ข้ามไปเนื้อหา

มหาอัคคีภัยแห่งลอนดอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 โดยจิตรกรนิรนามแสดงเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในช่วงเย็นวันอังคาร โดยมองจากเรือที่อยู่ใกล้ ๆ อู่เรือแคธารีน หอคอยลอนดอนอยู่ด้านขวาและสะพานลอนดอนอยู่ด้านซ้าย ในภาพจะเห็นอาสนวิหารเซนต์พอลอยู่ท่ามกลางวงล้อมของเปลวเพลิงที่สูง

มหาอัคคีภัยแห่งลอนดอน (อังกฤษ: Great Fire of London) คือการเกิดเพลิงเผาผลาญครั้งใหญ่ที่ลุกลามใหญ่โตทำลายพื้นที่ส่วนกลางของกรุงลอนดอน อังกฤษ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน ถึงวันพุธที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1666 เพลิงได้ลุกไหม้เมืองยุคกลางที่ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองโบราณสมัยโรมัน ลุกลามไปเกือบย่านคนชั้นสูงเขตเวสต์มินสเตอร์ พระราชวังของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และเกือบถึงสลัมใหญ่ชานเมือง เพลิงได้เผาไหม้บ้านไป 13,000 หลัง โบสถ์ประจำชุมชน 87 แห่ง รวมทั้งอาสนวิหารเซนต์พอล โบสถ์สำคัญของอังกฤษและอาคารที่ทำการของทางการเกือบทั้งหมด ประมาณว่าเพลิงได้เผาบ้านทำให้ประชากร 70,000 คนจากทั้งหมดที่ประมาณการในขณะนั้น 80,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนผู้เสียชีวิตไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าเท่าใด แต่ได้ประมาณว่ามีจำนวนไม่มากเนื่องจากมีการแจ้งยืนยันบุคคลผู้เสียชีวิตที่บันทึกไว้น้อย เหตุผลดังกล่าวได้ถูกยกมาถกเถียงในภายหลังว่า ประชากรผู้ยากไร้และคนชั้นกลางในสมัยนั้นไม่มีชื่อในทะเบียน และว่าเพลิงอันรุนแรงอาจเผาศพจนเป็นเถ้าถ่านหรือจนดูไม่ออกหรือจำศพไม่ได้

ต้นเพลิงได้เริ่มเกิดที่ร้านทำขนมปังของโทมัส ฟาริเนอร์ในตรอกพุดดิงหลังเที่ยงคืนเล็กน้อยและลุกลามอย่างรวดเร็ว การใช้อุปกรณ์สำหรับดับเพลิงในสมัยนั้นและการใช้เทคนิคการรื้อทำลายอาคารเพื่อตัดเป็นแนวกันไฟได้รับการอนุมัติช้ามากจากนายกเทศมนตรีของลอนดอนคือ เซอร์โทมัส บลัดเวิร์ธ ครั้นเมื่อได้รับการอนุมัติให้รื้อทุบอาคารเป็นแนวกันไฟก็ได้เกิดลมแรงกรรโชกไฟจากโรงทำขนมปังลามไปติดอาคารโดยรอบกลายเป็นพายุเพลิงไปแล้ว ในเช้ามืดวันจันทร์เพลิงได้โหมลุกลามขึ้นเหนือสู่ใจกลางเมือง การจลาจลโกลาหลเกิดขึ้นตามถนนเมื่อมีข่าวลือว่าชาวต่างชาติเป็นผู้วางเพลิง พวกที่กลัวว่าจะไร้ที่อยู่ต่างพากันพุ่งความสนใจไปที่ชาวฝรั่งเศสและชาวดัตช์ ที่เคยเป็นศัตรูของอังกฤษระหว่างสงครามอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ครั้งที่สอง เป็นเหตุให้คนเหล่านี้ถูกรุมทำร้ายท่ามกลางการวุ่นวายกลางถนน เมื่อถึงวันอังคาร เพลิงได้ขยายลุกลามไปเกือบทั่วเมืองเผาไหม้อาสนวิหารเซนต์พอลและลามข้ามแม่น้ำฟลีต (แม่น้ำใต้ดิน) มุ่งสู่ราชสำนักของกษัตริย์ชาร์ลที่ 2 ที่ไวท์ฮอลล์ซึ่งมีการระดมพนักงานดับเพลิงมารวมเพื่อการต่อต้านเพลิงเป็นจำนวนมาก การเอาชนะไฟได้ ณ จุดนี้มีเหตุผลสองประการคือ เกิดจากการหยุดพัดของลมตะวันออกพอดีและจากการใช้ดินระเบิดของคลังแสงที่สะพานลอนดอนมาระเบิดอาคารเพื่อสร้างแนวกันไฟที่ได้ผลกว่าการใช้คนรื้อ

ผลที่ตามมาจากอัคคีภัยครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม พระเจ้าชาลส์ที่ 2 รับสั่งให้รีบทำการอพยพคนจากลอนดอนไปอยู่ที่อื่นด้วยเกรงว่าจะเกิดการจลาจลในลอนดอนจากคนไร้ที่อยู่ แม้จะมีข้อเสนอในการฟื้นฟูปรับปรุงเมืองให้ดีหลายแบบ แต่ในที่สุดการก่อสร้างฟื้นฟูก็ยังคงสร้างตามแนวโครงถนนดั้งเดิม

ขอเกี่ยวที่ใช้สู้กับไฟในอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1612
ภาพโฆษณาเครื่องดับเพลิงที่เล็กและเคลื่อนที่ง่ายของสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 "เครื่องดับเพลิง (ที่ดีที่สุด) สำหรับใช้สยบไฟขนาดใหญ่นี้สร้างโดยจอห์น คีลลี (ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน) "

การดับเพลิงในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17

[แก้]

เพลิงที่ไหม้ส่วนใหญ่มักเกิดตามละแวกที่เป็นอาคารไม้ที่มีเตาผิงแบบเปิดและใช้เทียนไขให้ความสว่าง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น บ้านเรือนเหล่านี้มักมีเตาอบ เชื้อเพลิงและวัสดุติดไฟเก็บไว้มาก สมัยนั้นยังไม่มีตำรวจหรือพนักงานดับเพลิงหรือสถานีดับเพลิงเตรียมพร้อมตลอดเวลาดังปัจจุบัน จะมีก็เพียงพนักงานระวังเพลิงที่เรียกว่า "พนักงานสั่นระฆัง" (Bellmen) จำนวนนับพับคนเดินตรวจตราตามถนนในเวลากลางคืน มีการกำหนดขั้นตอนในการดับเพลิงด้วยตนเองของชุมชนที่นับว่าได้ผลอยู่พอควร เมื่อเกิดเพลิงจะมีการรัวระฆังโบสถ์และผู้คนจะออกมาชุมนุมที่จุดกำหนดและใช้เทคนิคในสมัยนั้นด้วยการใช้น้ำหรือการรื้อทุบอาคาร กฎหมายกำหนดให้โบสถ์ทุกแห่งต้องมีบันไดยาว ถังน้ำที่ทำด้วยหนัง ขวานและตะขอเกี่ยวสำหรับดึงรื้ออาคาร บางครั้งมีการใช้ดินระเบิดกับอาคารสูงที่บันไดพาดไม่ถึง มีการใช้วิธีการรื้อทุบอาคารเป็นอย่างมากในการต่อสู้กับเพลิงที่ไหม้ลอนดอนครั้งนี้ซึ่งนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่าเป็นวิธีที่ทำให้เพลิงสงบลงได้ในครั้งนี้

การดับเพลิงที่ลุกลามด้านใต้ลมโดยวิธีรื้อทุบนี้นับว่าได้ผลดีมาก แต่เนื่องจากนายกเทศมนตรีขาดความเป็นผู้นำ ไม่กล้าตัดสินใจ ลังเลอยู่นับเป็นหลายชั่วโมง ครั้นเมื่อมีพระราชดำรัสรับสั่งลงมาโดยตรงจากพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ให้รื้อทุบบ้านทุกหลังที่จะเป็นแนวกันไฟโดยไม่มีการยกเว้นก็ปรากฏว่าเพลิงได้ลุกติดบ้านขนาดใหญ่จนพนักงานไม่สามารถผ่านไปตามถนนหรือตรอกที่แคบเหล่านั้นไปได้

การใช้น้ำสำหรับดับเพลิงก็น่าหงุดหงิดเนื่องจากปกติน้ำที่ใช้ดับเพลิงมาจากระบบประปาที่ใช้ท่อไม้เอล์มเดินจากหอสูงที่คอร์นฮิลล์ที่ได้น้ำจากแม่น้ำแล้วแจกจ่ายให้แก่บ้าน 30,000 หลัง ปกติการเปิดน้ำจากท่อไม้สามารถทำได้สำหรับต่อกับท่อผ้าใบหรือใส่ถังดับเพลิง และการที่ตรอกพุดดิงอยู่ใกล้กับแม่น้ำจึงสามารถจัดพนักงานอาสาดับเพลิงยืนเข้าแถวสองแถวส่งผ่านถังน้ำจากแม่น้ำ สาดน้ำดับไฟแล้วส่งถังเป็นทอด ๆ กลับไปที่แม่น้ำและเวียนกลับมาอีก แต่วิธีที่ควรทำนี้ไม่ได้เกิดขึ้น มีผู้บันทึกว่า เมื่อเห็นไฟ ทุกคนก็แตกตื่นรีบวิ่งไปเก็บข้าวของหนีไฟ ไฟจึงลามสู่ด้านแม่น้ำและลุกติดโรงเก็บสินค้าตามท่าเทียบเรือริมฝั่ง ไฟจึงตัดเส้นทางลำเลียงน้ำจากแม่น้ำและยังลุกไหม้กังหันน้ำที่สะพานลอนดอนที่ทำหน้าที่เติมน้ำเข้าหอถังน้ำ น้ำจากท่อจึงไม่มีไปด้วย

ลอนดอนมีเทคโนโลยีที่นับว่าทันสมัยในสมัยนั้นคือมีเครื่องดับเพลิงที่เคยนำมาใช้ดับเพลิงใหญ่ในครั้งก่อน ๆ แต่ในครั้งนี้เครื่องดับเพลิงซึ่งมีขนาดใหญ่นี้กลับสู้ขอเกี่ยวไม่ได้ มีเพียงบางเครื่องที่มีล้อ ที่เหลือติดตั้งบนคานลากและต้องลากมาไกล ทำให้มาถึงล่าช้าเกินการ บางเครื่องก็ไม่มีสายหรือมีสายที่สั้นเกินไป เมื่อไม่มีน้ำจากท่อจึงต้องลากเครื่องไปริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ หลายเครื่องตกลงไปในแม่น้ำ เมื่อเพลิงโหมรุนแรงมาก เครื่องดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าใกล้พอระยะที่จะใช้ได้ผล และที่สุดก็ร้อนแรงมากจนไม่สามารถเข้าไปในตรอกพุดดิงได้

อนึ่ง อัคคีภัยครั้งใหญ่ในลอนดอนครั้งนี้เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

อ้างอิง

[แก้]
  • Evelyn, John (1854). Diary and Correspondence of John Evelyn, F.R.S. London: Hursst and Blackett. สืบค้นเมื่อ 2006-11-05. Also in text version:Evelyn, John (1857). Diary and Correspondence of John Evelyn, F.R.S. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-19. สืบค้นเมื่อ 2007-01-01. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |ed= ถูกละเว้น (help)
  • Hanson, Neil (2001). The Dreadful Judgement: The True Story of the Great Fire of London. New York: Doubleday. For a review of Hanson's work, see Lauzanne, Alain. "Revue pluridisciplinaire du monde anglophone" (ภาษาอังกฤษ). Cercles. สืบค้นเมื่อ 2006-10-12.
  • Morgan (2000). Oxford Illustrated History of Britain. Oxford: Oxford. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |firs= ถูกละเว้น (help)
  • Pepys, Samuel (1995). Robert Latham and William Matthews (eds.) (บ.ก.). The Diary of Samuel Pepys, Vol. 7. London: Harper Collins. ISBN 0-00-499027-7. {{cite book}}: |editor= มีชื่อเรียกทั่วไป (help) First published between 1970 and 1983, by Bell & Hyman, London. Quotations from and details involving Pepys are taken from this standard, and copyright, edition. All web versions of the diaries are based on public domain 19th century editions and unfortunately contain many errors, as the shorthand in which Pepy's diaries were originally written was not accurately transcribed until the pioneering work of Latham and Matthews.
  • Porter, Roy (1994). London: A Social History. Cambridge: Harvard.
  • Reddaway, T. F. (1940). The Rebuilding of London after the Great Fire. London: Jonathan Cape.
  • Robinson, Bruce. London: Brighter Lights, Bigger City. BBC. สืบค้นเมื่อ 2006-08-12.
  • Sheppard, Francis (1998). London: A History. Oxford: Oxford.
  • Tinniswood, Adrian (2003). By Permission of Heaven: The Story of the Great Fire of London. London: Jonathan Cape.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]