มหาวิทยาลัยโทรอนโต
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
มหาวิทยาลัยโทรอนโต (University of Toronto - U of T) เป็นมหาวิทยาลัยในเครือของรัฐบาลแคนาดา ตั้งอยู่ในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา วิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยคือ เซนต์จอร์จ ตั้งในใจกลางเมืองโทรอนโตซึ่งล้อมรอบไปด้วยอุทยานควีนส์ปาร์กและรัฐสภาออนแทรีโอ วิทยาเขตอีก 2 แห่งคือมหาวิทยาลัยโทรอนโตสการ์โบโร (UTSC) และมหาวิทยาลัยโทรอนโตมิสซิสซอกา (UTM) ซึ่งเรียกกันไม่เป็นทางการว่า "วิทยาเขตอีรินเดล" ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของปริมลฑลโทรอนโตตามลำดับ
จัดตั้งโดย จอห์น สแทรชาน เพื่อให้เป็นคิงส์คอลเลจโดยได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อ ค.ศ. 1828 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยโทรอนโต เมื่อ ค.ศ. 1850 หลังจากการตัดความสัมพันธ์กับคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England - นิกายที่ไม่นับถือพระสันตปาปา) เพื่อเป็นสถาบันนอกคริสตจักร ในปี ค.ศ. 1853 ได้จัดตั้งยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจขึ้นเป็นวิทยาลัยในสังกัด และในเวลาต่อมามีทรินีตีคอลเลจ วิทยาลัยวิกตอเรีย และวิทยาลัยเซนต์มีคาเอล เข้ามาร่วมสังกัดด้วย
มหาวิทยาลัยโทรอนโตได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในแคนาดา ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 2021 ไทมส์ไฮเออร์เอดยูเคชันซัปพลีเมนต์ได้จัดมหาวิทยาลัยโทรอนโตให้อยู่ในอันดับที่ 1 ในแคนาดา และอันดับที่ 18 ของโลก ในการจัดอันดับของยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต มหาวิทยาลัยโทรอนโตก็ได้จัดให้อยู่ในอันดับ 1 ในแคนาดา และอันดับที่ 17 ของโลก ในการจัดอับดับอื่น ๆ มหาวิทยาลัยโทรอนโตก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโทรอนโตได้ทำให้เกิดเครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ หลอดลมเทียม การปลูกถ่ายปอดซีกเดียว การปลูกถ่ายเส้นประสาท ตับอ่อนเทียม เลเซอร์เคมี ชุดบินอวกาศ กล้องจุลทัศน์อีเล็กตรอนที่ใช้งานได้เครื่องแรก การโคลนที-เซลล์ครั้งแรกและการสกัดอินซูลิน
การบริหาร
[แก้]มหาวิทยาลัยโทรอนโตใช้วิธีการบริหารแบบกระจายอำนาจมาเป็นเวลานานแล้ว โดยกระจายอำนาจไประหว่างส่วนกลาง คณะวิชา วทยาลัยและวิทยาเขตต่างๆ แต่ละวิทยาเขตมีอำนาจการบริหารเป็นเอกเทศภายในองค์กรรวมของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ให้ปริญญา พระราชบัญญัติ ค.ศ. 1828 ได้ให้พื้นฐานในการบริหารไว้แล้ว มีการแก้ไขในปี ค.ศ. 1850 เพื่อแยกคิงส์คอลเลจออกจากศาสนจักร ในปี ค.ศ. 1853 จึงได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยโทรอนโต มีการปรับปรุงแก้ไข 5 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 1970 และมีระบบสภาเดียวที่ส่วนกลาง สภามีสมาชิก 50 คนจากคณะวิชาต่างๆ และหน่วยบริหาร
นายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นประมุขสูงสุดที่ทำหน้าที่เพียงงานพิธีการ ส่วนมากมาจากรองผู้ว่าการรัฐ นายกรัฐมนตรีหรือทูตที่เลือกจากศิษย์เก่าทุกๆ 3 ปี อธิการบดีแต่งตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่กำกับการบริหารมหาวิทยาลัยตามนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยจัดที่พักเป็นทางการให้ผู้บริหารด้วย
วิชาการ
[แก้]มหาวิทยาลัยโทรอนโต มีหลักสูตรปริญญาเอก 75 หลักสูตร คณะวิชาเปิดสอนวิชาชีพ 14 คณะ มีนักศึกษานานาชาติ 6,000 คน เท่ากับร้อยละ 9 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด และเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลอยู่ในสังกัดจำนวน 10 คน ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลระดับชาติมากกว่า 1 ใน 4 ของรางวัลทั้งหมดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้จำนวนรวมศาสตราจารย์จะมีเพียงร้อยละ 7 ของประเทศแคนาดา
เงินกองทุนของมหาวิทยาลัยมีมากกว่า 37,400 ล้านบาท และมีเงินสำหรับการวิจัยสนับสนุนการวิจัยอีก 17,580 ล้านบาท มหาวิทยาลัยมีบริษัทในเครือเกือบ 100 แห่ง โดยมีพนักงานบริษัทรวมมากกว่า 2,000 คน และทำเงินรายได้ปีละ 27,000 ล้านบาทต่อปี มหาวิทยาลัยเองเป็นผู้จางงานรายใหญ่ลำดับที่ 15 ของปริมลฑลโทรอนโต
มหาวิทยาลัยโทรอนโตตีพิมพ์ผลงานวิจัยมากกว่ามหาวิทยาลัยใดๆ ในอเมริกาเหนือ ยกเว้นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ห้องสมุด
[แก้]ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยโทรอนโตเป็นเครือข่ายห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาห้องสมุดวิชาการและใหญ่เป็นที่ 3 ในอเมิกาเหนือรองจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยเยล โดยมีหนังสือแบบรูปเล่ม 10.3 ล้านเล่ม ในรูปย่อไมโครฟิล์มหรืออีเล็กทรอนิกส์ 5.3 ล้านเล่ม และมีที่สะสมไว้อีก 1.8 ล้านรายการ หอสมุดโรบาร์ท สูง 14 ชั้น เป็นห้องสมุดหลักด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในอาคารหลังนี้ยังมี "ห้องสมุดหนังสือหายากทอมัส ฟิชเชอร์" มี ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์เกอร์สไตน์ ซึ่งถือเป็นเรือธงของหอสมุดนี้ที่สนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
มหาวิทยาลัยมีระบบกรุอินเทอร์เน็ตที่สามารถดิจิไทซ์หนังสือในห้องสมุดออนไลน์ได้
บุคคลสำคัญ
[แก้]- อาเธอร์ ลีโอนาร์ด ชอว์โลว์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน
- เดวิด โครเนนเบิร์ก ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวแคนาดา
- เดวิด อิสตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน
- เฟรเดอริก แบนติง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวแคนาดา และได้รับรางวัลโนเบลจากการร่วมเป็นผู้ค้นพบอินซูลิน
- จูลี พาแย็ต นักบินอวกาศ CSA และผู้สำเร็จราชการแทนแห่งแคนาดา
- มัลคอล์ม แกลดเวล นักข่าว นักเขียนและนักพูดชาวแคนาดา
- พอล มาร์ติน อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดาและอดีตหัวหน้าพรรคเสรีนิยมแห่งแคนาดา
- อแมนด้า ออบดัม Miss Universe Thailand 2020
External links
[แก้]- University of Toronto
- Hart House เก็บถาวร 2007-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Map of St. George Campus เก็บถาวร 2004-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- U of T Performance Indicators for Governance เก็บถาวร 2006-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- University of Toronto Photo Gallery เก็บถาวร 2013-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน