ข้ามไปเนื้อหา

ประมวลเรื่องปรัมปรานอร์ส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทพเจ้าธอร์เข้าณรงค์ยุทธกับเหล่ายักษ์

ประมวลเรื่องปรัมปรานอร์ส หรือ ประมวลเรื่องปรัมปราสแกนดิเนเวีย เป็นประมวลเรื่องปรัมปราของชนเจอร์แมนิกเหนือ และเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาเก่าแก่ของชาวนอร์สซึ่งเป็นความเชื่อพหุเทวนิยม และยังคงเล่าสืบเนื่องกันมาแม้ภายหลังจากชาวสแกนดิเนเวียหันมานับถือศาสนาคริสต์ จนกลายมาเป็นคติชาวบ้านสแกนดิเนเวียแห่งสมัยใหม่ ประมวลเรื่องปรัมปรานอร์สเป็นการกระจายขึ้นเหนือสุดของประมวลเรื่องปรัมปราเยอรมัน โดยประกอบด้วยนิทานเทวดา และวีรบุรุษต่าง ๆ จากแหล่งที่มาจำนวนมากทั้งก่อนและหลังยุคเพกัน ซึ่งรวมถึงวรรณกรรมของชาวไอซ์แลนด์ที่เขียนขึ้นในสมัยกลาง หลักฐานทางโบราณคดีและประเพณีพื้นบ้าน

เทพเจ้าองค์สำคัญในประมวลเรื่องปรัมปรานอร์ส ได้แก่ ธอร์ เทพสายฟ้าผู้มีค้อนใหญ่เป็นอาวุธ โดยเป็นเทพนักรบผู้พิทักษ์มนุษยชาติ โอดินน์ เทพเจ้าพระเนตรเดียว ผู้ทรงขวนขวายหาความรู้ในโลกฐาตุทั้งหลาย และพระราชทานอักษรรูนให้แก่มนุษย์; เฟร็วยา (Freyja) เทพสตรีผู้ทรงสิริโฉม ผู้ใช้เวทมนตร์ (seiðr) และทรงฉลองพระองค์คลุมขนนก ผู้ทรงม้าเข้าสู่สมรภูมิเพื่อเลือกเอาดวงวิญญาณในหมู่ผู้ตาย; สคาดดี (Skaði) ยักขินีและเทวีแห่งการสกี ผู้อาศัยอยู่ท่ามกลางฝูงหมาป่าบนภูเขาในฤดูหนาว; นิยอร์เดอร์ (Njörðr) เทพเจ้าทรงฤทธิ์ผู้อาจปราบได้ทั้งทะเลและไฟและยังประทานความมั่งคั่งและที่ดิน; เฟรอือร์ (Freyr) ผู้นำสันติภาพและความเพลิดเพลินสู่มนุษยชาติ ผ่านทางฤดูกาลและการกสิกรรม; อิดุนน์ (Iðunn) เทพเจ้าผู้ทรงรักษาแอปเปิลที่ให้ความเยาว์วัยชั่วนิรันดร์; เฮย์มดัลเลอร์ (Heimdallr) เทพเจ้าลึกลับผู้ประสูติแต่มารดาเก้าตน ทรงสามารถฟังเสียงหญ้าโต มีพระทนต์เป็นทองคำ และมีเขาสัตว์ที่เป่าได้ดังกึกก้อง; และยอตุนน์โลกี ผู้นำโศกนาฏกรรมมาสู่ทวยเทพโดยวางแผนให้บัลเดอร์ (Baldr) พระโอรสแห่งเทพเจ้าฟริกก์ ต้องตาย เป็นต้น

ประมวลเรื่องปรัมปรานอร์สจัดเหล่าเทพเจ้าออกเป็นสองกลุ่ม คือ พวกแอซีร์ (Æsir) ซึ่งมีรากคำเดียวกับ "อสูร" ในภาษาสันสกฤต ได้แก่ พวกเทพเจ้าองค์สำคัญ ๆ ในเทพวิหารของนอร์ส (เช่น โอดินน์, ธอร์, ฟริกก์, บัลเดอร์ ฯลฯ) พวกหนึ่ง และ พวกวาเน็น หรือวานร์ อันเป็นเหล่าเทพที่มีความเกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์ ปัญญาเฉลียวฉลาด ธรรมชาติ และการรู้อนาคตอีกพวกหนึ่ง ทั้งสองพวกเข้าทำสงครามกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ จนในที่สุดรู้ว่าตนมีอำนาจเท่า ๆ กัน นอกจากนี้ในโลกยังมีสัตว์และเผ่าในเทพนิยายอยู่อีกนานับประการ (เช่น ยักษ์, คนแคระ, เอลฟ์, และภูตในแผ่นดิน)

จักรวาลวิทยาของนอร์สประกอบด้วยโลกเก้าโลก ซึ่งขนาบอึกดราซิลล์ ต้นไม้แห่งเอกภพ โลกมนุษย์ในจักรวาลวิทยานอร์สมีชื่อเรียกว่า มิดการ์เดอร์ นอกจากนี้ยังมีภพหลังความตายอยู่หลายภพซึ่งมีเทพเจ้าพิทักษ์รักษาอยู่แตกต่างกัน ในตำนานของนอร์สมีตำนานสร้างโลกอยู่หลายแบบ มีการทำนายว่าโลกเหล่านี้จะกำเนิดใหม่หลังเหตุการณ์รักนาร็อก เมื่อเกิดการยุทธ์มโหฬารระหว่างเหล่าทวยเทพและฝ่ายศัตรู และโลกถูกเพลิงประลัยกัลป์หุ้มเพื่อถือกำเนิดใหม่ ที่นั่น เทพเจ้าที่เหลือรอดจะประชุม แผ่นดินจะเขียวอุดม และมนุษย์สองคนจะเพิ่มประชากรโลกอีกครั้ง

แหล่งที่มาของตำนาน

[แก้]
ร็อกรูนสโตน (Rök Runestone), ตั้งอยู่ที่ประเทศสวีเดน มีข้อความจารีกในอักษรรูนอ้างถึงเรื่องราวในประมวลเรื่องปรัมปรานอร์ส
สนอร์ริ สตูร์ลูสัน (Snorri Sturluson) กวีและนักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวไอซ์แลนด์ ผู้รจนาเอ็ดดาร้อยแก้ว

จักรวาลวิทยาของนอร์ส

[แก้]

เมื่อแรกเริ่ม จักรวาลก็คือสภาวะหมุนคว้าง มืดและสับสน และแล้วจู่ ๆ ความสับสนนั่นก็ค่อย ๆ แตกแยกออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งอยู่ทางใต้เรียกว่า มูสเป็ลล์สเฮย์เมอร์ (Muspelheim) เป็นดินแดนแห่งไฟ แสงสว่าง และความร้อน อีกซีกหนึ่งอยู่ทางเหนือเรียกว่า นิเวิลเฮย์เมอร์ (Niflheim) เป็นโลกแห่งความมืดหมอกและน้ำแข็งระหว่างขั้วร้อน-เย็นทั้งสองก็เกิดห้วงว่างขึ้นตรงกลาง เป็นห้วงที่ความลึกหยั่งไม่ได้ อุณหภูมิเริ่มต่ำลงขนาดแช่คนให้แข็งได้ในฉับพลัน ห้วงที่ว่าชาวนอร์สเรียก กินนุนกาแก็บ (Ginnungagap "หุบเหวยักษ์") ทิศเหนือของกินนันกาแก็บ เป็นอาณาเขตของ นิเวิลเฮย์เมอร์ (Niflheim) โลกแห่งความมืดมัวนิรันดร์ โดยนิเวิลเฮย์เมอร์เป็นที่ตั้งของน้ำพุ คเวร์เก็ลมีร์ (Hvergelmir) ต้นกำเนิดของแม่น้ำ 12 สาย แต่เป็นแม่น้ำพิษเสีย 11 สาย ซึ่งก็ไหลลงใต้ไปสู่ห้วง กินนุนกาแก็บ เจอเข้ากับความเย็นที่นี่ น้ำในแม่น้ำก็ค่อย ๆ แข็งตัวแผ่ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แทรกตัวเข้าไปในห้วงว่างจนเต็ม

ทางใต้ของ กินนันกาแก็บ คือ มูสเป็ลล์สเฮย์เมอร์ (Muspelheim) แผ่นดินแห่งไฟ ซึ่งมีความร้อนอยู่ตลอดเวลา เป็นที่อยู่อาศัยของ ซูร์เตอร์ (Surtr) ยักษ์แห่งไฟ ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างแรก ที่มีบทบาทตั้งแต่การสร้างโลกจนล้างโลกในวาระสุดท้าย (สงครามรักนาร็อก) หน้าที่ของยักษ์ตนนี้คือเฝ้ามูสเป็ลล์สเฮย์เมอร์เอาไว้ ไม่ยอมให้ใครเข้า แต่เพราะความที่ตอนนั้นก็ไม่มีใครอยู่ ยักษ์ซูร์เตอร์จึงเบื่อมาก ๆ ไม่รู้จะทำอะไรนอกจาก ตีดาบ ทำของ และส่งประกายไฟลอยเข้าไปในกินนันกาแก็บเล่นไปวัน ๆ

ความร้อนที่มาจากประกายไฟ นานเข้าบ่อยเข้าทำให้น้ำแข็งในห้วงละลายเป็นไอลอยขึ้นกระทบอากาศเย็นกลายเป็นน้ำค้างแข็งร่วงลงมากองอยู่กับพื้น นับเดือนนับปี น้ำค้างเหล่านั้นก็รวมตัวกันจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นมา 2 อย่าง คือ ยักษ์ยอตุนน์ตนแรก อีเมอร์ (Ymir) กับ วัว ออดฮัมลา (Audhumla)

กำเนิดบรรพเทพ-ต้นตระกูลยักษ์

[แก้]

เมื่อเกิดแล้ว ทั้งสองก็หิว อีเมอร์ หันไปหันมาเจอกับเต้านมอันเต่งของวัว ก็ตรงเข้าดูดนมวัวเป็นการใหญ่ แต่วัวออดฮัมลาโชคร้าย หล่อนไม่มีอะไรจะกิน นอกจากน้ำแข็งข้างหน้า ก็เลยเลียน้ำแข็งกินไปพลาง ๆ ปรากฏว่า น้ำลายอุ่น ๆ ของวัวที่เลียน้ำแข็ง ก็ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งจากก้อนน้ำแข็งที่มันเลีย นั่นคือ เทพ บูรี ( Buri) พระเกษาของพระองค์ทรงงอกขึ้นมาก่อน จากนั้นก็เป็นเศียรและวรกาย เป็นชีวิตของชายอีกคนหนึ่ง เทพองค์นี้จะนับเป็นบรรพบุรุษของเทพทั้งหมดทีเดียว

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อีเมอร์ไม่สนใจนอกจากให้ตัวเองอิ่มไว้ก่อน นี่เป็นความต้องการแรกของมนุษย์ตั้งแต่เกิด อีเมอร์ใช้เวลาไม่นานนักก็กินนมวัวจนอิ่ม แต่ดูจะอิ่มมากไป มันจึงง่วงแล้วจึงก็ลงนอนบนพื้นน้ำแข็งแล้วหลับสนิทไปโดยพลัน ประกายไฟจากดาบของยักษ์ซูร์เตอร์ลอยละล่องมาตกข้างตัวเรื่อย ๆ สร้างความอบอุ่นให้เขาหลับนานขึ้นและเหงื่อออก แต่ว่าเหงื่อของยักษ์อีเมอร์ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น

ตัวแรกที่เกิดจากหยาดเหงื่อของอีเมอร์ เป็นยักษ์หกหัวที่แสนจะน่าเกลียด ซรูดเก็ลมีร์ (Thrudgelmir) (ตนนี้เป็นบรรบุรุษของยักษ์น้ำค้างแข็งตัวอื่น ๆ ต่อไปอีก พวกนี้นับเป็นศัตรูตลอดกาลของพวกเทพ) ส่วนเหงื่อจากใต้รักแร้ข้างซ้ายกลายเป็นยักษ์ชาย และหญิงคู่หนึ่ง แม้จะมีตนละหัวเดียว แต่ก็น่าเกลียดพอ ๆ กับเจ้าหกหัวตัวแรก ขนาดที่ไม่มีใครอยากจำชื่อด้วยซ้ำ

บูรี ต้นกำเนิดเผ่าพันธ์เทพ และ ซรูดเก็ลมีร์ บรรพบุรุษยักษ์ คล้ายกับ อีเมอร์ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็สามารถให้กำเนิดลูกได้เลย เบอร์เกลเมอร์ (Bergelmir) เกิดจากยักษ์ ซรูดเก็ลมีร์ ด้วยการกระโดดออกมาจากร่างของพ่อ ขณะเดียวกัน โอรสของ บุรี ก็กระโดดออกจากกายของพระองค์ มีนามว่า บอร์ (Bor) บอร์ สมรสกับ เบสล่า (Bestla)ยักษี ลูกสาวตนหนึ่งของอีเมอร์ ได้ผลพวงจากการสมรสเป็นเทพสำคัญสามองค์ โอดินน์ (Odin) วิลี ( Vili) และ วี (Ve) เทพทั้งสามพระองค์นี่จะทรงเป็นต้นวงศ์ของเทพ แอซีร์ (Aesir) ผู้ครองสวรรค์

กำเนิดสงครามเทพ-ยักษ์

[แก้]

คราวนี้พอเห็นเทพเกิดขึ้นเท่านั้น เบอร์เกลเมอร์ ก็ชักจะตกใจกลัวเทพขึ้นมา ทั้งสองจึงช่วยกันรวบรวมพี่น้อง ๆ ที่เกิดขึ้นจาก อีเมอร์ ไว้เป็นกำลังฝ่ายตัว ความกลัวเทพอาจเพราะคุณสมบัติที่ยักษ์ไม่มี เช่น ทั้งสามองค์แข็งแรงมาก แผลบาดเจ็บอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็สามารถหายเองได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากพวกยักษ์ซึ่งมีจะมีมาก และมีเสริมขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความแข็งแรงและแข็งแกร่งกลับสู้เทพทั้งสามไม่ได้เลย

สงครามระหว่างลูก ๆ ของซรูดเก็ลมีร์และโอรสของบอร์ เกิดขึ้นเป็นเวลานานนับพัน ๆ ปีในห้วงกินนันกาแก็บ โดยที่ไม่มีฝ่ายใดชนะเด็ดขาด หรือฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ

ในที่สุด พวกเทพจึงทรงคิดจะต้องยุติ มิให้ อีเมอร์ สามารถให้กำเนิดอะไรต่อมิอะไรที่ไม่พึงปรารถนาอีก โดยทรงฆ่า อีเมอร์ เลือดของยักษ์ตนแรกไหลจากร่าง มากจนกลายเป็นแม่น้ำเลือดใหญ่ ท่วมในห้วงกินนันกาแก็บที่เหลือจนเต็ม ทายาทยักษ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในตอนแรก ต่างจมน้ำในแม่น้ำเลือดนี้ตายหมด ยกเว้น เบอร์เกลเมอร์ สามารถหนีกับภรรยาของเขา ไปขึ้นฝั่งทางใต้ได้

กำเนิดแผ่นดินและโลกต่าง ๆ

[แก้]

เบอร์เกลเมอร์ ตั้งอาณาจักรของยักษ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า ยอตุนเฮย์เมอร์ (Jotunheim) ลูกหลานของพวกเขาได้รับการสั่งสอนให้เกลียดแค้นเทพ

ส่วนเทพนั้นทรงคิดจะหาทางสร้างจักรวาลให้น่าอยู่เสียใหม่ ด้วยการใช้ประโยชน์จากร่างของอีเมอร์ พวกเทพทรงใช้ศพอันมหึมา ข้ามห้วงว่างกินนันกาแก็บ ส่วนต่าง ๆ จากร่างศพให้กำเนิดสรรพสิ่งต่าง ๆ ตามทางไปด้วย

เลือดของอีเมอร์ กลายเป็น มหาสมุทร กระดูก เป็น ภูเขา และ ฟันซึ่งแตกหัก กลายเป็น หน้าผาต่าง ๆ ผม กลายเป็น ต้นไม้ใบหญ้า หัวกะโหลกโค้งมโหฬาร เทพก็เอามาทำ โค้งสวรรค์ สมองของอีเมอร์ กลายเป็น เมฆลอยทั่วท้องฟ้า ที่สำคัญที่สุด เนื้อของอีเมอร์ กลายเป็น แผ่นดินอันมั่นคงอยู่ตรงกลางมหาสมุทร เรียกกันว่า มิดการ์เดอร์ (Midgard) หรือ แผ่นดินที่อยู่ตรงกลาง

ซึ่งอันที่จริงก็จะอยู่ตรงกลางระหว่าง นิเวิลเฮย์เมอร์ ดินแดนแห่งน้ำแข็ง ความเย็นและความเงียบนิรันดร์ และมูสเป็ลล์สเฮย์เมอร์ อาณาจักรแห่งไฟ แผ่นดินที่ถูกแผดเผาด้วยดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และยังอยู่ตรงกลางของมหาสมุทร คือถูกมหาสมุทรล้อมรอบด้วย ยิ่งกว่านั้นมิดการ์เดอร์ เป็นแผ่นดินของมนุษย์ซึ่งพวกเทพทรงวางไว้เป็นเขตกั้นระหว่าง อาสการ์เดอร์ ของตนกับ โจตันเฮย์เมอร์ ของยักษ์

กำเนิดพระอาทิตย์-พระจันทร์

[แก้]

เมื่อโลกเป็นที่เป็นทาง เทพทั้งหลายก็ทรงเห็นพ้องว่า แสงสว่างจะเป็นสิ่งที่จำเป็น พวกเขาจึงเดินทางไป มัสเปลส์เฮม เก็บเอาประกายไฟที่กระเด็นจากดาบซูร์เตอร์ดวงที่ไม่ดับ ขว้างไปบนท้องฟ้า เกิดเป็นดวงดาวพร่างพราวทั่วไปหมด และเกิดสองดวงสว่างสุดคือดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์

และสร้างราชรถสำหรับลากลูกไฟทั้งสองไปทั่วฟ้า คันที่ลากดวงอาทิตย์มีทั้งน้ำแข็งและโล่ สวาลิน ไว้ด้านหลังม้าและคนขับ ป้องกันความร้อนรุนแรง มีม้าสองตัวลาก ชื่อ อาร์วาคร์ (Arvakr) แปลว่า ขึ้นแต่เช้า กับ อัลสวิน (Alsvin) ซึ่งแปลว่า ฝีเท้าเร็ว ส่วนดวงจันทร์ ไม่ยุ่งยาก เพราะแสงไม่แรงเท่า ทั้งเล็กกว่า มีม้าลากเพียงตัวเดียวคือ อัลสไวเดอร์ (Alsvider) แปลว่า เร็วเสมอ

ต่อไปนี้มีการแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

  1. โอดินน์ทรงมองหาจากบรรดาลูกหลานที่เหลืออยู่ ค่อนข้างนอกคอกหน่อยคือเป็นลูกผสมยักษ์-เทพชื่อ มานิ (Mani) และ โซล (Sol) ชื่อทั้งสองแปลว่า ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
  2. พี่น้องสองคนเป็นลูก มุนดิลวารี (Mundilfari) มนุษย์จากมิดการ์เดอร์ พ่อของเขาหาญตั้งชื่อว่า อาทิตย์และจันทร์ ด้วยคิดว่าลูกตัวงดงามเหมือนทั้งสองดวง หาญเช่นนี้ โอดินน์โกรธมาก เลยพรากตัวสองพี่น้องมาทำหน้าที่สารถีขับรถพระอาทิตย์และรถพระจันทร์เสียจริง

ตำนานชาวนอร์สยังกล่าวถึงศัตรูตัวฉกาจของอาทิตย์และจันทร์ไว้ด้วยคือ พญาหมาป่าสองตัว สก็อลล์ (Skoll) และ ฮาตี (Hati) สองตัวนี่ปรารถนาอย่างเดียวมาแต่เกิดคือ อยากจะกินดาวทั้งสองให้สิ้นซาก แล้วก็สามารถทำได้จริงด้วยในช่วงรักนาร็อก

นรกภูมิ

[แก้]

แม้ว่าชาวนอร์สจะไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องนรกเลย แต่นรกของชาวนอร์สนั้นก็มีอยู่ เรียกว่า นิเวิลเฮย์เมอร์ เป็นแผ่นดินของคนตาย อากาศหนาวเย็นมาก มีแต่แค่ ยักษ์ กับ คนแคระ เท่านั้นที่อยู่ร่วมกับวิญญาณคนตายได้ นรกของชาวนอร์สเป็นอาณาจักรของ เทพี เฮ็ล (Hel) (ที่มาของ Hell) พระองค์นี้เป็นเทพที่สำคัญต่อไปในภายหน้า

กำเนิดคนแคระ-เอลฟ์

[แก้]
เทพเฟรอือร์ หนึ่งในสองเทพวาเนอร์แห่งอาสการ์เดอร์ พร้อมกับหมูป่าขนทองอันเป็นของกำนัลจากคนแคระ

ระหว่างที่เทพทั้งสามช่วยกันสร้างโลก เนื้อส่วนหนึ่งของอีเมอร์นั้นก็เริ่มเน่า และได้ผลิตสิ่งมีชีวิตขึ้นพวกหนึ่ง

เทพทั้งหลายจึงสำรวจสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น แล้วจึงเปลี่ยนรูปร่างให้เข้ากับอุปนิสัย พวกที่ทำท่าทางโลภ ชอบขู่คำรามและโค้งตัวคุ้ยเขี่ยพื้นดิน สามารถรอดชีวิตได้โดยที่พวกอื่นตาย เทพสร้างให้เป็น คนแคระ (Dwarf) ให้ไปอยู่ในอาณาเขต สวาทัล์ฟเฮม (Svartalfheim) ใต้พื้นผิวแผ่นดินมิดการ์เดอร์ ซึ่งพวกมันสามารถจะขุดดินหาแร่มีค่าและอัญมณีมาเก็บไว้เป็นสมบัติ สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าโผล่ขึ้นมายามกลางวัน เพราะแค่แดดอ่อนต้องผิว จะกลายเป็นหินทันที

ส่วนอีกพวกหนึ่งไม่มีความโลภ เป็นพวกที่มีจิตใจดี ได้รับเปลี่ยนให้สวยงาม ตัวเบาเหมือนอากาศ เรียกว่า เอลฟ์ (Elf) ได้อาณาเขต อัล์ฟเฮม (Alfheim ดินแดนแห่งเอลฟ์ขาว หรือ เอลฟ์สว่าง) อยู่ระหว่างอาสการ์เดอร์ กับมิดการ์เดอร์ พวกนี้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนแคระ ถิ่นที่อยู่พวกเขาปลอดภัย และสามารถมาเที่ยวเล่นโลกมนุษย์ได้โดยไม่มีอันตราย เหตุนี้จึงทำให้เหล่าคนแคระไม่ชอบเหล่าเอลฟ์

กำเนิดมนุษย์

[แก้]

ครั้งหนึ่ง เทพสามองค์ โอดินน์ โฮเนอร์ (Hoenir) และ โลเดอร์ (Lodur) ทรงกำลังเดินทางไปตามชายหาด บังเอิญพบต้นไม้สองต้นที่ลอยมาติดหาด ต้นหนึ่งคือ แอช (Ash) ต้นหนึ่งคือ เอล์ม (Elm)

โอดินน์ทรงหักเอากิ่งที่มีสาขาของไม้ทั้งสองขึ้นมา ทรงถากให้เข้ารูปเป็นตุ๊กตามนุษย์ผู้ชาย และมนุษย์ผู้หญิง โอดินน์ทรงประทานวิญญาณให้ โฮเดอร์ประทานความรู้สึก และโลเดอร์ประทานชีวิต และสีผิวที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ จากนั้นกิ่งไม้ทั้งสองก็ปรากฏร่างขึ้น เป็นรูปร่างที่ใกล้เคียงเทพแต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นมนุษย์คู่แรกของโลก ผู้ชายมาจากต้นแอชนามว่า อากสค์ (Askr) ส่วนผู้หญิงนั้นมาจากต้นเอล์มชื่อ เอมบลา (Embla) เทพทั้งหลายทรงได้ชี้ทิศให้ทั้งสองหาที่ทางตั้งที่อยู่กันในมิดการ์เดอร์

ที่อยู่ของเทพ

[แก้]

เทพทั้งหลายนั้นทรงได้สร้าง อาสการ์เดอร์ (Asgard) ขึ้น ตามชื่อวงศ์แอเซียร์ (Aesir) ของตน ที่นี่ไม่ต้องการสงคราม ไม่มีการสู้รบ สันติภาพคงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่เทพแอซีร์ปกครองโลก

ถึงกระนั้น ชาวแอซีร์ก็ไม่ประมาท จึงสร้างโรงตีเหล็กเพื่อตีอาวุธยุทโธปกรณ์ และค่อย ๆ สร้างสรรค์ส่วนต่าง ๆ ของอาสการ์เดอร์ให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ

อาสการ์เดอร์เชื่อมกับโลกมนุษย์ ด้วยสะพานรุ้งน้ำแข็งเรียก ไบฟรอส (Bifrost) สะพานนี้ก่อร่างขึ้นมาจากสายรุ้งที่กลายเป็นน้ำแข็ง มันทั้งกว้างและแข็งแรงพอชักรถศึกออกไปได้

ต้นอึกก์ดราซิลล์

[แก้]

กลางแดนสวรรค์ มีไม้อยู่ต้นหนึ่ง เป็นไม้แอช (Ash) ชื่อ อึกก์ดราซิลล์ (Igrasil หรือ Yggrasil) โอบรับโลกทั้งเก้า ไม่ว่า สวรรค์ โลกมนุษย์ โลกยักษ์ โลกคนแคระ โลกเอลฟ์ ไว้กับกิ่งก้านสาขา และรากของมัน

โลกมนุษย์อยู่ภายใต้ร่มเงากิ่งก้านสาขา ยอดไม้ระเมฆบนท้องฟ้า ความแข็งแกร่งของไม้ทำให้โลกทั้งหมดตั้งอยู่อย่างมั่นคง

อึกก์ดราซิลล์ มีรากใหญ่ 3 รากหยั่งลึกลงไป รากหนึ่งไปถึงโจตันเฮย์เมอร์ แผ่นดินของยักษ์ รากหนึ่งไปถึงนิเวิลเฮย์เมอร์แผ่นดินน้ำแข็ง และรากอันหนึ่งไปถึงอาสการ์เดอร์แผ่นดินของชาวสวรรค์ รากทั้งสามทำให้ อึกก์ดราซิลล์ สัมพันธ์กับโลกทั้งสาม คือยักษ์ เทพ และมนุษย์ และได้ดูดเอาน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่ละแห่งไว้หล่อเลี้ยงต้น

รากที่อยู่กับ อาสการ์เดอร์ ไปโผล่ขึ้นบริเวณน้ำพุเอิด น้ำพุแห่งเยาวภาพ (Fountain of Youth) เป็นน้ำพุที่ชาวสวรรค์ใช้ดื่มกินเพื่อให้มีความเยาว์วัยอยู่เสมอ เทพีที่คอยรักษาแหล่งน้ำ และทรงมีหน้าที่ตักน้ำให้ชาวสวรรค์วันละครั้งคือ พวกนอร์น (the Norns) สามพี่น้อง นามว่า เอิด (Urd อดีต) เวอร์ดานดิ (Verdandi ปัจจุบัน) และ สกัลด์ (Skuld อนาคต) จะเรียกรวมกันว่าเป็นเทพีแห่งชะตามนุษย์ก็ไม่ผิด เหตุนี้อึกก์ดราซิลล์จึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ต้นไม้แห่งชะตาลิขิต (tree of destiny) ด้วย

รากต่อมาแผ่ไปถึง นิเวิลเฮย์เมอร์ แผ่นดินแห่งน้ำแข็งได้น้ำจากน้ำพุ คเวร์เก็ลมีร์ (Hvergelmir) ซึ่งมีน้ำตกหลั่นเป็นชั้น แผ่สาขาออกไปเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ของโลก ส่วนรากที่สาม แผ่ไปถึงแผ่นดินของพวกยักษ์ ได้น้ำจากน้ำพุ มีมีร์ (Mimir) เป็นน้ำวิเศษแห่งความรอบรู้ พวกยักษ์จึงต้องจัดเปลี่ยนเวรยามเฝ้าไม่ยอมให้ใครตักดื่มได้โดยง่าย

อึกก์ดราซิลล์ เขียวสดตลอดทั้งปีและตลอดไป แม้ว่าใบของมันจะกลายเป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ไปบ้าง บนต้นยังมีสัตว์อีกหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น บนยอดไม้สูงสุดมีไก่ตัวผู้สีทองตัวหนึ่งคอยตรวจตราขอบฟ้า มีหน้าที่ขันเตือนเทพหากศัตรูตลอดกาลเตรียมยาตราทัพมา นกอินทรีอีกตัวหนึ่งจะคอยเกาะกิ่งไม้มองสำรวจเช่นเดียวกับไก่ นกตัวนี้มีผู้ช่วยก็คือนกเหยี่ยวซึ่งเกาะอยู่ระหว่างตาของมัน

ตรงรากไม้มี พญางู นีดฮ็อกเกอร์ (Nidhoggr) ขดล้อมอยู่ กระรอกชื่อ ราตาโทสค์ (Ratatosk) ไม่เคยหยุดวิ่งขึ้นวิ่งลง ระหว่างตรงที่อินทรีเกาะกับรากบน นิเวิลเฮย์เมอร์ คอยตรวจตราไม่ให้พญางูกัดกินรากต้นไม้มากเกินไปยามที่เบื่อจะแทะศพมนุษย์แล้ว

รวมความแล้ว อึกก์ดราซิลล์ เป็นไม้สารพัดประโยชน์ แม้กระทั่งเทพโอดินน์เอง ก็เคยทรงแขวนคออยู่บนต้นไม้นานถึง 9 คืน เพื่อล่วงรู้ความลับแห่งความตาย และนำมาซึ่งการสร้างอักษรรูน เล่ากันว่าเทพโอดินน์ก็ได้ทรงตายไปเหมือนกัน แต่เนื่องด้วยได้ดื่มน้ำพุมีมีร์แล้ว ทำให้ฟื้นได้ (การแขวนคอเช่นนี้ กลายเป็นประเพณีภายหลัง มีการพบศพอยู่ในปลักตมที่จัตแลนด์ เรียกว่า ศพมนุษย์โทลลัน ลักษณะถูกแขวนคอตาย ทำให้คิดถึงการบูชายัญพลีแก่โอดินน์เมื่อฝ่ายตรงข้ามชนะศึก)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • คอสมอส. ตำนานเทพชาวเหนือ. กรุงเทพฯ : เครือเถา, 2546.