ข้ามไปเนื้อหา

ถนนเยาวราช

พิกัด: 13°44′28″N 100°30′30″E / 13.741136°N 100.508305°E / 13.741136; 100.508305
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เยาวราช)
ถนนเยาวราช
แผนที่
Bangkok Yaowarat1.jpg
บรรยายกาศของเยาวราชยามค่ำคืนและร้านอาหารริมทาง
ข้อมูลของเส้นทาง
ประวัติ
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2443–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถนนเจริญกรุง ในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถนนจักรเพชร/ถนนพีระพงษ์/ถนนมหาไชย ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ถนนเยาวราช (อักษรโรมัน: Thanon Yaowarat; จีน: 耀華力路) เป็นถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระยะทางความยาวตลอดเส้นทางประมาณ 1,510 เมตร (1.510 กิโลเมตร) ได้รับการกล่าวขานและขนานนามว่าเป็น "ถนนมังกร" โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราชและสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน[1] สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้ระยะเวลาในการตัดถนน 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2434–2443 เพื่อให้เยาวราชกลายเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้าขาย เดิมทีชื่อ "ถนนยุพราช" และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "ถนนเยาวราช"[2] ถนนเยาวราชประกอบไปด้วยจุดสำคัญหลายจุดเช่น วงเวียนโอเดียน, ถนนเจริญกรุง ซึ่งอยู่ในท้องที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของถนนเยาวราชตัดกับถนนทรงสวัสดิ์ (สี่แยกเฉลิมบุรี), ถนนราชวงศ์ (สี่แยกราชวงศ์) และถนนจักรวรรดิ (สี่แยกวัดตึก) ข้ามคลองรอบกรุง (สะพานภาณุพันธุ์) เข้าสู่ท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร สิ้นสุดที่แยกถนนพีระพงษ์ตัดกับถนนมหาไชยและถนนจักรเพชร

บริเวณถนนเยาวราชเป็นแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก จัดเป็นย่านธุรกิจการค้า, การเงิน การธนาคาร, ร้านทอง, ภัตตาคาร ร้านอาหาร, ร้านค้า ฯลฯ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครโดยได้รับการขนานนามว่าเป็น "ไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร" จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ[3] และถือว่าเป็นไชนาทาวน์หรือชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[4]

ประวัติ

[แก้]
ถนนเยาวราชถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2488
ถนนเยาวราชถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2493
ถนนเยาวราชในราวพุทธทศวรรษ 2500 ในยุคที่รถรางยังคงให้บริการอยู่

ถนนเยาวราชเป็นถนนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามโครงการถนนอำเภอสามพ็งซึ่งเป็นนโยบายสร้างถนนในท้องที่ที่เจริญแล้วเพื่อส่งเสริมการค้าขาย สำเพ็งเป็นย่านการค้าที่เจริญมากแห่งหนึ่งนอกเหนือจากบริเวณถนนเจริญกรุงแล้ว ทำให้มีพระราชดำริที่จะสร้างถนนให้มากขึ้น ถนนเยาวราชเป็น 1 ใน 18 ถนนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ) เสนอให้สร้าง เช่น ถนนจักรวรรดิ, ถนนราชวงศ์, ถนนอนุวงศ์ โดยในเวลานั้นสภาพของพื้นที่ ๆ จะกลายมาเป็นถนนเยาวราช มีสภาพเป็นท้องทุ่งนาและลำคลอง[4]

ถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชย ตัดลงไปทางทิศใต้บรรจบกับถนนราชวงศ์ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ. 2434 โดยให้ชื่อถนนว่า "ถนนยุพราช" ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "ถนนเยาวราช" และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2434 ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้บ้านเมืองเจริญและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือบางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า 1 วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย

ปรากฏในเอกสารของกรมโยธาธิการว่าเมื่อเจ้าพนักงานไปวัดที่ตัดถนนบริเวณตำบลตรอกเต๊านั้น ราษฎรร้องเรียนว่าเจ้าพนักงานไม่ยุติธรรม เพราะถ้าวัดปักไม้ถูกบ้านของผู้มีบรรดาศักดิ์ก็จะเลี่ยงไปปักที่ใหม่ ถูกแต่ที่ราษฎรทั้งสิ้น ทำให้แนวถนนไม่ตรง ราษฎรที่ตรอกเต๊าจึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงเสนอให้มีเงินค่าเวนคืนที่ดินหรือคำทำขวัญขึ้นเช่นเดียวกับที่คนในบังคับต่างประเทศได้รับ โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อ พ.ศ. 2437 และได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าปรึกษาในที่ประชุมรัฐมนตรีสภา ซึ่งมีพระราชดำรัสว่า "ถนนสายเดียวซึ่งผู้ที่ไม่ได้ขัดขวางยอมให้ทำล่วงไปแล้วจะไม่ได้รับรางวัล จะได้แต่ผู้ที่ร้องขัดขวางเช่นนี้ก็เป็นที่น่าสงสารอยู่" แต่อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นชอบในการจ่ายค่าที่ดินแก่คนไทยเช่นเดียวกับคนในบังคับต่างประเทศ เพื่อคนไทยจะได้ไม่เสียเปรียบคนต่างประเทศ

การสร้างถนนเยาวราชประสบอุปสรรคหลายประการนับแต่เริ่มกรุยทางใน พ.ศ. 2435 จนถึง พ.ศ. 2438 ก็ยังไม่เสร็จ เพราะนอกจากราษฎรจะขัดขวางแล้วยังปรากฏว่า เจ้าของที่ดินหลายรายขวนขวายที่จะขายที่ดินให้กับคนในบังคับต่างประเทศ ทำให้การก่อสร้างค่อนข้างล่าช้า เพราะกระทรวงนครบาลไม่อาจจัดการเรื่องที่ดินที่ถนนจะต้องตัดผ่านให้กับกรมโยธาธิการได้ ปรากฏว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลเกี่ยวกับการมอบที่ดินที่อยู่ในแนวถนนให้กระทรวงโยธาธิการ ขอให้กระทรวงนครบาลจัดการในกรณีที่คนในบังคับต่างประเทศจะมาทำหนังสือซื้อขายหรือจำนำที่ดินที่ได้กรุยทางสร้างถนนเยาวราชไว้โดยสั่งให้เจ้าพนักงานหรืออำเภอกำนันให้ทราบว่าเป็นที่ทำถนนอย่าให้รับทำหนังสือซื้อขาย "ขอกระทรวงเมืองได้โปรดประทานพระอนุญาตให้ราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินไปโดยสดวกด้วย" แต่กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงอ้างว่าต้องทรงรอคำวินิจฉัยจากที่ประชุมเสนาบดีในเรื่องที่ราษฎรร้องเรียนกันขึ้นมาว่าการตัดถนนผ่านที่ดินเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม และปรากฏหนังสือโต้ตอบกันระหว่างเสนาบดีทั้ง 2 กระทรวงนี้ เพราะกระทรวงโยธาธิการก็ต้องการสร้างถนนให้เสร็จสิ้น ขณะที่กระทรวงนครบาลพยายามที่จะให้ราษฎรได้รับเงินค่าที่ดินจากรัฐบาล จึงรอพระบรมราชโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่มอบที่ดินให้กระทรวงโยธาธิการ ถึงกับกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดาทรงระบุว่า กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ทรงพระเมตตากับราษฎรบริเวณถนนเยาวราชกว่าราษฎรในแนวถนนอื่น ๆ กรมโยธาธิการจึงต้องดำเนินการสร้างถนนส่วนที่ไม่มีปัญหาและที่ดินที่เป็นของหลวงก่อน

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2441 ปัญหาเรื่องที่ดินซึ่งจะต้องตัดถนนผ่านก็ยังไม่ยุติ ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงโยธาธิการดำเนินการตัดถนนต่อไป เพราะมีพระราชดำริว่าที่ดินซึ่งถูกตัดถนนผ่านไปนั้น ย่อมทวีราคาขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่าเป็นประโยชน์แก่เจ้าของมาก ไม่ควรจะเสียดายที่ดินซึ่งเป็นท้องถนนแต่เพียงเล็กน้อย เพราะรัฐบาลที่ลงทุนทำถนนก็ไม่ได้เก็บเงินค่าคนหรือรถม้าที่เดินบนถนนเลย เพื่อบำรุงการค้าขายให้สะดวก เจ้าของจึงไม่ควรหวงแหน และโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์และกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาปรึกษากันต่อหน้าพระที่นั่งว่าจะทำอย่างไรให้การตัดถนนสายนี้สำเร็จลงได้ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์จึงทรงรับที่จะออกประกาศให้เจ้าของที่ดินออกจากที่ดิน หากเจ้าของที่ดินไม่ยอมรื้อก็ให้กระทรวงโยธาธิการแจ้งไปที่กระทรวงนครบาล และให้กระทรวงนครบาลเป็นผู้ให้กรมอัยการฟ้อง ทำให้การตัดถนนเยาวราชดำเนินการต่อไปได้[5]

เมื่อแรกตัดถนนเยาวราชใหม่ ๆ นั้น มีชาวจีนอยู่อาศัยกันหนาแน่น แม้ต่อมาถนนเยาวราชก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะเป็นย่านร้านอาหารชั้นนำ ตึกที่สร้างสูงที่สุดตึกแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็สร้างที่ถนนเยาวราชเป็นแห่งแรก ช่วง พ.ศ. 2500 ถนนเยาวราชรถยังวิ่งสวนทางกัน มีรถเมล์สาย 23 หรือที่เรียกกันว่า "เมล์แดง" และรถเมล์สาย 24 ที่เรียกกันว่า "ไทยประดิษฐ์" วิ่งสวนทางกัน และมีรถรางวิ่งอยู่อีกช่องทางหนึ่ง ถนนเยาวราชจะเป็นที่จัดงานประจำปีอยู่เนือง ๆ โดยจะปิดการจราจรชั่วคราว เป็น "ถนนคนเดิน" มีการขายอาหารจีนที่มีชื่อ การแสดง และออกร้านมากมายจากร้านค้าที่อยู่สองข้างทาง

รัชกาลที่ 8 เสด็จประพาส

[แก้]

ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรด้วยการพระราชดำเนินที่เยาวราช สำเพ็ง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเที่ยง เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ยังความปิติยินดีอย่างมากต่อชาวเยาวราช ซึ่งได้จัดซุ้มเฉลิมพระเกียรติถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ในครั้งนั้นพระองค์ได้เสด็จเข้าไปเยี่ยมเยียนถึงในบ้านพักและร้านค้าของราษฎรอย่างใกล้ชิด และในเวลาเที่ยง ได้เสวยพระกระยาหารเที่ยงที่ชาวเยาวราชจัดถวาย ที่สมาคมพ่อค้าไทย-จีน ถนนสาทร

เนื่องด้วยในเวลานั้นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างคนไทยกับคนไทยเชื้อสายจีนหรือชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเยาวราช ถึงกับมีการทำร้ายร่างกายคนไทยที่เข้าไปในบริเวณนี้ อันเนื่องมาจากความฮึกเหิมในเชื้อชาตินิยมหลังจากการที่จีนเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ อันเป็นการสลายความขัดแย้งทั้งหมดไปได้[6]

เทศกาล

[แก้]

เทศกาลตรุษจีน

[แก้]

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี เยาวราชจะมีความคึกคักเป็นอย่างมาก จนมีการปิดถนนเป็นถนนคนเดิน มีการประดับโคมไฟสีแดงจำนวนมากเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของจีน โดยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มักจะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานเป็นประจำทุกปี ด้วยการดำเนิน[7] [8]

เทศกาลกินเจ

[แก้]

ในช่วงเทศกาลกินเจ เยาวราชก็มีความคึกคักเช่นเดียวกัน โดยจะมีผู้คนออกมาจับจ่ายหาซื้ออาหารเจเป็นจำนวนมากเป็นประจำทุกปี[9][10]

อาคาร

[แก้]

ตึกแถว

[แก้]

ตึกแถวริมถนนเยาวราชที่พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ปรากฏตึกแถวตั้งแต่สูง 2 ชั้น ไปจนถึงตึกแถวที่มีขนาดสูงถึง 7–9 ชั้น[11] มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมพอสังเขปดังนี้

  • ตึกฝั่งซ้ายของถนนบริเวณหัวมุมถนนมหาจักรตัดกับถนนราชวงศ์ เป็นตึกก่ออิฐถือปูนผสมไม้สูง 3 ชั้น เหนือบานหน้าต่างประดับลายปูนปั้น เสาเป็นแบบคอรินเทียน บริเวณระเบียง กันสาด และช่องลม ประดับด้วยไม้ฉลุลาย
  • อาคารสูง 7 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของถนนเยาวราช ใกล้มุมที่ถนนทรงสวัสดิ์ตัดผ่าน โครงสร้างอาคารเชื่อมต่อกันทั้ง 7 ชั้น การตกแต่งอาคารมีเพียงเสาอิงแบบเรียบ แต่งผนังตอนบนเป็นร่องในแนวดิ่ง และการประดับกระจกที่ผนัง
  • อาคารสูง 9 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของถนนเยาวราชก่อนถึงถนนมังกร ลวดลายประดับปรากฏเพียง 3 ชั้นล่างเท่านั้น เป็นลายพวงมาลัยและช่อดอกไม้ประกอบกับเสาซุ้มประตูทั้งเสากลมและเสาเหลี่ยมประดับลายปูนปั้น

ศาสนสถาน

[แก้]

เยาวราชรวมไปถึงฝั่งถนนเจริญกรุงและถนนอื่น ๆ ใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งของศาสนสถานมากมายหลายแห่ง ในหลากหลายความเชื่อทั้งพุทธหินยาน, มหายาน รวมถึงอนัมนิกาย[12], คริสต์ และอิสลาม[13] เช่น ศาลเจ้ากวนอูถึง 3 แห่ง (ศาลเจ้าโจวซือกง, ศาลเจ้ากวางตุ้งและตลาดเก่า), ศาลเจ้าแม่กวนอิม 3 แห่ง (มูลนิธิเทียนฟ้า, วัดกันมาตุยารามและใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์), ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ, ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง, วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (วัดสามจีน), วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก), วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ), วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง), วัดคณิกาผล, (วัดใหม่ยายแฟง), วัดโลกานุเคราะห์ (ตื้อเต้ตื่อ), วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่), วัดชัยภูมิการาม (ตี๊หง่านตื่อ), วัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่งฮกยี่), มัสยิดหลวงโกชา อิศหาก[13], วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) เป็นต้น[14] [15]

ธุรกิจการค้า

[แก้]
โรงภาพยนตร์ไชน่าทาวน์รามา (ศรีเมือง) ในปี พ.ศ. 2566
ธนาคารทหารไทยธนชาต สาขาเยาวราช เป็นอาคารที่รีโนเวตมาจากห้างขายทองเซ่งเฮงหลี ตรามงกุฎ (สาขาที่ 3) ในปี พ.ศ. 2566

เยาวราชเป็นแหล่งรวมธุรกิจการค้าต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น เทปและซีดีสวดมนต์รวมไปถึงเพลงของจีน, ของเล่นเด็ก, ชุดกี่เพ้า, โคมไฟและผ้าแดงมงคล, เครื่องประดับ, ปฏิทิน, อาหารแห้ง, ห้างทอง รวมไปถึงโรงแรมที่พักต่าง ๆ

ในส่วนของห้างทอง หรือร้านขายทองนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้เยาวราชได้ชื่อว่าเป็น "ถนนสายทองคำ" หลายร้านมีอายุความเก่าแก่มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เฉพาะในปี พ.ศ. 2545 มีการรวบรวมจำนวนร้านขายทองทั้งหมดเฉพาะแค่ฝั่งถนนเยาวราชมีถึง 40 ร้าน และอาณาบริเวณรอบข้างอีก 132 ร้าน จนจัดได้ว่าเยาวราชเป็นถนนหรือแหล่งรวมร้านขายทองไว้มากที่สุดของประเทศไทย [4]

โดนร้านขายทองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือ ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ที่มีประวัติย้อนไปได้ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในถนนมังกร ทางด้านซ้ายของถนนเยาวราช ตัวอาคารเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบโบราณ 7 ชั้น ซึ่งด้านบนเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ทองคำ และยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย[16]

นอกจากนี้แล้ว เยาวราชในอดีตยังเป็นแหล่งรวบรวมความบันเทิงต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์และโรงงิ้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันได้เลิกกิจการไปหมดแล้ว[17] และยังเป็นแหล่งรวมธุรกิจที่ผิดกฎหมายหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอีกด้วย เช่น บ่อนการพนัน หรือซ่องโสเภณี โดยสถานที่ ๆ มีชื่อเสียงอย่างมาก คือ ตรอกเต๊า (ซอยเยาวราช 8 ในปัจจุบัน), ย่านสำเพ็ง [18] และตึก 7 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้น [19]

ซึ่งผลจากธุรกิจที่หลากหลายอันนี้ ทำให้ราคาซื้อขายที่ดินที่เยาวราชยังติดอันดับที่ดินราคาแพงที่สุดลำดับต้น ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย[20]

อาหาร

[แก้]
ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ หรือตรอกอิสรานุภาพ

ภัตตาคารหรือร้านอาหารส่วนใหญ่ในย่านเยาวราชจะเป็นร้านอาหารจีน ที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงในระดับโลกจะเป็นอาหารริมทางรวมถึงเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ที่หลากหลาย บางร้านยังเป็นร้านที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นบีบกูร์ม็องจากมิชลินไกด์[21] และสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นยังคงจัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” หรือเมืองที่มีอาหารริมทางดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน ในปี พ.ศ. 2559 และพ.ศ. 2560[22] จากนั้นทางกรุงเทพมหานครจึงได้ริเริ่มปรับปรุงย่านอาหารริมทางโดยนำร่องในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ ถนนเยาวราชและถนนข้าวสาร[23] เปิดจำหน่ายทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาและเย็นตาโฟ, ข้าวขาหมู, หมูสะเต๊ะ, หอยทอด, ผัดไทย, กวยจั๊บ, น้ำเต้าหู้, ห่านและเป็ดพะโล้, หูฉลามและกระเพาะปลา, รังนก, ข้าวหมูแดง, ข้าวราดแกงและอาหารตามสั่ง, ผลไม้, เกาลัดคั่ว, บ๊ะจ่าง, ติ่มซำ, พระรามลงสรง,[24] กาแฟโบราณ เป็นต้น[25] [26]

ตลาดเยาวราช

[แก้]

ตลาดเยาวราช หรือที่นิยมเรียกว่า ตลาดเก่า หรือที่เรียกกันในภาษาแต้จิ๋วว่า "เหล่าตั๊กลัก" (老噠叻) มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ตั้งอยู่ในซอยเยาวราช 11 เดิมเป็นที่ดินของพระศรีทรงยศ หรือเจ๊สัวเนียม คหบดีชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสวนผักและสถานที่ปลดทุกข์ของชาวจีนที่อาศัยอยู่แถบนี้ ต่อมาเมื่อมีการสร้างเป็นตลาดขึ้นมา สินค้าในระยะแรกจึงเป็นพืชผักที่ปลูกอยู่รอบ ๆ ตลาด ก่อนจะเปลี่ยนมาขายสินค้าจากประเทศจีนและอาหารทะเล ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นตลาดขายส่งอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุด ทั้งของสดและของแห้ง เนื่องจากอยู่ใกล้กับท่าเรือทรงวาด[27] ปัจจุบันได้ซบเซาลงตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีร้านค้าจำนวนหนึ่งที่เปิดมาแต่อดีตอยู่ เป็นแหล่งจำหน่ายอาหารแห้งและอาหารสดพร้อมรับประทานจำนานมาก ได้รับความนิยมและเป็นที่คึกคักอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงเทศกาล เช่น ตรุษจีนและกินเจ[28] อีกทั้งในฝั่งตรงกันข้าม คือ ซอยเยาวราช 6 อันเป็นที่ตั้งศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ซึ่งเชื่อมต่อกับซอยเจริญกรุง 16 ด้านฝั่งถนนเจริญกรุง ที่นี่เรียกว่า ตลาดใหม่ หรือ ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ หรือตรอกอิสรานุภาพ ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เป็นตลาดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และยังที่เป็นตั้งของร้านอาหารพร้อมรับประทานอีกจำนวนมาก[29] [30]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

ได้มีการอ้างอิงถึงเยาวราชในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมายหลายประการทั้ง วรรณกรรม, ละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อาทิ เยาวราชในพายุฝน ละครโทรทัศน์ใน พ.ศ. 2538 ทางช่อง 3, เป็นฉากในภาพยนตร์ไทยเรื่อง เด็กเสเพล ใน พ.ศ. 2539[31], 18 ฝน คนอันตราย ใน พ.ศ. 2540, อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร ใน พ.ศ. 2543, เยาวราช ใน พ.ศ. 2546 และ อันธพาล ใน พ.ศ. 2555 รวมถึงในภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง เร็วทะลุนรก ใน พ.ศ. 2542 และมิวสิกวิดีโอเพลง "ร็อกสตาร์" ของลิซ่า[32] เป็นต้น

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ถนนเยาวราช ทิศทาง: วงเวียนโอเดียน–แยกเมอร์รี่คิงส์
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนเยาวราช (วงเวียนโอเดียน–แยกเมอร์รี่คิงส์)
กรุงเทพมหานคร 0+000 วงเวียนโอเดียน เชื่อมต่อจาก: ถนนมิตรภาพไทย-จีน จากถนนพระรามที่ 4
เชื่อมต่อจาก: ถนนเจริญกรุง จากแยกลำพูนไชย
เยาวราช ซอย 1 ไปถนนทรงวาด ไม่มี
เชื่อมต่อจาก: ถนนตรีมิตร จากถนนทรงวาด
เยาวราช ซอย 3 ไปถนนทรงสวัสดิ์ ไม่มี
เชื่อมต่อจาก: ถนนลำพูนไชย จากถนนเจริญกรุง
ถนนทรงสวัสดิ์ จากถนนทรงวาด ถนนทรงสวัสดิ์ ไปแยกหมอมี
เฉลิมบุรี ถนนเยาวพานิช ไปถนนทรงวาด ไม่มี
ถนนผดุงด้าว จากถนนพาดสาย ถนนผดุงด้าว จากถนนเจริญกรุง
ไม่มี ถนนแปลงนาม ไปถนนเจริญกรุง
ถนนเยาวพานิช ไปถนนทรงวาด ไม่มี
ถนนมังกร ไปทรงวาด ถนนมังกร จากเจริญกรุง
แยกราชวงศ์ ถนนราชวงศ์ ไปท่าเรือราชวงศ์ ถนนราชวงศ์ ไปเสือป่า
แยกวัดตึก ถนนจักรวรรดิ ไปสะพานพระปกเกล้า ถนนจักรวรรดิ ไปแยกเอส. เอ. บี.
สะพานภาณุพันธุ์ ข้ามคลองโอ่งอ่าง
แยกเมอร์รี่คิงส์ (แยกวังบูรพา) ไม่มี ถนนจักรเพชร ไปสามยอด
ตรงไป: ถนนพีระพงษ์ ไปถนนบูรพา
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ถนนมังกร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-29. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  2. "ถนนเยาวราช ถนนเก่าแก่ในสมัย ร.5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-29. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  3. Van Roy, Edward. Sampheng: Bangkok's Chinatown Inside Out. Bangkok: Asian Studies Institute of Chulalongkorn University, 2007
  4. 4.0 4.1 4.2 ตันมหาพราน, เจริญ. "แฟนพันธุ์แท้ ตอน เยาวราช". แฟนพันธุ์แท้ 2003.
  5. "ประวัติถนนเยาวราช ทำเลมังกรทองที่ซ่อนตัว ทำเลพระราชทานจากรัชกาลที่ 5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-18. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  6. รักชาติ ผดุงธรรม. เบื้องหลังกรณีสวรรคต รัชกาลที่ ๘. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊ค, 2550. 288 หน้า. ISBN 978-974-8130-47-7
  7. "ด่วน! แจ้งปิด ถนนเยาวราช 17-20ก.พ. รับเทศกาลตรุษจีน". เอ็มไทยดอตคอม. 2015-02-16. สืบค้นเมื่อ 2017-01-20.[ลิงก์เสีย]
  8. "พระเทพฯ เสด็จเปิดงานตรุษจีนเยาวราชสานสัมพันธ์ 2 ประเทศ". ช่อง 3. 2016-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  9. "กินเจย่านเยาวราชบรรยากาศคึกคัก". ไอเอ็นเอ็น. 2016-10-02. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.[ลิงก์เสีย]
  10. "เยาวราชคึกคัก คนแห่กินเจ ไม่หวั่นแม้ราคาสูงขึ้น (คลิป)". พีพีทีวี. 2016-09-30. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  11. กรมศิลปากร. "ตึกแถวริมถนนเยาวราช" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 26 กันยายน 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  12. "วัดโลกานุเคราะห์". อนัมนิกายแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-15. สืบค้นเมื่อ 2018-01-21.
  13. 13.0 13.1 "มัสยิด หลวงโกชา อิศหาก และตระกูลสมันตรัฐ ในท่ามกลางย่านการค้าท่านํ้าราชวงศ์". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. 2017-04-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-12. สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.
  14. "ยิ่งไหว้ยิ่งรวย! เที่ยวเยาวราชไหว้ 5 วัดเด็ด เอาเคล็ดเสริมมงคลตรุษจีน". ไทยรัฐ. 2015-02-10. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  15. หนุ่มลูกทุ่ง (2009-01-25). "ตระเวนเยาวราช ไหว้ 8 ศาลเจ้าเอาฤกษ์ตรุษจีน". ผู้จัดการรายวัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  16. หนุ่มลูกทุ่ง (2008-02-06). "พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-21. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.
  17. suchu (2010-03-25). "รายชื่อโรงภาพยนตร์ในย่านเยาวราชจนถึงวังบูรพา{แตกประเด็นจาก K9026952}". พันทิปดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  18. "ย้อนตำนานซ่องไทย ธุรกิจสีเทาในเงามืด". ผู้จัดการออนไลน์. 2009-02-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.[ลิงก์เสีย]
  19. กิเลน ประลองเชิง (2012-04-30). "สวรรค์ชั้นเจ็ด". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2018-01-29.
  20. "เปิดพื้นที่ราคาที่ดินแพงสุด/ถูกสุด". ฐานเศรษฐกิจ. 2016-05-24. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  21. S.Vutikorn (2017-12-07). "เปิดรายชื่อ 33 ร้าน "บิบ กูร์มองด์" ร้านอาหารสำหรับคนกระเป๋าเบา". BrandAge. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  22. CNN ยก กทม.เบอร์ 1 อาหารริมทาง
  23. อองกุลนะ, อรรถภูมิ. "อะไรอยู่ใน Street Food". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2018-02-24.
  24. "ข้าวพระรามลงสรง ซ.แปลงนาม เยาวราช". ไทยโพสต์. 2017-12-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-17. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  25. "เผยโฉมเยาวราชสตรีทฟู้ด "รายงานวันจันทร์"-เมืองอาหารริมทางดีที่สุดของโลก". ไทยรัฐ. 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 208-01-20. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. "หลากเมนูเด็ด อร่อยชวนชิมในตรอก "สำเพ็ง"". ผู้จัดการรายวัน. 2014-11-07. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  27. นที (2006-10-23). "ตลาดเก่า (เล่าตั๊กลัก)". oursiam. สืบค้นเมื่อ 2018-02-11.[ลิงก์เสีย]
  28. "บรรยากาศ'ตลาดเก่าเยาวราช' ปชช.เริ่มล้างทอง-เลือกซื้อเมนูเจ". แนวหน้า. 2016-09-30. สืบค้นเมื่อ 2018-01-20.
  29. ปิ่นโตเถาเล็ก (2017-01-15). "ร้านขวัญใจชุมชนเยาวราช เจ๊พา แม่ติ๊ก ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ". มติชน. สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.
  30. หนุ่มลูกทุ่ง (2008-11-18). "ท่อง 3 ตลาดเก่ากลางกรุง อดีตที่ยังมีลมหายใจ". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.[ลิงก์เสีย]
  31. "หนังสะท้อนสังคม สร้างกระแสวัยรุ่นยุค 90 "เด็กเสเพล"". trueid.net.
  32. ""เทพโลเคชัน" วิเคราะห์ฉาก "ลิซ่า" ยืนกลางเยาวราช ชื่นชมทีมงานไทยทำกันสุดจริง". mgronline.com. 2024-06-26.

หนังสืออ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Wasana Wongsurawat. “From Yaowaraj to Plabplachai: The Thai State and the Ethnic Chinese in Thailand during the Cold War.” in Vu Tuong and Wasana Wongsurawat (eds.), Dynamics of the Cold War in Asia: Ideology, Identity, and Culture. New York, NY: Palgrave Macmillan, 2009.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′28″N 100°30′30″E / 13.741136°N 100.508305°E / 13.741136; 100.508305