ข้ามไปเนื้อหา

ข้อศอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อศอก
(elbow joint)
ข้อศอก
มุมมองด้านหน้าของข้อศอกด้านซ้าย แสดงกระดูกและเอ็นรอบข้อต่อ
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินarticulatio cubiti
MeSHD004550
TA98A01.1.00.023
TA2145
FMA24901
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ข้อศอก (อังกฤษ: elbow joint) เป็นข้อต่อที่เกิดจากการติดต่อกันระหว่างกระดูกสามชิ้น คือ กระดูกต้นแขน (humerus) กระดูกอัลนา (ulna) และกระดูกเรเดียส (radius) และเป็นข้อต่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนไหวของปลายแขน (forearm) โดยเฉพาะการงอ-เหยียด และการพลิกปลายแขน ข้อศอกยังเป็นข้อต่อที่มีเอ็นรอบข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆมาช่วยในการค้ำจุนระหว่างการเคลื่อนไหว รวมทั้งมีแขนงของหลอดเลือดและเส้นประสาทในบริเวณใกล้เคียงมาเลี้ยงอีกด้วย

โครงสร้างของข้อศอก

[แก้]
มุมมองด้านหน้าของแคปซูลข้อต่อของข้อศอก

ส่วนประกอบของข้อศอกและแคปซูลข้อต่อ

[แก้]

ข้อศอกไม่ได้ประกอบขึ้นจากข้อต่อเดี่ยวๆ หากแต่ประกอบขึ้นจากข้อต่อถึงสามจุด ซึ่งมีโครงสร้างของแคปซูลข้อต่อร่วมกัน และมีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กัน ได้แก่

ข้อต่อ ส่วนของกระดูกที่ติดต่อกัน คุณสมบัติของข้อต่อ
ข้อต่อฮิวเมอโรอัลนา (Humeroulnar joint) รอยเว้าโทรเคลียร์ (trochlear notch) บนกระดูกอัลนา กับโทรเคลียร์ (Trochlear) ของกระดูกต้นแขน เป็นข้อต่อแบบบานพับ และเกี่ยวข้องกับการงอ-เหยียดปลายแขน
ข้อต่อฮิวเมอโรเรเดียล (Humeroradial joint) ส่วนหัวของกระดูกเรเดียส และแคปปิทูลัม (Capitulum) ของกระดูกต้นแขน เป็นข้อต่อแบบระนาบ และช่วยในการพลิกปลายแขน
ข้อต่อเรดิโออัลนาด้านต้นแขน (Proximal radioulnar joint) ส่วนหัวของกระดูกเรเดียส และรอยเว้าอัลนา (ulnar notch) ของกระดูกอัลนา เป็นข้อต่อแบบเดือยที่เกี่ยวข้องกับการพลิกแขน

แคปซูลข้อต่อของข้อศอกจะคลุมขึ้นมาถึงส่วนปลายของกระดูกต้นแขน โดยเฉพาะที่แอ่งทั้งสามของปลายล่างสุดของกระดูกต้นแขน คือแอ่งโอเลครานอน (Olecranon fossa) แอ่งเรเดียล (Radial fossa) และแอ่งโคโรนอยด์ (Coronoid fossa) จะพบว่ามีชั้นของเนื้อเยื่อไขมันอยู่ภายในแคปซูลข้อต่อด้วย ซึ่งไขมันเหล่านี้จะช่วยไม่ให้ปลายของกระดูกของข้อศอกมีการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างที่มีการเคลื่อนไหว

เอ็นรอบข้อต่อ

[แก้]

รอบแคปซูลข้อต่อของข้อศอกจะมีเอ็นรอบข้อต่อมาช่วยในการรักษาความเสถียรของข้อต่อ โดยเฉพาะทางด้านข้างของข้อต่อ โดยเอ็นที่สำคัญได้แก่

  • เอ็นอัลนาคอลแลทเทอรัล (Ulnar collateral ligament) เป็นเอ็นหนารูปสามเหลี่ยมที่พาดอยู่ระหว่างส่วนปลายของกระดูกต้นแขนกับส่วนหัวของกระดูกอัลนา และแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือเอ็นส่วนหน้า (anterior ligament) จะยึดระหว่างปุ่มมีเดียล อีพิคอนไดล์ (medial epicondyle) ของกระดูกต้นแขน ไปยังโคโรนอยด์ โพรเซส (coronoid process) ของกระดูกอัลนา ขณะที่เอ็นส่วนหลัง (posterior ligament) จะยึดระหว่างปุ่มมีเดียล อีพิคอนไดล์ (medial epicondyle) ของกระดูกต้นแขน ไปยังโอเลครานอน โพรเซส (olecranon process) ของกระดูกอัลนา
  • เอ็นเรเดียลคอลแลทเทอรัล (Radial collateral ligament) เป็นเอ็นเล็กๆที่ยึดระหว่างปุ่มแลทเทอรัล อีพิคอนไดล์ (lateral epicondyle) ของกระดูกต้นแขน ไปเชื่อมรวมกันเอ็นแอนนูลาร์ (annular ligament) รอบส่วนหัวของกระดูกเรเดียส
  • เอ็นแอนนูลาร์ (Annular ligament) เป็นเอ็นแข็งแรงที่มัดรอบส่วนหัวของกระดูกเรเดียสให้ติดต่อกับรอยเว้าเรเดียล (radial notch) ของกระดูกอัลนา

กล้ามเนื้อรอบข้อต่อ

[แก้]

กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับบริเวณรอบข้อศอก ได้แก่

หลอดเลือดและเส้นประสาท

[แก้]

หลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงข้อศอก ได้แก่

แขนงของหลอดเลือดแดงเหล่านี้จะเชื่อมรวมกันเป็นโครงข่ายหลอดเลือด (anastomosis) รอบบริเวณข้อศอก

เส้นประสาทของบริเวณข้อศอก ได้แก่แขนงที่มาจากเส้นประสาทอัลนา (ulnar nerve) รวมทั้งแขนงย่อยของเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) และเส้นประสาทมัสคิวโลคิวทาเนียส (musculocutaneous nerve)

การเคลื่อนไหว

[แก้]

ข้อศอกทำให้ปลายแขนสามารถเคลื่อนไหวได้ในสองแบบ คือการงอ-เหยียดปลายแขน (flexion-extension) โดยอาศัยข้อต่อฮิวเมอโรอัลนา และการเคลื่อนไหวแบบพลิกหงาย-คว่ำของปลายแขน (pronation-supination) โดยอาศัยข้อต่อฮิวเมอโรเรเดียส และข้อต่อเรดิโออัลนาส่วนต้นแขน นอกจากนี้ยังต้องอาศัยข้อต่อที่บริเวณข้อมือร่วมด้วย นอกจากนี้ ข้อศอกยังมีเกี่ยวข้องกับการถ่ายแรงจากมือไปยังไหล่ โดยส่วนใหญ่แรงจะผ่านจากกระดูกอัลนาไปยังกระดูกต้นแขน

การบาดเจ็บของข้อศอก

[แก้]

การบาดเจ็บของข้อศอกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้ทั่วไปคืออาการข้อศอกหลุด (pulled elbow) ซึ่งเป็นอาการบาดเจ็บของข้อศอกที่พบได้มากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยมักจะเกิดจากการดึงแขนของเด็กอย่างรุนแรง เนื่องจากบริเวณส่วนหัวของกระดูกเรเดียสกับเอ็นแอนนูลาที่อยู่รอบยังไม่เจริญเต็มที่ ทำให้ส่วนหัวของกระดูกเรเดียสมีโอกาสเลื่อนหลุดออกจากข้อศอก อาการนี้จะเจ็บปวดมาก แต่สามารถรักษาได้ง่ายโดยการพลิกแขนและการกดที่บริเวณข้อศอกโดยแพทย์ ซึ่งจะช่วยให้ส่วนหัวของกระดูกเรเดียสกลับเข้าที่ และอาการเจ็บปวดจะค่อยทุเลาไปเอง

รูปประกอบเพิ่มเติม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • Gray's anatomy for students. Drake, RL., Vogl, W. and Mitchell, AWM.
  • Clinically Oriented Anatomy, 5th ed. Keith L. Moore and Arthur F. Dalley.