ข้ามไปเนื้อหา

กามสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กามสูตร (สันสกฤต: कामसूत्र pronunciation, กามสูตฺร, Kāmasūtra) เป็นคัมภีร์ฮินดูสมัยโบราณ[1][2] ว่าด้วยเพศศึกษา หรือพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์ เขียนโดยวาตสยายน (วาต-สยา-ยะ-นะ) ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นผลงานมาตรฐานว่าด้วยความรักในวรรณคดีสันสกฤต โดยมีชื่อเต็มว่า "วาตฺสฺยายน กาม สูตฺร" (คัมภีร์ว่าด้วยความรักของวาตสยายน) นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในด้านสังคมวิทยาและแพทยศาสตร์

ส่วนหนึ่งของคัมภีร์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์[3] ส่วนใหญ่ในรูปแบบของร้อยแก้ว "กาม" ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของเป้าหมายในชีวิตของศาสนาฮินดู แปลว่าความต้องการที่รวมถึงความต้องการทางเพศ ซึ่งถูกบันทึกไว้บนหนังสือเล่มนี้ และคำว่า "สูตร" แปลว่าเส้นที่จัดให้สิ่งต่าง ๆ อยู่ด้วยกัน และสามารถสื่อถึงคติพจน์หรือกฎ หรือการรวบรวมคติพจน์ในรูปแบบของคู่มือ

คัมภีร์นี้เหมือนหลักสู่การใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรมและงดงาม โดยกล่าวเกี่ยวกับธรรมชาติของความรัก ชีวิตในครอบครัว และมุมมองอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตบนฐานของสุขารมณ์[4][5] ในบางมุมของโลก กามสูตร ถูกตีความหมายเป็นดั่งท่วงท่าการร่วมเพศแบบสร้างสรรค์ ทว่าในความเป็นจริงแล้วมีเพียงแค่ 20% ของกามสูตรเท่านั้นที่กล่าวถึงท่าร่วมเพศ ส่วนที่เหลือนั้นเกี่ยวกับปรัชญาและทฤษฎีของความรัก สิ่งที่จุดประกายความต้องการ สิ่งที่ทำให้ความต้องการคงอยู่ และเมื่อไหร่หรือตอนไหนที่มันดีหรือไม่ดี[6][7]

เชื่อกันว่า กามสูตรถูกเขียนขึ้นระหว่าง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช และคริสต์ศักราชที่ 200[8]

เนื้อหา

[แก้]
การแสดงท่วงท่าการร่วมเพศผ่านงานศิลปะ แม้ต้นฉบับกามสูตรจะไม่มีรูปประกอบ ส่วนที่สองของคัมภีร์บรรยายเกี่ยวกับท่าการร่วมเพศแบบต่าง ๆ

คัมภีร์กามสูตรประกอบด้วยโศลก 1,250 บท แบ่งเป็น 7 อธิกรณ์ (ภาค), 14 ปกรณ์ (ตอน) และ 36 อธยายะ (บท)[9] ดังนี้

  1. สาธารณะ (साधारण Sadharna) (5 บท) ว่าด้วยความรัก การจำแนกประเภทของสตรี
  2. สัมปรโยคิกะ (सांप्रयोगिक Samparayogika) (10 บท) ว่าด้วยการจูบ การเล้าโลม การแสดงท่าร่วมเพศ
  3. กันยาสัมปรยุกตกะ (कन्यासंप्रयुक्तक Kanya Samprayuktaka) (5 บท) ว่าด้วยการเลือกหาภรรยา การเกี้ยวพาราสี และการแต่งงาน
  4. ภารยาธิการิกะ (भार्याधिकारिक Bharyadhikarika) (2 บท) ว่าด้วยการประพฤติตัวอย่างเหมาะสมของภรรยา
  5. ปารทาริก (पारदारिक Paradika) (6 บท) ว่าด้วยการแอบมีชู้กับภรรยาคนอื่น หลักศีลธรรม
  6. ไวศิกะ (वैशिक Vaishika) (6 บท) ว่าด้วยหญิงคณิกา โสเภณี
  7. เอาปนิษทิกะ (औपनिषदिक Aupaniṣadika) (2 บท) ว่าด้วยการสร้างเสน่ห์ให้ตนเอง

ซึ่งเนื้อหาได้กล่าวถึงท่าทางการร่วมเพศ 64 ท่า โดยเป็นการรวมวิธีร่วมเพศ 8 วิธี และท่าเฉพาะของแต่ละวิธี 8 ท่า รวมทั้งหมด 64 ท่า ในคัมภีร์นี้เรียกว่า ศิลปะทั้ง 64 วาตสยายนเชื่อว่าเรื่องเพศนั้นไม่ใช่สิ่งผิด แต่การกระทำที่ผิดศีลธรรมเท่านั้นที่เป็นบาป

คัมภีร์กามสูตร เป็นคำสอนสำหรับหญิงชายที่ให้ความรู้ด้านเพศศึกษาอย่างครบถ้วน และละเอียดอย่างน่าพิศวง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงศีลธรรมและการปฏิบัติทางเพศในอินเดียสมัยนั้นด้วย

คัมภีร์เรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ ที่เซอร์ ริชาร์ด ฟรานซิส เบอร์ตันตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1883

อ้างอิง

[แก้]
  1. Doniger, Wendy (2003). Kamasutra – Oxford World's Classics. Oxford University Press. p. i. ISBN 978-0-19-283982-4. The Kamasutra is the oldest extant Hindu textbook of erotic love. It was composed in Sanskrit, the literary language of ancient India, probably in North India and probably sometime in the third century
  2. Coltrane, Scott (1998). Gender and families. Rowman & Littlefield. p. 36. ISBN 978-0-8039-9036-4.
  3. Common misconceptions about Kama Sutra. เก็บถาวร 2010-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน "The Kama Sutra is neither exclusively a sex manual nor, as also commonly used art, a sacred or religious work. It is certainly not a tantric text. In opening with a discussion of the three aims of ancient Hindu life – dharma, artha and kama – Vatsyayana's purpose is to set kama, or enjoyment of the senses, in context. Thus dharma or virtuous living is the highest aim, artha, the amassing of wealth is next, and kama is the least of three." —Indra Sinha.
  4. Carroll, Janell (2009). Sexuality Now: Embracing Diversity. Cengage Learning. p. 7. ISBN 978-0-495-60274-3.
  5. Devi, Chandi (2008). From Om to Orgasm: The Tantra Primer for Living in Bliss. AuthorHouse. p. 288. ISBN 978-1-4343-4960-6.
  6. Jacob Levy (2010), Kama sense marketing, iUniverse, ISBN 978-1440195563, see Introduction
  7. Alain Daniélou, The Complete Kama Sutra: The First Unabridged Modern Translation of the Classic Indian Text, ISBN 978-0892815258.
  8. Sengupta, J. (2006). Refractions of Desire, Feminist Perspectives in the Novels of Toni Morrison, Michèle Roberts, and Anita Desai. Atlantic Publishers & Distributors. p. 21. ISBN 9788126906291. สืบค้นเมื่อ 7 December 2014.
  9. book, see index pages by Wendy Doniger, also translation[ลิงก์เสีย] by Burton

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]