กีแซง
กีแซง | |
ชื่อเกาหลี | |
---|---|
ฮันกึล | |
ฮันจา | |
อาร์อาร์ | Gisaeng |
เอ็มอาร์ | Kisaeng |
กีแซง (เกาหลี: 기생; ฮันจา: 妓生) เรียกอีกอย่างว่า ชินยอ (เกาหลี: 기녀; ฮันจา: 妓女) เป็นผู้หญิงที่ถูกขับจากครอบครัวหรือทาสที่ได้รับการฝึกฝนให้เป็นนางโลม ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงทางศิลปะและสนทนากับผู้ชายชนชั้นสูง[1][2][3] ปรากฏครั้งแรกในสมัยโครยอ กีแซงเป็นผู้ให้ความบันเทิงอย่างถูกกฎหมายของรัฐบาล และต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ ให้รัฐ หลายคนถูกจ้างโดยราชสำนัก พวกเขาได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีและประสบความสำเร็จในด้านวิจิตรศิลป์ กวีนิพนธ์ และร้อยแก้ว และถึงแม้จะเป็นชนชั้นต่ำในสังคม พวกเขาก็ยังได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินที่มีการศึกษา นอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว บทบาทของพวกเขายังรวมถึงการดูแลทางการแพทย์และการเย็บปักถักร้อย
สถานะทางสังคม
[แก้]ตลอดสมัยโครยอและโชซ็อน กีแซงอยู่ในสถานะช็อนมิน ซึ่งเป็นสถานะต่ำที่สุดในสังคม เช่นเดียวผู้ให้ความบันเทิงคนอื่น ๆ คนขายเนื้อ และทาส สถานะส่งต่อกันทางสายเลือด ดังนั้นลูกของกีแซงก็มีสถานะช็อนมิน และลูกสาวก็กลายเป็นกีแซงโดยอัตโนมัติเช่นกัน[4] ในสมัยโครยอ หน่วยงานปกครองในแต่ละเขตได้เริ่มลงทะเบียนกีแซงไว้เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำกับดูแลอย่างถี่ถ้วน[5] มีการปฏิบัติตามแนวทางเดียวกันกับทาสที่ถูกเกณฑ์ กีแซงสามารถเป็นอิสระได้ก็ต่อเมื่อจ่ายค่าไถ่จำนวนมาก จึงมีเพียงผู้มั่งคั่งเท่านั้นที่จะไถ่กีแซงได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นขุนนางระดับสูง[6]
กีแซงหลายคนมีทักษะด้านกวีนิพนธ์ โคลงซิโจที่แต่งโดยกีแซงจำนวนมากยังหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน กวีนิพนธ์ของกีแซงมักสะท้อนถึงความโศกเศร้าและการจากลา คล้ายกับบทกวีที่แต่งโดยนักปราชญ์ที่ถูกเนรเทศ[7] นอกจากนี้ บทกวีของกีแซงที่โด่งดังบางบทแต่งขึ้นเพื่อชักชวนนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงให้มาค้างคืนด้วย[8] รูปแบบโคลงซิโจในช่วงหลังยังเข้ามาเกี่ยวข้องกับกีแซงหญิง ในขณะที่ผู้หญิงที่มีสถานะยังบันมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการประพันธ์แบบกาซา[9]
กวาน-กี คือกีแซงในสังกัดสำนักรัฐบาลท้องถิ่น และสถานะของพวกเขาก็แตกต่างไปจากทาสทั่วไปที่สังกัดอยู่ในสำนักเดียวกัน กีแซงถือว่ามีสถานะสูงกว่าทาสอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าตามหลักการแล้ว พวกเขาทั้งหมดมีสถานะเป็นช็อนมินเหมือนกัน[10]
อาชีพ
[แก้]อาชีพของกีแซงส่วนใหญ่นั้นสั้นมาก โดยทั่วไปแล้วจุดสูงสุดของอาชีพอยู่ที่อายุ 16 หรือ 17 ปี และสิ้นสุดเมื่ออายุ 22 ปี[11] มีกีแซงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถรักษาอาชีพของตนไว้ได้นานเกินเวลานี้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่สำนักฝึกอบรมกีแซง ยอมรับผู้เข้าฝึกที่อายุน้อยกว่าแปดขวบ[12] กฎหมายกำหนดให้กีแซงทุกคนต้องเกษียณเมื่ออายุ 50 ปี โอกาสที่ดีที่สุดที่กีแซงส่วนใหญ่ได้รับคือการได้เป็นอนุภรรยาของผู้อุปถัมภ์ อย่างไรก็ตาม กีแซงบางคนไม่ได้รับโอกาสนี้ เว้นแต่ผู้อุปถัมภ์จะซื้อพวกเขามาจากรัฐเสียตั้งแต่แรก ซึ่งมีผู้ชายในยุคโชซอนจำนวนน้อยที่สามารถจ่ายได้ ดังนั้นกีแซงที่เกษียณตัวจึงทำงานหรือบริหารโรงเตี๊ยมท้องถิ่น[13]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Seth, Michael J. (2010). A History of Korea: From Antiquity to the Present (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield Publishers. p. 164. ISBN 978-0-7425-6717-7. สืบค้นเมื่อ 8 February 2019.
- ↑ "Life and role of gisaeng courtesans". The Korea Times. 2016-02-04. สืบค้นเมื่อ 2016-10-27.
- ↑ Lee Insuk. "Convention and Innovation: The Lives and Cultural Legacy of the Kisaeng in Colonial Korea (1910–1945)" (pdf). Seoul Journal of Korean Studies. Kyujanggak Institute for Korean Studies. 23 (1): 71–93. สืบค้นเมื่อ 2016-10-27.
- ↑ Hwang (1997), Ahn (2000b).
- ↑ Lee (2002), p. 90.
- ↑ Lee (2002), pp. 89–90; Ahn (2000b), p. 82.
- ↑ McCann (1974), p. 42.
- ↑ These include Hwang Jin-i's "I will break the back of this long winter night" and Han-u's "You will freeze to death". See McCann (1974), Kim (1976).
- ↑ Kim (1963), p. 34.
- ↑ Ahn (2000b), p. 83.
- ↑ Hwang (1997), p. 451.
- ↑ Song (1999), p. 35.
- ↑ Lee (2002), p. 90; Ahn (2000b), p. 82.