มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่บพิตรพิมุข จักรวรรดิ
ที่ตั้ง | |
---|---|
เว็บไซต์ | http://www.bpc.rmutr.ac.th |
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พื้นที่บพิตรพิมุข จักรวรรดิ เป็นพื้นที่จัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นวิทยาเขตในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในอดีตเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการบริหารธุรกิจและภาษาต่างประเทศ[1] ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรของคณะบริหารธุรกิจ และคณะศิลปศาสตร์
ประวัติ
[แก้]วิทยาเขตบพิตรพิมุข แต่เดิมเป็นโรงเรียนราษฎร์ มีชื่อเดิมว่า โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข[2] ตั้งชื่อตามชื่อวัดบพิตรพิมุขหรือวัดเชิงเลน บพิตรพิมุข เป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนมาช้านาน ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระภิกษุสามเณรผู้ทรงความรู้เป็นครูผู้สอน และใช้กุฎิศาลาการเปรียญ หรือศาลารายภายในวัดเป็นสถานที่เรียน ต่อมาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งโรงเรียนบพิตรพิมุขขึ้น เป็นโรงเรียนหลวงรุ่นแรกสำหรับราษฎรได้ศึกษาเล่าเรียน โดยมีขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลวิธูร) เป็นครูใหญ่คนแรก และมีนักเรียนเพียง 34 คน
จากนั้นการจัดการเรียนการสอนของบพิตรพิมุขก็มีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ ดังนี้
- พ.ศ. 2456 เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษา จึงเรียกชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุข"
- พ.ศ. 2477 เปิดสอนชั้นมัธยม ปีที่ 7-8 แผนกวิสามัญ สอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งต้องเรียนภาษาอังกฤษ เป็นวิชาบังคับและเรียนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2503 โรงเรียนมีนโยบายที่จะขยายการศึกษาด้านอาชีวศึกษาชั้นสูง จึงได้เริ่มยุบชั้นมัธยมปีที่ 1-6 ลงปีละชั้น คงเหลือแต่แผนกอาชีวศึกษาชั้นสูง แผนกภาษาต่างประเทศและเลขานุการ เมื่อปี พ.ศ. 2509
- พ.ศ. 2516 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนขึ้นเป็น "วิทยาลัยบพิตรพิมุข"
- พ.ศ. 2520 เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคค่ำและโอนจากกรมอาชีวศึกษาไปสังกัด วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาโดยเรียกชื่อโรงเรียนว่า "วิทยาเขตบพิตรพิมุข"
- พ.ศ. 2526 กระทรวงศึกษาธิการประกาศแยกเป็น 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ และวิทยาเขตบพิตรพิมุข มหาเมฆ
- พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้แก่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
อ้างอิง
[แก้]- ↑ “บพิตรพิมุข จักรวรรดิ” ความทรงจำ วิวัฒน์การศึกษาแห่งสยามประเทศ
- ↑ ประวัติโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข : เรียบเรียงโดย นลินี บัณฑุวงศ์ และศรีวิภา จรูญโรจน์ ณ อยุธยา