จวนจ๋อง
จวนจ๋อง (เฉฺวียน ฉง) | |
---|---|
全琮 | |
ที่ปรึกษาทัพฝ่ายซ้าย (左軍師 จั่วจฺวินซือ) | |
ดำรงตำแหน่ง กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 – ค.ศ. 247 หรือ 249 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
มหาเสนาบดีกลาโหมฝ่ายขวา (右大司馬 โย่วต้าซือหม่า) | |
ดำรงตำแหน่ง กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 – ค.ศ. 247 หรือ 249 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
เจ้ามณฑลชีจิ๋ว (徐州牧 สฺวีโจวมู่) (ในนาม) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 229 – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
ผู้พิทักษ์ทัพฝ่ายซ้าย (左護軍 จั่วฮู่จฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 229 – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
ขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 229 – กันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 246 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
เจ้าเมืองตงอาน (東安太守 ตงอานไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 226 – ค.ศ. 229 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
เจ้าเมืองกิวกั๋ง (九江太守 จิ่วเจียงไท่โฉ่ว) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. 226 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
ขุนพลสงบภาคใต้ (綏南將軍 ซุยหนานเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 223 – ค.ศ. 229 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
ขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 220 – ค.ศ. 223 | |
กษัตริย์ | ซุนกวน |
นายกองสำแดงเดช (奮威校尉 เฟิ่นเวย์เซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 220 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 196 หรือ 198[a] นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง |
เสียชีวิต | ค.ศ. 247 หรือ 249 (51 ปี)[a] |
คู่สมรส | กิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ | ดู ส่วนนี้ |
อาชีพ | ขุนพล |
ชื่อรอง | จื่อหฺวาง (子璜) |
บรรดาศักดิ์ | เฉียนถางโหว (錢塘侯) |
จวนจ๋อง (ค.ศ. 196–247 หรือ ค.ศ. 198–249)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉฺวียน ฉง (จีน: 全琮; พินอิน: Quán Cóng) ชื่อรอง จื่อหฺวาง (จีน: 子璜; พินอิน: Zǐhuáng) เป็นขุนพลชาวจีนของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน จวนจ๋องเกิดในบริเวณที่เป็นนครหางโจวในปัจจุบันเมื่อช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จวนจ๋องเริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังเยาว์เมื่อให้ทานแจกข้าวให้ผู้ทุกข์ยากจากทุพภิกขภัย และให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจากภาคกลางของจีน เขาเริ่มต้นรับราชการภายใต้ขุนศึกซุนกวนในฐานะนายทหารและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานช่วงต้นจากการปราบปรามชนเผ่าชานเยฺว่ในภูมิภาคกังตั๋งจนสงบราบคาบ หลังจากที่ซุนกวนขึ้นเป็นผู้ปกครองอิสระของง่อก๊กในปี ค.ศ. 222 จวนจ๋องก็ขึ้นมามียศเป็นขุนพลและเข้าร่วมในยุทธการที่รบกับวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของ่อก๊ก จวนจ๋องยังมีผลงานในการสยบกบฏของชนเผ่าท้องถิ่นในเมืองตันเอี๋ยง, ง่อกุ๋น และห้อยเข
หลังจากซุนกวนขึ้นเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 229 จวนจ๋องสมรสกับซุน หลู่ปาน (กิมก๋งจู๋) ธิดาของซุนกวนและกลายเป็นขุนพลที่ได้รับความไว้วางใจจากซุนกวนมากที่สุดคนหนึ่ง ในเวลานั้นแม้จวนจ๋องไม่ค่อยมีบทบาทในยุทธการ แต่ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในด้านกิจการของรัฐ จวนจ๋องทูลทัดทานอย่างหนักแน่นต่อการตัดสินพระทัยของซุนกวนที่จะให้ซุนเต๋งผู้เป็นรัชทายาทให้นำกองกำลังในยุทธการเพราะขัดต่อธรรมเนียม และพยายามทูลทัดทานไม่ให้บุกจูหยา (ปัจจุบันคือมณฑลไหหลำ) และอี๋โจว (เชื่อว่าในปัจจุบันคือประเทศไต้หวัน)
ในช่วงบั้นปลายชีวิต จวนจ๋องเข้าไปพัวพันกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างบุตรชายของซุนกวนคือซุนโฮและซุน ป้าเพื่อช่วงชิงสิทธิ์ในรัชบัลลังก์สืบต่อจากพระบิดา แม้ว่าจวนจ๋องจะสนับสนุนซุน ป้า แต่จวนจ๋องก็เสียชีวิตไปเสียก่อนที่การต่อสู้ชิงอำนาจจะสิ้นสุดในปี ค.ศ. 250 โดยที่ทั้งซุนโฮและซุน ป้าไม่ได้เป็นรัชทายาทคนใหม่ ตลอดชีวิตของจวนจ๋องเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้ที่น่านับถือและเป็นมิตร และยังคงถ่อมตนแม้จะมีสถานะทางสังคมและบารมีสูง จวนจ๋องในฐานะผู้บัญชาการทหารมีชื่อเสียงด้านความกล้าหาญและเด็ดขาด ประพฤติตนอย่างมีเกียรติ และมักคำนึงถึงส่วนรวม
ประวัติช่วงต้น
[แก้]จวนจ๋องเป็นชาวอำเภอเจียนต๋อง (錢唐縣 เฉียนถางเซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง[4] ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บิดาของจวนจ๋องชื่อเฉฺวียน โหรว (全柔) รับราชการเป็นเจ้าเมืองฮุยเอี๋ยง (桂陽郡 กุ้ยหยางจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครเชินโจว มณฑลหูหนาน) ภายใต้ขุนศึกซุนกวน
ในช่วงทศวรรษ 210 จวนจ๋องได้รับมอบหมายจากบิดาให้ขายข้าวนับพันหู (斛; หน่วยปริมาตร) ในเมืองง่อกุ๋น แต่จวนจ๋องกลับแจกจ่ายข้าวในง่อกุ๋นแทนที่จะขาย และกลับเมืองฮุยเอี๋ยงโดยไม่ได้อะไรกลับมา[5] บิดาของจวนจ๋องโกรธมากต้องการให้จวนจ๋องอธิบาย จวนจ๋องคุกเข่าคำนับแล้วตอบว่า "การขายข้าวไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ขุนนางอำเภอจำนวนมากกำลังเผชิญกับวิกฤตที่สิ้นหวังเนื่องจากราษฎรมีอาหารไม่เพียงพอ ลูกจึงตัดสินใจใช้ข้าวช่วยเหลือผู้ขัดสนเหล่านั้น เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน ลูกจึงไม่มีเวลามาแจ้งและขออนุญาตจากท่านพ่อเสียก่อน" หลังจากได้ฟังคำของจวนจ๋อง บิดาของจวนจ๋องก็รู้สึกประทับใจกับการกระทำอันเป็นกุศลของบุตรชาย[6]
ในเวลานั้นมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่หนีจากบ้านเกิดของตนในภาคกลางของจีนซึ่งกำลังเสียหายจากสงคราม และข้ามแม่น้ำแยงซีลี้ภัยไปทางใต้ จวนจ๋องรับผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนและใช้ทรัพย์สินทั้งหมดของตระกูลในการจัดหาสิ่งจำเป็นให้ผู้ลี้ภัย จวนจ๋องกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงจากการกระทำอันมีเมตตา[7][8]
การรับราชการในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
[แก้]ต่อมาซุนกวนแต่งตั้งให้จวนจ๋องเป็นนายกองสำแดงเดช (奮威校尉 เฟิ่นเวย์เซี่ยวเว่ย์) มอบหมายให้บังคับบัญชากองกำลังหลายพันนาย และสั่งให้ไปโจมตีชนเผ่าชานเยฺว่ซึ่งเริ่มก่อกบฏเป็นช่วง ๆ[9] จวนจ๋องยังระดมทหารฝีมือดีได้มากกว่า 10,000 นายมาอยู่ใต้บังคับบัญชาและให้ไปประจำการอยู่ที่งิวจู๋ (牛渚 หนิวจู่; ปัจจุบันคือนครหม่าอานชาน มณฑลอานฮุย) จวนจ๋องได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลรอง (偏將軍 เพียนเจียงจฺวิน) จากความดีความชอบเหล่านี้[10][8]
การรุกรานเกงจิ๋ว
[แก้]ระหว่างเดือนสิงหาคมหรือธันวาคม ค.ศ. 219[11] กวนอูขุนพลผู้รับใช้เล่าปี่อันเป็นพันธมิตรของซุนกวน นำกองกำลังไปโจมตีอ้วนเสีย (樊城 ฝานเฉิง; ปัจจุบันคือนครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่รักษาโดยโจหยินขุนพลผู้รับใช้โจโฉอันเป็นอริของทั้งซุนกวนและเล่าปี่ เวลานั้นจวนจ๋องเขียนจดหมายถึงซุนกวนเพื่อเสนอให้ซุนกวนฉวยโอกาสทำลายการเป็นพันธมิตรกับเล่าปี่และเข้ายึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ทางใต้ของมณฑลเกงจิ๋วซึ่งรักษาโดยกวนอู[12]
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนกวนลอบมอบหมายให้ขุนพลลิบองนำการรุกรานอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋วแล้ว ซุนกวนกังวลว่าแผนการอาจจะรั่วไหลจึงไม่ตอบจดหมายของจวนจ๋องและเก็บซ่อนไว้[13]
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 220[11] ลิบองพิชิตดินแดนของเล่าปี่ทั้งหมดในมณฑลเกงจิ๋วได้สำเร็จ กวนอูถูกจับจากการซุ่มโจมตีและต่อมาถูกประหารชีวิตตามคำสั่งของซุนกวนหลังกวนอูปฏิเสธที่จะสวามิภักดิ์ต่อซุนกวน หลังซุนกวนได้รับชันชนะก็ให้จัดงานเลี้ยงในอำเภอกังอั๋น (公安 กงอาน) เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของลิบอง ในงานเลี้ยงซุนกวนบอกกับจวนจ๋องว่า "แม้ว่าข้าไม่ได้ตอบจดหมายที่ท่านส่งมาก่อนหน้านี้ แต่ข้าก็ยังต้องการยกความดีความชอบจากชัยชนะในวันนี้ให้กับท่าน" ซุนกวนจึงมอบบรรดาศักดิ์ให้จวนจ๋องเป็นหยางหฺวาถิงโหว (陽華亭侯)[14][8]
การรับราชการในง่อก๊ก
[แก้]ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 220 โจผีชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้จักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและก่อตั้งรัฐวุยก๊กโดยตนเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊กของจีน[15]
ในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 221 โจผีแต่งตั้งให้ซุนกวนมีฐานันดรศักดิ์เป็น "เงาอ๋อง" (吳王 อู๋หวาง) หลังซุนกวนให้สัตย์ว่าจะจงรักภักดีต่อโจผีและยอมเป็นรัฐประเทศราชของวุยก๊ก แต่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 222 ซุนกวนตัดสัมพันธ์กับโจผีและตั้งตนเป็นประมุขอิสระของรัฐง่อก๊ก ซุนกวนยังคงปกครองด้วยฐานันดรศักดิ์ "เงาอ๋อง"[15] และไม่ได้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิจนกระทั่ง ค.ศ. 229[16]
ยุทธการที่ต๋งเค้า
[แก้]ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 222[15] โจผีจักรพรรดิวุยก๊กส่งทัพเรือเข้าโจมตีจุดยุทธศาสตร์ของง่อก๊กที่ต๋งเค้า (洞口 ต้งโข่ว; เลียบริมแม่น้ำแยงซี ใกล้กับนครลี่หยาง มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) ซุนกวนจึงมอบหมายให้ลิห้อม จวนจ๋อง และคนอื่น ๆ นำทัพง่อก๊กไปต้านศึก[17]
ระหว่างยุทธการ จวนจ๋องนำทหารเกราะไปลาดตระเวนริมฝั่งแม่น้ำตลอดเวลา และขับไล่ทหารเรือกลุ่มเล็ก ๆ ฝ่ายวุยก๊กที่เข้ามาโจมตีหลายครั้ง[18] ต่อมา อินเล้ (尹禮 อิ๋น หลี่ หรือ 尹盧 อิ่น หลู) ขุนพลวุยก๊กนำกองกำลังหลายพันนายข้ามแม่น้ำและเปิดฉากโจมตี จวนจ๋องนำกองกำลังของตนเข้ารบและสามารถขับไล่กองกำลังฝ่ายข้าศึกกลับไป รวมถึงสังหารอินเล้ได้ในยุทธการ[19]
จากความชอบในการศึก จวนจ๋องจึงได้เลื่อนยศเป็นขุนพลสงบภาคใต้ (綏南將軍 ซุยหนานเจียงจฺวิน) และยังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้านเป็นโหวระดับอำเภอในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "เฉียนถางโหว" (錢唐侯)[20]
ในปี ค.ศ. 225 ซุนกวนมอบอาญาสิทธิ์ให้จวนจ๋องและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองของเมืองกิวกั๋ง (九江郡 จิ่วเจียงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณอำเภอเฉฺวียนเจียว มณฑลอานฮุย)[21][8]
ยุทธการที่เซ็กเต๋ง
[แก้]ในปี ค.ศ. 228 ซุนกวนเดินทางไปยังอำเภออ้วนเสีย (皖縣 หว่านเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฉียนชาน มณฑลอานฮุย) แล้วมอบหมายให้จวนจ๋องเข้าร่วมกับลกซุนในการโจมตีทัพวุยก๊กที่นำโดยโจฮิว ทั้งคู่ทำภารกิจได้สำเร็จและเอาชนะโจฮิวได้ในยุทธการที่เซ็กเต๋ง[22]
ในฐานะเจ้าเมืองตงอาน
[แก้]ในช่วงเวลานั้น ชนเผ่าท้องถิ่นในเมืองตันเอี๋ยง (丹陽 ตานหยาง) ง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) และห้อยเข (會稽 ไคว่จี) มักก่อกบฏต่อต้านการปกครองของง่อก๊ก และเข้าโจมตีหลายอำเภอในภูมิภาค ซุนกวนกำหนดในพื้นที่ของสามเมืองนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่สงบ และก่อตั้งเมืองใหม่ชื่อตงอาน (東安郡 ตงอานจฺวิ้น) เพื่อบริหารจัดการพื้นที่เหล่านี้ แล้วแต่งตั้งจวนจ๋องให้เป็นเจ้าเมืองของเมืองตงอาน[23][8] โดยมีที่ว่าการเมืองอยู่ที่อำเภอฟู่ชุน (富春縣 ฟู่ชุนเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง)[24]
หลังมาถึงอำเภอฟู่ชุน จวนจ๋องดำเนินมาตรการอย่างรอบคอบในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้การให้รางวัลและการลงโทษเป็นไปอย่างยุติธรรม จวนจ๋องยังสามารถเกลี้ยกล่อมให้ชนเผ่าท้องถิ่นสวามิภักดิ์ต่อตน ตลอดเวลาหลายปีที่จวนจ๋องดำงตำแหน่ง จวนจ๋องรับคนมากกว่า 10,000 คนมาอยู่ภายใต้การปกครองของง่อก๊ก[25]
เยี่ยมบ้านเกิด
[แก้]ภายหลังจากจวนจ๋องสยบชนเผ่าท้องถิ่นได้สำเร็จ ซุนกวนให้ยุบเมืองตงอานและให้จวนจ๋องกำลับไปประจำตำแหน่งเดิมที่งิวจู๋ (牛渚 หนิวจู่; ปัจจุบันคือนครหม่าอานชาน มณฑลอานฮุย)[26] ระหว่างเดินทางไปงิวจู๋ จวนจ๋องผ่านมาทางอำเภอเจียนต๋อง (錢唐縣 เฉียนถางเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง) จึงตัดสินใจไปเยี่ยมบ้านเกิด จวนจ๋องไหว้สุสานบรรพบุรุษ รวมถึงซ่อมแซมและทำความสะอาดสุสาน เมื่อจวนจ๋องเดินทางไปรอบ ๆ ก็มีขบวนตามธรรมเนียมติดตามไปด้วย ก่อนที่จวนจ๋องจะจากบ้านเกิดไปได้ให้จัดงานเลี้ยงแก่ญาติ เพื่อน และชาวบ้านทุกคน รวมถึงมอบของขวัญให้ จวนจ๋องเป็นความภาคภูมิใจของบ้านเกิดของตน[27]
สมรสกับกิมก๋งจู๋
[แก้]หลังจากซุนกวนสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 229[16] ทรงเลื่อนตำแหน่งให้จวนจ๋องเป็นขุนพลพิทักษ์ (衞將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) ร่วมกับตำแหน่งผู้พิทักษ์ทัพฝ่ายซ้าย (左護軍 จั่วฮู่จฺวิน) และเจ้ามณฑลของมณฑลชีจิ๋ว (徐州牧 สฺวีโจวมู่) แต่ในนาม[28] ในปีเดียวกันนั้น จวนจ๋องได้สมรสกับซุน หลู่ปานหรือกิมก๋งจู๋[8] ธิดาองค์โตของซุนกวนและพระสนมปู้ เลี่ยนชือ[29]
ทัดทานไม่ให้ส่งซุนเต๋งไปร่วมยุทธการ
[แก้]ครั้งหนึ่งซุนกวนทรงมีรับสั่งให้ซุนเต๋งผู้เป็นพระโอรสองค์โตและรัชทายาทให้นำกองกำลังเข้าร่วมยุทธการ ไม่มีขุนนางคนใดที่กล้าทูลทัดทานการตัดสินพระทัยของซุนกวน[30]
จวนจ๋องเขียนฎีกาลับทูลจักรพรรดิซุนกวนว่า "ตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่เคยมีกรณีที่รัชทายาทนำกองกำลังเข้าสู่ยุทธการด้วยตนเอง รัชทายาทควรมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนเมื่อติดตามประมุขเข้าสู่ยุทธการ หรือมีบทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่รักษารัฐระหว่างที่ประมุขไม่อยู่ ข้าพระพุทธเจ้ากังวลใจอย่างยิ่งเพราะบัดนี้องค์รัชทายาทไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมเนียมโดยการนำกองกำลังเข้าสู่ยุทธการ"[31]
ซุนกวนทำตามคำแนะนำของจวนจ๋อง มีรับสั่งให้ซุนเต๋งนำกองกำลังกลับมาทันที เมื่อมีการเผยในภายหลังว่าจวนจ๋องเป็นผู้โน้มน้าวซุนกวนให้เปลี่ยนพระทัย จวนจ๋องจึงได้รับการยกย่องอย่างสูงในฐานะผู้มีเกียรติของขุนนางที่น่านับถือ[32]
ปฏิเสธที่จะจับกุมราษฎร
[แก้]ในปี ค.ศ. 233 เมื่อจวนจ๋องนำทหารราบและทหารม้ารวม 50,000 นายเข้าโจมตีอำเภอลู่อาน (六安縣 ลู่อานเซี่ยน) ในอาณาเขตของวุยก๊ก ราษฎรในอำเภอลู่อานต่างหวาดกลัวและหลบหนีกระจัดกระจายไปทุกทิศทาง นายทหารใต้บังคับบัญชาของจวนจ๋องต่างเสนอให้ส่งทหารไปจับกุมราษฎรกลับมา[33] จวนจ๋องกล่าวว่า "ไม่เป็นการดีต่อรัฐของเราหากเอาเปรียบราษฎรเพื่อประโยชน์เล็กน้อยเช่นนั้นและดำเนินการเสี่ยงโดยไม่พิจารณาในมุมกว้าง หากเราส่งกำลังทหารไปจับกุมราษฎร ผลได้ผลเสียก็จะหักล้างกันเอง เช่นนั้นแล้วจะเป็นการดำเนินการที่ดีหรือ แม้เราจับราษฎรได้ส่วนหนึ่ง ก็ไม่อาจสร้างความเสียหายให้กับข้าศึกได้อย่างมีนัยสำคัญ และไม่อาจเติมเต็มความปรารถนาของรัฐ หากกองกำลังของเราเผชิญหน้ากับข้าศึกระหว่างทาง ย่อมต้องเกิดการสูญเสียอย่างมาก ข้ายอมรับผิดชอบที่ไม่ได้อะไรในยุทธการนี้ ดีกว่าถูกตำหนิว่าตัดสินใจผิดพลาดและทำการสุ่มเสี่ยง ข้าจะไม่แสวงหาความชอบส่วนตัวโดยต้องจ่ายด้วยการทำให้รัฐผิดหวังในตัวข้า"[34]
ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 กันยายนถึง 26 ตุลาคม ค.ศ. 246[b] จวนจ๋องได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีกลาโหมฝ่ายขวา (右大司馬 โย่วต้าซือหม่า) รวมกับตำแหน่งที่ปรึกษาทัพฝ่ายซ้าย (左軍師 จั่วจฺวินซือ)[36]
คัดค้านการทัพที่จูหยาและอี๋โจว
[แก้]เมื่อซุนกวนต้องการจะส่งกองกำลังไปยึดครองจูหยา (珠崖; ปัจจุบันคือมณฑลไหหลำ) และอี๋โจว (夷州; เชื่อว่าในปัจจุบันคือประเทศไต้หวัน) จึงตรัสถามจวนจ๋องเพื่อขอความคิดเห็น จวนจ๋องทูลตอบว่า "ด้วยพระราชอำนาจแห่งรัฐของเรา ไม่มีดินแดนใดที่เราไม่อาจพิชิต แต่ดินแดนที่ห่างไกลเหล่านี้แยกออกจากแผ่นดินใหญ่ด้วยทะเลกั้น ภูมิอากาศและภูมิประเทศค่อนข้างอันตรายต่อชาวแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สมัยโบราณ หากทหารและพลเรือนอยู่ร่วมกัน ก็มีแนวโน้มที่จะล้มป่วยและโรคติดต่อก็จะระบาดได้ง่าย หากเป็นเช่นนั้น ทหารของเราก็จะกลับบ้านไม่ได้ แล้วเราจะได้อะไรจากการนี้เล่า ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกไม่สบายใจอย่างมากเมื่อคิดถึงเรื่องที่จะส่งกองกำลังของเราซึ่งควรจะอยู่รักษาชายแดนให้ออกไปปฏิบัติภารกิจที่เสี่ยงเช่นนี้โดยมีโอกาสสำเร็จต่ำมาก"[37]
ซุนกวนไม่ทรงฟังคำแนะนำของจวนจ๋อง และส่งทัพไปบุกจูหยาและอี๋โจว ภายหลังเมื่อทหารร้อยละ 80 ถึง 90 เสียชีวิตจากโรคระบาดในช่วงปีแรกของการทัพ ซุนกวนก็รู้สึกเสียพระทัยกับการตัดสินพระทัยของตน[38] เมื่อพระองค์ตรัสกับจวนจ๋องอีกครั้ง จวนจ๋องทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าผู้ที่ไม่พยายามทัดทานฝ่าบาทไม่ให้ทำศึกไม่ใช่ผู้จงรักภักดีต่อฝ่าบาท"[39]
ยุทธการที่เชฺว่เปย์
[แก้]ในฤดูร้อน ค.ศ. 241 จวนจ๋องนำทัพง่อก๊กในยุทธการที่เชฺว่เปย์ (芍陂; อยู่ทางใต้ของอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) รบกับทัพวุยก๊กที่นำโดยหวาง หลิง (王淩) ฝ่ายง่อก๊กตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในช่วงแรกของยุทธการ ทัพง่อก๊กเสียกองกำลังทหาร 5 หน่วยจากการรบกับทัพวุยก๊ก นายทหารง่อก๊กสองคนคือเตียวหิว (張休 จาง ซิว) และกู้ เฉิง (顧承) นำกองกำลังของตนไปต้านทัพวุยก๊กและหยุดการรุกคืบของทัพวุยก๊กไว้ได้ เฉฺวียน ซฺวี่ (全緒) บุตรชายคนโตของจวนจ๋อง และจวนตวน (全端 เฉฺวียน ตฺวาน) ญาติของจวนจ๋องซึ่งก็ร่วมในทัพง่อก๊ก ได้นำกองกำลังของตนเข้าโจมตีทัพวุยก๊กและขับไล่ทัพวุยก๊กลับไปได้สำเร็จ[40]
ภายหลังจากยุทธการ ซุนกวนปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายทหารที่เข้าร่วมในยุทธการ ซุนกวนถือว่าผลงานของเตียวหิวและกู้ เฉิงเหนือกว่าผลงานของเฉฺวียน ซฺวี่และจวนตวน เพราะซุนกวนเห็นว่าการหยุดการรุกคืบของข้าศึกยากกว่าการขับไล่ข้าศึก ผลก็คือซุนกวนเลื่อนยศให้เตียวหิวและกู้ เฉิงขึ้นเป็นขุนพล ส่วนเฉฺวียน ซฺวี่และจวนตวนได้รับตำแหน่งขุนพลรองชั้นโทและขุนพลรองชั้นตรีตามลำดับ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ตระกูลจวนรู้สึกไม่พอใจกู้ เฉิงและเตียวหิว และพลอยไปไม่พอใจกู้ ถาน (顧譚) ที่เป็นพี่ชายของกู้ เฉิงด้วย
บทบาทในการต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์
[แก้]ในทศวรรษ 240[41] เกิดการต่อสู้ชิงอำนาจระหว่างบุตรชายสองคนของซุนกวนคือ ซุนโฮ (孫和 ซุน เหอ) และซุน ป้า (孫霸) เพื่อชิงสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์ถัดจากซุนกวน แม้ว่าซุนกวนได้แต่งตั้งให้ซุนโฮเป็นรัชทายาทในปี ค.ศ. 242 หลังซุนเต๋งพระโอรสองค์โตสิ้นพระชนม์ในปีก่อน แต่ขณะเดียวกันซุนกวนก็ปฏิบัติต่อซุน ป้าเป็นอย่างดีเป็นพิเศษ ขุนนางของง่อก๊กหลายคนทูลชี้แนะให้ซุนกวนรักษาธรรมเนียมการสืบทอดมรดกในลัทธิขงจื๊อและรับรองซุนโฮในฐานะรัชทายาท ได้รับเกียรติและเอกสิทธิ์มากกว่าเมื่อเทียบกับซุน ป้าและเจ้าชายพระองค์อื่น ๆ แต่ซุนกวนไม่สามารถแยกแยะระหว่างสถานะของเจ้าชายทั้งสองได้อย่างชัดเจน การต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์การสืบราชบัลลังก์จึงปะทุขึ้นระหว่างเจ้าชายทั้งสอง โดยซุน ป้าเริ่มแข่งขันเพื่อดึงความสนใจและเพิ่มความโปรดปรานจากพระบิดา ในขณะที่ซุนโฮมองว่าซุน ป้าเป็นภัยคุกคามจึงพยายามตอบโต้[42]
การต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์นำไปสู่การแบ่งกลุ่มขุนนางของซุนกวนออกเป็นสองกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน กลุ่มหนึ่งประกอบด้วยลกซุน, จูกัดเก๊ก, กู้ ถาน (顧譚), จู จฺวี้ (朱據), เตงอิ๋น, ชือ จี (施績), ติง มี่ (丁密) และอู๋ ช่าน (吾粲) เห็นว่าซุนโฮเป็นทายาทโดยชอบธรรมจึงสนับสนุนซุนโฮ อีกกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยเปาจิด, ลิต้าย, จวนจ๋องและเฉฺวียน จี้ (全寄) บุตรชายคนรอง, ลิกี๋, ซุน หง (孫弘), หยาง จู๋ (楊笁), อู๋ อาน (吳安) และซุน ฉี (孫奇) สนับสนุนซุน ป้า[43]
ระหว่างการต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์ ตระกูลจวนพบโอกาสที่จะแก้แค้นกู้ เฉิงและเตียวหิว จึงกล่าวหาว่ากู้ เฉิงและเตียวหิวลอบร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ยื่นความเท็จเกี่ยวกับผลงานของตนในยุทธการที่เชฺว่เปย์[44] เป็นผลทำให้กู้ เฉิงและเตียวหิวถูกจับขังคุก ส่วนกู้ ถานที่เป็นพี่ชายของกู้ เฉิงซึ่งเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของซุนโฮก็พลอยพัวพันในเรื่องนี้ ซุนกวนไม่เต็มใจที่จะตัดสินโทษเตียวหิวและพี่น้องกู้ จึงขอให้กู้ ถานขอขมาต่อธารกำนัลในเรื่องความผิดที่ก่อขึ้นโดยน้องชายและเตียวหิว ด้วยหวังว่าการขอขมาจะทำให้ตระกูลจวนพึงพอใจ[45] แต่กู้ ถานปฏิเสธที่จะขอขมาและยืนกรานว่าพวกตนบริสุทธิ์[46] ขุนนางบางคนเรียกร้องให้ประหารชีวิตกู้ ถานฐานที่ไม่เคารพจักรพรรดิ ซุนกวนปฏิเสธที่จะประหารชีวิตกู้ ถาน และให้เนรเทศกู้ ถาน,[47] กู้ เฉิง และเตียวหิวไปยังมณฑลเกาจิ๋วที่ห่างไกลแทน[48]
ในที่สุดซุนกวนก็เบื่อหน่ายกับการต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์ จึงปิดฉากความขัดแย้งลงในปี ค.ศ. 250 โดยการปลดซุนโฮออกจากตำแหน่งรัชทายาทและตั้งซุนเหลียงขึ้นแทนที่ และยังบังคับซุน ป้าให้กระทำอัตวินิบาตกรรม[49] ขุนนางหลายคนที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งรวมถึงเฉฺวียน จี้บุตรชายคนรองของจวนจ๋อง ถูกประหารชีวิต, ถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย, ถูกลดตำแหน่ง, ถูกปลดจากราชการ หรือถูกเนรเทศไปเมืองที่ห่างไกล[50][51]
เสียชีวิต
[แก้]ก่อนที่การต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งสิทธิ์ในการสืบทอดราชบัลลังก์จะสิ้นสุดในปี ค.ศ. 250 จวนจ๋องก็เสียชีวิตไปก่อนแล้วในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์และ 23 มีนาคม ค.ศ. 247 (ตามชีวประวัติซุนกวนในสามก๊กจี่)[2] หรือในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 249 (ตามเจี้ยนคางฉือลู่และชีวประวัติจวนจ๋องในสามก๊กจี่)[1] ขณะอายุ 52 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[3]
ในพจนานุกรมชีวประวัติราชวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงยุคสามก๊ก ค.ศ. 23-220 (A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD) ของเรฟ เดอ เครสพิกนี ชื่อของจวนจ๋อง (Quan Cong) ถอดอักษรเป็น "Quan Zong" และบันทึกปีที่เสียชีวิตเป็น ค.ศ. 247[8]
ครอบครัวและญาติ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
คำวิจารณ์
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติตจวนจ๋องในสามก๊กจี่บันทึกว่าจวนจ๋องเสียชีวิตในศักราชชื่ออูปีที่ 12 ในรัชสมัยของซุนกวน[1] เทียบได้กับปี ค.ศ. 249 ในปฏิทินกริโกเรียน แต่ในชีวประวัติซุนกวนในสามก๊กจี่บันทึกว่าจวนจ๋องเสียชีวิตในเดือน 1 ของศักราชชื่ออูปีที่ 10[2] เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ถึง 23 มีนาคม ค.ศ. 247 ในปฏิทินกริโกเรียน ไม่แน่ชัดว่าข้อมูลใดถูกต้อง เจี้ยนคางฉือลู่ก็บันทึกว่าจวนจ๋องเสียชีวิตขณะอายุ 52 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะเสียชีวิตนั้นเป็นฤดูหนาวของศักราชชื่ออู่ปีที่ 12[3] เมื่อคำนวณแล้วจวนจ๋องอาจเกิดในปี ค.ศ. 196 หรือ ค.ศ. 198 ขึ้นกับว่าปีที่จวนจ๋องเสียชีวิตเป็นปี ค.ศ. 247 หรือ 249
- ↑ ชีวประวัติซุนกวนในสามก๊กจี่บันทึกว่าจวนจ่องได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเสนาบดีกลาโหมฝ่ายขวาในเดือน 9 ของศักราชชื่ออูปีที่ 9 ในรัชสมัยของซุนกวน[35] เดือนนี้เทียบเท่ากับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 กันยายนถึง 26 ตุลาคม ค.ศ. 246 ในปฏิทินกริโกเรียน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ([赤烏]十二年卒, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ 2.0 2.1 [赤烏]十年春正月,右大司馬全琮卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 47.
- ↑ 3.0 3.1 ([赤烏十二年]冬,右大司馬全琮卒。[全]琮字子璜, ... 卒,時年五十二,帝流涕。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 2.
- ↑ (全琮字子璜,吳郡錢唐人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (柔甞使琮齎米數千斛到吳,有所市易。琮至,皆散用,空船而還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (柔大怒,琮頓首曰:「愚以所市非急,而士大夫方有倒縣之患,故便振贍,不及啟報。」柔更以奇之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (是時中州士人避亂而南,依琮居者以百數,琮傾家給濟,與共有無,遂顯名遠近。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 de Crespigny (2007), p. 712.
- ↑ (後權以為奮威校尉,授兵數千人,使討山越。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (因開募召,得精兵萬餘人,出屯牛渚,稍遷偏將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ 11.0 11.1 Sima (1084), vol. 68.
- ↑ (建安二十四年,劉備將關羽圍樊、襄陽,琮上疏陳羽可討之計, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (... 權時已與呂蒙陰議襲之,恐事泄,故寢琮表不荅。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (及禽羽,權置酒公安,顧謂琮曰:「君前陳此,孤雖不相荅,今日之捷,抑亦君之功也。」於是封陽華亭侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Sima (1084), vol. 69.
- ↑ 16.0 16.1 Sima (1084), vol. 71.
- ↑ (黃武元年,魏以舟軍大出洞口,權使呂範督諸將拒之,軍營相望。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (敵數以輕船鈔擊,琮常帶甲仗兵,伺候不休。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (頃之,敵數千人出江中,琮擊破之,梟其將軍尹盧。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (遷琮綏南將軍,進封錢唐侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (四年,假節領九江太守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (七年,權到皖,使琮與輔國將軍陸遜擊曹休,破之於石亭。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (是時丹楊、吳、會山民復為寇賊,攻沒屬縣,權分三郡險地為東安郡,琮領太守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (吳錄曰:琮時治富春。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (至,明賞罰,招誘降附,數年中,得萬餘人。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (權召琮還牛渚,罷東安郡。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (江表傳曰:琮還,經過錢唐,脩祭墳墓,麾幢節蓋,曜於舊里,請會邑人平生知舊、宗族六親,施散惠與,千有餘萬,本土以為榮。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (黃龍元年,遷衞將軍、左護軍、徐州牧,尚公主。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (吳主權步夫人, ... 生二女,長曰魯班,字大虎,前配周瑜子循,後配全琮;) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
- ↑ (江表傳曰:權使子登出征,已出軍,次于安樂,羣臣莫敢諫。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (琮密表曰:「古來太子未甞偏征也,故從曰撫軍,守曰監國。今太子東出,非古制也,臣竊憂疑。」) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (權即從之,命登旋軍,議者咸以為琮有大臣之節也。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (嘉禾二年,督步騎五萬征六安,六安民皆散走,諸將欲分兵捕之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (琮曰:「夫乘危徼倖,舉不百全者,非國家大體也。今分兵捕民,得失相半,豈可謂全哉?縱有所獲,猶不足以弱敵而副國望也。如或邂逅,虧損非小,與其獲罪,琮寧以身受之,不敢徼功以負國也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ ([赤烏九年]秋九月,以驃騎步隲為丞相,車騎朱然為左大司馬,衞將軍全琮為右大司馬, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 47.
- ↑ (赤烏九年,遷右大司馬、左軍師。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (初,權將圍珠崖及夷州,皆先問琮,琮曰:「以聖朝之威,何向而不克?然殊方異域,隔絕障海,水土氣毒,自古有之,兵入民出,必生疾病,轉相污染,往者懼不能反,所獲何可多致?猥虧江岸之兵,以兾萬一之利,愚臣猶所不安。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (權不聽。軍行經歲,士衆疾疫死者十有八九,權深悔之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (後言次及之,琮對曰:「當是時,羣臣有不諫者,臣以為不忠。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 60.
- ↑ (先是,譚弟承與張休俱北征壽春,全琮時為大都督,與魏將王淩戰於芍陂,軍不利,魏兵乘勝陷沒五營將秦晃軍,休、承奮擊之。遂駐魏師。時琮羣子緒、端亦並為將,因敵旣住,乃進擊之,淩軍用退。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ Sima (1084), vols. 74-75.
- ↑ (殷基通語曰:初權旣立和為太子,而封霸為魯王,初拜猶同宮室,禮秩未分。羣公之議,以為太子、國王上下有序,禮秩宜異,於是分宮別僚,而隙端開矣。) อรรถาธิบายจากทงยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
- ↑ (自侍御賔客造為二端,仇黨疑貳,滋延大臣。丞相陸遜、大將軍諸葛恪、太常顧譚、驃騎將軍朱據、會稽太守滕胤、大都督施績、尚書丁密等奉禮而行,宗事太子,驃騎將軍步隲、鎮南將軍呂岱、大司馬全琮、左將軍呂據、中書令孫弘等附魯王,中外官僚將軍大臣舉國中分。) อรรถาธิบายจากทงยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
- ↑ (吳錄曰:全琮父子屢言芍陂之役為典軍陳恂詐增張休、顧承之功,而休、承與恂通情。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ (休坐繫獄,權為譚故,沈吟不決,欲令譚謝而釋之。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ (及大會,以問譚,譚不謝,而曰:「陛下,讒言其興乎!」) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ (江表傳曰:有司奏譚誣罔大不敬,罪應大辟。權以雍故,不致法,皆徙之。) อรรถาธิบายจากเจียงเปี่ยวจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ (數年,與兄譚、張休等俱徙交州,年三十七卒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ ([赤烏]十三年 ... 八月, ... 廢太子和,處故鄣。魯王霸賜死。冬十月, ... 十一月,立子亮為太子。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 47.
- ↑ (魯王霸覬覦滋甚,陸遜、吾粲、顧譚等數陳適庶之義,理不可奪,全寄、楊笁為魯王霸支黨,譖愬日興。粲遂下獄誅,譚徙交州。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
- ↑ (時全寄、吳安、孫奇、楊笁等陰共附霸,圖危太子。譖毀旣行,太子以敗,霸亦賜死。流笁屍于江,兄穆以數諫戒笁,得免大辟,猶徙南州。霸賜死後,又誅寄、安、奇等,咸以黨霸搆和故也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- สฺวี่ ซง (ป. ศตวรรษที่ 8). เจี้ยนคางฉือลู่ (建康實錄).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.