ข้ามไปเนื้อหา

กฤษณมูรติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชิททู กฤษณมูรติ
กฤษณมูรติในวัยหนุ่ม
เกิด11 พฤษภาคม ค.ศ. 1895(1895-05-11)
รัฐอานธรประเทศ บริติชอินเดีย
เสียชีวิต17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986(1986-02-17) (90 ปี)
รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
อาชีพนักปรัชญา, นักเขียน

ชิททู กฤษณมูรติ (สันสกฤต: जिद्दू कृष्णमूर्ति: พ.ศ. 2438 - พ.ศ. 2529) เป็นปราชญ์และนักคิดอิสระที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อยังเป็นเด็กหนุ่ม ทางสมาคมเทวปรัชญาได้ประกาศยกย่องเขาขึ้นเป็นศาสดาองค์ใหม่ของโลก แต่ในปี พ.ศ. 2472 เขาประกาศสลัดทิ้งบทบาททางศาสดา รวมทั้งสานุศิษย์ผู้ติดตามจำนวนมหาศาล สลายสมาคมอัครสาวกอันใหญ่โตซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อประกาศศาสนาใหม่ พร้อมทั้งยืนยันความตั้งใจว่า ไม่ต้องการเป็นศาสดา และก่อตั้งศาสนาใหม่เพื่อแบ่งแยกและครอบงำมนุษย์

ประวัติ

[แก้]

ชิททู กฤษณมูรติ เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2438 เกิดที่ เมืองมทนปัลลี เมืองเล็กๆ ในรัฐอานธรประเทศ ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นบุตรคนที่ 8 ใน 11 คน เมื่ออายุได้ 10 ปี มารดาของเขาเสียชีวิตลง ครอบครัวจึงย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองมัทราส เพราะบิดาของเขาต้องการจะทำงานให้กับสมาคมเทวปรัชญาหลังจากที่เกษียณอายุราชการ

เมื่ออายุได้ 14 ปี กฤษณมูรติถูกเลือกให้เป็นผู้ที่จะมาเป็นพาหนะแห่งครูโลกโดย บุคคลสำคัญคนหนึ่งในเทวปรัชญา ต่อจากพระเยซูและพระโคตมพุทธเจ้า กฤษณมูรติจึงถูกนำมาเลี้ยงดูอย่างระมัดระวังและเอาใจใส่โดยผู้นำของสมาคม เพื่อเตรียมพร้อมให้เขารับบทบาทอันพิเศษนี้ เพื่อรองรับการกลับมาของครูโลก ได้มีการก่อตั้งสมาคม “ดวงดาวแห่งตะวันออก” ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ มีสมาชิกและทรัพย์สินมากมาย

แต่ในปี พ.ศ. 2472 ด้วยความประหลาดใจและงุนงงอย่างยิ่งของเหล่าสมาชิกสมาคม กฤษณมูรติประกาศสละทิ้งทุกบทบาทที่ตั้งขึ้นเพื่อเขา และแยกทางจากสมาคมเทวปรัชญา และกลับประกาศไม่เห็นด้วยกับอำนาจของผู้รู้ผู้มีอิทธิพลเหนือจิตวิญญาณ ปฏิเสธบทบาทพระศรีอริยเมตไตรย และลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ทั้งหมด เขาประกาศชัดเจนว่าไม่ต้องการก่อตั้งศาสนาใหม่ แต่สิ่งที่เขาสนใจเพียงประการเดียว คือ “ปลดปล่อยมนุษย์” ให้เป็นอิสระ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ

มูลนิธิกฤษณมูรติทุกแห่งตั้งขึ้นเพื่อจัดหมายกำหนดการโปรแกรมการเดินทางไปพูด และจัดพิมพ์งานที่มีมากมายของกฤษรมูรติจากการพูด การสนทนา การเสวนา ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ความใส่ใจเป็นห่วงเป็นใยที่กฤษณมูรติมีต่อเยาวชนในฐานะอนาคตของมวลมนุษย์ ทำให้เขาก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และ อินเดีย มีนักคิด นักเขียน กวี ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ บุคคลสำคัญเหล่านั้นหลายคน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีอำนาจทางการเมือง คือ มิตรที่คุ้นเคยกับกฤษณมูรติเป็นการส่วนตัว และเป็นกลุ่มที่มาร่วมเสวนาค้นหาเข้าสู่ปัญหาที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นเวลาช้านาน

เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในผู้สอนของโลกในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติที่กฤษณมูรติเคารพเป็นพิเศษ คือ พระพุทธเจ้า การที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกตะวันออกได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากคำสอนอันนุ่มนวลของพระพุทธเจ้า จึงคาดคะเนได้ว่าผู้คนในภูมิภาคนี้เป็นเสมือนผืนดินที่เปิดรับกฤษณมูรติและคำสอนของเขา แต่กระนั้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ แม้ว่ากฤษณมูรติจะเดินทางเพื่อพูดคุยและเสวนาเป็นเวลายาวนานถึง70 ปี ท่านก็ยังไม่เคยไปเยือนซีกโลกตะวันออก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาให้ละเอียดขึ้น จะพบว่ากฤษณมูรติและคำสอนของเขา ได้เข้าไปอยู่ในใจของชาวซีกโลกตะวันออก คำสอนของกฤษณมูรติห่างไกลจากเหตุการณ์ในโลก และไม่ถูกขัดขวางโดยกลียุคทางสังคม-การเมือง และอุปสรรคด้านภาษา จึงทำให้คำสอนของท่านค่อยๆ ซึมผ่านอย่างแท้จริงและค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ใจคน และมีผู้สนับสนุนและเห็นด้วยในประเทศในตะวันออกไกล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เป็นเวลาล่วงกว่า 70 ปีที่กฤษณมูรติได้เดินทางเพื่อพบปะสนทนากับผู้ที่สนใจในด้านจิตวิญญาณ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาเป็นปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอิทธิพลหล่อหลอมและกำหนดชีวิตเราอยู่ทั้งภายในจิตใจและภายนอก เพราะที่สุดแล้วเราคือโลก สังคมโลกก็คือสภาพที่เราแต่ละคนร่วมกันสร้างขึ้น ฉะนั้น จากความเข้าใจในตนเองอย่างลึกซึ้ง อาจจะนำไปสู่สังคมที่มีความรัก ความเมตตา มีมนุษยธรรมและความรู้สึกรับผิดชอบ

กฤษณมูรติถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2529 อายุได้ 91 ปีด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน

คำสอน

[แก้]

แน่นอน การศึกษาจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ถ้าหากมันไม่ช่วยให้เธอเข้าใจชีวิตอันกว้างใหญ่ไพศาล อีกทั้งความลี้ลับ ล้ำลึก ความงดงามอันมหัศจรรย์ ความเศร้าโศกและความเบิกบานของชีวิต เธออาจได้รับปริญญา มีอักษรย่อหลายตัวต่อท้ายชื่อ และได้ทำงานดีๆ เท่านี้เองหรือที่เธอต้องการ สิ่งเหล่านี้จะมีความหมายอะไร ถ้าในขณะเดียวกันนั้น จิตใจของเธอกลับทื่อทึบ เหนื่อยหน่ายและโง่เขลา ฉะนั้นในขณะที่เธอยังอยู่ในวัยเยาว์ เธอจะไม่พยายามศึกษาค้นคว้าหรือว่าชีวิตเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง หน้าที่อันแท้จริงของการศึกษาคือการช่วยบ่มเพาะให้เกิดสติปัญญา ที่จะพยายามค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทั้งหมดนี้มิใช่หรือ เธอรู้ไหมว่าสติปัญญาคืออะไร แน่นอนมันคือความสามารถที่จะคิดได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกลัว ปราศจากสูตรสำเร็จใดๆ เธอจะค้นพบได้ด้วยตนเองว่าอะไรจริง อะไรแท้ แต่ถ้าเธอมีความกลัว เธอจะไม่มีสติปัญญา การดิ้นรนทะเยอทะยานทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางจิตวิญญาณหรือทางโลกก็ตาม ล้วนก่อให้เกิดความกระวนกระวาย ความหวาดกลัว ฉะนั้นการดิ้นรนทะเยอทะยานจึงไม่ช่วยให้จิตใจกระจ่างชัด เรียบง่ายซื่อตรง ดังนั้นจึงไม่เกิดสติปัญญา เธอทราบไหมว่า วัยเยาว์เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญอย่างยิ่ง เธอควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากความกลัว ไม่เช่นนั้นเธอจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขี้ขลาดหวาดกลัว เรากลัวการดำเนินชีวิต กลัวตกงาน กลัวจารีตประเพณี กลัวสิ่งที่เพื่อนบ้านหรือสามีภรรยาจะพูดถึงเรา กลัวความตาย พวกเรามักจะมีความกลัวไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่งอยู่เสมอ เมื่อความกลัวเกิดขึ้นสติปัญญาก็พลันหายไป เป็นไปได้หรือไม่ ที่ช่วงเยาว์วัยเราจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากความหวาดกลัว เป็นบรรยากาศอันเต็มไปด้วยอิสรภาพ ไม่ใช่เพียงแค่อิสรภาพในการได้ทำในสิ่งที่ใจเราปรารถนาเท่านั้น แต่อิสรภาพที่จะทำความเข้าใจกระบวนกาทั้งหมดของการดำรงชีวิต ชีวิตเป็นสิ่งงดงามอย่างยิ่ง ไม่ได้เกลียดน่ากลัวอย่างที่เราทำให้มันเป็น เธอจะชื่นชมและเห็นคุณค่าในความสมบูรณ์ ความลึกล้ำ ความน่ารักพิเศษสุดของชีวิต ก็ต่อเมื่อเธอกบฏต่อสิ่งทั้งปวงเท่านั้น กบฏต่อศาสนาจัดตั้งจารีต กบฏต่อสังคมที่เหลวแหลกอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อที่เธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จะได้ค้นหาว่าอะไรคือความจริงด้วยตัวเธอเอง มิใช่การเลียนแบบ แต่เป็นการค้นหา ซึ่งนั่นคือการศึกษามิใช่หรือ เป็นเรื่องง่ายดายที่จะยอมปฏิบัติตาม คล้อยตามคำสั่งสอนของสังคม พ่อแม่และครู ซึ่งเป็นวิถีที่ง่ายและปลอดภัยในการดำรงอยู่ แต่นั่นมิใช่การมีชีวิต เพราะเธอทำเช่นนั้นด้วยความกลัว ความเสื่อมสลายและความตาย การมีชีวิตอยู่คือการค้นพบด้วยตนเองว่าอะไรคือความจริงซึ่งเธอสามารถจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีอิสรภาพ เมื่อเธอกบฏภายในจิตใจ ภายในตัวเธอเองอย่างต่อเนื่อง[1]

— กฤษณมูรติ

ฉันอยากถามว่า จะมีประโยชน์อะไรไหม ถ้าคนเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งภายในตนเอง จะเป็นไปได้ไหม ที่การปฏิวัติขั้นพื้นฐานทางจิตอันลึกล้ำจะบังเกิดขึ้น และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ คนเรามีชีวิตอยู่ในกรอบอันแคบจำกัดและทุกข์ทรมาน จึงเป็นการยากมากที่จะมองเห็นความจริงที่ว่า เธอก็คือคนอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในโลก เธอคือส่วนหนึ่งในโลก นี่คือความจริง เป็นสัจจะ มิใช่เป็นการคิดหรือการสร้างเหตุผลขึ้น เธอในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่งคือตัวแทนของมนุษยชาติทั้งหมด เธอมีความทุกข์ทรมาน มีความกังวล ความไม่แน่ใจ ความสับสน ความเศร้า ความหวาดกลัว ความเจ็บปวด และอื่นๆ เช่นเดียวกันกับคนทุกคน ดังนั้นสติสำนึกของเธอก็คือสติสำนึกของมนุษยชาติ จากสิ่งนี้จะเห็นได้ว่าความทุกข์ของมวลมนุษย์นั้นมีอยู่ในสติสำนึก ความทุกข์ของเธอจึงเป็นความทุกข์ของมนุษย์ชาติทั้งหมดด้วย ถ้าเธอรู้สึกอย่างจริงจังว่า ความทุกข์มิใช่เป็นเพียงความทุกข์ของเธอ แต่เป็นของมนุษยชาติทั้งหมดแล้ว เธอก็หยุดร้องไห้ เธอจะเลิกหลั่งน้ำตาให้กับความเจ็บปวด ความล้มเหลว ความกังวล และเรื่องอื่นๆที่แสนจะเล็กน้อยของเธอ เป็นไปได้ไหม ที่คนเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าเป็นไปได้ การหลุดพ้นจากทุกข์ของคนๆหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของมนุษยชาติ ก็ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งที่เรากำลังคุยกัน ลองค้นพบและทดสอบดู นั่นหมายถึงว่า เธอต้องมีอิสระที่จะสังเกต สังเกตโดยปราศจากแรงกระตุ้นผลักดัน ปราศจากความต้องการ ความกดดันและอื่นๆ จงสังเกตดังเช่นเธอสังเกตดูดอกไม้ซึ่งสวยงามเท่านั้น

ฉันสงสัยว่า ทำไมมนุษย์ทั่วโลกไม่สามารถมองเห็นข้อเท็จจริงง่ายๆที่ว่า เธอไม่อาจมีสันติภาพในโลกได้ ถ้าเธอยังมีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติกันอยู่ เราต้องการระเบียบภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ สังคม หรือสัมพันธภาพที่มีต่อกัน เราต้องการระเบียบ เราต้องการสันติภาพ เราต้องการความเข้าใจ และถ้าสภาพจิตภายในของเราเป็นระเบียบ ปราศจากความสับสนขัดแย้ง ถ้าสภาพจิตในสติสำนึกของเราเงียบ แน่วแน่มั่นคง แจ่มใสแล้ว เธอก็จะสามารถนำระเบียบมาสู่โลกได้

แต่ขณะนี้ สิ่งที่เรากำลังพยายามทำก็คือ สร้างระเบียบขึ้นโดยทางกฎหมาย เชื้อชาติ และอื่นๆ เป็นระเบียบภายนอกที่ได้รับการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า นำมาซึ่งความไร้ระเบียบโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ผู้พูดต้องการชี้ให้เห็นก็คือว่า ปราศจากระเบียบภายในสติสำนึกซึ่งปกติมักยุ่งเหยิงและขัดแย้ง ปราศจากการสร้างระเบียบทางจิตภายในก่อนแล้ว เธอจะไม่สามารถสร้างระเบียบภายนอกได้เลยและวิกฤตการณ์ทั้งหลายจึงเกิดขึ้น วิกฤตการณ์เหล่านี้มิได้อยู่ภายนอก แต่มันอยู่ภายใน และเราก็ไม่เต็มใจที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับมัน[2]

— กฤษณมูรติ

การแตกหักสมาคมเทวปรัชญา

[แก้]

การแตกหักครั้งใหญ่กับสมาคมเทวญาณเกิดขึ้น ในเดือนสิงหาคม ปี 1929 ที่แคมป์ ออมแมน ในฮอลแลนด์ ต่อหน้านางบีแซนท์ และผู้ฟังที่เป็นสมาชิกมากกว่าสามพันคน กฤษณมูรติได้ยุบพรรคดวงดาว และท่านยังได้กล่าวว่า "สัจจะเป็นดินแดนที่ไร้หนทาง ไม่อาจมีการตั้งองค์การใดๆ ขึ้น เพื่อนำหรือบังคับผู้คนให้เดินไปตามทางเฉพาะ ทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะสัจจะเป็นสิ่งไร้ขอบเขต และไร้เงื่อนไข ไม่อาจเข้าถึงได้ โดยผ่านศาสนา นิกาย หรือองค์การใดๆ ท่านชี้แจงว่า ท่านไม่ต้องการเป็นคนขององค์การทางจิตวิญญาณใดๆ เพราะองค์การดังกล่าวจะกลายมาเป็นไม้ยัน เป็นความอ่อนแอ เป็นพันธะผูกมัดและทำให้ปัจเจกบุคคลต้องพิการ ท่านประกาศว่า ท่านไม่ต้องการผู้ติดตามหรือสาวก เพราะขณะที่คุณเริ่มติดตามผู้ใดผู้หนึ่ง คุณก็หยุดการติดตามสัจจะ ท่านกล่าวว่า ไม่มีผู้ใดถือกุญแจแห่งสัจจะไว้ กุญแจนั้นคือตัวคุณเอง และขึ้นอยู่กับการทำความบริสุทธิ์ ความปราศจากมลทินของตัวคุณเองเท่านั้น เป็นเรื่องน่าตื่นตระหนกสำหรับทุกคน กฤษณมูรติลาออกจากสมาคมเทวปรัชญา และจากองค์การทุกๆแห่ง ซึ่งท่านเป็นสมาชิกอยู่ ท่านบอกเลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกหยิบยื่นให้แก่ท่าน ขณะนั้นท่านมีอายุ 34 ปี[3]

ผลงานหนังสือไทยที่แปล

[แก้]
  • กบฎความคิด 2555
  • จ.กฤษณมูรติ และ โลกท่ามกลางวิกฤต 2553
  • สมองใหม่ เล่ม 1 2552
  • สมองใหม่ เล่ม 2 2552
  • วิวาทะ กฤษณมูรติ & ปราชญ์ชาวพุทธ 2551
  • ความรู้สึกตัวอันไร้ขอบเขต 2545
  • อนาคตของมนุษย์อยู่ตรงไหน 2549
  • มิติใหม่ทางการศึกษา เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 2549
  • การศึกษาและสาระสำคัญของชีวิต 2556
  • อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้
  • สนทนากับกฤษณมูรติ 2541
  • ปัจเจกชนและสังคม 1 2547
  • ปัจเจกชนและสังคม 2 2547
  • ศาสนาแบ่งแยกมนุษย์ 2547
  • ปฏิวัติจากดวงใจ 1 2546
  • ปฏิวัติจากดวงใจ 2 2548
  • มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง…ด่วน 1 2546
  • มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง…ด่วน 2 2546
  • ดับสิ้นหนึ่งพันวันวาน 2545
  • พลังแห่งจิตเงียบ 2545
  • กระจกเงาแห่งความสัมพันธ์ 2545
  • ที่สุดแห่งการแสวงหา 2545
  • เผชิญความจริง 2545
  • พรวิเศษ สถิต ณ ที่คุณอยู่ 2556

แหล่งข้อมูลอื่นๆ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. กฤษณมูรติ (2555). กบฏความคิด (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ: มูลนิธิอันวีกษณา
  2. กฤษณมูรติ (2544). หนึ่งพันจันทรา (พิมพ์ครั้งที่3). กรุงเทพฯ: กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม
  3. กฤษณมูรติ (2544). หนึ่งพันจันทรา (พิมพ์ครั้งที่3). กรุงเทพฯ: กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม