แจกเคอไบต์[1][2] (อังกฤษ: Jacobite) เป็นผู้สนับสนุนการนำราชวงศ์สทิวเวิร์ตกลับคืนสู่ราชบัลลังก์บริเตน ขบวนการของบุคคลดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 เรียกว่า แจกเคอไบทิซึม (Jacobitism) มาจากคำว่า "ยาโคบุส" (Iacobus) ภาษาละตินของคำว่า "เจมส์" (James) ซึ่งหมายถึง พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ผู้ถูกถอดจากราชบัลลังก์ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เมื่อ ค.ศ. 1688 เนื่องจากรัฐสภาอังกฤษเห็นว่า พระองค์ทรงทอดทิ้งราชบัลลังก์ และยกพระราชธิดาของพระองค์ คือ แมรีที่ 2 กับพระสวามีของพระนาง คือ วิลเลียมที่ 3 ขึ้นสู่ราชบัลลังก์แทน[3]

พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ในฉลองพระองค์ทหารเมื่อ ค.ศ. 1685

การปฏิวัติดังกล่าวก่อให้เกิดสัญญาระหว่างกษัตริย์กับราษฎร ซึ่งถ้ากษัตริย์ละเมิด จะต้องถูกถอดจากราชบัลลังก์ แต่กลุ่มแจกเคอไบต์เห็นว่า กษัตริย์มาจากการแต่งตั้งของพระเจ้าตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ และจะถูกถอดถอนด้วยมนุษย์ไม่ได้ จึงมองว่า ระบอบปกครองหลังจาก ค.ศ. 1688 เป็นต้นมาขาดความชอบธรรม อย่างไรก็ดี แจกเคอไบต์ยังเห็นไม่ลงรอยกันในหลาย ๆ เรื่อง เช่น ในราชอาณาจักรไอร์แลนด์ แจกเคอไบต์มุ่งหมายปลดแอกไอร์แลนด์เป็นรัฐอิสระและยกเลิกการตั้งนิคมเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นเรื่องที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 เองทรงไม่เห็นด้วย และใน ค.ศ. 1745 มีการปะทะกันระหว่างชาลส์ เอดเวิร์ด สทิวเวิร์ด กับกลุ่มแจกเคอไบต์จากสกอตแลนด์ เนื่องด้วยการผนวกดินแดนเมื่อ ค.ศ. 1707 และมีเรื่องเทวสิทธิ์เป็นหัวใจหลักของความขัดแย้งภายใน

ภายนอกไอร์แลนด์ ขบวนการแจกเคอไบต์เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในภาคตะวันตกของที่สูงสกอต เพิร์ทเชอร์ และแอเบอดีนเชอร์ รวมถึงในหลายพื้นที่ของนอร์เทิร์นอิงแลนด์ซึ่งมีประชากรคาทอลิกมาก เช่น แลงคาเชอร์ นอร์ทอัมเบอร์แลนด์ และเดอรัม[4] นอกจากนี้ ยังมีผู้สนับสนุนในบางส่วนของเวลส์ เวสต์มิดแลนส์ และเซาท์เวสต์อิงแลนด์ ทั้งยังมีผู้สนับสนุนในระดับระหว่างประเทศ เช่น มหาอำนาจยุโรปบางแห่งที่ให้การอุปถัมภ์แก่แจกเคอไบต์เพื่อกระพือความขัดแย้ง และแจกเคอไบต์เองก็ยังเข้าเป็นทหารในกองทัพต่างชาติหลายชาติ

แจกเคอไบต์ก่อการกำเริบหลายครั้ง เช่น สงครามวิลเลียมในไอร์แลนด์ช่วง ค.ศ. 1689–1691 และการลุกฮือของแจกเคอไบต์ในสกอตแลนด์ช่วง ค.ศ. 1689 ที่รุนแรงได้แก่การลุกฮือของแจกเคอไบต์ ค.ศ. 1715 1719 และ 1745 นอกเหนือไปจากการรุกรานที่ฝรั่งเศสหนุนหลังในค.ศ. 1708 และ 1744 ตลอดจนแผนดำเนินการที่ไม่สำเร็จอีกหลายแผน การลุกฮือเมื่อ ค.ศ. 1745 นั้นส่งผลให้ราชวงศ์แฮนโนเวอร์ซึ่งกำลังอยู่ในอำนาจต้องหวาดหวั่นอยู่ชั่วระยะหนึ่งและถอนทหารคืนจากยุโรปภาคพื้นทวีป แต่เมื่อฝรั่งเศสเลิกสนับสนุนใน ค.ศ. 1748 ก็ทำให้แจกเคอไบต์ค่อยสลายและสูญสิ้นความเป็นขบวนการทางการเมืองที่รุนแรง ปัจจุบัน แจกเคอไบต์ยังมีอยู่ในฐานะที่เป็นขบวนการทางวัฒนธรรมสกอตเพื่อเฉลิมฉลองประเพณีของที่สูงสกอต

อ้างอิง

แก้
  1. "Jacobite". Lexicon Powered by Oxford. 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-02-19.
  2. "Jacobite". Dictionary.com. 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-02-19.
  3. Harris 2007, pp. 271–272.
  4. Gooch 1995, p. 13.

บรรณานุกรมและแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

แก้

ภาษาอังกฤษ

แก้
  • Gooch, Leo (1995). The Desperate Faction?: The Jacobites of North-East England, 1688-1745. University of Hull Press. ISBN 978-0859586368.
  • Harris, Tim (2007). Revolution; the Great Crisis of the British Monarchy 1685–1720. Penguin. ISBN 978-0141016528.

ภาษาไทย

แก้