ผู้จัดการออนไลน์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประเภท | สื่อสารมวลชน |
---|---|
รูปแบบ | สื่อออนไลน์ |
ผู้ก่อตั้ง | สนธิ ลิ้มทองกุล |
นโยบายทางการเมือง | ขวาจัด |
ภาษา | ไทย |
สำนักงานใหญ่ | เลขที่ 102/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
เว็บไซต์ | mgronline |
ผู้จัดการออนไลน์ (อังกฤษ: Manager Online) เป็นเว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ภาษาไทยในเครือผู้จัดการ เสนอข่าวทั่วไป ข่าวด่วน ข่าวออนไลน์ ข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวดารา ข่าววันนี้ ทันเหตุการณ์ ข่าวธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีนิตยสารข่าว ผู้จัดการสุดสัปดาห์ และเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
และเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การปรับตัวของบริษัทและกองบรรณาธิการก็ปรับองค์กรเต็มรูปแบบ โดยนำเสนอผ่านเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้รับชมได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการนำเสนอที่มากกว่าแค่การอ่านข่าวผ่านเว็บไซต์ แต่ยังมีรายการในรูปแบบวีดีโอนำเสนออีกด้วย
ประวัติ
[แก้]ผู้จัดการรายวัน
[แก้]หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 โดยสนธิ ลิ้มทองกุล เริ่มมีชื่อเสียงโดดเด่น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 หลังการปราบปรามประชาชน ที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขณะที่สื่อโทรทัศน์ในประเทศ ถูกควบคุมการเสนอข่าวโดยรัฐบาล โดยไม่มีการรายงานการสูญเสียชีวิตของประชาชนเลย ต่อมามีการตรวจสอบ ควบคุมการเสนอข่าว และภาพข่าว ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการรายวัน ร่วมกับหนังสือพิมพ์อื่น เช่น เดอะเนชั่น, กรุงเทพธุรกิจ และ แนวหน้า ตีพิมพ์ภาพข่าวการปราบปรามประชาชน นอกจากนั้น ยังมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับพิเศษ แจกฟรีไปทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อรายงานข่าวการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน จนถูกรัฐบาลดำเนินคดี และสั่งปิดเป็นเวลาสองวัน
อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ก็ทำให้เครือผู้จัดการประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง จนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ศาลล้มละลายกลางพิจารณาเห็นสมควรให้ บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือผู้จัดการ มีสภาพล้มละลาย เนื่องจากมีหนี้สินกว่า 4,726 ล้านบาท จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวโดยเด็ดขาด ซึ่งชื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารในเครือทั้งหมด ก็ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ตามกฎหมายเช่นกัน จึงไม่สามารถออกหนังสือพิมพ์และนิตยสาร โดยใช้ชื่อเดิมอีกต่อไปหลังจากใช้ชื่อเดิมไม่ได้อีกต่อไป ทีมงานกองบรรณาธิการชุดเดิมของผู้จัดการรายวัน ยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และยังออกหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง โดยเลี่ยงไปใช้ชื่อใหม่ที่คล้ายคลึงกับชื่อเดิม ทั้งนี้ ชื่อต่างๆ ที่ใช้ออกหนังสือพิมพ์ในแต่ละวัน มีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
ระยะเปลี่ยนผ่าน
[แก้]- วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - ผู้จัดการ 2551 รายวัน โดยยังคงนับจำนวนปี และจำนวนฉบับ ต่อเนื่องจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเดิม
- วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - สารจากเอเอสทีวี โดยทีมงานผู้จัดการ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ปรากฏการนับปี และเลขฉบับบนหัวหนังสือ รวมถึงไม่มีบรรณลักษณ์ภายในฉบับอีกเช่นกัน
เอเอสทีวีผู้จัดการ
[แก้]- เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทีมงานกองบรรณาธิการชุดเดิมของผู้จัดการรายวัน ออกหนังสือพิมพ์โดยใช้ชื่อว่า เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน โดยเริ่มระบุการนับเลขปี และเลขฉบับบนหัวหนังสือ เป็นฉบับปฐมฤกษ์ มีราคาจำหน่าย 20 บาท โดยในเบื้องต้นระบุในบรรณลักษณ์ว่า บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าของ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ผู้จัดการ 360 จำกัด) เป็นเจ้าของ
ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
[แก้]โดยนายตุลย์ได้เข้ามาปรับปรุง เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ในหลายประการ เช่นเพิ่มเนื้อหาลดจาก 24 หน้า เป็น 20 หน้า ตามลำดับ โดยราคาจำหน่ายคงเดิม ที่สำคัญคือ เมื่อราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ผู้จัดการ 360 จำกัด) ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตเปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์จาก เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน มาเป็น ผู้จัดการายวัน 360 องศา และได้รับอนุญาตจากทางราชการ ให้ใช้ชื่อดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น เป็นต้นมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์
[แก้]ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ เป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ในเครือผู้จัดการ ออกปฐมฤกษ์วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เป็นฉบับปฐมฤกษ์ วางจำหน่ายทั่วประเทศทุกวันเสาร์ มีราคาจำหน่าย 40 บาท โดยในเบื้องต้นระบุในบรรณลักษณ์ว่า บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ผู้จัดการ 360 จำกัด) เป็นเจ้าของ
ผู้จัดการออนไลน์
[แก้]ในปี พ.ศ. 2557 เว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์เป็นเว็บไซต์ข่าวที่มีผู้เข้าไปอ่านมากที่สุดในประเทศไทย โดยมียอดมากที่สุดคือ 1,065,780 ต่อหนึ่งวัน และในเฟซบุ๊กมียอดเฉลี่ยวันละ 3,000,000 คลิก
ผู้จัดการออนไลน์ นับเป็นสื่อแรกๆ ที่ได้บุกเบิกทำสตรีมมิ่งบนเฟซบุ๊กมาตั้งแต่ปี 2559
ส่งผลให้ในปี 2564 เฟซบุ๊กมอบรางวัลให้ข่าวสด เป็นเพจกลุ่มพับลิชเชอร์สื่อที่มียอดชมวิดีโอสูงสุดในประเทศไทย มียอดผู้ชมทะลุ 5,200 ล้านวิวในปีนั้น และไม่เคยหยุดพัฒนาผลิตคอนเทนต์หลากหลายอย่างต่อเนื่อง
ปี 2567 เพจผู้จัดการ มีผู้ติดตาม 20 ล้านฟอลโลเวอร์ และติ๊กต็อก 4.7 ล้านฟอลโลเวอร์ ที่ทั้งสองแพลตฟอร์มถือเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มสื่อ นอกจากนี้ยังมี ยูทูบ 3.45 ฟอลโลเวอร์ เอ็กซ์ 1.3 ล้านฟอลโลเวอร์ อินสตาแกรม 1 ล้านฟอลโลเวอร์