริน
- เรื่องของบรรดาบุตรของฮูรินแห่งตระกูลฮาดอร์ เจ้าแคว้นดอร์-โลมิน ตัวละครเอกคือ ทูริน ทูรัมบาร์
การประยุกต์
[แก้]ภาพยนตร์
[แก้]ในจดหมายฉบับหนึ่งถึงคริสโตเฟอร์ โทลคีน ลูกชายของเขา เจ.อาร์.อาร์. โทลคีนได้กำหนดแนวทางพิจารณาการปรับแต่งงานของเขาเพื่อการสร้างภาพยนตร์ ระหว่าง : "ศิลปะหรือเงิน".[11] เขาได้ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์สำหรับ เดอะ ฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ให้กับ ยูไนเต็ดอาร์ติสท์ เมื่อ พ.ศ. 2512 หลังจากที่ต้องเผชิญกับใบแจ้งภาษี ปัจจุบันลิขสิทธิ์เหล่านั้นตกอยู่ในมือของ โทลคีนเอ็นเตอร์ไพรส์ ส่วน โทลคีนเอสเตท ได้ลิขสิทธิ์การสร้างภาพยนตร์เรื่อง ซิลมาริลลิออน และงานอื่น ๆ
การดัดแปลงเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก คือการสร้างเรื่อง เดอะ ฮอบบิท เมื่อ พ.ศ. 2520 สร้างโดย แรนคิน-บาส (Rankin-Bass)
ในปีถัดมา (พ.ศ. 2521) ภาพยนตร์เรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ก็ออกฉาย โดยการสร้างและกำกับของราฟ บาคชิ (Ralph Bakshi) เป็นการดัดแปลงเฉพาะครึ่งแรกของเนื้อเรื่อง สร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนด้วยเทคนิคแบบโรโตสโคป (rotoscope) ภาพยนตร์สร้างประสบความสำเร็จด้านการเงินพอสมควร แต่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบจากนักวิจารณ์และนักอ่านวรรณกรรมค่อนข้างมาก
พ.ศ. 2523 แรนคิน-บาส ได้สร้างภาพยนตร์พิเศษทางทีวีครอบคลุมส่วนหลังของ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เรียกว่า The Return of the King อย่างหยาบ ๆ อย่างไรก็ตามมันไม่ได้เป็นตามตอนจบของภาพยนตร์ของบาคชิโดยตรง
สำหรับภาพยนตร์แบบที่ใช้คนจริง ๆ ในการแสดง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ต้องรอจนกระทั่งปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ภาพยนตร์เหล่านั้นกำกับโดย ปีเตอร์ แจ็คสัน ด้วยการสนับสนุนด้านการเงินจาก นิวไลน์ซีนีม่า กับการหนุนหลังจากรัฐบาลและระบบธนาคารของประเทศนิวซีแลนด์
- ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน อภินิหารแหวนครองพิภพ (พ.ศ. 2544)
- ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน ศึกหอคอยคู่กู้พิภพ (พ.ศ. 2545)
- ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตอน มหาสงครามชิงพิภพ (พ.ศ. 2546)
ภาพยนตร์อยู่ใน box office เป็นเวลานานและความประสบความสำเร็จจากการวิพากษ์วิจารณ์ (ทั้งผู้อ่านและผู้ที่ไม่ได้อ่านหนังสือ) รวมทั้งได้รับรางวัลออสการ์ รวมสิบเจ็ดรางวัล (ได้รางวัลอย่างน้อยหนึ่งรางวัลในทุกประเภท เว้นแต่เพียงประเภทนักแสดง) อย่างไรก็ตาม ในการแปลงหนังสือเป็นภาพยนตร์ การเปลี่ยนลำดับเรื่องและตัวละครของแจ็คสันและบริษัทได้ทำให้แฟนหนังสือบางส่วนไม่พอใจ ถึงแม้หลายคนจะออกมาปกป้องว่าเกิดจากความจำเป็นก็ตาม
เกม
[แก้]งานของโทลคีนมีอิทธิพลหลักต่อ role-playing games เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ เช่น โรเบิร์ต อี. ฮาเวิร์ด ฟริตซ์ เลยเบอร์ เอช. พี. เลิฟคราฟต์ และ ไมเคิล มูร์โคก ถึงแม้ว่าเกมที่มีชื่อเสียงที่สุดจะได้รับแรงบันดาลใจบางส่วนโดยสภาพแวดล้อมของ en:Dungeons & Dragons พวกมันยังคงเป็นสองเกมที่มีลิขสิทธิ์และสร้างตามมิดเดิลเอิร์ธ สองเกมนี้คือ en:Lord of the Rings Roleplaying Game จาก en:Decipher Inc. และ en:Middle-earth Role Playing game (MERP) จาก en:Iron Crown Enterprises Middle-earth en:play-by-mail game ดำเนินการครั้งแรกโดย ไฟรอิง บัฟฟาโล และตอนนี้ผลิตโดย มิดเดิลเอิร์ธเกมส์ โดยเกมนี้ถูกดึงมาเป็นของ Academy of Adventure Gaming Arts & Design's Hall of Fame เมื่อ พ.ศ. 2540
en:Simulations Publications ได้สร้าง เกมวางแผนการรบ สามเกมตามงานของโทลคีน War of the Ring ครอบคลุมเหตุการณ์ส่วนใหญ่ใน ลอร์ดออฟเดอะริงส์ Gondor มุ่งไปที่ยุทธภูมิแห่งทุ่งเพเลนนอร์ ส่วน Sauron ครอบคลุมการรบในยุคที่สองก่อนประตูแห่งมอร์ดอร์ en:The Lord of the Rings Strategy Battle Game เกมการรบตามงานภาพยนตร์ของแจ็คสัน ได้วางตลาดอยู่ในขณะนี้โดย Games Workshop เกมกระดาษ ที่เรียกว่า War of the Ring เช่นกันก็วางตลาดในช่วงนี้เช่นกันโดย en:Fantasy Flight Games
เกมคอมพิวเตอร์ Angband เป็น free en:roguelike D&D-style game ที่แสดงตัวละครหลายตัวจากงานของโทลคีน รายชื่อของเกมคอมพิวเตอร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากโทลคีนสามารถดูได้ที่ http://www.lysator.liu.se/tolkien-games/
EA Games ได้สร้างเกมตามภาพยนตร์ของแจ็คสันสำหรับเกมคอนโซลและพีซี เกมเหล่านี้ได้แก่ platformers The Two Towers, The Return of the King, the real-time strategy game The Battle for Middle-earth, และภาคที่ตามมา The Battle for Middle-earth II, และ the role-playing game The Third Age.
เกมที่สร้างตามหนังสือ (ลิขสิทธิ์ทางการจาก en:Tolkien Enterprises) ได้แก่ Vivendi's own platformer, The Fellowship of the Ring, และ Sierra's own real-time strategy game, War of the Ring, ทั้งสองเกมที่ proved highly unsuccessful แม่แบบ:ME-fact, และหลายเกมสร้างตาม The Hobbit.
Turbine ยังสร้าง Middle-earth-based graphical massively multiplayer online roleplaying game (MMORPG) เกมแรก: Lord of the Rings Online: The Shadows of Angmar เก็บถาวร 2009-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ซึ่งวางแผนจะลงตลาดในปี พ.ศ. 2549
ยังมีเกม MMORPG หลายเกมซึ่งสร้างตามหนังสือ (รู้จักในนาม MU*) วางแบบตามมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีน เกมที่มีอายุมากที่สุดย้อนไปถึงสิบห้าปี (MUME - Multi Users in Middle-earth) สำหรับรายการของ MU*s ที่ได้แรงบันดาลใจจากโทลคีน (ค่อนข้างยาว) ให้ไปที่ The Mud Connector เก็บถาวร 2005-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และดูคำค้นหา 'tolkien'
นอกจากเกมลิขสิทธิ์ที่เป็นทางการแล้ว mods และแผนที่ที่ได้แรงบันดาลใจจากโทลคีน ได้ถูกสร้างสำหรับหลาย ๆ เกมเช่น Warcraft III และ en:Rome: Total War ยังมีโครงการ "mod" สร้างตามมิดเดิลเอิร์ธที่ [1] สำหรับ TES IV: Oblivion
มิดเดิลเอิร์ธในงานอื่น ๆ
[แก้]มีการแสดงถึงแนวคิดที่คล้ายคลึงหรือเหมือนกับมิดเดิลเอิร์ธในงานอื่น ๆ โดยโทลคีนและงานของนักเขียนคนอื่น ตัวอย่างที่เก่าที่สุดคือ Space Trilogy ของ ซี. เอส. ลูอิส ซึ่งมีโลกที่เรียกว่ามิดเดิลเอิร์ธเช่นกัน นิยายของลูอิสซึ่งมีฉากอยู่ประมาณช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (กับนิยายเรื่องสุดท้าย That Hideous Strength ก็มีฉากอยู่ในอังกฤษหลังสงคราม) มักมีการอ้างอิงเป็นพิเศษกับตำนานของโทลคีน (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ตีพิมพ์) โดยทำเสมือนหนึ่งว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลปฐมภูมิสำหรับเขา เช่นการสร้างให้ เมอร์ลิน แห่งตำนานกษัตริย์อาเธอร์ เป็นผู้สืบทอดเวทมนตร์จากนคร แอตแลนติส หรือ "นูมินอร์ (Numinor)" (ลูอิสสะกดผิดจากคำว่า นูเมนอร์ (Númenor)) และลูอิสยังได้อ้างอิงอย่างชัดเจนว่าโลกเป็นมิดเดิลเอิร์ธถึงสองครั้งในบทที่ 14 "They Have Pulled Down Deep Heaven on Their Head"
ทั้งลูอิสและโทลคีนต่างเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อนทางวรรณกรรมที่เป็นที่รู้จักในชื่อ เดอะอิงค์ลิงก์ส (The Inklings) งานบางชิ้นของโทลคีนรวมทั้ง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ ถูกนำมาอ่านให้ฟังกันในกลุ่มเดอะอิงค์ลิงก์ส ซึ่งทำให้ลูอิสยืมชื่อเหล่านั้นไปใช้ นอกจากนี้ยังมีนวนิยายเชิงย้อนเวลาของโทลคีนที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์และยังเขียนไม่เสร็จ คือเรื่อง en:The Lost Road และ en:The Notion Club Papers อันมีฉากในประเทศอังกฤษ ก็ได้เชื่อมโลกของเขากับมิดเดิลเอิร์ธและ นูเมนอร์ อีกด้วย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ (จดหมายของเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน, ฉบับที่ 211, เชิงอรรถ)
- ↑ 2.0 2.1 เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์, บทนำ, หน้า 2
- ↑ Bruce Mitchell and Fred C. Robinson, A Guide to Old English, Sixth ed., p. 360
- ↑ คำว่า middangeard ปรากฏในโคลง เบวูล์ฟ อยู่บ่อยครั้ง
- ↑ "-geard" (ภาษานอร์สโบราณว่า garðr) หมายถึง ท่ามกลาง กึ่งกลาง สนาม (yard) หรือเปลือก (enclosure), ส่วน "-erde" (ภาษานอร์สโบราณว่า jörð) หมายถึง "โลก"
- ↑ (จดหมายของเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน, ฉบับที่ 297)
- ↑ "ยามที่วิงกิล็อทล่องขึ้นเหนือทะเลสวรรค์เป็นครั้งแรกนั้น มันปรากฏขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด ส่องแสงประกายสดใสให้ประชาชนในมัชฌิมโลกแลเห็นได้แต่ไกลด้วยความพิศวง ผองชนถือว่านี่เป็นสัญญาณอันดี พากันเรียกขานดาวดวงนี้ว่า กิล-เอสเตล หรือดวงดาวแห่งความหวัง" (เดอะซิลมาริลลิออน, 'ว่าด้วยการเดินทางของเออาเรนดิลและสงครามแห่งความโกรธา', หน้า 301)
- ↑ 8.0 8.1 8.2 (The Ring of Words, pg. 164)
- ↑ (จดหมายของเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน, ฉบับที่ 151 และ 183)
- ↑ ตัวอย่างการสะกดเช่นนี้พบในอัลบัม Nightfall in Middle-Earth ของวง Blind Guardian
- ↑ (จดหมายของเจ.อาร์.อาร์.โทลคีน, ฉบับที่ 202)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Tolkien Gateway รวมข้อมูลเกี่ยวกับมิดเดิลเอิร์ธและโทลคีน
- Encyclopedia of Arda เอ็นไซโคลปิเดียซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธไว้มากที่สุด
- Tolkien Meta FAQ รวมคำถาม-คำตอบยอดฮิตเกี่ยวกับโทลคีนและมิดเดิลเอิร์ธ
- Michael Martinez Tolkien Essays รวมเรียงความมากมายเกี่ยวกับโทลคีนและมิดเดิลเอิร์ธ