บาชาบูช
บาชาบูช (อาหรับ: باشا بوش, อักษรโรมัน: basha bewsh; เสียงอ่านภาษาอาหรับ: [baːʃaː bwʃ], อูรดู: بچہ پوش, เปอร์เซีย: بچهپوشی, อักษรโรมัน: bechehpewesha หรือในวรรณกรรมภาษาอังกฤษนิยมสะกดอักษรโรมัน: Bacha posh) เป็นการปฏิบัติในประเทศอัฟกานิสถานและบางส่วนของปากีสถานที่บางครอบครัวที่ไม่มีบุตรชายจะให้ลูกสาวใช้ชีวิตและปฏิบัติตนเป็นผู้ชาย ทำไปเพื่อให้ลูกสาวนั้นสามารถปฏิบัติตนได้อย่างอิสระขึ้นในสังคม เช่น เข้าเรียนในโรงเรียน หรือดูแลลูกสาวคนอื่นของครอบครัวในสาธารณะ
ที่มา
[แก้]ธรรมเนียมปฏิบัตินี้มีปรากฏบันทึกไว้อย่างน้อยหนึ่งร้อยปีมาแล้ว เป็นไปได้ว่าธรรมเนียมนี้อาจมีปฏิบัติมาอย่างยาวนานกว่านั้น[1] บาชาบูชอาจเริ่มต้นจากการที่สตรีปลอมตัวเป็นชายเพื่อสู้รบในช่วงเวลาแห่งสงคราม[2]
นักประวัติศาสตร์ Nancy Dupree ระบุกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่าเธอเคยเห็นภาพถ่ายที่อายุย้อนไปได้ถึงทศวรรษ 1900 ตอนต้น ในสมัยของฮะบีบุลละฮ์ ข่าน ที่แสดงภาพของสตรีแต่งตัวเป็นชาย พิทักษ์ฮาเร็มของกษัตริย์ เนื่องจากโดยทางการแล้ว ฮาเร็มจะสามารถมีผู้พิทักษ์ได้ ต้องไม่เป็นหญิงและไม่เป็นชาย[3]
ภาพรวม
[แก้]ในประเทศอัฟกานิสถาน ความกดดันทางสังคมส่งผลให้ครอบครัวต้องการมีลูกชายเพื่อสืบวงศ์ตระกูลและสืบทอดสมบัติของบิดา หากไม่มีลูกชาย ครอบครัวจะให้ลูกสาวแต่งตัวเป็นชาย บ้างยังมีความเชื่อว่าหากลูกสาวคนหนึ่งแต่งชายเป็นบาชาบูชแล้วจะทำให้โอกาสที่มารดามีลูกคนต่อไปเป็นลูกชายมีมากขึ้น[3]
เด็กหญิงที่ปฏิบัติตามธรรมเนียมบาชาบูชจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายลักษณะแบบเพศชาย ตัดผมสั้นเหมือนผู้ชาย[4] และใช้ชื่อที่เป็นผู้ชาย[5] ในครอบครัวจะปฏิบัติต่อบาชาบูชในสถานะก้ำกึ่ง ไม่ใช่ทั้งหญิงและชายเต็มตัว ไม่ต้องเรียนที่จะทำอาหารหรือทำความสะอาดบ้านแบบผู้หญิง เมื่อเด็กหญิงเป็นบาชาบูชแล้ว มักจะมีโอกาสมากกว่าในการเข้าเรียน เดินทางไปมาในสาธารณะโดยอิสระ คุ้มครองพี่สาวน้องสาวของตนในที่สาธารณะในฐานะผู้ชาย เล่นกีฬา และหางาน[3]
สถานะบาชาบูชของเด็กหญิงมักสิ้นสุดลงเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงที่ถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กมาให้เป็นบาชาบูชมักจะประสบปัญหาในการเปลี่ยนผ่านชีวิตจากเด็กผู้ชายมาเป็นสตรีซึ่งเต็มไปด้วยข้อจำกัดของสังคมอัฟกัน[3]
อาซีตา ราฟาต (Azita Rafaat) สมาชิกสภานิติบัญญัติของอัฟกานิสถาน ผู้แทนแคว้นบัดกีส ไม่มีลูกชาย และเลี้ยงดูลูกสาวคนหนึ่งของตนให้เป็นบาชาบูช พร้อมระบุว่า "นี่เป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกแทบจะจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำ"[3]
การยอมรับในสังคม
[แก้]เดิมที บาชาบูชไม่เป็นที่ทราบในสาธารณชนนอกตะวันออกกลาง กระทั่งเรื่องราวเริ่มถูกเผยแพร่ออกมาโดยสื่อต่าง ๆ[6] ไม่มีสถิติแน่ชัดว่ามีที่ครอบครัวที่ปฏิบัติให้ลูกสาวแต่งชายเช่นนี้ เนื่องจากลักษณะโดยธรรมชาติของบาชาบูชเป็นธรรมเนียมลับอยู่แล้ว มีเพียงแค่สมาชิกหลักของครอบครัว มิตรสหายของครอบครัว และเจ้าหน้าที่การศึกษากับการแพทย์ที่จำเป็นเท่านั้นที่จะทราบถึงเพศทางชีววิทยาของบาชาบูชคนหนึ่ง ๆ โดยทั่วไปในสังคม ผู้คนรับรู้และมีความอดกลั้นต่อบาชาบูช แต่กระนั้น บาชาบูชก็ยังถูกล้อเลียนและกลั่นแกล้งหากถูกพบว่าเป็นบาชาบูชจริงเพราะถือเป็นการทำขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เมื่อถูกเปิดเผยแล้ว บาชาบูชอาจถูกสังคมตีตราบาปในลักษณะแอลจีบีทีในสังคมมุสลิม แม้จะไม่ได้ระบุตัวตนเป็นแอลจีบีทีก็ตาม[7]
ในขบวนการสิทธิสตรีอัฟกันนั้นเป็นที่ถกเถียงว่าบาชาบูชเป็นธรรมเนียมซึ่งสร้างพลังแก่ผู้หญิงและช่วยให้พวกเธอสามารถประสบความสำเร็จได้ หรือว่าธรรมเนียมถือว่าทำร้ายผู้หญิง โดยเฉพาะในทางจิตวิทยา[8] ผู้หญิงหลายคนที่ผ่านการเป็นบาชาบูชมาก่อนระบุว่าพวกเธอรู้สึกว่าบาชาบูชเป็นการสร้างพลัง แต่ก็น่าอึดอัด นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มองว่าปัญหาแท้จริงเบื้องหลังธรรมเนียมบาชาบูชอยู่ที่สิทธิสตรีในสังคมมากกว่าที่ตัวธรรมเนียมบาชาบูชเอง[7][8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Ford, Cheryl Waiters, with Darnella (October 2011). Blood, sweat, and high heels: a memoir. Bloomington: iUniverse. p. 9. ISBN 978-1462054961.
- ↑ Shah, Mudassar (August 24, 2012). "Boys no more". Nepali Times. สืบค้นเมื่อ September 12, 2012.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Nordberg, Jenny. "Where Boys Are Prized, Girls Live the Part", The New York Times, September 20, 2010. Accessed September 20, 2010.
- ↑ Tahir Qadiry (March 27, 2012). "The Afghan girls who live as boys". BBC News. สืบค้นเมื่อ March 28, 2012.
- ↑ Arbabzadah, Nushin (November 30, 2011). "Girls will be boys in Afghanistan". Guardian. สืบค้นเมื่อ September 12, 2012.
- ↑ Warcholak, Natasha (30 May 2012). "Cross dressing in quest for education". Guardian. สืบค้นเมื่อ 12 September 2012.
- ↑ 7.0 7.1 Nordberg, Jenny. "Where Girls Will be Boys". The (ON).
- ↑ 8.0 8.1 Qadiry, Tahir (Jan 17, 2012). "The Trouble With Girls". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-21. สืบค้นเมื่อ May 22, 2012.